"...จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นายหน้าเหล่านี้เก็บมานั้นล้วนเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดจึงมีคนรู้การเคลื่อนไหวของเราทุกฝีก้าว ที่สำคัญคือข้อมูลที่ถูกนำไปขายนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือถูกนำไปใช้เกินกว่าขอบเขตที่ได้ตกลงกันไว้ในเงื่อนไขการใช้บริการ(Terms of service)และเจ้าของข้อมูลไม่เคยรู้เลยว่ามีบริษัทประเภทนี้อยู่ในโลก ดังนั้น ชื่อ ที่อยู่ อายุ เพศ เลขหมายโทรศัพท์ ประวัติทางการเงิน ประวัติการประกันภัย ประวัติการเดินทาง ข้อมูลสุขภาพ สถานที่ที่ชอบไป ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของเรา จึงถูกนำไปจัดเก็บ แยกประเภท ประมวลผลและขายต่อให้กับคนที่ต้องการข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการถูกขโมยข้อมูลจากพวกแฮ็กเกอร์หรือการขโมยข้อมูลไปขายในรูปแบบอื่นๆดังที่ปรากฏเป็นข่าวในบ้านเราอยู่หลายครั้ง..."
“ข้อมูลและความรู้คืออำนาจ ถ้าใครสามารถควบคุมข้อมูลได้ก็สามารถควบคุมผู้คนได้”
ซาร่าห์ ชาฟเฟอร์ “Vonnegut and Clancy on Technology, December15,1995
ทุกนาทีบนโลกออนไลน์ ผู้คน อ่าน โพสต์ แชท และ ทำธุรกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โลกออนไลน์จึงเต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล(Volume) มีความหลากหลาย(Variety) มีการเคลื่อนไหวด้วยความเร็วอย่างต่อเนื่อง(Velocity) และมาจากแหล่งต่างๆหลายแห่ง(Various source) ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “Big Data” ข้อมูลจึงเป็นเหมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงโลกออนไลน์ หากขาดซึ่งข้อมูลเหล่านี้โลกออนไลน์จะไม่มีคุณค่าใดๆให้ผู้คนเข้าไปแสวงหาประโยชน์และทุกคนต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าข้อมูลที่เคลื่อนไหวอยู่บนโลกออนไลน์มีทั้งข้อมูลที่มีประโยชน์และข้อมูลที่เป็นภัยต่อสังคมปะปนกันไป
เราถูกส่องจากใคร?
ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ ทุกคนมีโอกาสถูกถูกสอดแนมอยู่ตลอดเวลา ด้วยการเก็บข้อมูลที่เรา คลิก สร้าง อ่าน ค้นหา และนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปวิเคราะห์ ขายและแลกเปลี่ยนระหว่างกันซึ่งสร้างมูลค่ามหาศาลแก่ธุรกิจข้อมูล มนุษย์ยุคปัจจุบันจึงถูกดึงเข้าไปอยู่ในวงจรของ “เศรษฐกิจสอดแนม “ (Surveillance economy) โดยไม่รู้ตัว ฉากหลังของโลกออนไลน์จึงมีความซับซ้อนและแยบยลจนคนทั่วไปคาดไม่ถึง
นอกจากจะถูกส่องจากเพื่อนบนโลกออนไลน์ที่อยากรู้อยากเห็นพฤติกรรมของเรา รวมไปถึงพวกชอบเกาะติดชีวิตของผู้คนเป็นพิเศษ ( Cyber stalker) แล้ว บรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มที่เราเปิดบัญชีโซเชียลมีเดียเอาไว้ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป ทวีตเตอร์ TikTok ฯลฯ หรือแพลตฟอร์มที่เราเข้าไปค้นหาข้อมูลหรือใช้ประโชน์ เช่น Amazon Netflix Google eBay Microsoft Yahoo ฯลฯ คือนักส่องตัวจริงที่จับตาการเคลื่อนไหวของเราแทบจะทุกฝีก้าวและบริษัทเหล่านี้มีความสัมพันธ์หรือเป็นพันธมิตรกับ นายหน้าขายข้อมูล(Data broker) ซึ่งหาประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน
การที่เราถูกเฝ้ามองและ ติดตามจากบริษัทเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวจึงทำให้ผู้อยู่บนโลกออนไลน์อยู่ในสภาวะที่นักวิชาการเรียกว่า ความไร้สมดุลของความเป็นส่วนตัว (Privacy asymmetry) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ใช้เทคโนโลยีไม่รู้เลยว่าตัวเองถูกสอดแนมและถูกติดตามอย่างลับๆ จากบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยี ในขณะที่บริษัทเหล่านั้นจับจ้องพฤติกรรมของเราอยู่ทุกฝีก้าวและนำข้อมูลจากผู้ใช้บริการไปประมวลผลเพื่อสร้างสินค้าและบริการกลับมาขายให้กับเราอีกทีหนึ่ง ดังนั้นคำพูดที่ว่า “ข้อมูลและความรู้คืออำนาจ ถ้าใครสามารถควบคุมข้อมูลได้ก็สามารถควบคุมผู้คนได้” จึงไม่น่าจะเกินความเป็นจริง
ความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ (Privacy)
ความเป็นส่วนตัวของมนุษย์เป็นสิ่งที่ผู้คนมักอยากรู้อยากเห็นและต้องการค้นหาอยู่เสมอ ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ความเป็นส่วนตัวควรเป็นสิทธิของบุคคล กลุ่มคนหรือองค์กร ที่ต้องสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า ต้องการจะสื่อสารกับบุคคลอื่นด้วยข้อมูลที่มีขอบเขตขนาดไหน ควรจะสื่อสารเมื่อใดและควรสื่อสารด้วยวิธีใด การเข้าถึงความเป็นส่วนตัวผู้ใดก็ตามโดยไม่ได้รับความยินยอมจึงถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้นั้นไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตามความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ยากที่จะป้องกันได้ เพราะโลกออนไลน์เป็นโลกของ เน็ตเวิร์ค ( Network : โครงข่าย) ซึ่งนอกจากข้อมูลของตัวเราจะถูกเผยแพร่ต่อๆกันจากคนใกล้ชิดกันภายในเน็ตเวิร์คเดียวกันแล้ว โลกออนไลน์ยังมีโครงสร้างที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์คอื่นๆที่มีผู้ใช้งานทั้งที่เป็นบุคคลและเป็นกลุ่มซึ่งสามารถรับรู้และส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ออกไปอย่างแทบไม่มีเขตจำกัดด้วยเช่นกัน
การเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ นอกจากการโพสต์ภาพ ข้อความฯลฯ และต้องให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อประกอบการเปิดบัญชีโซเชียลมีเดียแล้ว แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังโน้มน้าวให้เรากรอกข้อมูลต่างๆอยู่ตลอดเวลาทั้งโดยการแอบแฝงและการได้รับความยินยอมจากตัวเราเองโดยที่เราไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่เรากรอกไปโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควรนั้นสามารถที่จะถูกนำไปประมวลผลเพื่อค้นหาข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับตัวตนของตัวเราได้อย่างง่ายดายผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงที่เรียกว่า อนาไลติกส์(Analytics) ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราที่เคยโพสต์เอาไว้เข้าด้วยกันผนวกกับประสิทธิภาพของฟังก์ชันของโซเชียลมีเดียเอง ( เช่น Mutual Friend/Friend lists/PYMK ฯลฯ) จนสามารถพยากรณ์ตัวตนของเราในบางเรื่องที่เราไม่อยากให้ใครรู้และสามารถเป็นเบาะแสที่ ถูกขุดคุ้ยและเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆได้ทุกเมื่อ
ข้อมูลส่วนตัวที่เข้าไปอยู่บนเน็ตเวิร์คของโซเชียลมีเดียจึงสามารถรั่วไหลสู่สายตาผู้คนทั่วไปได้เสมอเพราะโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่ถูกออกแบบมาให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นหรืออาจพูดได้ว่าโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือที่ช่วยให้มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ง่ายที่สุด โดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเราไปอยู่ในตะกร้าเก็บข้อมูลของบริษัทใดในมุมไหนของโลกบ้างและถูกเก็บไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใด
เรื่องของความเป็นส่วนตัวมีความเป็นมาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมอย่างที่เรานึกไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะแวดล้อมในอดีตของสังคมอเมริกันและในยุโรปหลายประเทศสามารถนำมาใช้อธิบายถึง
พื้นที่ชีวิตของมนุษย์ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ส่วนตัว(Private sphere) และพื้นที่สาธารณะ(Public sphere) ได้เป็นอย่างดี
แนวคิดในเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้คนในประเทศฝั่งตะวันตกมีความเชื่อมโยงกับเพศหญิงอยู่ค่อนข้างมาก เพราะไปเกี่ยวข้องกับค่านิยมต่อการให้คุณค่าใน ความเป็นหญิงที่แท้จริง (Cult of true womanhood ) ของกลุ่มคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในยุคศตวรรษที่ 18 และ 19 โดยถือกันว่า ผู้หญิงควรอยู่ในพื้นที่เฉพาะและมีความรับผิดชอบกิจกรรมในบ้านและครอบครัว(Domestic sphere) เท่านั้น รวมทั้งยังต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในขอบเขตของความเป็นหญิง 4 ประการซึ่งได้แก่ ศรัทธาในศาสนา รักษาความบริสุทธิ์ อ่อนน้อมถ่อมตน และ อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน การที่ผู้หญิงในยุคนั้นไปปรากฏตัวตัวในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือทำงานนอกบ้าน จึงถือว่าเป็นความไม่เหมาะสมซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ได้ต่างจากการมองความเป็นผู้หญิงในสังคมไทยมากนัก
ด้วยค่านิยมเหล่านี้เองที่ทำให้มนุษย์เพศหญิงถูกปฏิบัติแตกต่างจากมนุษย์เพศชายอย่างเห็นได้ชัด การถูกจำกัดตัวเองอยู่แต่ภายในบ้านของผู้หญิงจึงถูกมองว่าผู้หญิงขาดสิทธิในการทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการและแทบไม่มีโอกาสในการควบคุมความเป็นส่วนตัวของตนเองที่ถูกเผยแพร่ออกไปยังพื้นที่สาธารณะ จนในภายหลังได้มีการออกกฎหมายปกป้องผู้หญิง(A bill to Protect Ladies) ของสหรัฐอเมริกาขึ้นในปี 1888 ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้หญิง จากการถูกนำภาพออกพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะในยุคนั้นมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงกันอย่างครึกโครม แม้แต่ภาพเหมือนของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ฟรานเซส คลาร่า คลีฟแลนด์( Frances Clara Cleveland) ภรรยาของประธานาธิบดีคนที่ 22 และ 24 ของสหรัฐอเมริกา โกรเวอร์ คลีฟแลนด์( Glover Cleveland) ยังถูกนำไปใช้โฆษณาขาย สบู่ บุหรี่ เปียโน และสินค้าอื่นๆอย่างไม่มีความยำเกรงแม้แต่น้อย
ตัวอย่างของการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่มักนำมาเล่ากันเสมอเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1902 เมื่อหญิงสาวนามว่า อบิเกล โรเบอร์สัน(Abigail Roberson) ซึ่งเป็นหญิงสาวที่ชอบแสดงออกอย่างกล้าหาญในยุคนั้น ครั้งหนึ่งเธอจ้างช่างภาพให้มาถ่ายรูปเธอ แต่ช่างภาพกลับนำรูปถ่ายของเธอไปขายต่อให้กับบริษัทขายสินค้าประเภทแป้งและบริษัทนั้นได้นำรูปเธอติดบนโปสเตอร์และแผ่นพับเพื่อโฆษณาสินค้าของตัวเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเธอก่อน อบิเกลได้ยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวต่อศาลและชนะคดีในศาลชั้นต้นแต่ศาลอุทธรณ์ในนิวยอร์กได้กลับคำตัดสินด้วยเหตุผลว่า คำว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัว(Right to privacy) ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การตัดสินของศาลต่อคดีของอบิเกลทำให้เกิดการวิจารณ์และถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและเพียงปีเดียวหลังจากนั้น รัฐนิวยอร์กได้ผ่านกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวขึ้นในปี 1903
ภาพ - เรื่องฉาวในศตวรรษที่ 18 เซอร์ริชาร์ด วอร์สลี( Sir Richard Worsley) กำลังให้เพื่อนขี่คอเพื่อแอบดูภรรยาตัวเองในห้องอาบน้ำ(อังกฤษ ค.ศ. 1781) ภาพนี้ต้องการสื่อให้เห็นว่า พื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิงถูกใช้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้ชาย (อ้างอิง8) เรื่องนี้ถูกพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Scandalous Lady W และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ในปี 2015
ในยุคแรกๆของการออกกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวในสหรัฐอเมริกา เป็นการออกกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ทั่วถึง เพราะการปกป้องความเป็นส่วนตัวมีผลเฉพาะคนผิวขาวและชนชั้นกลางชายและหญิงเท่านั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงคนผิวสีแต่อย่างใด การต่อสู้ เรียกร้องของผู้หญิงและรวมทั้งคนผิวสีต่อการปกป้องความเป็นส่วนตัวจึงเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าจะก้าวพ้นความไม่เท่าเทียมของการถูกปฏิบัติและกฎหมายที่บกพร่องในแต่ละสมัยมาจนถึงทุกวันนี้
ถึงแม้ยุคของความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายจะผ่านไปแล้วก็ตาม แต่ในประเทศที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติและฐานะ คนบางกลุ่มยังถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความไม่เท่าเทียมอยู่เสมอ คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยจึงถูกปฏิบัติด้วยการขาดความเคารพความเป็นส่วนตัวตลอดมาจนถึงวันนี้ การที่ต้องพบกับมาตรการ หยุดและค้น(Stop and frisk) จากเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องสงสัยด้วยความไม่เท่าเทียมจากความเป็นคนผิวสีและความยากจนจึงพบเห็นในสังคมอเมริกันและเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับ การละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างแยกกันไม่ออกทั้งในโลกแห่งความจริงและยังลามเข้าไปถึงโลกออนไลน์ จากการใช้เครื่องมือสอดแนมยุคใหม่ ( State of the art surveillance technology) เช่น การสอดแนมโดยใช้ ระบบการตัดสินใจโดยอัตโนมัติ(Automatic Decision System :ADS) ในการพยากรณ์ความเป็นไปได้ของ การเกิดอาชญากรรม การจ้างงาน การจัดอันดับการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีการที่มักถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความผิดพลาดและมีความลำเอียงในการใช้อัลกอริทึมปฏิบัติต่อ ผู้หญิง คนผิวสี และ คนจน อย่างไม่เป็นธรรม อยู่เสมอ
รัฐบาลภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาจึงต้องออกกฎการตรวจสอบและเฝ้าระวังการใช้งานของอัลกอริทึมเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ในเชิงที่เป็นอาวุธคุกคามต่อพลเมืองอเมริกัน หลังจากที่มีการเตือนล่วงหน้ามาก่อนแล้วหลายปีจาก นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ภาพยนตร์ ฯลฯ ถึงอันตรายของอัลกอริทึมหากนำไปใช้ไม่ถูกทาง
ข้อมูลส่วนบุคคล(Personal data)
ความเป็นส่วนตัวของผู้คนไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงพฤติกรรม เช่น อาหารที่ชอบ สถานที่ที่แวะบ่อยๆ กีฬาที่เล่นประจำ ฯลฯ หรือข้อมูลที่ระบุตัวตน เช่น ชื่อ อายุ เพศ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ฯลฯ ล้วนเป็นที่ต้องการของ บริษัทโซเชียลมีเดีย นายหน้าขายข้อมูลและมิจฉาชีพทุกรูปแบบในยุค “เศรษฐกิจสอดแนม” ที่ชีวิตประจำวันของผู้คนถูกนำไปแปลงเป็นข้อมูลและตัวเลขเพื่อหาผลประโยชน์ที่เรียกกันว่า ดาต้าฟิเคชัน (Datafication)ได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามในขณะที่เรากำลังปกป้องความเป็นส่วนตัวของเรา ในทางกลับกันเรามักเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นข้อมูลของแต่ละบุคคลทั้งด้วยความตั้งใจและด้วยความเผอเรอหรือไม่รู้ลงบนโลกออนไลน์เสมอ พฤติกรรมเหล่านี้จึงเป็นเหมือนความขัดแย้งและเกิดคำถามอยู่บ่อยๆว่าเรากำลังยอมเสียความเป็นส่วนตัวเพื่อแลกกับความสะดวกสบายที่โลกออนไลน์หยิบยื่นให้หรือไม่
จากการศึกษาพบว่าคนอเมริกันมีความระมัดระวังค่อนข้างมากต่อการรักษาความเป็นส่วนตัวและต้องการมาตรการที่รัดกุมในการป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งในโลกออนไลน์และในโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากนี้การ
ศึกษาของ สถาบันวิจัย PEW แห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกัน 79 เปอร์เซ็นต์มีความเป็นห่วงในเรื่องของการเก็บข้อมูลในโลกออนไลน์และ 80 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าพวกเขามีโอกาสน้อยมากหรือแทบไม่มีโอกาสในการควบคุมการเก็บข้อมูลของภาครัฐหรือบริษัทต่างๆเลย ผลการศึกษานี้จึงอาจยืนยันได้ว่าผู้คนไม่ได้ละเลยในการป้องกันรักษาความเป็นส่วนตัว จึงเป็นไปได้ว่าการที่ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์รั่วไหลไปสู่สาธารณะบนโลกออนไลน์ได้ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการแชร์ข้อมูลได้มากที่สุดและกระตุ้นให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งด้วยความยินยอมของผู้ใช้และผู้ใช้ให้ข้อมูลไปโดยไม่รู้ตัวและคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญหรือโซเชียลมีเดียเองไม่มีมาตรการป้องกันความเป็นส่วนตัวที่ดีพอ ปัจจัยทั้งสองประการจึงทำให้ข้อมูลส่วนตัวของบุคลรั่วไหลบนโลกออนไลน์อย่างง่ายดายและยากที่จะป้องกันได้
ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัว/ส่วนบุคคล(Personal Data) ซึ่งเป็นข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ (ระบุไปถึงเจ้าของข้อมูล) ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม จึงเป็นสิ่งมีค่าที่บรรดานักธุรกิจข้อมูลต้องการมากที่สุด เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับพฤติกรรมของเราบนโซเชียลมีเดียและถอดรหัสตัวตนของเราออกมาได้อย่างละเอียดและแม่นยำ นายหน้าขายข้อมูลบางรายสามารถเก็บตัวตนของแต่ละคนเอาไว้ได้ละเอียดนับพันข้อมูล ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แพลตฟอร์มบางประเภท จึงมักถามเราบ่อยๆว่า “คุณต้องการรู้อะไรกับตัวคุณอีก” เพราะเขาได้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเราเรียกว่าแทบจะทุกกระเบียดนิ้วเอาไว้โดยเราอาจไม่รู้เลยว่าเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับตัวเรา ในขณะที่บริษัทเหล่านี้จำทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเราไว้หมด
นายหน้าขายข้อมูล ธุรกิจ(ไม่)ลับที่ทรงอิทธิพล
นายหน้าขายข้อมูล คือ บริษัทที่เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคและนำไปขายต่อหรือแบ่งปันข้อมูลนั้นให้กับผู้อื่น โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ นายหน้าขายข้อมูลเชิงพาณิชย์(Commercial data broker) ซึ่งนำข้อมูลของเราไปวิเคราะห์เพื่อสร้างสินค้าและบริการกลับมาขายเราอีกทีหนึ่ง ในขณะที่นายหน้าขายข้อมูลสถาบัน(Institutional data broker) จะนำข้อมูลของผู้คนไปขายให้กับหน่วยงานรัฐและสถาบันต่างๆ
แหล่งข้อมูลหลักของนายหน้าขายข้อมูลแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่
- ข้อมูลจากรัฐบาล ( เชื้อชาติ อายุ การศึกษา รายได้ ที่อยู่ ประวัติอาชญากรรม หมายจับ ฯลฯ)
- ข้อมูลสาธารณะ (แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ)
- ข้อมูลทางการค้า ( บริษัทโทรศัพท์ บริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย ประวัติการซื้อสินค้า ฯลฯ)
- ข้อมูลจากนายหน้าขายข้อมูลด้วยกันเอง
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นายหน้าเหล่านี้เก็บมานั้นล้วนเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดจึงมีคนรู้การเคลื่อนไหวของเราทุกฝีก้าว ที่สำคัญคือข้อมูลที่ถูกนำไปขายนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือถูกนำไปใช้เกินกว่าขอบเขตที่ได้ตกลงกันไว้ในเงื่อนไขการใช้บริการ(Terms of service)และเจ้าของข้อมูลไม่เคยรู้เลยว่ามีบริษัทประเภทนี้อยู่ในโลก ดังนั้น ชื่อ ที่อยู่ อายุ เพศ เลขหมายโทรศัพท์ ประวัติทางการเงิน ประวัติการประกันภัย ประวัติการเดินทาง ข้อมูลสุขภาพ สถานที่ที่ชอบไป ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวของเรา จึงถูกนำไปจัดเก็บ แยกประเภท ประมวลผลและขายต่อให้กับคนที่ต้องการข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการถูกขโมยข้อมูลจากพวกแฮ็กเกอร์หรือการขโมยข้อมูลไปขายในรูปแบบอื่นๆดังที่ปรากฏเป็นข่าวในบ้านเราอยู่หลายครั้ง
นอกจากจะขายข้อมูลให้กับบริษัทหรือองค์กรต่างๆแล้ว บุคคลทั่วไปก็สามารถใช้บริการจากนายหน้าเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าใครก็ได้สามารถจะใช้และควบคุมข้อมูลของเราทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูลและสังคมได้ทั้งสิ้น
พวกนายหน้าขายข้อมูลรู้รายละเอียดของเรามากเกินกว่าที่เราจะคาดคิด เพราะเขาจะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเราตั้งแต่รายได้ของเราไปจนถึงขนาดของเสื้อผ้าที่เราใส่ พูดง่ายๆก็คือความเป็นตัวตนของเราตั้งแต่เส้นผมจนจรดปลายเท้าตลอดจนความสัมพันธ์กับใครต่อใครก็ตาม จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมดอย่างเป็นระบบ นายหน้ารายใหญ่บางรายแยกประเภทของข้อมูลที่เก็บจากผู้บริโภคแต่ละคนไว้มากถึง 1,500 ข้อมูลหรือมากกว่านั้น
จากรายงานของ CNN และ Forbes เมื่อเดือน ธันวาคม 2013 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า นายหน้าขายข้อมูลได้ขายข้อมูลเกี่ยวกับ รายชื่อเหยื่อที่ถูกข่มขืน รายชื่อผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม รายชื่อผู้ติดเชื้อเอดส์และHIV รายชื่อของผู้ป่วยที่ติดยาและติดเหล้า รายชื่อผู้มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมไปถึงชื่อและที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้กับลูกค้าของตนเอง
ธุรกิจ ซื้อ-ขาย ข้อมูลไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่เพราะอย่างน้อยที่สุดมีบริษัทสองแห่งคือ RELX (เรล เอ็กซ์) และ Thomson Reuters ทำธุรกิจขายข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1990 ก่อนที่เฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มอื่นๆจะเกิดขึ้นนานนับสิบปี แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน อนาไลติกส์(Analytics)และจำนวนข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นในแต่ละวินาทีทำให้ธุรกิจ จัดเก็บ วิเคราะห์และขายข้อมูลผุดขึ้นมากมายราวดอกเห็ดในปัจจุบัน
จากรายงานของ Newsweek เมื่อ เดือน พฤษภาคม 2016 คาดว่าบริษัทนายหน้าขายข้อมูลซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนอยู่ระหว่าง 2,500 ถึง 4,000 ราย(ณ วันที่เขียนบทความจำนวนนายหน้าขายข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลง) บริษัทเหล่านี้ มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น Axiom Experian TransUnion Oracle Data Cloud RELX และ CoreLogic เป็นต้น แต่ละชื่อที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นบริษัทที่ไม่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป แต่พวกเขากำลังทำธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลและกุมความลับของคนทั้งโลกเอาไว้ในมือ
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ แม้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ลูกค้าซื้อไปสามารถทำประโยชน์และช่วยทำให้การกลั่นกรองหรือตัดสินใจในงานต่างๆได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลจำนวนไม่น้อยมีความผิดพลาด จากการรายงานของ คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา(Federal Trade Commission : FTC) พบว่าเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ของรายงานเครดิตของผู้บริโภคมีความผิดพลาด นอกจากนี้บริษัทนายหน้าขายข้อมูลบางรายเองยอมรับว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลบุคคลที่มีอยู่อาจจะไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อหน่วยงาน บริษัท หรือบุคคลนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปใช้งานจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อคนบางคนในทางใดทางหนึ่ง เช่น เหตุใดเราจึงถูกปฏิเสธจากบริษัทที่เราสมัครงาน เหตุใดธนาคารจึงไม่ปล่อยสินเชื่อบ้าน เหตุใดบริษัทประกันภัยปฏิเสธการซื้อประกัน เหตุใดที่นักศึกษาถูกปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อ เป็นต้น ลองจินตนาการดูว่าหากนายหน้าขายข้อมูลเหล่านี้ขายข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้กับ หน่วยงานด้านกฎหมาย บริษัทนายจ้าง หน่วยบริการด้านสุขภาพ หน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานที่ต้องนำข้อมูลมูลเหล่านี้ไปใช้ตัดสินชีวิตผู้คน จะส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาเหล่านั้นมากมายขนาดไหน
แม้ว่าผู้บริโภคพบว่าข้อมูลตัวเองผิดพลาดแต่การเข้าไปหาบริษัทเหล่านี้เพื่อแก้ไขข้อมูลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีนายหน้าเพียงบางรายเท่านั้นที่ยอมให้ผู้บริโภคแก้ไขข้อมูลภายใต้เงื่อนไขต่างๆมากมายและหากข้อมูลเปลี่ยนมือไปยังนายหน้ารายอื่นๆแล้วการแก้ไขก็ยิ่งจะทำได้ยากขึ้นหรืออาจพูดได้ว่าความผิดพลาดของข้อมูลนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เลย
ข้อมูล 22 ประเภทที่เขาอยากรู้จากเรา
แพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มมีวัตถุประสงค์และรูปแบบการเรียนรู้ตัวตนของเราต่างๆกัน เช่น กูเกิล เรียนรู้ว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่ จากสิ่งเราค้นหาจากเครื่องมือสืบค้น(Search engine) ในขณะที่เฟซบุ๊กเรียนรู้ว่า เรากำลังสนใจอะไร เพื่อนเราชอบอะไร เราไปที่ไหนมาบ้างและมีแผนจะไปไหน จากสิ่งที่เราหรือเพื่อนเราโพสต์ LinkedIn รู้ว่าเราและเพื่อนๆมีอาชีพอะไร จากข้อมูลที่เรามอบให้และจากโครงข่ายอาชีพของบุคคลที่เชื่อมต่อกัน และ Amazon Paypal Agoda ฯลฯ เรียนรู้ประวัติการใช้ บัตรเครดิต ธนาคารและประวัติการใช้เงินของเรา เป็นต้น
การที่แพลตฟอร์มสามารถหยั่งรู้สิ่งต่างๆได้มากมาย เพราะการพยากรณ์จากข้อมูลที่เขาต้องการมากที่สุดเกี่ยวกับตัวเรา 22 ประเภท ซึ่งได้แก่
1. ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ เพศ วันเกิด ข้อมูลการติดต่ออื่น ( โทรศัพท์ อีเมล์ ฯลฯ)
2. ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่(Location) ที่คุณชอบใช้เวลาอยู่ที่นั่นมากที่สุด
3. ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่างๆกับผู้คน
4. ลักษณะงานและรายได้
5. ประวัติการศึกษา
6. เชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์
7. ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมือง
8. ข้อมูลการจดจำใบหน้า(Facial recognition)
9. ข้อมูลทางการเงิน-ธนาคาร
10. ที่อยู่ของไอพี (IP Address)
11. ประวัติการติดต่อสื่อสารและการพูดคุย (Chat)
12. ตารางการใช้ชีวิตประจำวันและการใช้เวลาในแต่ละวัน
13.ประวัติการสืบค้น (Search history)
14. ข้อมูลเกี่ยวกับ การสันทนาการ (Entertainment) และสื่อที่ อ่าน ฟังและดูเป็นประจำ (หนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ)
15. ข้อมูลการท่องเว็บ (Web - browsing history)
16. พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย
17. ประวัติการซื้อ-ขาย
18. ข้อมูลเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของร่างกายและสุขภาพ
19. ข้อมูลการโฆษณาที่ถูกคลิก (Click)
20.การโพสต์ต่างๆบนโซเชียลมีเดีย
21. อุปกรณ์ที่ใช้บนโลกออนไลน์ (มือถือ PC แท็บเล็ต ฯลฯ)
22. ข้อมูลเสียงที่ถูกบันทึกไว้ด้วยฟังก์ชันบันทึกเสียงของแพลตฟอร์มต่างๆ (Alexa ของ Amazon Google Home ฯลฯ)
ไม่ว่าข้อมูลตัวตนของเราทั้ง 22 ประเภทและข้อมูลอื่นๆที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์ตัวตนของเราจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ เช่น การตลาด การสร้างแบรนด์ หรือทดสอบฟังก์ชันใหม่ๆของบริการที่จะเปิดตัวบนแพลตฟอร์ม ซึ่งไม่ใช่การสอดส่องตัวตนเราเพื่อวัตถุประสงค์ในทางร้าย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสอดส่องเหล่านี้คือการละเมิดความเป็นตัวตนของคนทุกเพศทุกวัยโดยที่ไม่มีใครรู้ตัวและยากที่จะตรวจสอบด้วยเงื่อนไขความซับซ้อนของเทคโนโลยีและบริการ ที่เราต้องมอบข้อมูลบางอย่างให้ทั้งโดยความเต็มใจและความไม่รู้ตัวและเป็นการละเมิดที่ร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ที่เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวในอดีต เพราะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนนับพันๆล้านคนโดยไม่มีใครรู้ตัวและกว่าจะรู้ผลก็เกิดความเสียหายไปแล้วและยากที่จะ ตรวจสอบ เอาผิดหรือร้องเรียนกับใครได้ ความเป็นส่วนตัวของเราจึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะเก็บไว้เป็นความลับได้เมื่อเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์
มรดกดิจิทัล - สิ่งยังหลงเหลืออยู่ของคนตาย
แม้คนตายจะอ่านไม่ได้ พูดไม่ได้และโพสต์ไม่ได้แล้ว แต่ร่องรอยทางดิจิทัล(Digital footprint) ของคนตายที่เคยสร้างไว้เมื่อครั้งมีชิวิตยังคงไม่หายไปไหนและกลายเป็น มรดกดิจิทัล(Digital legacy) ซึ่งเป็นที่หมายปองของมิจฉาชีพอยู่ตลอดเวลา เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ทำมาหากินได้
จากการสำรวจพบว่ามี ประวัติของคนตายราว 30 ล้านคนปรากฏอยู่บน เฟซบุ๊กและคาดการณ์ว่าภายในปี 2100 จะมีประวัติของคนตายเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 ล้านคน ซึ่งหมายความว่าแม้ร่างกายของเราจะจากไปกลายเป็นธุลีแล้วก็ตามแต่ ร่างดิจิทัล (Digital body) ของเราไม่ได้ตายตามร่างกายไปด้วยและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนตายยังมักถูกนำไปผูกติดกับเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ตลอดเวลาแม้จะวายชนม์ไปแล้วก็ตาม เช่น หลุมศพบางแห่งในญี่ปุ่นสามารถให้ผู้มาเคารพศพใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code บนหลุมศพเพื่อเปิดเพลงที่คนตายชอบ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือร่องรอยที่เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยหรือดูไม่สำคัญ แต่มักมีผู้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้เสมอ
ข้อมูลในปี 2013 จากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลตัวตนของบุคคล พบว่าในแต่ละปีมีการค้นหาอัตลักษณ์ของคนอเมริกันทั่วไปที่เสียชีวิตแล้วจากมิจฉาชีพราว 2.5 ล้านคนเพื่อนำรายชื่อเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบและพบว่ารายชื่อราว 800,000 รายชื่อจากทั้งหมดคือเป้าหมายของมิจฉาชีพ
เมื่อปี 2020 สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา(FBI) สำนักงานเมือง El Paso รัฐเท็กซัส ได้ออกคำเตือนถึงประชาชนเกี่ยวกับมิจฉาชีพที่กำลังหาประโยชน์จากข้อมูลคนตาย ด้วยวิธีการต่างๆนานา เป็นต้นว่า
- อ้างว่าคนตายมีหนี้สินและยังไม่ได้ชำระคืนและมีการเรียกร้องเงินจากครอบครัวผู้ตาย
- อ้างว่ามีการจัดงานศพหรืองานอาลัยต่อผู้ตายซึ่งไม่ได้มีงานนั้นอยู่จริงและเรียกร้องเงินค่าจัดงานจากครอบครัวผู้ตาย
- อ้างว่าผู้ตายติดค้างค่าประกันสุขภาพและมีการเรียกร้องเงินจากผู้เกี่ยวข้อง
- มีการปลอมแปลงตัวเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรเรียกเก็บภาษีค้างจ่ายของผู้ตายจากครอบครัว
- สวมรอยเป็นคนตายเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนหรือหาผลประโยชน์รูปแบบอื่นโดยใช้เครดิตของผู้ตาย
- ติดต่อครอบครัวคนตายเรียกร้องให้จ่ายค่าประกันชีวิตที่ผู้ตายติดค้าง
- ใช้ชื่อคนตายเปิดบัตรเครดิต
- นำของส่วนตัวเล็กๆน้อยๆของผู้ตายไปให้คนที่ผู้ตายรู้จักและเรียกร้องเงินบริจาคโดยอ้างว่าเพื่อการดำรงชีพของครอบครัวคนตาย
พฤติกรรมของมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนมาจากข้อมูลที่คนตายทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ซึ่งมากเพียงพอจนสามารถทำให้มิจฉาชีพปะติดปะต่อนำไปหาประโยชน์ได้ การนำข้อมูลอัตลักษณ์ของคนตายไปหาผลประโยชน์ในลักษณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากบนโลกออนไลน์ซึ่งมักเรียกกันว่า Ghosting (การหากินกับคนตาย)
ความอาลัยอาวรณ์ต่อทรัพย์สินที่เคยสะสมเอาไว้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งยังตัดจากความ อยากได้-อยากมี ไม่ขาด ไม่ว่าจะอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกดิจิทัล ทั้งที่รู้ว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งตัวเองจะต้องจากโลกนี้ไป จากการสำรวจของ UK YouGov เมื่อปี 2018 พบว่า 7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้บัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเองยังคงอยู่ตลอดไปแม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม สิ่งที่หลงเหลืออยู่ของคนตายเหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งทำเงินของมิจฉาชีพยุคดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย
การหากินกับข้อมูลคนตายจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และสร้างความเสียหายในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย เฉพาะตัวเลขจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา(IRS)เพียงหน่วยงานเดียว พบว่าตัวเลขการขอคืนภาษีของคนตายโดยมิชอบบางปีมีมากถึง 5,000 ล้านเหรียญยูเอสหรือราว175,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
แม้เทคโนโลยีทำให้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป แต่การละเมิดความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับเปลี่ยนรูปแบบโดยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการสอดแนมชีวิตของผู้คนซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวในทางลับที่ไม่มีใครรู้ตัว แสดงให้เห็นว่าใครก็ตามที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์กำลังเผชิญกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรงในยุคที่การค้นหาและการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถทำได้ไม่ยาก ทุกคนบนโลกออนไลน์จึงต้องตระหนักเสมอว่าความลับของท่านไม่มีอยู่จริงเพราะความเป็นส่วนตัวของท่านกำลังถูกใช้อยู่ตลอดเวลาด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกันไม่ว่าจาก ภาคธุรกิจ รัฐบาล หรือแม้แต่มิจฉาชีพก็ตาม แพลตฟอร์มออนไลน์จึงเป็นเหมือนของขวัญและอาวุธที่มนุษย์ยื่นให้มนุษย์ด้วยกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับประโยชน์และความสะดวกสบายภายใต้ผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ให้บริการเอง
อ้างอิง
1. Privacy is political โดย Alice E. Marwick
2. https://openpdpa.org/personal-data-type/
3. นายหน้าขายข้อมูล https://www.isranews.org/content-page/item/50496-sme_50496.html
4. https://dataprot.net/guides/list-of-data-brokers/
5. Data Cartel โดย Sarah Lamdan
6. Digital Legacy โดย Daniel Sieberg และ Rikard Steiber
7. https://www.nytimes.com/2012/06/17/technology/acxiom-the-quiet-giant-of-consumer-database-marketing.html
8. https://artculturespam.wordpress.com/2016/06/01/private-spaces-for-public-consumption-female-privacy-as-erotic-satire-in-eighteenth-century-british-print-culture/
ภาพประกอบ
1.ดัดแปลงจากhttps://thiscanbeweird.wordpress.com/2013/06/08/social-surveillance-are-we-being-watched/
2.https://artculturespam.wordpress.com/2016/06/01/private-spaces-for-public-consumption-female-privacy-as-erotic-satire-in-eighteenth-century-british-print-culture/