‘เศรษฐา’ ปาฐกถาพิเศษ เผยบทบาทนายกฯคือ ‘เซลล์แมนเบอร์ 1 ของประเทศไทย’ ชวนทุนนอกเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมจี้ ‘กต.’ ต้องช่วยด้วย ชี้นโยบายเร่งด่วนตอนนี้คือ ลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการพักหนี้เกษตร ยันไม่จำนำ ประกัน จ้างผลิตถ้าไม่จำเป็น มองประเด็น Green Energy ก็ต้องเร่งผลักดัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษงาน Thailand Economic Outlook 2024: Change the Future Today หัวข้อ Empowering Economy the Big Change
นายเศรษฐา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นรถยนต์ที่เคลื่อนตัวช้ากว่าประเทศเพื่อบ้าน และเครื่องยนต์ประเทศไทยเดินช้ามาก เช่น เกษตรกร ซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศ มีความยากลำบากเห็นได้จากที่ผ่านมา 9 ปี ต้องพักหนี้เกษตรกร 13 ครั้ง ทำให้รัฐบาลนี้กำหนดนโยบายพักหนี้เกษตรกร รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำทั้งระบบ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบาย ไม่ท่วมไม่แล้ง โดยใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำและใช้งบประมาณไม่มาก แต่ใช้ความใส่ใจและแผนบูรณาการ ในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งการอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ระบบนิเวศ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะน้ำ
สำหรับภาคอุตสาหกรรม Hi-tech Industry ซึ่งมีความจำเป็นการใช้น้ำมหาศาลในการผลิต ทั้งนี้เพื่อให้เงินลงทุนตกอยู่ในประเทศไทยและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะทำเศรษฐกิจไทยไปได้ไกลมาก และ GDP ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นได้มากโดยที่รัฐบาลไม่ต้องไป Subsidize เรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องนี้โดยขอเวลาอีกสักหน่อยในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยสัปดาห์ที่จะถึงนี้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงพื้นที่ไปที่จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี โดยคาดว่าภายใน 3 เดือนจะมีอะไรที่เป็นบวกเกิดขึ้นได้
@นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นเซลล์แมนประเทศ
นายเศรษฐากล่าาวว่า ในการเดินทางไปต่างประเทศ ได้มีโอกาสพูดคุยและติดต่อกับบริษัทขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งหลายบริษัทให้ความสนใจกับไทยอย่างมาก เช่น ไมโครซอฟท์ เทสล่า กูเกิ้ล หรือไมโครชิปอื่นๆ ที่กำลังจะทำต่อไปจะเป็นการลงทุนที่จะสามารถเพิ่ม GDP ของไทยโตได้ และยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ด้วย พร้อมย้ำถึงหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีว่าเป็น “เซลแมน เบอร์ 1 ของ ประเทศไทย” เพี่อไปขายสินค้าดีๆ ของประเทศไทยในต่างประเทศให้ได้ และขายความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้ได้ รวมทั้งการดูถึงข้อจำกัดของกฎหมาย กฎระเบียบ ที่มีความซ้ำซ้อนไม่เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา ตรงนี้ต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหานี้และทลายกำแพงตรงนี้ให้ได้ ทำหลักการที่ไทยมีเป็น international standard เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับการไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งนี้ บริบทใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากการจัดการเรื่อง protocol ในการมาเยือนของผู้นำประเทศต่าง ๆ แล้ว ต้องเป็นเซลล์แมนที่ดี โดยเป็นหัวหอกสำคัญ ในการเจรจา FTA คู่กับกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล เพื่อที่จะเปิดประตูการค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่ทูตต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศสำคัญ ๆ ต้องพบปะนักลงทุนและเอกชนให้มากขึ้น และต้องไม่กลัวที่จะเจอเอกชน นักลงทุน ฉะนั้นการเดินทางไปต่างประเทศถ้าไม่ขัดกฎหมายหรือหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า รัฐบาลสามารถทำได้ก็อยากเชิญเอกชนร่วมคณะไปช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติกับนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทของประเทศไทยมีความพร้อมในการที่จะช่วยกันกับรัฐบาลในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนทะเยอทะยานและมีความมั่นใจกับ next step ของประเทศไทย” นายเศรษฐาระบุ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งและตลาดทุนที่ดีที่สุดของภูมิภาค ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการลงทุน ต่อไปนี้จะไม่เห็นแค่บริษัทที่ไปโรดโชว์ แต่จะเห็นประเทศไปโรดโชว์ โดยในระยะกลางจะมีบริษัทใหญ่ ๆ ตามไปด้วย และในระยะยาวจะมีบริษัทขนาดกลางตามไป เพื่อพบปะกับนักลงทุนทั่วโลก เพื่อเชิญนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้องค์กรรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐจะต้องมีการปรับปรุงและนำไปทำต่อ เพราะรัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้ แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน
@นโยบายด่วน = พักหนี้เกษตร
ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการว่า ระยะสั้น คือการลดค่าใช้จ่าย รวมถึงพักหนี้เกษตร ซึ่งที่ผ่านมา 9 ปี พักหนี้เกษตรกรไป 13 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 ซึ่งจำเป็นต้องทำจริง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้มีขวัญกำลังใจในการที่จะเดินต่อไป เพราะภาคเกษตรกรเป็นภาคที่มีรายได้ต่ำและองค์ความรู้น้อย ทั้งนี้รัฐบาลย้ำว่าหากไม่จำเป็นหรือมีวิกฤติจริง ๆ รัฐบาลจะไม่มีการจำนำ ประกัน หรือจ้างผลิต แต่จะเน้นเสริมให้มีรายได้สุทธิจะต้องโตขึ้น 3 เท่าใน 4 ปีของรัฐบาลนี้ ผ่านการให้องค์ความรู้ การเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น แอฟริกา middle east ฯลฯ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อเพิ่มรายได้สุทธิเกษตรให้ได้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ภาคประมงไทยโดยเฉพาะจังหวัดเลียบชายฝั่งต่าง ๆ เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ตราด มีเรือประมงจอดเป็นซากอยู่จำนวนมาก ซึ่งเรื่องกฎหมาย IUU เป็นเรื่องสำคัญ โดยเรื่องที่เป็นปัญหาต้องไปต่อรองเพื่อให้เรือประมงไทยสามารถกลับมาได้อีก และเพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปเจรจาและเปิดตลาดให้มากยิ่งขึ้น
@ไทยต้องเร่ง Green Energy
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาเรื่องพลังงานสีเขียว (Green Energy) ว่า ประเทศไทยต้องทำอีกมาก เพราะการที่ต่างประเทศจะมาลงทุนในประเทศไทย นอกจากมีพลังงานเพียงพอแล้วพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อให้สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดสูงขึ้น ซึ่งการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ที่ผ่านมา ทุกประเทศต่างเห็นพ้องในการที่จะขับเคลื่อน Sustainable Development Goals : SDGs ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนตระหนักดีและรัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนให้เรื่องนี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังแต่รัฐบาลไม่ลืมต้นน้ำ ไม่ลืมญี่ปุ่น ที่ช่วยเหลือไทยมาตลอด และยังคง take care ธุรกิจเดิมอยู่ เช่น รถสันดาป เพื่อให้โรงงานยังคงอยู่ต่อไป และให้เตรียมตัวในช่วงปรับตัวไปสู่ยุครถ EV ยืนยันรัฐบาลสนับสนุนการขับเคลื่อน EV โดยจะบริหารจัดการทั้งสองจุดให้เกิดความสมดุลกัน
นายเศรษฐา ปาฐกถาต่อว่า เรื่องการท่องเที่ยว ที่มีกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ เช่น การเปิด-ปิดสถานบริการหลังเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง เพียงพอแล้วหรือไม่ ในการที่จะแข่งขันกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกหรือไม่ ในการที่จะเป็นฮับแห่งการท่องเที่ยว หรือเอนเตอเทนเม้นเซ็นเตอร์ ตรงนี้อาจมาพิจารณาว่าเหมาะสมกับการบริการ ท่องเที่ยวหรือไม่ในการที่จะขยายเวลาควบคู่กับระบบภาษีต่าง ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลนี้ก็เตรียมพร้อม รวมถึงการให้วีซ่านักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น และจะมีนโยบายอื่น ๆ ทยอยตามออกมาสนับสนุนด้วย ให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและเป็นจุดหมายปองของต่างชาติ ทั้งนี้การนำเสนอการดำเนินการดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงขอให้นำเสนอทั้งสองด้านและตรงไปตรงมา และเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์
@ความเหลื่อมล้ำต้องคุยกันก่อน
ขณะที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ทุกคนสามารถทำได้ตลอดเวลา ทั้งความเสมอภาค สภาพจิตใจ สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิการเลือกเพศสภาพ ซึ่งสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างประเทศมองอยู่ว่าไทยให้สิทธิเสรีภาพเหล่านี้มากน้อยเพียงใด รวมถึงปัญหาความแตกแยกทางความคิดที่ทุกคนล้วนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ขอให้ทุกคนได้มีการพูดคุยกันด้วยเหตุผลให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจุดแรกเมื่อเข้าใจกันแล้วแม้มีความคิดเห็นต่างก็จะสามารถที่จะพูดคุยกันได้ในพื้นที่ที่ปลอดภัย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการใช้สื่อออนไลน์อย่างรับผิดชอบและสร้างสรรค์ โดยไม่ให้ไปส่งผลกระทบต่อผู้อื่นโดยเฉพาะคนที่มีน้อย ให้รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันในสังคม เรื่องนี้ขอให้เป็นเรื่องที่ต้องดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ภายใต้สภาพเศรษฐกิจเปราะบาง
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกดีใจที่ได้มาพบกับทุกคน การพูดวันนี้เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้มาหาเสียงโฆษณาชวนเชื่อแต่เป็นเรื่องที่ได้มาเปิดใจคุยและขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมใน Next chapter ของประเทศไทย จากวันนี้เป็นต้นไปประเทศไทยเปิดแล้ว