"...การบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศในยุคนั้น มุ่งเน้นการลงทุนในตั๋วเงินคลังระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่ไทยค้าขายด้วย โดยเฉพาะสหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การลงทุนไม่ได้มีห้องค้า (Dealing Room) มีเพียงโต๊ะไม้เก่าตัวยาว ตั้งโทรศัพท์ 2 เครื่อง เพื่อติดต่อกับสถาบันการเงินคู่ค้าในต่างประเทศ..."
ภาพ “มหานครนิวยอร์ก” เมืองที่ถูกขนานนามว่า “ไม่เคยหลับใหล และบิ๊กแอปเปิ้ล” กลับเข้ามาอยู่ในความทรงจำของผมอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่น้อง ๆ สำนักงานตัวแทนแบงก์ชาตินครนิวยอร์ก1/ ขอนัดสัมภาษณ์ถึงบทบาทของสำนักงานฯ ในยุคสมัยที่ผมไปปฏิบัติงานในฐานะรุ่นบุกเบิกเมื่อปี 2533 ทำให้ผมต้องรีบค้นคว้าเอกสาร หารูปภาพเก่า ๆ จากหอจดหมายเหตุ พร้อมกับโทรศัพท์สอบถามจากพี่ ๆ เกษียณที่ยังสามารถจดจำความเป็นมาของการก่อตั้งสำนักงานฯที่ถือได้ว่าเป็นการขยายภูมิสถานไปต่างประเทศเป็นแห่งแรกของแบงก์ชาติ
ก่อนที่จะข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรไปถึงนครนิวยอร์ก เรามารับรู้เส้นทางการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศกันก่อน พี่วงษ์วธู โพธิรัชต์ อดีตผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง (ฝ่ายการธนาคารเดิม) เจ้าหน้าที่ลงทุนรุ่นแรกเล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2520 เกิดปัญหาราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงจากราคา 5 เหรียญต่อบาร์เรล ไปถึง 35 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้ไทยประสบปัญหาขาดดุลเงินสะพัด ต้องกู้ยืมจากต่างประเทศ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ดังนั้น ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ฝ่ายการธนาคาร (ฝ่ายบริหารเงินสำรองในปัจจุบัน) ซึ่งรับผิดชอบการบริหารเงินตราต่างประเทศ จึงเน้นการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อภาวะราคาน้ำมันเริ่มทรงตัว ประกอบกับไทยสามารถทำมาค้าขายได้ดีขึ้น จึงเริ่มมีเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ โดยในปลายปี 2528 มีเงินตราต่างประเทศของทางการ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “เงินสำรองระหว่างประเทศ” ประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จึงจำเป็นต้องมีการบริหาร จัดการเพื่อรักษามูลค่าเงินตราต่างประเทศเหล่านั้น
การบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศในยุคนั้น มุ่งเน้นการลงทุนในตั๋วเงินคลังระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่ไทยค้าขายด้วย โดยเฉพาะสหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การลงทุนไม่ได้มีห้องค้า (Dealing Room) มีเพียงโต๊ะไม้เก่าตัวยาว ตั้งโทรศัพท์ 2 เครื่อง เพื่อติดต่อกับสถาบันการเงินคู่ค้าในต่างประเทศ และเครื่อง Telex เครื่องที่ใช้สื่อสารข้อความระหว่างกันที่เป็นลายลักษณ์อักษรทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจต่าง ๆ ผลผลิตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พี่อัญชนา หลายรัตน์ อดีตเจ้าหน้าที่ลงทุนยุคบุกเบิกรับผิดชอบในการบริหารเงินตราต่างประเทศเสริมว่า การบริหารจัดการไม่ได้แบ่งแยกหน้าที่ผู้ซื้อ ผู้ส่งมอบ และผู้บันทึกรายการไว้ชัดเจน เรียกว่ากระบวนการบริหารเป็นแบบ 3 ประสาน ในส่วนงานเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ลงทุนหรือ Dealer กับบริษัทต่างประเทศจริง ๆ มีเพียงไม่กี่คน
เจ้าหน้าที่ลงทุน ในส่วนธุรกิจต่างประเทศรุ่นแรก
กระบวนการทำงานเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อทีมงานได้รับรายงานสรุปธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่เข้าออก เงินฝากและหลักทรัพย์ที่ครบกำหนด พร้อมข่าวสารความเคลื่อนไหวในตลาดต่างประเทศ ที่ได้รับจากเครื่อง Telex เพื่อมาหารือร่วมกัน เป็น “Morning Meeting” ที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมตัดสินใจว่าจะนำเงินไปลงทุนในสกุลใด ก่อนแยกย้ายไปดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ คำสั่งซื้อขายอยู่ในรูปแบบกระดาษ เก็บข้อมูลด้วยโปรแกรม Excel และคำนวณราคาพันธบัตรด้วยเครื่องคิดเลข Hewlett Packard ซึ่งในยุคสมัยนั้น ก็เรียกว่า “โก้หรูและสุดยอดแล้ว” พี่วงษ์วธู ได้กล่าวอย่างติดตลก
การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มเป็นมืออาชีพมากขึ้น เมื่อพนักงานที่ได้รับทุนธนาคารไปศึกษาในต่างประเทศ ได้เริ่มทยอยกลับมาปฏิบัติงาน พร้อมกับพนักงานที่รับผิดชอบได้มีโอกาสไปเรียนรู้ศึกษากลยุทธ์และวิธีการลงทุนจากธนาคารกลางชั้นนำและบริษัทคู่ค้า ผู้ที่ริเริ่มให้การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศมีความเป็นสากลคือ พี่นพมาศ มโนลีหกุล และพี่เบญจวรรณ กลัดเจริญที่เห็นความจำเป็นต้องบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้เร่งรัดพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ลงทุน พร้อมกับนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการดำเนินการมีการนำเครื่องจอรอยเตอร์รุ่นจอดำ อักษรสีเขียว สามารถดูราคาพันธบัตรแบบ Real Time มาติดตั้งเป็นเครื่องแรกที่แบงก์ชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดห้อง Dealing Room ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 อาคาร 2จนถึงทุกวันนี้
ห้อง Dealing Room ยุคแรก
พี่นพมาศ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนธุรกิจต่างประเทศในช่วงเวลานั้น บอกพวกเราว่า “หากเราไม่กล้าตัดสินใจบริหารเงิน 5-10 ล้าน การบริหารเงินสำรองที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยล้านก็จะยิ่งยากขึ้น” จึงเป็นที่มาของการจัดสรรเงินให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง เช่น
การตัดสินใจว่าจะลงทุนพันธบัตรระยะสั้นหรือระยะยาว หรือช่วงเวลาซื้อขาย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด้วยเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินสกุลดอลลาร์ สรอ. เป็นหลักในขณะที่ตลาดเริ่มมีธุรกรรมและราคาที่ผันผวนมากขึ้น โดยธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ตลาดนิวยอร์ก ซึ่งเวลาต่างกับประเทศไทยถึง 12 ชั่วโมง พร้อมกับมีธนาคารกลางสิงคโปร์และมาเลเซีย ไปตั้งสำนักงานตัวแทนธนาคารที่นั่น จึงเป็นจุดริเริ่มของแบงก์ชาติที่จะไปจัดตั้งสำนักงานฯ ที่นครนิวยอร์กบ้าง
“….ธนาคารจำเป็นต้องเน้นน้ำหนักการบริหารเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นพิเศษ ซึ่งเท่าที่ได้ปฏิบัติมายังไม่สามารถปฏิบัติงานได้ผลอย่างเต็มที่ เพราะตลาดนิวยอร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินและการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด มีเวลาทำการต่างกับประเทศไทยถึง 12 ชั่วโมง ธนาคารจึงเห็นว่าการมีสำนักงานตัวแทนในนิวยอร์ก เพื่อทำการลงทุนหรือบริหารทุนสำรองทางการ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ช่วยให้ธนาคารสามารถติดตามข่าวสารและตัวเลขสถิติ สร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินต่าง ๆในนครนิวยอร์กได้อย่างใกล้ชิด ตลอดจนสามารถติดตามและเข้าใจการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยได้ทันท่วงที….”2/ ส่วนหนึ่งของเหตุผลในบันทึกที่เสนอคณะกรรมการธนาคารพิจารณา ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้แบงก์ชาติจัดตั้งสำนักงานฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532 โดยมีพี่นพมาศ เป็นหัวหน้าสำนักงานตัวแทนฯ คนแรก
เขียนมาถึงจุดนี้ พวกเราคงสงสัยว่าผมไปเกี่ยวข้องกับสำนักงานฯ ที่นครนิวยอร์กได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นการทำงานที่แบงก์ชาติเมื่อปี 2532 ในตำแหน่ง “ผู้วิเคราะห์ผู้ช่วย” คอยวิเคราะห์ติดตามความเคลื่อนไหวตลาดเงินในประเทศ หน้ายังละอ่อน ทำงานได้ไม่ถึงปี ต้องลัดฟ้าลงเครื่องนั่งรถแท็กซี่ป้ายดำจากสนามบินนิวยอร์กไปสถานที่พักด้วยใจระทึก สัปดาห์หน้าผมจะได้ขยายความให้ฟัง พร้อมกับความทรงจำ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานที่นั่นเกือบ 2 ปี ที่นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานที่แบงก์ชาติจนถึงทุกวันนี้
รณดล นุ่มนนท์
20 พฤศจิกายน 2566
แหล่งที่มา
1/ น้องที่ร่วมสัมภาษณ์ประกอบด้วย สุวดี กุกเรย่า หัวหน้าสำนักงานตัวแทน นครนิวยอร์ก, รัตนชัย อำนวยเรืองศรี ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานฯ, กวินชนก แสงชวลิต เจ้าหน้าที่ลงทุน, สันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ที่ปรึกษาผู้ช่วยผู้ว่าการ และพูลศรี โอเจริญ รองผู้อำนวย ฝ่ายบริหารเงินสำรอง
2/ บันทึกการประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10/2531 วันที่ 26 ตุลาคม 2531 และ ครั้งที่ 11/2531 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2531