"...ดังนั้นในฐานะสื่อเราก็ต้องมีการตรวจสอบว่าจะตรวจอย่างไรดี โดยเฉพาะในกรณีการป้องกันสแกมเมอร์ ต้องตรวจสอบว่าที่โทรมามันจริงหรือไม่ สื่อต้องมีการตรวจสอบวิดีโอให้มากขึ้นด้วยว่ามันมีการเผยแพร่กันจริงหรือไม่ แต่ตอนนี้ส่วนตัวก็ยังไม่เห็นว่ามีใครทำออกมาแล้วระบุว่าสามารถตรวจสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) :เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดเวทีเสวนา หัวข้อ 'AI ในงานข่าว จุดยืนของนักข่าวมืออาชีพอยู่ตรงไหน' โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายวินน์ วรวุฒิคุณชัย Founder & CEO BOTNOI Group, นายวิโรจน์ ฐานไพศาลกิจ Production Business Director บริษัท MBCS Thailand, น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS ดำเนินรายการโดย นายโชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมก่อตั้ง Nanake555
น.ส.กนกพร กล่าวว่า การใช้งาน AI ในงานข่าวนั้นต้องบอกก่อนว่าใช้กันมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่การใช้โปรดักส์ แต่ว่าการใช้งานอย่างจริงจังก็จะเป็นการถอดถ้อยคำเป็นข้อความหรือ Text to speech ซึ่งเรื่องนี้จริงๆเก่าแล้ว แต่ระบบนี้ความยากคือการสร้างเสียงที่เป็นอัตลักษณ์ของเราเอง คือตอนที่ AI ทำงานมามันไม่ใช่ว่าเป็นงานอย่างที่เราต้องการ เราได้ผลผลิตแล้วก็ต่อยอดไปได้หลายอย่าง สามารถนำไปให้กับวิทยุชุมชนที่เป็นเครือข่ายของ Thai PBS ไปเชื่อมกับสมาคมต่างๆได้ และสิ่งที่พัฒนาต่อมาก็คือการมีผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงหรือที่เรียกว่าเวอร์ชวล ที่ต่างประเทศเขามีมานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือว่าความถูกต้อง มันก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ การทำแชทบอท อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าแชทบอทภาษาไทยนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก ถามอย่างหนึ่งมันจะไปตอบอีกอย่างหนึ่ง ก็มีข้อผิดพลาดเยอะ ดังนั้นคนก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่มันก็ทำให้เรารู้เลยว่าเราต้องเรียนรู้มันอย่างไร ก็ไม่ได้บอกว่าAIมันสมบูรณ์แล้ว
น.ส.กนกพร กล่าวถึงประเด็นเรื่องความท้าทายของคนทำงาน องค์กร หน่วยงาน ก็คือเรื่องของการให้โจทย์กับ AI ที่ชัดเจน การฝึกฝนเรื่องดิจิทัล การที่จะต้องเรียนรู้คอร์สต่างๆ ปัจจุบันมีให้เรียนออนไลน์เยอะมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือไมน์เซ็ทหรือชุดความคิดของคน ที่จะต้องลอง Generate (ประมวลและสร้าง) AI ด้วยภาพจะทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาคนทำงานกราฟฟกิดีไซน์ที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์เขาจะไม่ยอมให้ใครมาทำตรงนี้
น.ส.กนกพร กล่าวว่า เราพูดว่าด้านบวกมันคืออะไร อย่างไรก็ตามด้านมืดนั้นมันก็มี ความจริงแล้วการใช้งานโซเชียลมีเดียที่ผ่านมานั้น มีกรณีของการส่งเมลปลอมหรืออื่นๆมากมาย แล้วก็ไม่ต้องพูดแค่ว่าคนที่ไม่เก่งดิจิทัล คนที่เก่งดิจิทัลอย่างเราๆ ก็ตกเป็นเหยื่อได้ เพราะ AI มันเสมือนจริงมาก
ผู้บริหาร Thai PBS ได้มีการพูดคุยกันเหมือนกันว่าควรจะให้ไกด์ไลน์แก่พนักงานว่าสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำคืออะไร และอาจจะต้องทำเป็นถึงขั้นเทคโนโลยีหรือAIไกด์ไลน์กันเลยทีเดียว เช่นอะไรควรหยิบมาใช้อะไรไม่ควรหยิบมาใช้
ส่วนเรื่อง Literacy หรือที่เรียกกันว่าการตระหนักรู้ถึงด้านมืดของมัน ตรงนี้ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ว่าคนก็เริ่มตระหนักรู้กันแล้ว เพราะภัยจากสแกมเมอร์ที่เริ่มมากขึ้น ซึ่งพวกนี้รู้ถึงเรื่องที่เป็นความลับของเราด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นตอนนี้คิดว่าก็คือการต้องมีคนเก่งๆที่ควรมาช่วยกันคิดระบบเพื่อป้องกันในเรื่องเหล่านี้ด้วย จะรอแต่ทางตำรวจไซเบอร์อย่างเดียวก็ไม่ได้
น.ส.กนกพร กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่ทำข่าวอยากจะบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นมีอยู่สี่ประการที่ยังคงจำเป็นอยู่เสมอ คือ
1.ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องหรือที่เรียกว่า Accuracy
2. การทำเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือว่า Informative
3.เรื่องของการทำเนื้อหาที่มีผลกระทบกับผู้ชมจริงๆหรือที่เรียกว่า Relevancy
4. Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์
แต่ท้ายที่สุดร่มที่มันใหญ่กว่านั้นก็คือคำว่าจริยธรรมหรือว่า Ethics คือไม่ว่าโลกนี้จะพัฒนา AI ไปแค่ไหน หรือว่าไปไกลกว่า AI อยากให้คำนึงถึงและกลับมาถึงสิ่งเหล่านี้
น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล Thai PBS
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เวอร์ชวลAIนั้นกลับมาเป็นกระแสเพราะสามารถเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ โดยตอนนี้เราก็มีความร่วมมือทำ AI ชื่อว่าน้องจิตดีขึ้นมาเพื่อเตรียมให้เข้าถึงง่ายขึ้นเช่นกัน คือต้องบอกว่าเทรนด์นั้นAIถูกใช้ในหลายวงการมาก ในวงการออกแบบเมื่อก่อนใช้โปรแกรมอย่างPhotoshop และ Illustrator ใช้เวลาก็นานมาก แต่ว่าพอมาเป็นการใช้ AI เวลาก็น้อยลงครึ่งต่อครึ่ง
สรุปก็คือการทำงานของเอเจนซี่นั้น AI ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะลดเวลาได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนเรื่องของวิดีโอเราก็เห็นกันแล้วเช่นการทำ Deep Fake เป็นต้น
สำหรับในบริบทของผู้สื่อข่าว รูปบางรูปที่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถนำไปลงได้เพราะมันจริงเกินไป AI ก็สามารถจะทำภาพนั้นให้เป็นภาพเสมือนจริงได้เช่นกัน
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนในกรณีของจุดยืนเกี่ยวกับการทำข่าวนั้น ส่วนตัวเห็นว่ามีกรณีการใช้ภาพนิ่งของบุคคลสำคัญในต่างประเทศ แล้วตามมาด้วยวิดีโอและเสียง ซึ่งทั้งหมดถูกสร้างโดย AI เรื่องนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาที่ไปไกลมาก เราก็ต้องใช้เวลาสักพักถึงจะดูออก ต้องมีการตรวจสอบที่มาที่ไปของคลิปนั้นว่าจริงไม่จริง
ดังนั้นในฐานะสื่อเราก็ต้องมีการตรวจสอบว่าจะตรวจอย่างไรดี โดยเฉพาะในกรณีการป้องกันสแกมเมอร์ ต้องตรวจสอบว่าที่โทรมามันจริงหรือไม่ สื่อต้องมีการตรวจสอบวิดีโอให้มากขึ้นด้วยว่ามันมีการเผยแพร่กันจริงหรือไม่ แต่ตอนนี้ส่วนตัวก็ยังไม่เห็นว่ามีใครทำออกมาแล้วระบุว่าสามารถตรวจสอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย
นายวิโรจน์ ฐานไพศาลกิจ Production Business Director บริษัท MBCS Thailand
ทางด้าน นายวินน์ กล่าวว่า การใช้งาน AI ที่เราได้พัฒนาวึ่งก็คือ BOTNOI นั้น คนก็เริ่มจะเห็นคุณค่า โดยเฉพาะในเรื่องของมูลนิธิคนตาบอดซึ่งถือว่ามีประโยชน์มากที่ให้AIมาสร้างเสียงให้ สื่ออื่นๆก็เริ่มเห็นคุณค่าเช่นกัน
ส่วนเรื่องด้านมืดของ AI ตรงนี้ก็มีความเห็นมีจากผู้ปกครองเด็กที่ใช้ AI BOTNOI เช่นกัน ผู้ปกครองเด็กมาบอกว่าลูกเขามาขอภาพวาบหวิวจาก AI ซึ่งเราก็ตกใจเพราะไม่ได้พัฒนาให้มีวัตถุประสงค์แบบนี้ คือเราก็พยายามจะดักคำต้องห้ามในการค้นหาแล้ว แต่มันก็ยังมีวิธีดิ้นได้ มีการไปใช้ภาษาอื่นๆ ใช้คำอื่น ใช้ชื่อดาราเป็นต้น เราก็เจอมาตลอด ทำให้เราต้องพยายามมาคิดแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ว่าจะทำอย่างไร
นายวินน์ วรวุฒิคุณชัย Founder & CEO BOTNOI Group