"...ยังมีกฎหมายสำคัญที่สมควรเร่งผลักดันอีกเช่น “กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก” (Anti – SLAPP Law) กฎหมายเพื่อบังคับต่อนิติกรรมหรือสัญญาที่มีการทุจริตให้เป็นโมฆะ กฎหมายติดตามคืนทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริต การใช้มาตรการตรวจสอบทางภาษี เป็นต้น..."
ไม่รู้ว่าคนไทยจะสูญเปล่าหรือได้ประโยชน์บ้างกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญฯ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560เพราะจนวันนี้ สิ่งที่คาดหวังมากคือกฎหมายเพื่อการปฏิรูปฯ ทั้ง 10 ฉบับยังค้างคาไม่มีอะไรลุล่วงเลย
เชื่อว่าสภาพบ้านเมืองทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยส่วย สินบน โกงกินในวงราชการและการเมือง จะทำให้ท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน เห็นความจำเป็นในการประกาศให้ “การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ” ที่เราต้องต่อสู้เชิงรุกร่วมกันอย่างจริงจัง และผลักดันการแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จด้วยเปลี่ยนแปลงรากฐานของประเทศให้ทันโลกตามแผนปฏิรูปฯ
กฎหมาย 10 ฉบับเพื่อปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ต้องประกาศใช้ แก้ไขหรือปรับปรุง มีดังนี้
1. การแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 59 และมาตรา 253
เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ได้โดยสะดวกและไม่สิ้นเปลือง ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และหลักสากล
2. เร่งรัดการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .. (Conflict of Interest)
เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เรียกรับสินบน/สินน้ำใจ ใช้ทรัพย์สิน/ทรัพยากรของรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
3. การปรับปรุง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตอนุมัติของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาช่องทางการยื่นขออนุมัติ อนุญาต ผ่านอินเตอร์เน็ต
เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนของเจ้าหน้าที่มิให้เกิดภาระและต้นทุนเกินจำเป็นและเป็นลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าในการอนุญาต อนุมัติที่เป็นปัจจัยให้เกิดการเรียกรับสินบน
4. เร่งรัดการจัดทำ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่
เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตรวจสอบเมื่อมีการร้องเรียนว่าร่ำรวยผิดปกติ รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นและต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หรือยื่นต่อหน่วยงานต้นสังกัด ในรูปแบบเป็นเอกสารหรือดิจิทัลไฟล์
5. การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลในระบบคุณธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ม. 76 วรรคสอง ให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐด้วยระบบคุณธรรม
เพื่อเป็นหลักประกันให้คนเก่งคนมีคุณภาพมีโอกาสขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยงาน อันจะสร้างแรงจูงใจและแบบอย่างที่ดีในการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
6. การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวกับการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐ
เพื่อทบทวนแนวทางและมาตรการในการรับของขวัญและของกำนัลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (No Gift Policy) ให้สอดคล้องกับกฎหมาย ป.ป.ช. และหลักสากล
7. การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐและรางวัลจากการแจ้งเบาะแส
เพื่อทบทวนแนวทางและมาตรการในการจ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ มิให้นำไปสู่การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และเกิดความเป็นธรรมในหมู่เจ้าหน้าที่ แต่ยังคงใช้แนวทางและมาตรการให้รางวัลการแจ้งเบาะแสแก่ประชาชน เพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการให้ข้อมูลและเบาะแส
8. การปรับปรุง พ.ร.บ. ฟอกเงินฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยการกระทำอันเป็นการฟอกเงิน
เพื่อใช้กฎหมายฟอกเงินเป็นเครื่องมือตรวจจับคอร์รัปชันและสกัดกั้นการนำเงินบาปออกมาใช้
9. การปรับปรุงกฎหมายของ ป.ป.ท. โดยให้นำเรื่องการส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ รวมไว้ในกฎหมายของ สำนักงาน ป.ป.ท. ด้วย
เพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาชนที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมากขึ้น และขยายความเข้มแข็งของ ป.ป.ท. เพื่อการป้องกันคอร์รัปชันในภาครัฐ
10. การจัดทำกฎหมายการกำหนดความผิดของนิติบุคคลและผู้สนับสนุนการทุจริต ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เพื่อกำหนดความผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบและผู้สนับสนุน ให้สอดคล้องกับหลักสากล
ยังมีกฎหมายสำคัญที่สมควรเร่งผลักดันอีกเช่น “กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก” (Anti – SLAPP Law) กฎหมายเพื่อบังคับต่อนิติกรรมหรือสัญญาที่มีการทุจริตให้เป็นโมฆะ กฎหมายติดตามคืนทรัพย์สินที่เกิดจากการทุจริต การใช้มาตรการตรวจสอบทางภาษี เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com