"...การขึ้นเริ่มเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็เอาตัวขึ้นไปถึงจุดที่พักชมวิวจนได้ แต่พอแหงนหน้าขึ้นไปต้องบอกว่า “โอ้ พระเจ้า” เพราะมองขึ้นไปเห็นทางชันมากกว่า 45 องศา แถมคนที่ลงมาหลายคน ลงมาแบบเล่นสไลเดอร์ เลยต้องทำใจร่ม ๆ และนั่งพัก ดื่มน้ำ พูดคุยกับคนร่วมเดินทาง พร้อมรอกลุ่มสอง เพื่อเป็นการปลอบใจและให้กำลังใจตัวเองก่อนขึ้นไป..."
สวัสดีครับ
“อาณาจักรสุโขทัยก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. 1780 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงพระนามเดิมว่า พ่อขุนบางกลางหาว ทรงสถาปนาสุโขทัยขึ้นมา สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชนชาติไทย” บทแรกของตำราประวัติศาสตร์ที่พวกเราท่องกันมาตั้งแต่เรียนชั้น ป. 1 จนถึงมัธยมปลาย ทำให้ผมจดจำเมืองสุโขทัยตั้งแต่นั้นมา ผมได้มีโอกาสไปเมืองนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกไปเยี่ยมชมกับครอบครัว และครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2565 เมื่อได้ไปเป็นประธานงานแต่งงานของน้องปิยาณี ประสงค์วรรณะ (น้องนิว) และน้องกันตภณ ศรีชาติ (น้องเติ้ล) ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
แต่ฟ้าคงลิขิตที่จะให้มาเยือนเมืองนี้อีก เมื่อน้องเมธินี เหมริด (น้องโบ) มาเสนอกิจกรรม “ตะกายเขาหลวงสุโขทัย” รวมกิจกรรมการวิ่งขึ้นเขาและพักแคมป์บนยอดเขาไว้ในทริปเดียวในแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ ความที่อยากจะทำกิจกรรมในลักษณะนี้อยู่แล้ว จึงตอบรับโดยไม่ลังเล พร้อมได้รวบรวมกลุ่มเข้าร่วมทริปนี้ด้วยกัน 11 คน ซึ่งมาด้วยเหตุจูงใจที่ต่างกัน ตั้งแต่ “ก๊วนความรักนำพา” ที่เคยหารือกันไว้เมื่อครั้งมาเที่ยวสุโขทัยช่วงลอยกระทงปี 2560 ว่าจะกลับมาอีกครั้งเพื่อพิสูจน์รักแท้ด้วยการขึ้นเขาหลวง “ก๊วนนักวิ่ง” ที่เอาดีทางออกกำลังกายหลังโควิดและจบด้วย “ก๊วนชิวชิว” ที่เดินทางไปให้กำลังใจ
เมื่อหลวมตัวตอบรับไปแล้ว พอลองไปค้นข้อมูลว่าการขึ้นเขาหลวงเป็นอย่างไร ถึงกับเข่าทรุด ร้องอุทานด้วยความตกตะลึง เพราะเขาหลวงเป็นเส้นทางเดินป่าระดับ 3 เรียกว่าเป็นระดับ “Advanced Trekking” ความยากของการขึ้นเขาหลวงไม่ใช่ระยะทาง แต่คือความชัน เส้นทางเดินป่าขึ้นเขาหลวงสุโขทัยนั้น แม้มีระยะทางเพียง 3.7 กิโลเมตร แต่ความจริงคือ เส้นทางดังกล่าวมีทางเรียบเพียงไม่กี่ก้าว! ที่เหลือเป็นความชันกว่า 45 องศา
พวกเราเตรียมกายและเตรียมใจตามเวลาที่อำนวย และแล้วก็ถึงวันเวลาขึ้นเขาแบบยังไม่ทันตั้งตัว โชคดีมีน้องณัคนางค์ กุลนาถศิริ (น้องขิง) เจ้าถิ่น คอยดูแลอำนวยความสะดวกก่อนขึ้นเขา พร้อมคุณวิชัย ท้าวใจวงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่มาดูแล มอบหมายให้น้องจิระวัฒน์ ใจรัก (น้องเจ) เป็นไกด์นำขึ้นเขาตลอดเส้นทาง ต้องบอกว่า “ไม่มีเจแล้วจะรู้สึก” มีลูกหาบที่ช่วยแบกกระเป๋าเสื้อผ้าพร้อมของกินและทุกอย่างที่คิดว่าจะช่วยให้ชีวิตอยู่รอดในช่วงที่อยู่กันบนยอดเขาเราเดินขึ้นเขาด้วยกระเป๋าผ้าเล็ก ๆ ไว้ใส่ของมีค่า โทรศัพท์มือถือ และน้ำดื่มที่คล้องไว้ด้านหลัง
ก่อนขึ้นก็ได้ไหว้พระที่ประดิษฐานอยู่หน้าทางขึ้น เพื่อให้ท่านปกป้องคุ้มครองตลอดเส้นทางขึ้นลง เรียกว่าอาศัยแค่แรงและใจไม่พอ เมื่อย่างก้าวเข้าไปสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายธรรมชาติที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เสียงธารน้ำและนกร้องระหว่างทาง เดินไปตามทางเดินที่มีป้ายระบุไว้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่นาทีแรกคือ เป็นการเดินขึ้นตลอด ต้องอาศัยราวไม้ที่อยู่ข้างทางผยุงตัวขึ้น พร้อมใช้ไม้ค้ำทรงตัว (Trekking Pole) ที่พวกเราสรุปได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด ช่วยให้มีชีวิตรอดมา เดินไปได้กว่า 1 กิโลเมตร แม้จะไม่มีทางราบให้พัก แต่คิดในใจว่าไม่เห็นยากอย่างที่กล่าวที่โจษจัน พร้อมนึกชมตัวเองในใจว่านำผ้าขนหนูผืนเล็กมาด้วยไว้คอยปาดเหงื่อ ระหว่างทางได้พูดคุยกับผู้ร่วมขึ้นเขาที่มาจากทุกสารทิศ มีเพื่อนใหม่โดยปริยาย ได้คุยกันแบบสนุกสนานราวกับรู้จักกันมานานแล้ว
แต่เดินได้ไม่ทันถึงกิโลแม้ว ท้องฟ้าที่โปร่งใสก็ถูกปกคลุมด้วยเมฆฝน พร้อมกับสายฝนที่ตกลงมาปรอย ๆ ถึงแม้เม็ดไม่ใหญ่ แต่ก็ทำให้พื้นดินเริ่มเฉอะแฉะ แถมผ้าขนหนูอันตรธานหายไปแล้ว แต่ยังไม่คิดอะไรมาก เดินแบบชิว ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ มาเริ่มสะดุ้งใจตอนที่มีคนเดินลงเขามาบอกว่า “ลงมายาก ลื่นมาก ผมลื่นล้มหลายครั้งแล้ว เพราะข้างบนเป็นโคลน พี่ ๆ ระวังกันด้วยครับ” ที่สำคัญคือไม่ใช่คนเดียวที่บอก คนที่ทยอยลงมาต่างประสานเป็นเสียงเดียวกัน คราวนี้แหละใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เห็นป้ายจุดพักชมวิวที่เป็นสัญลักษณ์การขึ้นไปถึงคล้าย ๆ เบสแคมป์ (Base Camp) ของเทือกเขาหิมาลัย จึงรีบโกยจ้ำ ทำให้กลุ่มที่มาด้วยกันแบ่งออกเป็น 2 ทีมตั้งแต่วินาทีนั้น เพื่อรีบไปให้ถึงจุดพัก เพื่อตั้งสติก่อนจะขึ้นไปในระดับที่ยากลำบากขึ้น เพราะสังเกตว่าพื้นดินเป็นโคลนแบบย่ำไปแต่ละก้าว ทำให้รองเท้า On Cloud ที่ซื้อมาใหม่ดูไม่จืด ขี้โคลนติดจนหมดสภาพ
การขึ้นเริ่มเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็เอาตัวขึ้นไปถึงจุดที่พักชมวิวจนได้ แต่พอแหงนหน้าขึ้นไปต้องบอกว่า “โอ้ พระเจ้า” เพราะมองขึ้นไปเห็นทางชันมากกว่า 45 องศา แถมคนที่ลงมาหลายคน ลงมาแบบเล่นสไลเดอร์ เลยต้องทำใจร่ม ๆ และนั่งพัก ดื่มน้ำ พูดคุยกับคนร่วมเดินทาง พร้อมรอกลุ่มสอง เพื่อเป็นการปลอบใจและให้กำลังใจตัวเองก่อนขึ้นไป
โปรดคลิกดูไฮไลท์การพิชิตเขาหลวง
ถ่ายทำโดยคุณวีรยา วงศ์วัชรไพบูลย์
ฝนเริ่มตกหนักขึ้นเรื่อย ๆ จึงกัดฟันบอกกลุ่มแรกให้เริ่มต้นไต่ขึ้นไป ในช่วง 30 เมตรแรก มีราวให้จับจึงขึ้นไม่ยากเท่าไหร่ แต่พอเบื้องหน้าไม่มีราวไม้ให้จับ คราวนี้ทำอะไรไม่ถูก แถมต้องหาทางแทรกตัวให้คนลงได้ลงมาก่อน พอถึงคราวที่จะขึ้นไปปรากฏว่าน้องที่ขึ้นไปลื่นล้ม พอดีมีคนที่ลงเขานำไม้ค้ำมาให้จับจนสามารถพยุงตัวเองขึ้นมาแบบทุลักทุเล พร้อมให้ก้าวเท้าไปตรงไม้ค้ำที่เขาจับไว้ให้เพื่อก้าวขึ้นไป จึงเป็นเทคนิคที่ได้เรียนรู้ ผลัดกันขึ้นทีละคนและนำไม้มาค้ำให้เพื่อน ๆ จับตามขึ้นไป เรียกว่าเป็นการปีนป่ายที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน กว่าจะไปถึงจุดที่เรียกว่าปลอดภัยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง คราวนี้ฝนหยุดตก ท้องฟ้าโปร่งทำให้เดินขึ้นได้ง่าย เมื่อถึงจุดที่พักยอมนำรองเท้าจุ่มลงในสายธารน้ำ เพื่อชะล้างรองเท้าที่เต็มไปด้วยโคลน
ในที่สุดก็สามารถขึ้นไปพิชิตยอดเขาได้ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 18 นาที กับการขึ้นเขาระดับสูงไม่กี่พันเมตร เรียกว่าถ้าวิ่งทางราบก็ไม่ถึง 20 นาที และรออีกกลุ่มขึ้นมาแบบทุลักทุเลเช่นกันในอีก 1.30 ชั่วโมงให้หลัง แต่เห็นสีหน้าแต่ละคนสัมผัสได้ว่า “โล่งอก โล่งใจ” ช่างกล้าหาญชาญชัยขึ้นมาได้โดยไม่ถอดใจกลับลงไปเสียก่อน ซึ่งทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องขึ้นอย่างเดียวเพราะเดินลงกลับดูอันตรายกว่าขึ้น เมื่อถึงบริเวณที่จัดสรรให้ตั้งแคมป์ ค่อนข้างแปลกใจเพราะพวกเราอาจจะถือเป็นกลุ่มที่อาวุโสที่สุด แต่ก็สามารถทำตัวเนียน ๆ ไปได้ โดยมีคุณสุบิน ศรีสำโรง หัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานข้างบน คอยดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ตั้งแคมป์ให้พวกเราอยู่ด้านหน้าสุด ทำให้เห็นวิวทิวทัศน์จากเบื้องหน้าอย่างชัดเจน
การผจญภัยในครั้งนี้ยังไม่เสร็จสิ้น การใช้ชีวิตบนยอดดอย 1 คืน กับการลงเขาที่ลุ้นระทึกไม่แพ้ขาขึ้น และในสัปดาห์หน้าผมจะได้เล่าให้ฟังใน Weekly Mail สัปดาห์ต่อไป
รณดล นุ่มนนท์
6 พฤศจิกายน 2566
แหล่งที่มา:
บ้านจอมยุทธ์ ประวัติศาสตร์อาณาจักรสุโขทัย https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/the_founder_of_thailand/02.html
ก๊วนความรักนำพา ประกอบด้วย 1. ดารณี แซ่จู 2. เมธินี เหมริด 3. กันตภณ ศรีชาติ และ 4. ปิยาณี ประสงค์วรรณะ
ก๊วนนักวิ่ง ประกอบด้วย 1. รณดล นุ่มนนท์ 2. ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ 3. วีรยา วงศ์วัชรไพบูลย์ และ 4. วลัยพร แพ่งศิริ
ก๊วนชิวชิว ประกอบด้วย 1. สุชานัน จุนอนันตธรรม 2. ณัคนางค์ กุลนาถศิริ และ 3. สุกฤตา สงวนพันธุ์