"...วีรภาพการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ให้เห็นถึงมือเปล่าสู้กับอาวุธปืนหนักและแก๊สน้ำตา ท่อนไม้ข้างต้นไม้หยิบมา ท้าสู้กับรถทหาร รถเมล์ขับออกมา มาต้านยันกับรถถัง ไหนเลยจะสู้กันได้ แต่นักศึกษาประชาชนก็สู้จนสุดฤทธิ์อย่างไม่ระย่อกับอาวุธที่แรงร้ายกว่า ทำให้นักศึกษาประชาชนล้มตายไปถึง 72 คน บาดเจ็บและพิการอีกมากกว่า 2,000 คน..."
เมื่อเพลง “หนุ่มสาวเสรี” ขับขานขึ้นโดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิม “ลาวเฉียง” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งวงดนตรีไทยเจ้าพระยา ก็ทำให้หัวใจไหวเต้นตาม อลังการแห่งขบวนแถวนักศึกษาประชาชนจาก ม.ธรรมศาสตร์แน่นขนัดยาวเหยียดไปตลอดถนนราชดำเนิน
“คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา
กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส
ฟันเฟืองฟาดฟันบรรลัย
กนกห้าสิบให้ชีวิตพลี
(สร้อย) เจ้าหนุ่มสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง
ตายเพื่อสร้าง ตายเพื่อสร้างเสรี.............”
ก่อนหน้านั้น นเรศ นโรปกรณ์ นักหนังสือพิมพ์และกวีประชาชน เขียนว่า
“เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง ฤาจะมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อรับปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา
แท้ควรสหายคิด และตั้งจิตร่วมยึดถือ
รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน”
ในขณะที่ วิทยากร เชียงกูล แห่ง ม. ธรรมศาสตร์ ได้แรงบันดาลใจมาจากการไปร่วมค่ายอาสาพัฒนา แล้วเรียงร้อยเป็นบทกวีอันสวยใสว่า
“จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า
มาเป็นอาหารให้คนไร้สิ้น
ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น
เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเผื่อคนจน”
ในยุคเผด็จการที่ “ปากบ่ได้ ไอบ่ดัง” (คำผญาอิสาน) นิสิตนักศึกษาเลือกที่จะลงสู่ชนบท ไปทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนากับชาวบ้านในชนบท ขณะที่มีการก่อตัวของนิสิตนักศึกษาในหลายกรณี ก่อนเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 เช่น การชุมนุมเดินขบวนต่อต้านการทุจริตในจุฬาฯ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การรณรงค์ใช้ผ้าดิบ การต่อต้านกฎหมายโบดำ ฉบับที่ 299 ที่ให้ฝ่ายรัฐบาลแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ การต่ออายุราชการของสองจอมพล การล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการ การเกิดขึ้นของกลุ่มอิสระในหลายมหาวิทยาลัย
ทำให้ จิระนันท์ พิตรปรีชา สาวสวยดาวจุฬาฯ ร้อยกรองกวี
“ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ
สีขาวหนุ่มสาว จะใฝ่ แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา
เรียนรู้ ต่อสู้มายา ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน....”
เป็นการบรรยายภาพความสะอาดบริสุทธิ์ดุจผ้าขาวของนิสิตนักศึกษาที่ก้าวเข้าหามวลชน กวี 3 บทนั้น ในเวลาต่อมา วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล หนุ่มวิศวะจุฬาฯ แห่งวงดนตรีรุ่งอรุณ นำไปเรียบเรียง สุชาติ ชวางกูร นำไปร้องต่อ กลายเป็นเพลงยอดนิยมของหนุ่มสาวยุคนั้น ที่นักร้องดังไม่ต่ำกว่า 15 คน นำมาร้องกันอย่างแพร่หลาย
ในช่วงชุมนุมคัดค้านการลบชื่อ 9 นักศึกษา ออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 21-22 มิถุนายน 2516 กวีบทนี้ยังไม่เป็นเพลง แต่ก็นำมาอ่านกันบนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลายครั้ง
เพลงที่นำมาใช้ในการชุมนุมครั้งนั้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่งขึ้นมาเพียงท่อนเดียว
“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม”
เพียงท่อนเดียวนี้เองที่ร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกปลุกเร้าหัวใจผู้ชุมนุมให้ฮึกห้าวเหิมหาญจนรัฐบาลจำต้องคืนสภาพนักศึกษาทั้ง 9 คน และอธิการบดีต้องลาออกไป
เมื่อมีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ให้ปล่อย 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เสกสรรค์ จึงแต่งเนื้อต่ออีก 2 ท่อน
“เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ สู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน เราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย สู้เข้าไปพวกเราเสรีชน”
เพลงสู้ไม่ถอย กลายเป็นเพลงประจำขบวนชุมนุมทางการเมือง โดยไม่เลือกสี และไม่มีใครจะมาเรียกลิขสิทธิ์จากใคร เพราะสาธารณชนเป็นเจ้าของไปแล้ว
เพียงแจกแผ่นปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงร่วมกันในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ แทนที่ประเทศจะเป็นของขุนทหารเพียงไม่กี่คน แต่ก็มีการจับกุม
13 กบฏรัฐธรรมนูญ เมื่อเรียกร้องดีๆ ให้ปล่อย แล้วไม่ยอมปล่อย “หนุ่มสาวเสรี” จึงประกาศก้องว่า
“มือเปล่าตีนเปล่าก้าวหน้า ยอมให้เข่นฆ่าไปเป็นผี
ถือหลักศักดิ์สิทธิเสรี พูดกันดีดีแล้วตั้งนาน.........”
วีรภาพการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ให้เห็นถึงมือเปล่าสู้กับอาวุธปืนหนักและแก๊สน้ำตา ท่อนไม้ข้างต้นไม้หยิบมา ท้าสู้กับรถทหาร รถเมล์ขับออกมา มาต้านยันกับรถถัง ไหนเลยจะสู้กันได้ แต่นักศึกษาประชาชนก็สู้จนสุดฤทธิ์อย่างไม่ระย่อกับอาวุธที่แรงร้ายกว่า ทำให้นักศึกษาประชาชนล้มตายไปถึง 72 คน บาดเจ็บและพิการอีกมากกว่า 2,000 คน
“นกสีเหลือง” จำต้อง
“.....กางปีกหลีกบิน จากเมือง
เจ้านกสีเหลือง จากไป
เจ้าบินไปสู่เสรี บัดนี้เจ้าชีวาวาย ฮื้อฮือ.........
เจ้าเหินไปสู่ดวงดาว เมฆขาว ถามเจ้า คือใคร
อาบปีกด้วยแสงตะวัน เจ้าฝันถึงโลกสีใด............”
(วินัย อุกฤษณ์ แต่งเนื้อ ดนตรี คาราวาน)
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคทองของเพลงเพื่อชีวิต หงา คาราวาน สุรชัย จันทิมาธร เป็นต้นตำรับขับขานเพลงเพื่อชีวิต นำทางวงอื่นๆ ด้วยเพลง เปิบข้าว เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงสานแสงทอง เพลงสันติภาพ เพลงคนกับควาย เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่
“ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยาก ขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับ เดือนลับมลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน.............”
ในขณะที่ จิ้น กรรมาชน (กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) ก็เรียงร้อยเพลงแห่งความใฝ่ฝันแสนงามไว้ว่า
“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน
ติดปีกบินไปให้ไกล ไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี.....”
บรรยากาศแห่งการปะทางความคิดในยุคนั้น เป็นไปอย่างเข้มข้น กลายเป็นทัศนะแยกขวาแยกซ้ายอย่างแหลมคม ถึงขั้นเกิดขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” เกิดการขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุม กระทั่งการเข่นฆ่าสังหารผู้นำชาวนาไปถึง 19 คน เช่นพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง พ่อหลวงจา จักรวาล ผู้นำนักศึกษา และนักวิชาการ ประชาชน ถูกสังหาร เช่น ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ในเวลานั้น
เหตุการณ์นำพาไปสู่ บทเพลง 4 วรรคของนิรนามว่า
“เมื่อเลือดเพื่อน รินไหลไปทั่วแขน
ความคับแค้น ยิ่งคลั่ง กว่าครั้งไหน
เมื่อร่างเพื่อน หมดลมลงทันใด
ก็รู้ว่า ทางสุดท้าย ต้องจับปืน”
เพียงไม่ถึง 3 ปี หลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดโศกนาฏกรรมปรากฏการณ์ล้อมปราบและสังหารโหด ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อเนื่องถึงสนามหลวง ที่ทำให้ขบวนนักศึกษาประชาชนนับพันคนจำต้องเข้าป่าจับปืน
เหมือนดังที่ วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนกวี และต่อมาเรียบเรียงเป็นเพลงปฏิวัติว่า
“มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทนถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน........”
นักร้องและดนตรี เพลงเพื่อชีวิต เข้าสู่เขตป่าเขาแบบเต็มวง เช่น คาราวาน กรรมาชน กงล้อ ลูกทุ่งสัจธรรม ทุกคนทำหน้าที่เป็นหน่วยศิลป์ประจำเขตงานในแต่ละพื้นที่
คมกฤช เสริฐนวลแสง แต่งเพลง โคมฉาย โดยใช้ทำนองพลงของฝ่ายปฏิวัติเวียดนามว่า
“ข้ามเขาลำธารฟันฝ่าศัตรู กระชับปืนชูสู้เพื่อโลกใหม่........”
วิสา คัญทัพ แต่งเพลง รำวงหนึ่งธันวา โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิม 3 เพลงมาต่อกันแบบเมดเล่ย์
“มารำวง ร่วมกันมั่นคง
เชิดชัยชูธง แดงเด่นของมวลประชา”
จิ้น กรรมาชน แต่งเพลง สหาย ปลุกเร้าเพื่อนสหายว่า
“สหาย...... ต่อหน้ากระบอกปืน
หยัดยืน อย่างทระนง หาญกล้า
ดวงตาเปล่งประกายแสงแห่งศรัทธา
ยืดอกท้า ดังภูผา ฟ้าดินเกรงกลัว.......”
และแล้ว ด้วยแนวทางปฏิวัติที่ เดินแนวทางมาร์กซ - เลนิน และกอดตำราสรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตง ที่ต่างบริบทกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ทำให้ขบวนปฏิวัติเดินหน้าไปได้ยากเย็นแสนเข็ญ เกิดภาวะโกลาหลจากการเลือกข้างแบ่งฝ่ายจีนกับรัสเซีย ทำให้ลาวยุติการให้ที่พักพิงต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ขณะที่จีนก็ต้องอาศัยรัฐบาลไทยในการส่งผ่านอาวุธเพื่อต้านเวียดนามยึดกัมพูชา ในขณะที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66 / 2523 เปิดทางให้คนป่าคืนเมืองโดยไร้ความผิดใดๆ
ขบวนปฏิวัติเข้าสู่สภาวะระส่ำระสาย นักศึกษาประชาชนพากันออกจากป่าคืนสู่เมืองกันเป็นทิวแถว
“โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา จากภูผาที่ไกลแสนไกล
จากโคนรุ้ง ที่เนินไศล จากใบไม้หลากสีสัน......
โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา ดังชีวา ที่เคยล่องลอย
มาบัดนี้ ที่เราเฝ้าคอย เจ้านกน้อย โผคืนสู่รัง
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง.......... ”
(เพลงคืนรัง หงา คาราวาน)
เป็นบทเพลงอันสร้อยเศร้าของการกลับคืนจากป่าเขาสู่บ้านเกิดเมืองนอน ที่เรียกน้ำตามิตรสหายทั่วทั้งหอประชุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงาน Concert for UNICEF เมื่อ 19 มิถุนายน 2525 เหตุเพราะ 4 สหาย เต็มวงคาราวานคืนกลับมาครบคน แล้วขับขานเพลง “คืนรัง” ที่สร้างอารมณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเหตุที่ทุกคนต่างมีประสบการณ์ตรงเดียวกัน เป็นประสบการณ์แห่งการร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมสมหวังร่วมผิดหวัง บนเส้นทางเดินเดียวกันตลอดระยะเวลาในเขตป่าราว 5 ปีเต็ม
นี้เป็นเพียงบางเพลงที่ คาราวาน และผองเพื่อนเพลงเพื่อชีวิต 50 คน จะร่วมกันแสดงอย่างสุดฝีมือเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้วยบทเพลงเพื่อชีวิต 50 เพลง ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา ในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จองตั๋วชมได้ที่โทรศัพท์ 082 – 3686276 หรือที่ 02 – 8141481 – 7 หรือที่หน้างาน
เพราะเหตุที่ แต่ละคนพากันแก่ไปด้วยกันแล้วในเวลานี้ เห็นจะเป็นไปได้ยากที่จะจัดคอนเสิร์ต 75 ปี 14 ตุลา ดังนั้น หากพลาดครั้งนี้ ก็จะไม่มีโอกาสกันอีกแล้ว
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]