"...แรงหนุนสำคัญที่ต้องยกย่องคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนเงินทุนและเชื่อมโยงให้มีการศึกษาวิจัยแบบใช้งานได้จริง ผลักดันให้เกิดการรวมตัวและกิจกรรมทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย..."
ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำร่วมสนับสนุนทรัพยากร เพื่อการศึกษา วิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคอร์รัปชันที่วิกฤตซับซ้อนในสังคมไทย มีการจัดตั้งเป็นสถาบันเพื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน บ้างเปิดเป็นวิชาเพื่อการสอนอย่างจริงจัง ขณะที่บางแห่งเตรียมเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี - โท - เอก เพื่อผลิตบุคลากรป้อนภาครัฐและเอกชน ด้วยชื่อวิชาเช่น การต่อต้านคอร์รัปชัน ทุจริตศึกษา ธรรมภิบาล บรรษัทภิบาล และ Anti – Corruption เป็นต้น
แรงหนุนสำคัญที่ต้องยกย่องคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนเงินทุนและเชื่อมโยงให้มีการศึกษาวิจัยแบบใช้งานได้จริง ผลักดันให้เกิดการรวมตัวและกิจกรรมทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย
การจัดตั้งหน่วยงานและหลักสูตรด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนไทย จำแนกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
กลุ่มแรก หลักสูตรที่คณาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบ
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ตำราชื่อ (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 โดย ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค วิชาที่เปิดสอน
ก.วิชาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาล (2940316) สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ โดย ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค
ข.วิชาหัวข้อเฉพาะด้านในวิชาเศรษฐศาสตร์ (2900401) หัวข้อ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับนิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ โดย ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค
ค.วิชา Economics of Anti-Corruption (2952366) สำหรับนิสิตปริญญาตรีในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (นานาชาติ) (เดิมชื่อวิชา Economics of Good Governance รหัสรายวิชาเดียวกัน) คณะเศรษฐศาสตร์ โดย ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค
ง.วิชาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายและการต่อต้านคอร์รัปชัน (2951641) สำหรับนิสิตปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ โดย ผศ.ดร. ต่อภัสสร์ ยมนาค
2. มหาวิทยาลัยรังสิต
ก.จัดตั้ง สถาบันประเทศไทยต่อต้านการทุจริตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิติศาสตร์
ข.มีตำราชื่อ “ธรรมาภิบาลและการควบคุมคอร์รัปชัน” โดย รศ.ดร. รัตพงษ์ สอนสุภาพ
3. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ก.เปิดสอน วิชาการต่อต้านการทุจริต สำนักวิชานิติศาสตร์ มีตำราชื่อเดียวกับชื่อหลักสูตร โดย อาจารย์สมชาย ธรรมสุทธิวัฒน์
4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก.จัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข.เปิดสอน วิชาพลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา (Civic Engagement) (มธ.100) วิชาบังคับสำหรับนักศึกษาปี 1 โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์
ก.เปิดสอน วิชาการต่อต้านการทุจริตในประเทศไทย (Anti-Corruption in Thailand) CMU 005 สำหรับ นศ. และบุคคลทั่วไป เป็นแห่งแรกในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยการสนับสนุนของ ป.ป.ช.
6. โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
เปิดสอน วิชาการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (141243) ในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการตำรวจ โดย รศ.พ.ต.อ. ก้องปิติ อ่อนมาก เป็นหัวหน้าภาควิชา
กลุ่มที่สอง “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ออกแบบโดย ป.ป.ช. สำหรับนักเรียนปฐมวัยถึง ม.6 นิสิตนักศึกษา และหลักสูตรผู้บริหาร จากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เมื่อ 9/10/66 พบการเผยแพร่หลักสูตร 1 แห่ง คือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดสอนวิชาต้านทุจริตศึกษา GEZ 0110
บทสรุป
เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อถือในข้อเท็จจริง การรวบรวมวิเคราะห์และการอธิบายด้วยงานวิชาการ การศึกษาวิจัยอย่างมีหลักการเป็นสิ่งจำเป็นมาก จึงอยากเห็นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและนักวิชาการ ร่วมช่วยกัน ระดมทรัพยากรเพื่อสร้างองค์ความรู้และออกแบบหลักสูตรวิชา เพื่อเป็นพื้นฐานของประเทศชาติต่อไป
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 16 ตุลาคม 2566