"...จากการติดตามสถานการณ์ปรากฏว่า ภายหลังเหตุการณ์มีการเผยแพร่และส่งต่อภาพที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์ ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กผู้ก่อเหตุวัย 14 ปีและครอบครัวอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การตีตราและสร้างความเกลียดชังในสังคม..."
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
เรื่อง ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า วอนสังคมหยุดเผยแพร่อัตลักษณ์และข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กผู้ก่อเหตุและครอบครัว
ตามที่ปรากฏเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านปทุมวัน เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นใจกลางเมืองซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ผู้คนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ อันเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย และละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายอย่างไม่ควรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ปรากฏว่า ภายหลังเหตุการณ์มีการเผยแพร่และส่งต่อภาพที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์ ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กผู้ก่อเหตุวัย 14 ปีและครอบครัวอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การตีตราและสร้างความเกลียดชังในสังคม โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งยังขัดต่อหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ระบุว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในความเป็นส่วนตัว ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และแม้แต่ในกระบวนการชั้นพิจารณาก็สมควรจะต้องหลีกเลี่ยงการแสดงตัวเด็กต่อสาธารณชน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐาน ชื่อ และห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กด้วย
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.จึงขอเรียกร้องให้สังคมโดยเฉพาะผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนสื่อมวลชนหยุดเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์และข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กผู้ก่อเหตุและครอบครัว ตลอดจนใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในนำเสนอข่าวสารที่สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการนำเสนอรายละเอียดของเหตุรุนแรงหรือข้อมูลอันเป็นการซ้ำเติมความสูญเสียของผู้เสียหาย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
3 ตุลาคม 2566