"...แม้ปัจจุบันลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงสูงมาก และที่ตลกร้าย คือ ความเหลื่อมล้ำของไทยที่ลดลงช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีผลมาจากการแก้ปัญหาใด ๆ ของรัฐบาล แต่เป็นผลโดยตรงมาจากทรัพย์สินของคนรวยที่ลดลงจากวิกฤติโควิด 19..."
พวกคนใหญ่คนโตหรือฝรั่งเรียกว่า “Public Figures” ว่าที่จริงก็ลำบาก พูดจาอะไรแต่ละคำออกมาเป็นเหตุเป็นเรื่องตลอด ไม่เหมือนสามัญชนหรือ Common man อย่างพวกเรา ปากร้ายแค่ไหน ถ้าไม่หมิ่นประมาทใคร สังคมก็ไม่สนใจ
เริ่มต้น โฆษกรัฐบาลแถลงเลยว่า “รัฐบาลเป็นองค์อธิปัตย์” ท่านคงดีใจที่ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จากการไปเจรจาตกปากรับคำกับพรรคที่ได้เสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด แล้วเขาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถัดมาพอตัวเองเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ก็คงคิดว่า “ไชโย เราชนะแล้ว”!! หรือ “ไชโย เรามีอำนาจเต็มที่แล้ว!!” จึงหลุดคำว่า “รัฐบาลเป็นองค์อธิปัตย์” ออกมา
แต่ที่ถูก “อำนาจอธิปไตย” เป็นของชาติ และคำว่า “องค์อธิปัตย์” หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ หมายถึงเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ปราบดาภิเษกสามารถรวบรวมอำนาจในชาติที่แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าให้เป็นหนึ่งเดียวได้ในสมัยศักดินา ส่วนสมัยนี้ไม่มีใครเป็น “องค์อธิปัตย์” แล้ว เพราะไม่มีใครรวบอำนาจเข้ามาไว้กับตัวเองคนเดียวได้ สมัยใหม่ตั้งแต่ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt, 1972, p.143) เธอมีประวัติต่อต้าน เผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างแข็งขัน มองว่า “อำนาจของรัฐ” เป็นอำนาจการเมืองที่ต้องใช้ร่วมกัน (to act in concert) เพราะมีธรรมชาติเป็นอำนาจร่วมและระดมกำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ (the collective nature of political power and mobilization) อำนาจการเมืองสมัยใหม่จึงต้องแบ่งกันใช้ หรือใช้คู่ขนาน หมายถึงตรวจสอบกันได้
การพูดว่า “รัฐบาลเป็นองค์อธิปัตย์” สะท้อนความหมายว่า รัฐบาลใหญ่มาก รวบอำนาจได้สำเร็จ ไม่คิดแบ่งอำนาจให้ใครใช้ หรือไม่ยินดีให้ใครตรวจสอบ ซึ่งน่าจะไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดนี้ที่อ้างอำนาจจากการเลือกตั้งอยู่บ่อย ๆ
แต่ “โฆษก” เป็น “หน้าตา” ของรัฐบาล แสดงว่าเริ่มต้นก้าวแรก รัฐบาลก็ก้าวพลาดแล้ว ด้วยการเลือกโฆษกที่ไม่สามารถเป็นหน้าเป็นตารัฐบาลได้ พูดผิดแม้กระทั่งประเด็นพื้นฐานทางรัฐศาสตร์!!!
เราสามารถศึกษาการเมืองได้จากกระบวนการสร้างความคิดและการขับเคลื่อนทางความคิดผ่านสถาบันต่าง ๆ ทางการเมือง เช่น รัฐบาล พรรคการเมือง กกต. ป.ป.ช. หรือแม้แต่ศาล ความคิดที่เราสร้างมีอำนาจ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ power to กับ power over
Power to หมายถึงความสามารถที่กระทบต่อผลลัพธ์ (the capacity to impact outcomes) ส่วน power over ก็ตรงตัว “อำนาจเหนือ” ก็หมายถึงการมีอำนาจครอบงำเหนือคนอื่น
“คำพูด” ของมนุษย์บางทีก็มีผลกระทบต่อผลลัพธ์!! บางทีก็มีอำนาจครอบงำ!! บางทีมีผลทั้งสองอย่าง ตัวอย่างเช่น คุณเศรษฐาพูดที่เมืองนอก เจตนาคงจะสอนนักเรียนนอกให้รู้จักทำงานจากระดับล่างขึ้นไป แต่ไปใช้คำว่า “ต้องเริ่มจากการเป็นขี้ข้าก่อน” คำว่า “ขี้ข้า” เป็นคำที่เหยียดคน หมายถึงคนชั้นต่ำที่รับใช้คนอื่น สะท้อนถึงการมีชนชั้นวรรณะในสังคม อย่างน้อยก็ชนชั้นทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ในเชิงวาทกรรม คำว่า “ขี้ข้า” ยังเป็นการประกอบสร้างอัตลักษณ์ให้กับคน มีความหมายทั้งในแง่ต้องพึ่งพิง “นาย”หรือชนชั้นสูง และทั้งในแง่ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
แสดงว่านายกรัฐมนตรีไทยในปัจจุบัน ด้านหนึ่ง อ้างประชาธิปไตย ซึ่งถือหลักเสรีภาพและความ เสมอภาค แต่อีกด้านหนึ่งกลับแสดงออกถึงทัศนคติที่ฝังลึกถึงการเหยียดคนว่า คนไม่ได้เท่าเทียมกัน จึงสอนให้รู้จักเป็น “ขี้ข้า”ก่อน จึงค่อย ๆ ไต่ไปสู่ชนชั้นสูง อาจเทียบได้กับตนเองที่เคยกระทำมา จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
กรณี “เสี่ยหนูพุก” ยิ่งหนักกว่า “ปากพาจน” หลายรอบ คราวก่อนพูดว่า “จะหวดหมอ” เพื่อแสดงอำนาจเหนือ!! คราวนี้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ฐานะเสนาบดีกระทรวงใหญ่ พูดไปพูดมา มัน Freudian slip อีกแล้ว!! เสี่ยหนูพุกพูดว่าตนสนใจปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง มีนโยบายที่จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ที่จริงจบ แค่นี้ก็ได้แล้ว แต่ “เสี่ยหนูพุก” พูดต่อว่า “คนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า”??
คนฟังก็เลย อ้าว!! แสดงว่าการแก้ปัญหาคนจนชาตินี้คงแก้ไม่ได้สิ ถึงต่อไปถึงชาติหน้า แล้วชาติหน้า “เสี่ยหนูพุก” จะได้มีโอกาสมาออกนโยบายแก้ปัญหาคนจนอีกไหมเนี่ย??? คนจนก็อยากรอ “เสี่ยหนูพุก” ในชาติหน้าด้วยเหมียนกัลล์!!!
การบอกว่าการแก้ปัญหาคนจนต้องแก้ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ยังส่อให้เห็นด้วยว่า รัฐบาลนี้ไม่คิด เอาจริงใช่ไหม?? หรือถอดใจกับปัญหาคนจนตั้งแต่แรกแล้ว??
รัฐบาลอาจมีฐานคติ (assumption) แล้วว่า “คนจน” เป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขได้ การแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลจริง ๆ จึงเป็นการโปรยยาหอมให้ชื่นใจ มากกว่าคิดลงมือ “ผ่าตัด” เพื่อแก้ปัญหาให้หายขาด เช่น เสี่ยหนูพุกบอกว่าจะหาทางเพิ่มงบให้ อาจต้องประสานกับ “เสี่ยนัส” ที่คุมเกษตร แต่ไม่มีปัญหา เพราะรู้จักกันดี
ความคิดการแก้ปัญหาคนจนของเสี่ยหนูพุก แทนที่จะมองตัวปัญหา (problem identification) และทางแก้ (alternatives) ก่อน กลับข้ามไปมองที่งบประมาณ ซึ่งเป็นเครื่องมือของนโยบาย (policy instruments) ซึ่งมีจำกัดจำเขี่ยอยู่แล้ว แต่เสี่ยหนูพุกมีอำนาจเหนือในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่จะดึงงบประมาณมาเพิ่มได้ อ้าวแล้วหลักเหตุผลในกระบวนนโยบายที่สอนกันในมหาวิทยาลัย จะสอนกันไปทำไม??
ตรงนี้ จอห์น รอลส์ (John Rawls, 1971) อาจพูดถูกที่ว่า “ความยุติธรรม คือ การกระทำที่ยุติธรรม” (justice as fairness) มิน่าเขาถึงได้รับการยกย่องให้เป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ เพราะความยุติธรรมมันมีแต่ปากไม่ได้ ต้องแสดงออกมาเป็นการกระทำ แสดงออกมาให้เห็นกับตาและเกิดการยอมรับกันทั่วไป นักการเมืองสักแต่พูดเพื่อหวังเอาคะแนน แต่จริง ๆ ทำอย่างไร เขายังไม่รู้!!!
รอลส์ ไม่เชื่อการแทรกแซงของรัฐ (statism) ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือระบอบทหาร อาจรวมถึงประชาธิปไตยจอมปลอม เพราะรัฐบาลของระบอบเหล่านี้ บอกว่าจะแทรกแซงสังคมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน แต่กลับปรากฏว่าความจริงคนจนไม่ได้รับอะไร หรือได้รับแต่น้อยนิด เพราะต้นทางและระหว่างทางมันรั่วไหลหมด ผลของการพัฒนาและการแก้ปัญหาความยากจนจึงปรากฏว่าผู้เผด็จการกับเหล่านักประชาธิปไตยจอมปลอมมั่งคั่งขึ้นทันตาเห็น แต่คนจนไม่ได้ดีขึ้น มิหนำซ้ำเลวลงเรื่อย ๆ
ข้อเสนอของรอลส์ จึงเอาสองอย่างมาผสมกัน ได้แก่ เสรีภาพ (freedom) กับความเสมอภาค (equality) เขาตระหนักว่าเสรีภาพจะมีอย่างไม่มีขอบเขตก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันคนจะเท่าเทียมกันทั้งหมดก็ไม่ได้ เขาจึงเน้นความเสมอภาคในโอกาส หลักการที่เขาเสนอจึงได้แก่ รัฐต้องจัดวางเสรีภาพพื้นฐานให้กับคนในสังคมก่อน เช่น เสรีภาพการพูด การสมาคม การนับถือศาสนา (ของไทยอาจต้องพูดถึงเสรีภาพในการประกันตัว!!) เมื่อคนมีเสรีภาพมาก ก็จะเกิดความไม่เสมอภาคกันเป็นธรรมดา เพราะคนมีโอกาสหรือมือยาวไม่เท่ากัน วิธีการที่จะลดความไม่เสมอภาค ก็คือ การช่วยคนที่เสียเปรียบที่สุด (worse off) ก่อน
การช่วยคนที่เสียเปรียบจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี “ม่านของความไม่รู้” (veil of ignorance as a path to justice) ตัวอย่างเช่น เด็กตัดเค้กแบ่งกัน คนที่ตัดต้องไม่เลือกก่อน เขาจะได้ตัดเค้กเท่ากันทั้งหมดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเป็นรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องตกลงกันว่าจะหลงลืมฐานะเดิมของตัวเองก่อน (agrees to voluntary or temporary amnesia) เช่น เสี่ยหุ้นหรือเสี่ยบ้านจัดสรรมาเป็นรัฐบาล ต้องลืมเสียก่อนว่าตัวเองร่ำรวยจากการเล่นหุ้นหรือขายบ้านจัดสรร ถ้าไม่ลืม การเป็นรัฐบาลของตนแม้แต่ด้าน good will อย่างเดียวก็อาจทำให้หุ้นขึ้นหรือบ้านจัดสรรขายดี
กระบวนการกันทรัพย์สมบัติส่วนตัวออกจากการเป็นรัฐบาลจึงสำคัญมาก การแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเพียงวิธีการส่วนน้อยที่นักนิติศาสตร์คิดได้ ยังมีกระบวนการอื่นอีกมากที่ควรทำ เช่น การเพิ่มแรงกดดันทางสังคมต่อรัฐบาลและการเพิ่มอำนาจคัดง้างหรือต่อรองให้กับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เช่น ภาคประชาสังคม ประเด็นพวกนี้นักนิติศาสตร์ไทยยังไม่ค่อยได้คิด ไม่รู้เป็นเพราะอะไร?? ดูกรณีคุณวีระ สมความคิด ขอให้เปิดเผยคดีนาฬิกาเพื่อนก็ได้ มันยากเย็นแสนเข็ญ เพียงใด --แล้วเราจะหวังอะไรกับหน่วยงานตรวจสอบการทุจริต?? ส่วนใหญ่เป็น symbolic action คือสักแต่ทำ แต่ไม่ได้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมอะไร คนโดนจับได้มีแต่ อบต.กับเทศบาล—แสดงว่าหลักฐานระดับล่างมันมั่นคงมาก แต่ระดับบนยังไม่พอฟัง—ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จะให้เพิ่มอัตรากำลังอีกเท่าใด???—แท็กติกส์ “ถ่วงเวลา” กลายเป็นแท็กติกส์หลักของความยุติธรรมที่ล่าช้า สาเหตุมาจากคนของประเทศนั้นเอาผลประโยชน์ตัวเองมาเป็นที่ตั้งมากกว่า “การหลงลืมผลประโยชน์ส่วนตัว” นั่นเอง
ประเทศไหนสามารถสร้างรัฐบาลที่หลงลืมผลประโยชน์ส่วนตัวได้มาก ประกอบกับยึดมั่นปรัชญาสาธารณะ (public philosophy) ชัดเจน เมื่อเขาได้คนตามนั้นไปเป็นรัฐบาล ประเทศนั้นก็เจริญ แต่ประเทศไหนป้องกันไม่ได้ จิตสำนึกก็ไม่มี การฉกประโยชน์จากรัฐก็ยิ่งมีมาก “เสี่ยโน่นเสี่ยนี่” ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยแบบนับนิ้วมือ แต่คนจนและคนเสียเปรียบจะเพิ่มอีกนับไม่ถ้วน ช่องว่างระหว่างคนหรือ “ความเหลื่อมล้ำ” จึงถูกถ่างออกไปเรื่อย ๆ ประเทศไทยเคยขึ้นถึงอันดับสี่ของโลก
แม้ปัจจุบันลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงสูงมาก และที่ตลกร้าย คือ ความเหลื่อมล้ำของไทยที่ลดลงช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีผลมาจากการแก้ปัญหาใด ๆ ของรัฐบาล แต่เป็นผลโดยตรงมาจากทรัพย์สินของคนรวยที่ลดลงจากวิกฤติโควิด 19 (ในทางกลับกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล ย่อมมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มทรัพย์สินคนรวย—ทันตาเห็นเหมือนกัน—อาเสี่ยที่ทรัพย์สินเขาลดลง จึงแห่กันสนับสนุนการแจกเงินดิจิทัล)
ปรัชญาความยุติธรรมของจอห์น รอลส์ จึงเป็นปรัชญายิ่งใหญ่ที่ประเทศตะวันตกยึดถือกันในปัจจุบัน รัฐต้องให้เสรีภาพพื้นฐานแก่ประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องทำตัวเป็นคน “สมองเสื่อม” ชั่วคราว ลืมผลประโยชน์ตัวเองให้ได้ หากลืมผลประโยชน์ตัวเองได้เท่าใด เขาก็จะ “จดจำ” ผลประโยชน์ของส่วนรวมได้มากเท่านั้น
“ปัญหาปากพาจน” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรัฐบาล ฝ่ายค้านก็มี กรณี “เสี่ยทอน” รับว่าคุยกับ “เสี่ยษิณ” ก่อนจัดตั้งรัฐบาล สะท้อนว่าอย่างน้อย tycoons หรือ “อภิมหาเสี่ย” ได้คุยกัน เสี่ยทอนมีฐานะเป็นผู้นำแถวหนึ่ง แม้ถูกห้ามเล่นการเมืองชั่วคราว ก็ยังเป็นประธานองค์กรทางสังคมที่มีบทบาทแสดงความคิดเห็นทาง การเมือง ส่วน “เสี่ยษิณ” ไม่ต้องพูดถึง เป็น mastermind ทางการเมืองของไทยมาตลอดระยะยี่สิบปีที่ ผ่านมา แม้จะนิ่งเงียบ แต่น่าจะเป็นเพียงคนภายนอกไม่สามารถเจาะข่าวได้ มีข่าวลือลอยลมจากชั้น 14 ณ ตึกแห่งหนึ่ง—คนอ้างว่าเสี่ยษิณวางแผนอย่างนั้น วางแผนอย่างนี้ แม้เป็นข่าวเท็จ—แต่ก็ยังเป็นข่าว!!
การรับว่าสองอภิมหาเสี่ยคุยกัน คนทั่วไปก็ต้องคาดการณ์กันว่ามี “ดีล” ประสาเสี่ยที่ถือเครื่องคิดเลขในมือด้วยกัน ถึงแม้จะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม แต่สำคัญที่สุดย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้สนับสนุน ไม่ว่าฝ่ายใด
ผู้สนับสนุนคงอดใจหายไม่ได้ว่า “อุดมการณ์” อาจเป็นเครื่องมือนำทางนโยบาย เวลาเดียวกัน อาจเป็นเพียงเครื่องมือหลอกล่อ “ผู้สนับสนุน” และเราหลงคิดเองว่าเขามีอุดมการณ์ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว อาจเป็นความคิดที่เพ้อฝันมาก ๆ ก็ได้-ไม่งั้น จะคุยกันทำซากอะไร???
เมื่อไม่นานนี้ หน่วยงานรัฐบาลให้สัมภาษณ์เองว่า “จะเอาตำรวจจีนมาลาดตระเวนคู่กับตำรวจไทยเหมือนอิตาลี” นัยว่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมั่นใจในความปลอดภัย แต่คราวนี้กลับไม่คิดเรื่อง “อำนาจอธิปไตย” ร้อนถึงรัฐบาลออกมาแก้ตัวพลวันว่า “มันเป็นความผิดพลาดทางการสื่อสาร” ความผิดพลาดทางการสื่อสารเป็นภาษาทางการ ภาษาเรา ๆ ก็ยังเป็นปัญหา “ปากพาจน”
สุดท้าย คุณเศรษฐาพูดออกสื่อแพร่ต่อสาธารณะทำนองว่า “เหนื่อยกับกรณีที่ส.ส.ฝากผู้กำกับใหม่” หมายถึงส.ส.วิ่งเต้นฝากเลื่อนตำรวจจากยศไม่ใช่ผู้กำกับการ ให้เป็นผู้กำกับการ
ฝ่ายค้านได้ทีขี่แพะไล่ ว่า “ส.ส.วิ่งเต้นฝากตำรวจ” ไม่ผิดกฎหมายเหรอ แล้วก็การเลื่อนตำแหน่งของตำรวจฝากกันได้เหรอ แน่ละว่า มันผิดกฎหมายและผิดระบบคุณธรรม แต่คุณเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะพูดออกมาทำไม ทำไมไม่เอาเรื่องไปหารือในคณะกรรมการบริหารงานบุคคลตำรวจว่า “ทำอย่างนี้ไม่ได้” และที่ถูกต้องทำอย่างไร --ไม่ดีกว่าเหรอ --ที่แน่ ๆ อันนี้ก็เป็นปัญหาปากพาจน
สรุปว่า “คำพูด” ของคุณเศรษฐามาจาก “ความคิด” ของคุณเศรษฐา และ “ความคิด” ของคุณเศรษฐา ไม่ได้คิดในฐานะเอกชน แต่อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถโน้มน้าวคนอื่นให้ยอมรับความคิดของคุณเศรษฐาได้ ในเวลาเดียวกัน “คำพูด” ของคุณเศรษฐาก็มีผลต่อการบั่นทอน “อำนาจ” การเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณเศรษฐาเอง หากคำพูดส่อถึงความคิดที่ไม่ถูกต้องต่อระบอบประชาธิปไตยและครรลองของคุณธรรม --ไม่ได้ต่างจากเสี่ยหนูพุกหรือคนอื่น ๆ อย่างน้อยก็ผลกระทบต่อความนิยมหรือความ ชอบธรรมทางการเมือง!!
แต่ที่สำคัญกว่าอยู่ที่ปากพาจนของผู้มีอำนาจสามารถสร้างอัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) ทำให้เกิดการผลิตอัตลักษณ์ที่ผิดพลาดซ้ำ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น “การหลงอำนาจ” หรือ “การเหยียดคน” หรือ “ทัศนคติที่ยอมจำนนต่อปัญหา”!!
สุดท้าย คนจะได้ข้อสรุปว่า “คงหวังให้ประเทศนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้” !!!!
เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ