"...โดยสรุป การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง อันได้แก่ (1) การศึกษาในระบบ การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการอบรมครูที่เจาะจงแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง (2) การอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้น กิจกรรมทั้งสองรูปแบบเป็นนโยบายที่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องค้นหาคำตอบเพิ่มเติมอีกว่า กิจกรรมทั้งสองรูปแบบสามารถใช้ทดแทนกันได้ (SUBSTITUTE) หรือเป็นแบบเสริมกัน (COMPLEMENT) ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจัดให้มีการทดลองที่มีทั้งกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งและกลุ่มที่ได้รับทั้งสองกิจกรรม ซึ่งจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ควรออกแบบนโยบายโดยใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือจำเป็นต้องดำเนินการทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป..."
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.
ทุนมนุษย์ (human capital) คือ คุณภาพของคน โดยมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของแต่ละปัจเจกบุคคล มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า การพัฒนาเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก มีโอกาสช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กด้อยโอกาสกับเด็กกลุ่มอื่นได้ดีกว่าการลงทุนในช่วงหลังของชีวิต ช่วงปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง
โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ หรือ “ไรซ์ไทยแลนด์ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE Thailand)” โดย รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงริเริ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยอ้างอิงงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Professor James J. Heckman ที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (benefit-to-cost ratio) ของโครงการ Perry Preschool (ซึ่งสอนเด็กปฐมวัยอายุ 3 ถึง 4 ขวบ จำนวน 123 คน จากหลักสูตรที่เรียกว่า “ไฮสโคป” (HighScope) ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมือง Ypsilanti รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างปี 1962 ถึง ปี 1964 และมีการเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างมาจนถึงปัจจุบัน) มีค่าประมาณ 7 ต่อ 1 ถึง 12 ต่อ 1 หรือแปลได้ว่า การลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการและสังคมโดยรวมสูงถึงประมาณ 7 ถึง 12 บาท
ดังนั้น โครงการ RIECE Thailand จึงเลือกหลักสูตรนี้มาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย โดยเริ่มด้วยการนำไปทดลองใช้ที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ และสุ่มเลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 19 แห่ง (จากทั้งหมด 50 แห่ง) ให้มีครูปฐมวัยที่จัดหาโดยโครงการร่วมสอนด้วยกระบวนการไฮสโคปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีการศึกษา
ผลการศึกษาต่าง ๆ ของคณะผู้วิจัยนำโดย รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง พบว่า
- เด็กปฐมวัยที่เรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีครูปฐมวัยของโครงการร่วมสอนอยู่ มีพัฒนาการสูงกว่าอีกกลุ่ม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ (ประมาณ 0.4 เท่าของความเบี่ยงเบนมาตรฐาน)
อย่างไรก็ตาม การจ้างครูปฐมวัยเพิ่มมีต้นทุนสูง ยากต่อการนำไปขยายผลต่อ และการร่วมสอนของครูโครงการยังไม่สามารถช่วยให้ครูที่สอนอยู่เดิมสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้มากเท่าที่ควร
โครงการ RIECE Thailand จึงได้พัฒนาการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง (on-site training) ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นวิธีการอบรมครูปฐมวัยที่เข้มข้นและเน้นการปฏิบัติการสอนในห้องเรียนจริงเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- การอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจากการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) การเรียนหนึ่งวันในห้องเรียนกลุ่มทดลองช่วยให้เด็กมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา และด้านวิชาการโดยรวมเพิ่มมากกว่าการเรียนในห้องเรียนกลุ่มควบคุม ประมาณ 39%, 69% และ 49% ของทักษะส่วนเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่มควบคุมนั้น ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ยังประสบปัญหาในการขยายผล ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะยังขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะจะมาพร้อมกับความพยายามที่มากขึ้น ทำให้ครูต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม
ด้วยปัญหาเมื่อผู้ที่ต้องปฏิบัติไม่ใช่ผู้ที่รับผลประโยชน์โดยตรง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยจึงให้ความสนใจกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน (parenting home visiting program) ซึ่งเป็นวิธีการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองให้สามารถทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะผู้ปกครองน่าจะมีแรงจูงใจในการอยากเห็นบุตรหลานมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยมีงานวิจัยในต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้าน สามารถช่วยพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีนัยสำคัญ
จากเหตุผลข้างต้น RIPED จึงได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเอาหลักสูตร Reach Up ซึ่งเป็นหลักสูตรการเยี่ยมบ้านที่มีหลักฐานจากงานวิจัยต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพสูง ไปทดลองใช้ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ลพบุรี นครนายก สงขลา และพัทลุง โดยได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมการเยี่ยมบ้านดังกล่าว โดยจะเก็บข้อมูลพัฒนาการเด็กเพื่อประเมินว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านสามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยได้มากน้อยเพียงใด
ยิ่งไปกว่านั้น จะเก็บข้อมูลการลงทุนของผู้ปกครอง (parental investment) ทั้งในรูปของเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กและการจัดหาสื่ออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมการเยี่ยมบ้านเพื่อพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง คาดว่าจะเก็บข้อมูลหลังการทดลองในช่วงปลายปี 2566 และน่าจะทราบผลการทดลองเบื้องต้นในช่วงกลางปี 2567
โดยสรุป การพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง อันได้แก่
(1) การศึกษาในระบบ การยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริง ซึ่งเป็นการอบรมครูที่เจาะจงแนวทางการสอนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะและมีรายละเอียดกิจกรรมและเนื้อหาที่ครบถ้วนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูปฐมวัยได้จริง
(2) การอบรมเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า การพัฒนาการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองผ่านการเยี่ยมบ้านเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ผู้ปกครองมีความพร้อมในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยตนเองมากขึ้น
ดังนั้น กิจกรรมทั้งสองรูปแบบเป็นนโยบายที่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องค้นหาคำตอบเพิ่มเติมอีกว่า กิจกรรมทั้งสองรูปแบบสามารถใช้ทดแทนกันได้ (SUBSTITUTE) หรือเป็นแบบเสริมกัน (COMPLEMENT) ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจัดให้มีการทดลองที่มีทั้งกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งและกลุ่มที่ได้รับทั้งสองกิจกรรม ซึ่งจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ควรออกแบบนโยบายโดยใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือจำเป็นต้องดำเนินการทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป