“...เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กังวลตัวเลขช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่เริ่มพบเป็นเบาหวานกันแล้ว ขณะที่ประชากรไทยอัตราการเกิดน้อยลง เราจึงห่วงสถานการณ์ที่พลเมืองกับการมีภาวะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มโรค NCDs เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): 14 พฤศจิกายน 2564 ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก ประเด็นรณรงค์สำหรับปี 2566 สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF: International Diabetes Federation: IDF) มุ่งเน้นให้ความสำคัญของการรู้ถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อน โดยใช้หัวข้อ 'Know your risk, Know your response'
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนรณรงค์ลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายฯ กล่าวถึง 'เบาหวาน' เป็นจุดเริ่มต้นของสารพัดโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ซึ่งสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ และ IDF ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 5.3 ล้านคน ขณะที่ปี 2566 ไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวานจะพบอยู่ในช่วงวัยกลางคน
“เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กังวลตัวเลขช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นที่เริ่มพบเป็นเบาหวานกันแล้ว ขณะที่ประชากรไทยอัตราการเกิดน้อยลง เราจึงห่วงสถานการณ์ที่พลเมืองกับการมีภาวะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มโรค NCDs เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
ทพญ.ปิยะดา กล่าวถึงเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรายงานมานานแล้วว่า เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดกับกลุ่มเด็กได้ อายุแค่ 10 -11 ปีก็เจอว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แล้ว ดังนั้นจะเห็นว่า น้ำตาล เป็นรากของปัญหาทั้งหมด
หากเรารู้ว่า ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานคือ น้ำตาล ต้องสังเกตตัวเองมีภาวะผิดปกติหรือไม่
-
หากรู้ว่าเสี่ยง มีภาวะอ้วน หยุดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลปริมาณสูง มิเช่นนั้นจะเสี่ยงและนำไปสู่ภาวะของการเป็นโรค
-
หากรู้เสี่ยง มีพุง นั่นก็คือร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป
-
อยากให้คนไทยรไปตรวจสุขภาพประจำปีทุกๆ ปี เพื่อ จะได้รู้ว่า มีภาวะไขมันพอกตับ มีภาวะเสี่ยงจะเป็นเบาหวานหรือไม่
“การสังเกตตัวเอง รู้พฤติกรรมการกินทุกวัน เพื่อให้รู้ว่า เรามีภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะโรคเบาหวานหรือไม่ ทั้งหมดทั้งมวลการรู้เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ หากยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม”
ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวอีกว่า การที่คนไทยตระหนักรู้ว่า มีพฤติกรรมเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน สิ่งแรกที่เปลี่ยนได้เลยทันที คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ค่อย ๆ เปลี่ยน
“คนไทยมีภาวะอ้วน เพราะการกินแป้งและน้ำตาล โดยแหล่งหลักของน้ำตาล ก็มาจากเครื่องดื่ม ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม แต่เมืองไทย เครื่องดื่มบางชนิด พบว่า แค่ 1 แก้ว สามารถรับน้ำตาลเข้าร่างกายได้ในครั้งเดียวถึง 10 -15 ช้อนชา”
ทพญ.ปิยะดา กล่าวตอนท้ายถึงคนรุ่นใหม่ ว่า ยุคสมัยนี้หาข้อมูลเรื่องของโรคเบาหวานไม่ยากแล้ว คนกลุ่มนี้รับรู้รับทราบ น้ำตาลก่อให้เกิดโรคเบาหวาน แต่ด้วยความที่คิดไปไม่ถึง มองแค่น้ำตาลทราย แต่กับเครื่องดื่ม อาหารที่บริโภคเข้าไปก็มีน้ำตาลทรายทั้งนั้น และยังมีการปรุง เติมรสชาติเข้าไปอีก ฉะนั้น การมีสุขภาพที่ดีสามารถเริ่มต้นจากค่อยๆ ลดปริมาณลง จากเคยดื่มเครื่องดื่มรสหวาน 2 แก้ว ลดเหลือ 1 จากเคยเติมน้ำตาลเต็มช้อน ก็ลดสักครึ่งหนึ่งได้ไหม
“ช่วงแรกๆ อาจไม่อร่อยเลย แต่นานไปๆ ลิ้นเราจะชินกับการทานอาหารที่ไม่ต้องปรุงแต่ง”