"...เหล้ากลายเป็นเครื่องดื่มที่มีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นค้าทาสอันน่าหดหู่ ชาวยุโรปและสหรัฐใช้เหล้าเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนทาส ในขณะที่อังกฤษออกกฎหมายน้ำตาล ห้ามผู้ผลิตเหล้ารัมในนิวอิงแลนด์นำเข้ากากน้ำตาลจากฝรั่งเศส ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชาวอเมริกันและนำไปสู่การปฏิวัติ สู่ความเป็นอิสรภาพของสหรัฐในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เหล้าถือว่ามีอิทธิพลต่อสังคม และวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ช่วงท้ายชีวิตของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ยังตั้งโรงกลั่นวิสกี้ขึ้นเอง ในขณะที่ประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) กลับเห็นพิษภัยของเหล้า โดยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีชาติไหนจะเมามาย หากไวน์มีราคาถูก และคงไม่มีใครไม่เมาหากเหล้าเป็นที่นิยมดื่มกว้างขวางยิ่งกว่าไวน์”..."
หากถามว่ามนุษย์ขาดอะไรไม่ได้ หลายคนอาจจะตอบว่า “ความรัก” แต่ในโลกแห่งสัจธรรมความรักไม่ต้องไปโหยหาที่ไหน แค่รักตัวเองก็อยู่รอดแล้ว แต่สิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้เลยน่าจะเป็น “น้ำ” มากกว่า เพราะถือเป็นองค์ประกอบถึงสองในสามของร่างกายเรา การขาดอาหารเป็นสัปดาห์ก็ยังไม่วิกฤติเท่ากับการขาดน้ำไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งพวกเราคงเคยได้ยินข่าวผู้รอดชีวิตจากมหันตภัยต่าง ๆ เช่น ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังหรือใต้ตึกที่ถล่มลงมา แต่สามารถรอดชีวิตได้นานกว่าสัปดาห์เพราะมีน้ำคอยประทังชีวิต จึงไม่แปลกใจว่ามนุษย์เลือกที่จะอยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำจืด ดังปรากฏให้เห็นว่าเมืองหลวงของหลายประเทศตั้งทำเลอยู่ใกล้แม่น้ำทั้งสิ้น
ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” (A History of the World in 6 Glasses) ที่เขียนโดยทอม สแตนเดจ (Tom Standage) อดีตรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Economist นำเรื่องราวเครื่องดื่ม 6 ชนิด นับจากเบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และโคลา มาร้อยเรียงเขียนถึงจุดกำเนิด ความเป็นมา และโยงใยไปถึงอิทธิพลของเครื่องดื่มเหล่านี้ต่อสังคม วัฒนธรรม และเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมานับแต่นั้น
เครื่องดื่มทั้ง 6 ชนิด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ เบียร์ ไวน์ เหล้า ที่มีแอลกอฮอล์แอบแฝง และ กาแฟ ชา โคลา ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยที่สแตนเดจเริ่มต้นจากเบียร์ที่เชื่อว่า มนุษย์รู้จักเบียร์ด้วยความบังเอิญตั้งแต่ในช่วง 4,000 ปีก่อนคริสตกาล เพราะปรากฏอักษรภาพของเบียร์ เป็นภาพมนุษย์สองคนใช้หลอดก้านกกดูดเบียร์จากไห ซึ่งสันนิษฐานกันว่าในช่วงเวลานั้นมนุษย์ยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่อยู่รอดด้วยการเก็บเกี่ยวธัญพืชป่าซึ่งมีคุณสมบัติสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ในยามที่ไม่มีอาหารอื่นสามารถนำเมล็ดมาต้มเป็นอาหารเหลวคล้ายโจ๊ก ซึ่งปรากฏว่าหากเก็บไว้ 2-3 วัน ยีสต์ป่าจากอากาศจะทำให้น้ำที่แช่อยู่ในธัญพืชกลายเป็นแอลกอฮอล์มีรสซ่าและก่ออาการกรึ่ม ๆ ครึ้มอกครึ้มใจ เพราะโจ๊กได้กลายเป็นเบียร์ไปนั่นเอง
หลังจากการค้นพบ มนุษย์สามารถพัฒนาคุณภาพเบียร์ได้ดีขึ้น หากโจ๊กมีมอลต์มากขึ้น และยิ่งทิ้งให้เกิดการหมักบ่มนานเท่าไหร่ เบียร์ก็ยิ่งมีฤทธิ์แรงมากขึ้นเท่านั้น ทำให้มนุษย์ได้เข้าใจ
ถึงประโยชน์ของการเก็บรักษาอาหาร และสถานที่เก็บต้องอยู่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูก นำมาสู่การทำเกษตรแบบครบวงจรในที่สุด ดังนั้นเบียร์จึงเป็นจุดกำเนิดของเครื่องดื่มเพื่อการสังสรรค์ เฮฮา
และการเข้าสังคมในยุครุ่งอรุณแห่งอารยธรรม รวมทั้งนำไปใช้ในพิธีทางศาสนา ในขณะที่ชาวอียิปต์ยังเชื่อว่าความมั่งคั่งในชีวิตหลังความตายของพวกเขาขึ้นอยู่กับการมีขนมปังและเบียร์มากพอ [1]
เครื่องดื่มอีกชนิดที่ถือเป็นคู่แข่งของเบียร์ คงหนีไม่พ้นไวน์ที่งานปาร์ตี้ไหน ๆ ต้องมีคู่กัน ซึ่งจุดกำเนิดของไวน์ไม่ได้มีการจารึกไว้ แต่การผลิตไวน์น่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคหินใหม่ ระหว่าง 9,000 ถึง 4,000 ปีก่อนคริสตกาล ในเทือกเขาซากรอส (Zagros Mountains) แถบตอนเหนือของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ที่มีการปลูกองุ่นและเกิดความพยายามที่จะเก็บองุ่นหรือน้ำองุ่นไว้ในภาชนะดินเผานาน ๆ ทำให้น้ำองุ่นบูด ยีสต์ธรรมชาติที่อยู่ตามผิวองุ่นช่วยเปลี่ยนน้ำตาลในน้ำผลไม้ให้เป็นแอลกอฮอล์
เมื่อราว 870 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์อัสซูร์นาซิปาลที่ 2 (Ashurnasirpal II) แห่งอัสซีเรีย (Assyria) ได้จัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ เนื่องในการสถาปนากรุงนิมรุด (Nimrod) เป็นเมืองหลวงใหม่
และได้เลือกไวน์เป็นเครื่องดื่มที่นำมาเลี้ยงในงานแทนเบียร์ ทั้ง ๆ ที่ในเมโสโปเตเมีย ไวน์เป็นของหายาก ทำให้ไวน์เป็นเครื่องดื่มต่างแดนที่ทรงคุณค่า และเป็นเครื่องดื่มของชนชั้นนำ [2] อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยกรีกโบราณ ชาวกรีกได้เรียนรู้ที่จะหมักไวน์แบบง่าย ๆ ทำให้นักปราชญ์และคนชั้นกลางสามารถดื่มไวน์ได้ กลายเป็นเครื่องดื่มที่ปัญญาชนมักจะดื่มในเวลาสนทนากัน ทั้งนี้ เพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก เชื่อว่าไวน์เป็นหนทางทดสอบตนเอง โดยยอมตกอยู่ใต้ความหลงใหลอันเป็นผลจากการดื่ม อาทิ ความโกรธ ความรัก ความภาคภูมิ ความเขลา ความละโมบ และความขลาดกลัว [3]
ชาวกรีกมีความภูมิใจกับการบุกเบิกดื่มไวน์ และเริ่มผลิตไวน์ส่งออกไปทั่วประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน จนไวน์เป็นเครื่องดื่มที่นิยมไปทั่วโลก ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันช่วงชิงอำนาจไปจากชาวกรีก ไวน์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาวโรมันที่ดื่มไวน์ “อย่างผู้มีอารยะ” นิยมดื่มไวน์ชั้นดีที่ผลิตจากเมล็ดองุ่นที่มีคุณภาพ และใช้เวลาหมักนาน เรียกว่า ยิ่งหมักนานเท่าไร ยิ่งเป็นไวน์ราคาแพง คนมีชั้นวรรณะเท่านั้นที่สามารถลิ้มลองได้ ดังนั้น คุณภาพของไวน์ที่ดื่มจะแบ่งชั้นวรรณะที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ฟาเลอร์เนียน (Falernian) ไวน์ที่ผลิตในคัมปาเนีย (Campania) แคว้นทางตอนใต้ของประเทศอิตาลียังคงเป็นไวน์ที่ดีที่สุดในโลก [4]
ทั้งนี้ การดื่มไวน์คู่กับมื้ออาหารเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วโลก นอกจากเป็นตัวกลางในการปฏิสัมพันธ์ ช่วยให้รสชาติอาหารอร่อยขึ้นแล้ว ยังมีความเชื่อว่าไวน์เป็นยารักษาโรคอีกด้วย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกชนิดหนึ่งที่อดกล่าวถึงไม่ได้คือ เหล้า ที่ถือกำเนิดจากชาวอาหรับในอาณาจักรอันดาลูเซีย (Andalusia) เมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่ค้นพบกระบวนการกลั่นเริ่มจากการทำให้เกิดเป็นไอ แล้วควบแน่นจนเกิดเป็นของเหลว [5] แต่ด้วยเหตุผลทางศาสนา การกลั่นเหล้าได้ถูกถ่ายทอดไปสู่ชาวยุโรป โดยช่วงเริ่มต้นเชื่อว่าเหล้าที่กลั่นเป็นยารักษาสารพัดโรค ตั้งแต่โรคหัวใจไปจนถึงโรคอัมพาต แต่เสน่ห์ของเหล้ากลับไม่มากเท่ากับอำนาจในการทำให้คนเมาอย่างรวดเร็วและง่ายดาย จากอควาวีได (Aqua vitae) หรือบรั่นดีที่กลั่นจากไวน์ วิสกี้ที่กลั่นจากเบียร์ ไปจนถึงรัมที่กลั่นจากกากน้ำตาล
ต่อมาในช่วงการล่าอาณานิคม ชาวยุโรปได้ค้นพบการนำน้ำตาลมากลั่นเป็นเหล้ารัมมีรสชาติกลมกล่อม หอมหวาน จนทำให้ประเทศในยุโรปต่างมาแย่งชิงพื้นที่แถบเกาะแคริบเบียนเพื่อยึดที่ปลูกอ้อย ต่อมารัมได้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมมากของชาวอังกฤษที่ไปตั้งถิ่นฐาน ในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยไวน์และเบียร์เป็นของหายาก ราคาแพง และตอบโจทย์ความหนาวเย็น ด้วยการทานเหล้าทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนและอบอุ่นขึ้น
เหล้ากลายเป็นเครื่องดื่มที่มีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นค้าทาสอันน่าหดหู่ ชาวยุโรปและสหรัฐใช้เหล้าเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนทาส ในขณะที่อังกฤษออกกฎหมายน้ำตาล ห้ามผู้ผลิตเหล้ารัมในนิวอิงแลนด์นำเข้ากากน้ำตาลจากฝรั่งเศส ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชาวอเมริกันและนำไปสู่การปฏิวัติ สู่ความเป็นอิสรภาพของสหรัฐในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เหล้าถือว่ามีอิทธิพลต่อสังคม และวัฒนธรรมของชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ช่วงท้ายชีวิตของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ยังตั้งโรงกลั่นวิสกี้ขึ้นเอง ในขณะที่ประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) กลับเห็นพิษภัยของเหล้า โดยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีชาติไหนจะเมามาย หากไวน์มีราคาถูก และคงไม่มีใครไม่เมาหากเหล้าเป็นที่นิยมดื่มกว้างขวางยิ่งกว่าไวน์” [6]
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสามชนิดได้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลก ทำให้มนุษย์รู้จักทำเกษตรกรรมอย่างเป็นรูปแบบ เกิดการล่าอาณานิคมการค้าทาส ไปจนถึงการนำไปสู่การปฏิวัติสู่อิสรภาพของสหรัฐ แต่ที่แน่ ๆ การมีสินค้าปลอดภาษี น่าจะเกิดขึ้นจากยุคสมัยผู้ผลิตและผู้ซื้อเหล้าพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและอำนาจรัฐ
ในสัปดาห์หน้า ผมจะได้เขียนต่อถึงเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด ได้แก่ กาแฟ ชา และโคลา ที่มีอิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของพวกเราไม่แพ้กัน
แหล่งที่มา
[1] ทอม สแตนเดจ (Tom Standage) ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” (A History of the World in 6 Glasses) แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ สำนักพิมพ์ bookscape พิมพ์ครั้งที่ 7 (ฉบับปรับปรุงใหม่) มิถุนายน 2565 หน้า 24-28
[2] ทอม สแตนเดจ (Tom Standage) ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” หน้า 57-61
[3] ทอม สแตนเดจ (Tom Standage) ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” หน้า 77
[4] Tom Standage, A History of the World in 6 Glasses Summary and Review, Life club https://lifeclub.org/books/a-history-of-the-world-in-6-glasses-tom-standage-review-summary
[5] ทอม สแตนเดจ (Tom Standage) ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” หน้า 105-106
[6] ทอม สแตนเดจ (Tom Standage) ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” หน้า 138