"...ไฮไลท์ตอนขาลง คงอยู่ที่เห็นน้ำที่ไหลบ่าลงจากเขาแบบเต็มตา ไม่มีทางเลี่ยงต้องเดินข้ามน้ำที่เชี่ยวกรากเหมือนในหนังผจญภัย แบบใจสั่น ๆ ต่างกันที่หนังใช้นักแสดงโลดโผนแทนพระเอก นางเอก แต่เรื่องนี้เราต้องแสดงเอง อย่างไรก็ดี สามารถฝ่าฟันผ่านพ้นมาได้ เรียกว่าทุกย่างก้าวต้องมีสติ คิดว่าจะเดินลงก้าวต่อไปอย่างไร ยิ่งกว่าการเดินหมากรุกที่ต้องหาทางรุกฆาต แบบก้าวผิดชีวิตเปลี่ยน ในที่สุดสามารถกลับมาข้างล่างได้อย่างปลอดภัย ไม่ได้ลื่นล้มแม้แต่ครั้งเดียว ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง 37 นาที เร็วกว่าตอนขึ้นไม่ถึง 1 ชั่วโมง..."
Weekly Mail สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนถึงกิจกรรม “ตะกายเขาหลวงสุโขทัย” แม้ว่าจะสามารถไต่ขึ้นไปถึงยอดดอยได้ โดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง 18 นาที แต่ยังมีเรื่องให้ลุ้นระทึกตลอดเวลาตั้งแต่นาทีแรกที่ขึ้นไปถึง จนกลับลงมาในวันรุ่งขึ้น
สิ่งแรกที่ทำเมื่อเข้าพักในแคมป์คือการอาบน้ำ ชะล้างตัวจากขี้โคลนที่เปื้อนเต็มร่างกาย จึงไม่รอช้า ถอดรองเท้ามาใส่รองเท้าแตะแทน พร้อมนำผ้าเช็ดตัวและเสื้อผ้าใหม่ ตรงดิ่งไปยังห้องอาบน้ำ แต่เดินไปไม่ถึงครึ่งทาง ปรากฏว่าลื่นก้นจ้ำเบ้าแบบไม่เป็นท่า เพราะไม่ได้ระวังตัวกับทางเดินที่พื้นเป็นขี้โคลน พอลุกขึ้นจะเดินไปอีกก้าวก็ล้มอีก คราวนี้ผ้าเช็ดตัวหล่นบนพื้นจำใจต้องถอดรองเท้าแตะ และค่อยย่องเดินไปอาบน้ำที่บอกได้คำเดียวว่า “หนาวเย็นเหน็บหัวใจ” จะรีบอาบก็ไม่ได้เพราะตัวเลอะเทอะไปหมด ที่สำคัญคือต้องหาทางเช็ดเนื้อเช็ดตัวด้วยผ้าเช็ดตัว ที่เต็มไปด้วยคราบขี้โคลน
กลับมานอนที่แคมป์ ไม่ทันจะได้ล้มตัวลงนอนก็ถูกเรียกระดมพลเพื่อพาไปดูพระอาทิตย์ตกดิน แต่พอเริ่มเดิน สังเกตว่าเราไปในทิศทางที่ต่างจากกลุ่มอื่น ซึ่งผู้นำทางบอกว่า อยากจะให้ชมเขาพระเจดีย์ พอเดินไปสักพักก็เห็นยอดเขาพระแม่ย่าที่จะไปดูพระอาทิตย์ตกดินอยู่ทิศทางตรงกันข้ามและไกลแบบสุดลูกหูลูกตา แขนขารู้สึกอ่อนเปลี้ยไปหมด แต่กลับใจหันหลังกลับไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ดี จุดที่แวะชมไม่ทำให้ผิดหวังเพราะทิวทัศน์สวยงามมาก และสามารถเดินไปดูพระอาทิตย์ตกดินได้ทัน แม้ว่าจะไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกเพราะเมฆหมอกได้บดบังไปแล้วก็ตามกลับมาถึงแคมป์มืดมิดพอดี แต่ได้ทานอาหารค่ำที่พวกเราทำกันเอง มีน้องวลัยพร แพ่งศิริเป็นแม่ครัวใหญ่ ถือเป็นสุกี้มื้อที่อร่อยที่สุด (ไม่นับรวมข้าวไข่เจียวที่สั่งจากร้านค้าอุทยาน)
ทานกันอิ่มถึงเวลานอน ได้ยินเสียงคนข้างนอกพูดกันว่าเห็นทางช้างเผือก แต่หมดเรี่ยวแรงที่จะลุกออกมาดู อย่างไรก็ดี นอนหลับไม่ได้เต็มอิ่มเต็มตาเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะนอนผิดที่ แต่เป็นเพราะเสียงกรนดังลั่นจากคนที่นอนอยู่เต็นท์ข้าง ๆ รีบตื่นขึ้นมาตอน 4.55 น. เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้เข้าห้องน้ำเป็นคนแรก ก่อนที่จะเริ่มต้นเดินทางไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่เขาพระนารายณ์ ซึ่งก็เหมือนเดิมคือ มีเมฆปกคลุม อดดูพระอาทิตย์ทั้งตอนขึ้นและตอนตก แต่ถือว่าได้อารมณ์อีกแบบเพราะยืนอยู่เหนือเมฆพร้อมได้ถ่ายภาพบนหน้าผาที่เป็นสัญลักษณ์ของเขาหลวง แบบมองไปข้างล่างต้องขาสั่น
กลับมา ลูกทีมดูพยากรณ์อากาศแล้วบอกว่าต้องรีบเดินทางลงเขา เพราะพายุฝนกำลังมา ฟังดูคล้ายชีวิตอยู่ในความเสี่ยงภัย ราวกับต้องลงมาจากเทือกเขาหิมาลัย ใช้เวลาขอบคุณ
คุณสุบิน ศรีสำโรง หัวหน้าอุทยานบนดอยและเจ้าหน้าที่แบบไม่นาน ต้องรีบเดินไต่เขากลับลงมา ซึ่งช่วงลงมาตอนต้นรู้สึกสบาย ๆ แต่ไม่นานฝนเริ่มตกแบบไม่ลืมหูลืมตา เม็ดใหญ่ ๆ กระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ คราวนี้แหละงานเข้า เพราะแต่ละก้าวที่ลงต้องระมัดระวังมาก มีไม้เท้าคอยพยุงตัวไว้ ในบางจังหวะถึงกับต้องย่อเข่าเกือบถึงพื้นก่อนเดินลง โดยมีน้องวีรยา วงศ์วัชรไพบูลย์ ที่อยู่ข้างหน้า เป็นตัวช่วยคอยช่วยชี้จุดที่ต้องลงในก้าวต่อไป พร้อมจับประคับประคองไม่ให้ต้องลื่นไหลลงมา ในขณะที่ต้องหาทางลงเพื่อเลี่ยงดินโคลน เดินบนหญ้า พร้อมจับราวไว้แบบขาก้าวแต่มือยึด
ท่องคาถา “สติ สมาธิ” ไปตลอดทาง
ไฮไลท์ตอนขาลง คงอยู่ที่เห็นน้ำที่ไหลบ่าลงจากเขาแบบเต็มตา ไม่มีทางเลี่ยงต้องเดินข้ามน้ำที่เชี่ยวกรากเหมือนในหนังผจญภัย แบบใจสั่น ๆ ต่างกันที่หนังใช้นักแสดงโลดโผนแทนพระเอก นางเอก แต่เรื่องนี้เราต้องแสดงเอง อย่างไรก็ดี สามารถฝ่าฟันผ่านพ้นมาได้ เรียกว่าทุกย่างก้าวต้องมีสติ คิดว่าจะเดินลงก้าวต่อไปอย่างไร ยิ่งกว่าการเดินหมากรุกที่ต้องหาทางรุกฆาต แบบก้าวผิดชีวิตเปลี่ยน ในที่สุดสามารถกลับมาข้างล่างได้อย่างปลอดภัย ไม่ได้ลื่นล้มแม้แต่ครั้งเดียว ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง 37 นาที เร็วกว่าตอนขึ้นไม่ถึง 1 ชั่วโมง
ในขณะที่คณะที่เหลือก็ตามลงมาได้แบบไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งมีเรื่องราวที่ต้องลุ้นระทึกตั้งแต่ก้าวแรกที่ไต่ลงมา เพราะเมื่อคณะเดินทางลงมาได้ 1 ชั่วโมง จนถึงไทรงาม ต้นไทรยืนต้นสูงเด่นรากยาวซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งป่าเขาหลวงสุโขทัย ฝนได้เทลงมาอย่างหนัก ทำให้คณะแบ่งย่อยเป็นอีก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกน้องเมธินี เหมริด และน้องภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ เป็นคู่บัดดี้ที่ช่วยกันดูเส้นทางและจุดที่จะก้าวลง แม้จะค่อนข้างมีทักษะเพราะได้ฝึกวิ่งมาตลอด แต่ก็ไม่ง่ายที่จะลงมาเพราะต้องเจอกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก พื้นเปียกลื่นมาก แม้รองเท้าวิ่งเทรลก็สู้ไม่ไหวและได้ลื่นล้มอยู่หลายครั้ง จนได้เทคนิคใหม่จากนักวิ่งเทรลที่ผ่านไปมา ให้เดินย่ำลงไปบนทางน้ำไหลจะเดินได้ง่ายกว่า กลุ่มนี้ใช้เวลามากกว่าคณะแรก 1 ชั่วโมง
ส่วนอีกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้าย ต้องยกให้เป็นกลุ่มที่ใจสู้ที่สุด น้องจิระวัฒน์ ใจรัก (น้องเจ) เจ้าหน้าที่อุทยาน ยังคงเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งกระเป๋าเป้สะพายหลังได้เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญ เพราะเมื่อใดที่สมาชิกจะลื่นล้ม (โดยเฉพาะน้องดารณี แซ่จู ที่ต้องยกนิ้วให้กับความกล้าร่วมคณะขึ้นไป) น้องเจจะรีบคว้าหูหิ้วกระเป๋าเป้เพื่อดึงตัวไว้ คล้ายกับเป็นเข็มขัดนิรภัย เหตุการณ์ระทึกเกิดอีกครั้ง เมื่อลงผ่านจุดไทรงามได้ไม่นาน พื้นรองเท้าทั้งสองข้างของน้องปิยาณี ประสงค์วรรณะ ได้ทยอยขาดหลุดออกมาทีละข้าง นอกจากรองเท้าจะไม่มีพื้นไว้ช่วยยึดเกาะแล้ว รองเท้าสีขาวก็ได้กลายเป็นสีชานมจากโคลน ต้องชื่นชมน้องกันตภณ ศรีชาติ ที่ดูแลภรรยาเป็นอย่างดี กลุ่มสุดท้ายนี้ใช้เวลาเพิ่มจากกลุ่มก่อนหน้าอีก 1 ชั่วโมง โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 37 นาที
เรื่องราวการพิชิตเขาหลวงที่เหนือคำบรรยาย กลับไปเล่าให้ที่บ้านและคนใกล้ชิดฟัง มีแต่คนส่ายหัวว่าทำไปได้อย่างไร แต่เมื่อได้ไตร่ตรองแล้ว บอกตัวเองว่า คิดไม่ผิดกับการผจญภัยในครั้งนี้ การพิชิตเขาหลวงสำเร็จ ไม่ได้เกิดจากความสามารถส่วนตัว แต่เป็นการช่วยกันเป็นทีม ช่วยกันหาทางเดินในแต่ละก้าว พร้อมให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ดั่งคำพูดของเอดมันด์ ฮิลลารี นักสำรวจและนักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์ 1 ใน 2 คนแรกของโลกที่สามารถขึ้นถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้กล่าวไว้ว่า “จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อพิชิตยอดเขา แต่เป็นการชนะใจตัวเองมากกว่า” (It is not the mountain we conquer but ourselves)
ตอนที่เดินขึ้นและลงเขา คิดตลอดทางว่าจะมาเหนื่อย มาเสี่ยงขนาดนี้ทำไม แต่เมื่อกลับลงมาแล้ว กลับ “คิดถึง” อยากจะขึ้นไปอีก ถือเป็นประสบการณ์ของชีวิตที่อธิบายด้วยตนเองไม่ได้ยกเว้นพวกเราจะไปสัมผัสด้วยตนเอง
รณดล นุ่มนนท์
13 พฤศจิกายน 2566
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรม “ตะกายเขาหลวงสุโขทัย” ทุกท่านที่ช่วยกันสานฝันให้เป็นจริง พร้อมทั้งช่วยปรับปรุง เพิ่มเติม ให้ weekly mail ฉบับนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
คณะผู้ร่วมกิจกรรมประกอบด้วย
1. ดารณี แซ่จู 2. เมธินี เหมริด 3. กันตภณ ศรีชาติ 4. ปิยาณี ประสงค์วรรณะ 5. ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์
6. วีรยา วงศ์วัชรไพบูลย์ 7. วลัยพร แพ่งศิริ 8. สุชานัน จุนอนันตธรรม 9. ณัคนางค์ กุลนาถศิริ และ
10. สุกฤตา สงวนพันธุ์