“...เรื่องใหญ่คือเรื่องของปากท้อง รัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อทำทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง อะไรทำได้ เราจะทำก่อน และจะทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผมว่าเหนือสิ่งอื่นใด ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจก่อนว่า เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยดี ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน เราเอง เราทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงข้าราชการทั้งหลายได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่และจะทำงานหนักต่อไป ขอให้มีความอดทน รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และจะเข็นงานต่อไปให้ได้โดยเร็วที่สุด..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ 60 วัน Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT2
นายกรัฐมนตรี เริ่มต้นว่า ลดรายจ่ายที่ทำไปแล้วคือ การลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาท/หน่วย เป็น 4.10 บาท/หน่วย และมาเป็น 3.99 บาท/หน่วยในตอนนี้ มีผลตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการทำงานของรัฐบาล อะไรที่ทำได้ ก็จะทำก่อน ถ้าทำได้อีก ก็จะทำเพิ่มเติมต่อไป ไม่ต้องรอให้เสร็จหมด เพราะทราบดีว่าประชาชนเดือดร้อนมาโดยตลอด ถ้าคอยทุกอย่างอาจช้าไป
หรือการลดราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งในระยะแรกยังไม่ลดราคาน้ำมันเบนซิน เนื่องจากยังไม่ได้ศึกษาดีพอ จนมาลดจริงๆวันที่ 10 พ.ย. 2566 นี้ โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้ว
ส่วนการลดรายจ่ายด้านดอกเบี้ย ก็มีการพักหนี้ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแล ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพักหนี้เกษตรกร ก็เป็นเรื่องที่เริ่มทำ ส่วนที่จะทำต่อคือ การลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นระยะกลาง คือ การลดหนี้นอกระบบ โดยได้พูดคุยกันเมื่อวันศุกร์ (3 พ.ย. 66) เป็นครั้งแรกว่า เรื่องหนี้นอกระบบกัดกร่อนสังคมไทยมานาน มีผู้ชาร์จดอกเบี้ยที่สูงเกินกำหนด ทำให้ประชาชนจ่ายเงินต้นไม่ลด ซึ่งเป็นธรรมหรือเปล่า? ก็ต้องมีการบูรณาการอย่างชัดเจน และคิดว่าภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า จะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ และจะลงมือทำจริงๆช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2566
@รอลุ้น ดิจิทัลวอลเลต พรุ่งนี้ (10 พ.ย.66)
ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีหลายมิติทั้งเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะแถลงข่าวนี้ด้วยตัวเองแบบเต็มแพคเกจ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.66) พร้อมหน่วยงานที่เกียวข้อง เรื่องที่มาที่ไป หลักการ ใครจะได้รับ ใช้กับสินค้าอะไร ระยะทางที่กำหนดตามบัตรประชาชนจะเป็นอำเภอ ตำบล หรือเป็นกิโลเมตร จะมีการชี้แจง
ขณะที่นโยบายเกี่ยวกับเกษตรกร มีคนไทยหลายสิบล้านคนอยู่ในภาคเกษตรกรรม หลายเรื่องต้องให้องค์ความรู้ในการทำเกษตร เรื่องของผลผลิตต่อไร่ของพืชผลแต่ละชนิด ยังเป็นรองบางประเทศอยู่ ต้องใส่องค์ความรู้ให้เต็มที่ การใช้กลไกการตลาดในการเปิดตลาดใหม่ๆ ทั้งประเทศใหม่ เช่น ทวีปแอฟริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก็ต้องการอาหารจำนวนมาก การเปิดตลาดใหม่ก็เป็นการเพิ่มโอกาส ขยายรายได้ ราคาพืชผลก็ขยับ , การให้ความรู็ในประเด็นการลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรม ทั้งการใช้ปุ๋ยอินทรี ทดสอบหน้าดิน ซึ่งความแม่นยำทางการเกษตรก็ส่งผลต่อประชาชนเช่นกัน
@นักท่องเที่ยวดูตั้งแต่ก้าวแีกถึงก้าวสุดท้าย
นายเศรษฐา กล่าวต่อไปถึงภาคการท่องเที่ยวว่า ที่ผ่านมามีการให้ฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวประเทศจีน คาซัดสถาน ล่าสุดก็ประเทศไต้หวัน อินเดีย แม้กระทั่งการยกเว้นการยื่นแบบ ตม.6 ให้นักท่องเที่ยวประเทศมาเลเซีย แต่รัฐบาลไม่ได้ดูแค่นี้ แต่จะไปดูทั้งกระบวนการตั้งแต่การที่นักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากจากมาตรการฟรีวีซ่า ก็ต้องไปดูการตรวจคนเข้าเมือง เคาน์เตอร์พอไหม? ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ร่วมกันให้ความดูแลและอำนวยความสะดวก ดังนั้น การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว รัฐบาลดูตั้งแต่ก้าวแรกที่ถึงแผ่นดินไทย ถึงก้าวสุดท้ายที่จะออกไปจากประเทศเรา
ขณะที่การรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนมาก การเสริมศักยภาพโดยเฉพาะการขยายโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของสนามบินนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยเน้นแต่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่ต้องเน้นการใช้จ่ายต่อหัว และเวลาในการอยู่ในประเทศก็สำคัญ โดยประเทศไทยมีอัตราการอยู่อาศัยเฉลี่ยเพียง 3-4 วันเท่านั้น ทำให้เกิดภาระต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามบิน ในระยะยาวจะต้องสนับสนุนให้เมืองรองเกิด ไม่ใช่มาแต่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และหัวหิน ควรจะกระจายไปที่อื่น เช่น น่าน กาฬสินธุ์ สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการอยู่อาศัยยาวขึ้น การใช้จ่ายก็มากขึ้น เม็ดเงินก็จะไม่กระจุกที่เมืองใหญ่
แต่ในระหว่างที่กำลังพัฒนาเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลก็ต้องดูความพร้อมเรื่องสนามบิน โดยสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่งเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เมื่อเดือน ก.ย. 2566 และได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่และภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว
@สนามบินล้านนา - อันดามัน ตัวอย่างบูมเมืองรอง
สนามบินเชียงใหม่ ปัจจุบันมีความหนาแน่น และมีปัญหานักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ต้องการท่องเที่ยวในจังหวัดนี้ และบินออกตอนเที่ยงคืน แต่สนามบินเชียงใหม่ไม่อนุญาตให้บินหลังเที่ยงคืน ซึ่งเข้าใจได้ เพราะอาจจะรบกวนประชาชน แต่จากการทำงานเชิงลึกของ ทอท., ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็มีความจำเป็นในการขยายเวลาให้เครื่องบินขึ้นลงได้ เพื่อเสริมนโยบายการท่องเที่ยว จึงได้เจรจากับคนพื้นเมืองว่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง มีการชดเชยเป็นเงิน เพื่อให้ย้ายออกไป ส่งผลให้พื้นที่เห็นชอบขยายเวลาเป็น 24 ชม. ทำให้เครื่องบินบินมาลงได้ และเป็นการเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวได้ ถือเป้นการทำงานเชิงลึก
และในระยะยาว จะมีการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งใหม่ แต่เปลี่ยนโจทย์ เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เมืองหลักเป็นจุดหมายเดียว แต่ต้องการให้ภาคเหนือทั้ง ลำพูน ลำปาง เชียงราย เป็นปลายทางด้วย จึงมีแนวคิดจะทำสนามบินล้านนา
เช่นเเดียวกันกับ จ.ภูเก็ต ซึ่งก็ต้องขยายไปพังงา กระบี่ และระนอง ต้องมีสนามบินแห่งใหม่ โดยไปตั้งที่ด้านเหนือของจ.ภูเก็ต อยู่ในพื้นที่ จ.พังงา จะเรียกว่า สนามบินนานาชาติอันดามัน และยังมีอีกหลายๆสนามบินและเมืองรองที่รอให้พัฒนา เช่น จ.น่าน เป็นเมืองที่ไปแล้ว 2 หน มีวัฒนธรรมและเป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองหลวงพระบางของประเทศลาว หากเมืองหลวงพระบางเป็นมรดกโลกได้ ทำไมจ.น่านจะเป็นไม่ได้? กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศกำลังร่วมกันทำงาน เพื่อให้ จ.น่านเป็นมรดกโลก
@ไฮสปีดทำต่อ คู่ลดขั้นตอนธุรกิจ
เมื่อถามถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง นายเศรษฐากล่าวว่า จากที่ได้ไปประชุมที่ประเทศจีนเรื่อง The Belt and Road Initiative (โครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง) เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งภูมิภาค ดำริโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งดำเนินการมา 10 ปีแล้ว ทุกประเทศยืนยันจะเดินหน้าต่อ ถ้าติดขัดตรงไหนก็มาคุยกัน
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท จำนวน 14 สัญญา ยืนยันว่าจะดำเนินการต่อ แต่บางจุดจะต้องทำรถไฟทางคู่ก่อน หรือบางแห่ง เช่น สะพานข้ามจากหนองคายไปประเทศลาว ต้องสร้างอีกสะพานหนึ่ง ซึ่งอยากเน้นย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะพืชเศรษฐกิจที่จีนชอบตอนนี้คือ ทุเรียน การขนส่งจึงสำคัญที่สุด ซึ่งจะพยายามแก้ไขให้ได้ รวมถึงจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ ต้องลดขั้นตอนในการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น โดยจะลองใช้ จ.หนองคาย ในการทำสิ่งนี้ ทั้งสองเรื่องต้องไปด้วยกัน
@ย้ำบทบาทเซลล์แมนประเทศ
นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า การขยายโอกาส ในช่วง 60 วันที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินทางไป UNGA หรือ การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ไปพบเจอผู้นำระดับโลก ซึ่งในปีนี้หัวข้อหลักของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในการประชุมคือ พลังงานสะอาด ทางประเทศไทยก็ได้ใส่ใจเรื่องนี้ ได้ออกหุ้นกู้สีเขียว จะมีการระดมทุน แสดงเจตจำนงให้ชาวโลกได้รับทราบว่าประเทศไทยมีเป้าที่ชัดเจนในการทำ Net Zero Carbon ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต และรัฐบาลก็ได้ถือโอกาสในส่วนนี้ พบปะกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย เช่น Google, Microsoft, Tesla ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต รวมถึงผู้สนใจที่จะมาลงทุนให้ไทยเป็น Data Center ล้วนแล้วต้องใช้ทรัพยากรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ไฟฟ้า และพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเดินทางไปประชุมผู้นำ APEC ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ก็จะมีการเจรจา และลงนาม MOU กับต่างชาติอีกด้วย
นายเศรษฐา เผยต่อว่า การเดินทางต่างประเทศเดินทางไปในฐานะเซลล์แมนประเทศไทย บอกกับนานาชาติว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนที่ประเทศไทย เนื่องจากไทยมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความพร้อมในมาตรการสนับสนุนทางภาษีโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พลังงานสะอาด และค่าครองชีพที่อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องของ Health Care Service ของไทยอยู่ในระดับ World Class เรื่องของสถานศึกษาก็มีความพร้อม ไทยมีโรงเรียน International รองรับอยู่หลายแห่ง ดังนั้นประเทศไทยจึงพร้อมที่จะเป็น Hub ของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
และก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปเยี่ยมประเทศในอาเซียน อย่างที่ กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ก็ได้ไปพบปะพูดคุยถึงโอกาสในการทำธุรกิจ รับฟังปัญหา เพื่อจะได้กลับมาแก้ไขได้อย่างตรงจุด รัฐบาลได้มีโอกาสพูดคุยกับที่ประเทศจีน และองค์กรทางด้านรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร ปศุสัตว์ และเกษตรกรรมที่ซาอุดีอาระเบีย ถึงความต้องการเนื้อวัวจากประเทศไทย ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการเนื้อวัวที่ชำแหละแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ไทยมีโรงเชือดที่ใหญ่ที่สุดคือที่จังหวัดชุมพร เชือดได้วันละ 200 ตัวเท่านั้น ในขณะที่บราซิลมีกำลังการผลิตในการเชือดวัวสูงถึง 45,000 ตัวต่อวัน รัฐบาลก็กำลังพิจารณาสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ในการเชือด พร้อมทั้งคำนึงถึงหลักศาสนาอาหารฮาลาล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 3 เท่าตามนโยบายที่ประกาศไปก่อนหน้านี้
@ดีอีเอส-ความมั่นคง ปราบอาชญากรรม
ในส่วนของปัญหาอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และยาเสพติด นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางมาตรการ นโยบายแก้ไขปัญหา เริ่มจากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ทำงานร่วมกับตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกวาดล้างให้เด็ดขาด ทั้งเรื่องการปิดบัญชีม้า ต้องทำอย่างจริงจัง โดยให้ประสานไปยัง DSI สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดให้เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้มีการยึดทรัพย์ ตัดต้นตอให้เร็วที่สุด ส่วนปัญหาหนี้สิน หนี้ครัวเรือน ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขึ้นจาก 76 มาเป็น 91 ติดอันดับ TOP 20 ของโลก ซึ่งถือว่าสูงมาก รัฐบาลต้องการลดในส่วนนี้ ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง คือ การลดหนี้ และการเพิ่มรายได้ โดยรัฐบาลได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย แต่ที่น่ากังวลคือหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน รัฐบาลจะให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วย โดยให้นายอำเภอ ผู้กำกับ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ประสานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้มาหาทางออกร่วมกัน ส่วนปัญหายาเสพติดนั้น รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ต้องทำแบบบูรณาการ นายกรัฐมนตรีนำทีมบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการคุมขังผู้มีความผิด การยึดทรัพย์ ซึ่งขั้นตอนนี้ยังดำเนินการได้ช้าอยู่ ทำให้ผู้ที่ค้ายาเสพติดไม่เกรงกลัวการติดคุก และการถูกยึดทรัพย์
และในเรื่องของประเด็นความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาสังคม-ความเหลื่อมล้ำ นำโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้วางไทม์ไลน์ในการแก้ปัญหาไว้ชัดเจนแล้ว และในประเด็นการสมรสเท่าเทียมนั้น รัฐบาลได้สั่งการให้ทำเอกสารเรื่องของการสอบถามความเห็นของทุกภาคส่วน แล้วจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นจดหมายฉบับแรกที่จะถูกยื่นเข้าเปิดสภาครั้งถัดไปในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ รวมถึงเรื่องสุราชุมชน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเช่นกัน ในเรื่องการเกณฑ์ทหารนั้น รัฐบาลตั้งใจที่จะเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้แถลงต่อประชุมรัฐสภา โดยได้มีการหารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรื่องสรรพกำลังของทหาร ว่าต้องลดอย่างไร และต้องให้เยาวชนมีสิทธิในการเลือกประกอบอาชีพ
@ยุบ กอ.รมน.ไม่มีในการแถลงนโยบาย
ส่วนประเด็นการยุบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นั้น นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เผยว่า รู้สึกตกใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากไม่เคยแถลงนโยบายนี้ออกไป ซึ่งทุก ๆ องค์กร ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ กอ.รมน. ไม่ว่าจะเป็น BOI หรือ EEC ก็ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นไปตามบริบทของสังคม ขณะนี้ทางด้านกองทัพเอง ก็ได้ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแนวทางในการใช้ กอ.รมน. เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ร่วมแก้ปัญหาทางสังคม คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน ปัจจุบันนี้ได้นำเอาพื้นที่ของหน่วยงานที่เกินความจำเป็นมาใช้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนกว่าหมื่นไร่ และปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ก็กำลังหาแนวทางร่วมกัน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงชีวิต 60 วันหลังเข้ามาบริหารประเทศว่า เมื่ออาสาเข้ามาทำงาน ไม่มีสิทธิ์บอกว่าเหนื่อย แต่อุปสรรคสำคัญคือ เวลาไม่พอในการทำงานและนอน เพราะต้องพูดคุยและทำอะไรหลายๆอย่าง ทีมงานและรัฐมนตรีหลายๆท่าน เข้าใจว่า จะต้องเร่งเข็นผลงานออกมา ต้องมี Quick Win (แผนปฏิบัติงานเร่งรัด) ต้องคุยกัน หน่วยงานต่างๆต้องเชื่อมต่อกัน เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยโตแค่ 1.8% หลายเรื่องต้องขยายโอกาส และต้องทำในระยะกลางและยาว ทั้งการเจรจา FTA ที่จะต้องเปิดให้มีการค้าขาย ก็ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ภูมิธรรม เวชชยชัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) ซึ่งต้องเร่งเจรจาให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องดีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านตระหนักดีถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำงาน และราชการเป็นภาคส่วนสำคัญเช่นกัน ข้าราชการไทยมีคุณภาพ รักชาติ ต้องการเห็นชาติพัฒนา รัฐบาลจึงต้องให้ความมั่นใจว่า โยกย้ายข้าราชการการให้เกียรติการฟังความคิดเห็นของหน่วยงานเป็นเรื่องที่รัฐบาลดีให้ความสำคัญอย่างมาก
“เรื่องใหญ่คือเรื่องของปากท้อง รัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อทำทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง อะไรทำได้ เราจะทำก่อน และจะทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผมว่าเหนือสิ่งอื่นใด ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจก่อนว่า เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยดี ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน เราเอง เราทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงข้าราชการทั้งหลายได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่และจะทำงานหนักต่อไป ขอให้มีความอดทน รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และจะเข็นงานต่อไปให้ได้โดยเร็วที่สุด และขอขอบคุณที่ได้คุยกับประชาชนแบบนี้ อาจจะเชิญท่านรัฐมนตรี หรือภาคส่วนอื่นมาคุยกัน” นายเศรษฐากล่าว