“…งานวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนจาก มส.ผส. ข้างต้น ยังได้แสดงให้เห็นว่า เรื่องการออมเงิน สามารถสมทบเพิ่มจากระดับความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นต่ำ 2,000 บาท/เดือน แล้วออมเพิ่มขึ้นไปที่มัธยฐานสังคม คือ 6,000 บาท/เดือน โดยมีรัฐบาลร่วมออมสมทบ จะใช้งบประมาณทั้งหมด ไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐในระยะยาว…”
...................................
หมายเหตุ : ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง ‘การพัฒนาระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุแบบไม่ก้าวเดินถอยหลัง’
การตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ที่ได้รับกระแสต่อต้านจากสังคม, การที่พรรคการเมืองได้คะแนนเลือกตั้งอันดับหนึ่งสะท้อนความต้องการนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะการย้ายขั้วจัดตั้งรัฐบาล และ 250 สว., การทำรัฐประหารทั้ง 13 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2476 จนถึงล่าสุด ปี 2549 และ 2557 เพื่อแย่งชิงโอกาสทางเศรษฐกิจและทรัพยากรจากประชาชน
การเติบโตแบบ exponential ของกลุ่มทุนเครือข่ายที่ผูกขาดอยู่บนยอดปิรามิด ในขณะที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำขยายมากขึ้น, การทำงานทั้งชีวิตแบบโดนกดค่าแรงของคนไทยจำนวนมาก เพื่อจะพบว่า รายได้เติบโตไม่ทันค่าครองชีพ และ เกษียณแล้วไม่มีอะไรเลย, หรือการที่อดีตผู้บริหารสูงสุดหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการพัฒนามนุษย์และเศรษฐกิจ ไปเป็นกรรมการบริษัทสัมปทานโทรคมนาคมและมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มทุนพลังงานผูกขาดทั้งหมดนี้
เราเห็นว่า เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมดตาม "อนิจจลักษณะ" ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของไทย
ประเทศไทยยังมีโอกาสเลือกที่จะมุ่งทิศทางไปสู่เป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจที่สามารถกระจายทรัพยากรและโอกาสอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยไม่ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำสะสมจนยกระดับเป็นความขัดแย้งรุนแรงตามประวัติศาสตร์ อันจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้น เรากำลังเผชิญตัวเร่งปฏิกิริยาไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจสังคมผู้สูงอายุแห่งยุค Super-aged Society โดยความท้าทายจากภัยคุกคามแห่งยุคสมัย เช่น หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งคนจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก เพราะขาดความสามารถการปรับตัวและไม่มีความคุ้มครองทางสังคมที่ดี
การระบุอย่างแม่นยำว่าคนจนคือใคร เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเราไม่มีระบบข้อมูลที่สมบูรณ์ และ การดำเนินนโยบายแบบมุ่งเป้าจะทำให้ “คนจนตกหล่น” นั่นคือ วัตถุประสงค์ของการคุ้มครองความยากจนไม่มีประสิทธิภาพ
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน แสดงให้เห็นว่า ตรงกลาง หรือ “มัธยฐาน” ของสังคมไทย มีมาตรฐานการดำรงชีพค่าใช้จ่ายบริโภคครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน เพียงแค่ 6,000 บาท/เดือน หรือ 200 บาท/ วัน จึงน่าจะสะท้อนความยากลำบากของคนจำนวนมาก
ตอนนี้เราได้เห็นกระแสปัญหาในประเทศรวยก่อนแก่ เช่น เกาหลีมีสตรีวัยชรายืนเร่ขายบริการทางเพศ ฮ่องกงมีชายสูงอายุจบชีวิตตนเองเพราะคิดว่าขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุทำผิดกฎหมายต้องโทษเรือนจำเพื่อจะได้มีอาหารและที่พัก
แม้ประเทศไทยได้พัฒนามาอย่างถูกทิศทางแล้วสำหรับระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ เพราะเราสามารถมีระบบบำนาญที่สามารถคุ้มครองข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้อย่างมั่นคง อย่างไรก็ตาม หากเราจะไม่ทำอะไรเลย งบประมาณสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยส่วนมากมาจากงบบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกับงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องมีรายได้สำหรับงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ก็ควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศ โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และ สร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น
แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนโดยตรงจากภาคการเมือง หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุกำลังเป็นข้อเรียกร้องจากทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมทั้งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติล่าสุดที่สะท้อนความต้องการของสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานเรื่อง “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” โดยคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) ก็ได้ผ่านความเห็นชอบเป็นฉันทามติจากในสภาฯเมื่อปีที่ผ่านมา
โครงการวิจัยของเรา ซึ่งได้ทุนวิจัยจาก "มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย" มส.ผส. มีข้อเสนอดังนี้
1.ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน
2.มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ และสามารถคุ้มครองความยากจนจากเส้นความยากจนในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น แก้ไข พรบ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็น “พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2546”
พร้อมทั้งแก้ไขให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และสามารถมีแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) เป็นต้น
3.สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน
4.ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม
5.ทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ สำหรับแหล่งงบประมาณเพื่อทำสวัสดิการ สามารถประมวลสรุปได้ ดังนี้
1.ปฏิรูประบบภาษี เพิ่มการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน รวมถึงลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich)
2.ปฏิรูประบบงบประมาณ ตัดงบที่ไม่จำเป็น แล้วมาเติมสวัสดิการสำหรับเด็กเล็ก คนพิการ และ ผู้สูงอายุ
3.พัฒนาระบบการออมที่บังคับหรือจูงใจให้ “ทุกคน” ในวัยทำงานต้องรับผิดชอบออมเงิน
งานวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนจาก มส.ผส. ข้างต้น ยังได้แสดงให้เห็นว่า เรื่องการออมเงิน สามารถสมทบเพิ่มจากระดับความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นต่ำ 2,000 บาท/เดือน แล้วออมเพิ่มขึ้นไปที่มัธยฐานสังคม คือ 6,000 บาท/เดือน โดยมีรัฐบาลร่วมออมสมทบ จะใช้งบประมาณทั้งหมด ไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐในระยะยาว
แนวทางต่างๆ ข้างต้น สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) เช่น “ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้รัฐมีรายได้ที่พอเพียงเพื่อใช้ในการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้ที่เป็นฐานภาษีหรืออยู่ในวัยทำงานมากจนเกินไป”
หรือ รายงาน “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” โดยคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) ระบุเป้าหมายระดับการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุที่เส้นความยากจน กำหนดแหล่งรายได้สำหรับงบประมาณ ตลอดจนข้อเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมาย
กล่าวโดยสรุปคือ มีข้อเสนอมากมายอยู่แล้ว สามารถทำได้เลย ต้องระวังอย่าให้เป็นการศึกษาไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำอะไรให้เป็นรูปธรรม
ผู้เขียนจึงขอเป็นอีกกำลังใจให้รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง สามารถทำได้สำเร็จ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ เหมือนการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มาจากหลักการ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ดังนั้น การกำหนดนโยบายระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุสำหรับรัฐบาลใหม่ คือ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะทำให้ประเทศเดินถอยหลังเรื่องความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ โดยมุ่งไปที่การตัดสวัสดิการผู้สูงอายุ หรือ จะเลือกเดินไปข้างหน้าโดยวางรากฐานที่มั่นคงให้กับอนาคต ตามข้อเสนอมากมาย แต่ส่วนที่ขาดไป คือ “เจตจำนงทางการเมือง” เพื่อลงมือพัฒนาระบบหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุจริงจัง