"...ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหนึ่งหรืออันดับสองของประเทศต่างๆ มากกว่า 90% ของประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ การที่สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเพื่อสกัดกั้นจีน และปัญหาภายในประเทศเรื่องประชากรสูงวัย ล้วนนำมาซึ่งปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน..."
ในช่วงเวลานี้ สังคมโลกกำลังมีคำถามต่อทิศทางการพัฒนาและแนวทางการแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้อย่างไร ในนามของสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ จึงขอนำทัศนะและมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์จีนมาถ่ายทอดผ่านบทความนี้
เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ เป็นประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงมากบนสื่อต่างประเทศในช่วงนี้
ที่มา : The College of Liberal Arts and Social Sciences of City University of Hong Kong (CityU) hosted a seminar on 12 September 2023.
เมื่อ ศาสตราจารย์ หลิน อี้ฟู (Prof. Justin Lin Yifu) ได้รับเชิญปาฐกถาที่ City University of Hong Kong วันที่ 12 กันยายน 2023 ท่านกล่าวว่า “หลังจากที่ผมมาถึงฮ่องกง หลายคนถามผมเกี่ยวกับปัญหาภาวะถดถอยของงบดุลจีนตามที่ Richard C. Koo ได้พูดไว้” เนื่องจากเมื่อสามเดือนก่อนหน้า Richard C. Koo หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัย Nomura ของญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ในฮ่องกง ชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังเดินตามรอยเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990 ทำให้ทฤษฎีงบดุลของ Richard C. Koo ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงน่าสนใจยิ่งที่จะติดตามทำความเข้าใจมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จีนว่าคิดอย่างไร
ศาสตราจารย์หลินเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนที่มีชื่อเสียงระดับโลก ท่านเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประจำในคณะกรรมการแห่งชาติของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) และรองประธานคณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจของคณะกรรมการแห่งชาติของ CPPCC นอกจากนี้ ท่านยังมีส่วนร่วมในคณะกรรมการและคณะทำงานต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายด้านการพัฒนา การเกษตรและความยากจนในจีนและต่างประเทศ ในปี 2008 ท่านเป็นบุคคลแรกจากประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานอาวุโสและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก และได้กลับมาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทำงานด้านการสอนและวิจัยต่อหลังจากครบวาระดำรงตำแหน่งที่ธนาคารโลก ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์โครงสร้างใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ท่านปาฐกถาในหัวข้อ How to Know China's Opportunities and Challenges เริ่มด้วยการปูพื้นทางประวัติศาสตร์การพัฒนาของจีน จีนผ่านอะไรมาได้อย่างไร เคยอยู่ในสถานะใดของโลกก่อนจะมาถึงวันนี้ จากนี้ไปจังหวะก้าวของการพัฒนาของจีนในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับทางออกของสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน และจีนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยของงบดุลซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นหรือไม่
1. ครบรอบ 45 ปี หลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ จากประเทศยากจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง
ศาสตราจารย์หลิน กล่าวว่าปีนี้ครบรอบ 45 ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ในปี 1978 ซึ่งเป็นปีที่จีนตัดสินใจดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ ณ เวลานั้น จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยมี GDP ต่อหัวเพียง 156 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอด 45 ปีที่ผ่านมา จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีที่ 9% กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกโดยพิจารณาจากภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อที่ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนของตลาด(Purchasing Power Parity: PPP) และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
นอกจากนี้ ท่านยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหนึ่งหรืออันดับสองของประเทศต่างๆ มากกว่า 90% ของประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ การที่สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายเพื่อสกัดกั้นจีน และปัญหาภายในประเทศเรื่องประชากรสูงวัย ล้วนนำมาซึ่งปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
2.ปรากฏการณ์ตะวันออกทะยานและตะวันตกอัศดง “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเห็นในรอบศตวรรษ”
ในช่วงแรกของปาฐกถา ศาสตราจารย์หลินยังไม่ตอบข้อสงสัยของ Richard C. Koo ในทฤษฎี "ภาวะถดถอยของงบดุล" โดยท่านได้เริ่มต้นด้วยการยกคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในปี 2018 ที่ว่า โลกกำลังเผชิญกับ "การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยพบเห็นในรอบศตวรรษ"
ศาสตราจารย์หลิน ใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองมองย้อนกลับไป พบว่า "การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยพบเห็นในรอบศตวรรษ" ที่เป็นครั้งแรกของจีนในยุคสมัยใหม่เกิดขึ้นในปี 1900 เมื่อกองกำลังพันธมิตรแปดประเทศมหาอำนาจเข้าโจมตีปักกิ่ง “แปดประเทศ” นั้น ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี โดยทั้ง 8 ประเทศนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้มากที่สุดในโลกขณะนั้น มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) คิดเป็น 50.4% ของทั้งโลก จึงถูกเรียกว่า "มหาอำนาจ"
หนึ่งร้อยปีต่อมาในปี 2000 ได้เกิดกลุ่ม G8 (การรวมกลุ่มของ 8 ประเทศ) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และแคนาดา โดยเป็นประเทศเดียวกันกับทั้ง 7 ประเทศทุกประการที่อยู่ในพันธมิตรแปดประเทศ ยกเว้นจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี ซึ่งถูกสลายหลังสงครามและถูกแทนที่ด้วยแคนาดา มูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม G8 ยังคิดเป็น 47% ของทั้งโลก หรือเกือบครึ่งหนึ่ง
ศาสตราจารย์หลินกล่าวว่า ตลอดศตวรรษที่ 20 โลกประสบกับทั้งความวุ่นวายและสันติภาพ แต่ประเทศหลักที่มีบทบาทนำก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และโครงสร้างโลกก็ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรมากไปกว่าความสัมพันธ์ระหว่างแปดประเทศนั้นว่ายังดีอยู่ หรือไม่ดี
อย่างไรก็ตาม พอมาถึงปี 2018 ยอดรวมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม G8 ลดลงจาก 47% เป็น 34.7% และกลุ่มประเทศที่ครองโลกก็เปลี่ยนจากกลุ่ม G8 เป็นกลุ่ม G20 สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนเป็นเวลากว่า 40 ปีติดต่อกัน จาก 6.9% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของโลกในปี 2000 เป็น 16.8% ในปี 2018 ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงเรียกว่า "การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบศตวรรษ"
การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้นอีกก็คือ ตลอดศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาเป็นกำลังหลักที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีน เมื่อมาถึงปี 2014 ขนาดเศรษฐกิจของจีนได้แซงหน้าสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของกำลังซื้อ อิทธิพลของจีนในระดับนานาชาติก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ศาสตราจารย์หลิน กล่าวว่า ตัวท่านเองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จากประเทศกำลังพัฒนา ได้มีโอกาสเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกนั้น แท้จริงแล้วท่านมองว่าเป็นการปรับสถานะทางเศรษฐกิจของจีนให้สูงขึ้น และส่งเสริมบทบาทจีนในเวทีระหว่างประเทศให้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับสหรัฐอเมริกาในฐานะ "พี่ใหญ่" ของโลก ก็รู้สึกถึงความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน ดังนั้น หลังจากปี 2014 ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
การเปลี่ยนแปลงประการแรก ประธานาธิบดีโอบามาเสนอ "มุ่งสู่เอเชียแปซิฟิก (Pivot to Asian Pacific) " จากนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ก็เปิดสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับจีน และปัจจุบันเป็นยุคประธานาธิบดีไบเดน นอกเหนือจากการชักชวนญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดียให้จัดตั้ง "ความร่วมมือด้านความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจทั้ง 4 (Quadrilateral Security Dialogue: QUAD) " แล้ว ยังต้องการขยาย NATO ไปทางตะวันออกจนถึง "อินโดแปซิฟิก" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามสกัดกั้นจีนด้วยกำลังทหาร
ในยุคทรัมป์ได้เริ่มทำสงครามการค้าทำให้ภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ไม่ได้ลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมเอาบริษัทไฮเทคของจีนเข้าไว้ใน "รายชื่อบัญชีดำ (Entity Lists)" ด้วย และใช้อุดมการณ์มาแบ่งแยกประเทศ ทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นและขัดขวางการพัฒนาของจีน จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของสิ่งที่นักวิชาการชาวอเมริกัน Graham Allison เรียกว่า "กับดักธูซิดิดีส (Thucydides Trap)"
3.ญี่ปุ่นถูกบังคับให้ละทิ้งอุตสาหกรรมชั้นนำและ "Plaza Accord" เหมือนกับต้องคำสาป
ในเดือนมิถุนายน 2023 Richard C. Koo ตั้งคำถามเกี่ยวกับความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน และสงสัยว่ากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยของงบดุลที่เคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่น โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นแตกในปี 1990 ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง 87% จากระดับสูงสุดมาสู่ระดับของปี 1973 ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจซึ่งเท่ากับสามเท่าของ GDP ของญี่ปุ่นในขณะนั้น บริษัทต่างๆ มัวยุ่งอยู่กับการชำระหนี้ และผู้คนมีแนวโน้มที่จะออมและลดการบริโภค เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นคืนให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่นั้นมา Richard C. Koo จึงเตือนว่าเมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนแตก ก็อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยของงบดุลด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สังคมจีนเริ่มมีประชากรสูงวัย และด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังทำให้การส่งออกของจีนไปยังตลาดตะวันตกลดลง ดังนั้น จึงสรุปว่า "ความท้าทายที่จีนเผชิญอาจยิ่งใหญ่กว่าความท้าทายที่ญี่ปุ่นเผชิญเมื่อ 30 ปีที่แล้ว"
ศาสตราจารย์หลิน อธิบายว่า ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็ว ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ทำให้ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยนานถึง 30 ปี เหตุใดจึงมีภาวะถดถอยนานถึง 30 ปี จนถึงวันนี้? ปัญหาของญี่ปุ่นไม่ใช่ว่าวิสาหกิจและธนาคารมีหนี้สูง แต่ไม่ได้พัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่องด้วย
ท่านชี้ว่า สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซบเซามาจาก การลงนามใน Plaza Accord ในช่วงทศวรรษ 1980 โดยสหรัฐอเมริกาบังคับให้ญี่ปุ่นต้องโอนย้ายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวหน้าที่สุดของตนไปยังสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ให้ญี่ปุ่นต้องยอมรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ของสหรัฐฯ ด้วย จึงจะอนุญาตให้ญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ไม่สามารถกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาได้อีกต่อไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ก็ไม่มีอุตสาหกรรมชั้นนำระดับสากลเพิ่มขึ้นและไม่สามารถเพิ่มผลผลิตผ่านการยกระดับอุตสาหกรรมได้
จึงสรุปว่า เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีเทคโนโลยีใหม่ ผลิตภาพการผลิตไม่ได้ยกระดับสูงขึ้น และหนี้สินก็ส่งผลเสียก่อให้เกิดปัญหาต่อวิสาหกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ
4.กุญแจสำคัญของจีนในการเอาชนะปัญหาฟองสบู่แตก ประชากรสูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์
จีนจะตกอยู่ในภาวะที่ Richard C. Koo เรียกว่าภาวะถดถอยของงบดุลหรือไม่? ศาสตราจารย์หลิน มองว่า ไม่ เพราะจีนยังมีพื้นที่สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการยกระดับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าสหรัฐฯ ต้องการที่จะสกัดกั้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ตัวอย่างล่าสุด Huawei ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ Mate 60 Pro ซึ่งใช้ความเร็วเครือข่าย 5G และยังสามารถสื่อสารผ่านดาวเทียมได้อีกด้วย ศาสตราจารย์หลิน ได้หยิบ Huawei Mate 50 Pro ออกมา เป็นมือถือที่ใช้ส่วนตัว ในระหว่างการบรรยาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ 4G ที่ใช้ชิป Qualcomm แต่ Mate 60 Pro ที่เพิ่งเปิดตัวโดย Huawei นั้นเป็นโทรศัพท์มือถือ 5G ที่ใช้ชิปที่คิดค้นและพัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งตอกย้ำว่าจีนสามารถก้าวผ่านปัญหาคอขวดทางเทคโนโลยีได้เร็วถึง 3 ปีหรือช้าสุด 5 ปี และไม่ได้สะดุดอันเนื่องจากแรงกดดันจากสหรัฐฯ ท่านเน้นย้ำอีกครั้งว่า ตราบใดที่การเติบโตของ GDP ต่อหัวของจีนยังคงรักษาระดับไว้ได้ 8% ก่อนปี 2035 และสามารถแตะครึ่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาภายในปี 2049 สหรัฐอเมริกาจะเชื่อมั่นในจีน และโลกจะเข้าสู่สถานะที่มั่นคงใหม่
ท่านเชื่อว่าจีนในปัจจุบันยังมีข้อได้เปรียบในการเป็นผู้มาทีหลัง (Late comer) กล่าวคือ สามารถนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ได้ และในเศรษฐกิจใหม่ที่มีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น เรื่องความสามารถของคนมีความสำคัญมากกว่าทุน ถึงจะสามารถดำเนินการปรับปรุงผลิตภาพการผลิตต่อไปได้ ท่านย้ำว่า “ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เรื่องที่จีนไม่กังวล แต่จะไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของจีนและไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอยในงบดุล”
นั่นหมายความว่า ตราบใดที่จีนยังสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี มีการยกระดับอุตสาหกรรม และมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรายได้อย่างต่อเนื่อง จีนยังคงเดินหน้าการพัฒนาได้ต่อไป
สำหรับเรื่องประชากรสูงวัยในจีน ศาสตราจารย์หลิน พยายามทำความเข้าใจในแง่ของผลิตภาพการผลิต โดยชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน มี 53 ประเทศได้เข้าสู่สังคมที่มีประชากรสูงวัย ซึ่งก็คือ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 14% ของประชากร อย่างไรก็ตาม ครึ่งหนึ่งของประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ และครึ่งหนึ่งของประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นหลังจากมีประชากรสูงวัยมาก เหตุผลก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เพียงขึ้นอยู่กับปริมาณกำลังแรงงานเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของกำลังแรงงานด้วย นั่นก็คือ ประเด็นเทคโนโลยีการผลิตและประสิทธิภาพการผลิตเหล่านี้สามารถทำได้ด้วยการลงทุนด้านการศึกษาล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ
5. อัตราการว่างงานของเยาวชนจีนจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ศาสตราจารย์หลิน กล่าวว่า แม้อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวจีนอายุ 16 ถึง 25 ปีจะค่อนข้างสูง แต่อัตราการว่างงานโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นและจะค่อยๆ ลดลง สำหรับประเด็นอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวอายุ 16 ถึง 25 ปีในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ท่านเชื่อว่าสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ประการแรก เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่ดิ่งลง และปัจจัยภายในได้แก่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ไม่เพียงพอ ประการที่สอง ความเต็มใจของหน่วยธุรกิจในการลงทุนค่อนข้างต่ำ อีกเหตุผลที่สำคัญมากคือการเติบโตที่ช้าของการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และที่อื่น ๆ การเติบโตของการส่งออกของจีนจึงชะลอตัวลงซึ่งส่งผลกระทบต่อความมีชีวิตชีวาของตลาดแรงงานในระดับหนึ่ง เมื่อการส่งออกอ่อนแอ อุปสงค์ในประเทศทั้งหมดก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม
ศาสตราจารย์หลิน เสนอว่า ควรใช้พื้นที่ทางนโยบายกำหนดมาตรการให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการว่างงานของเยาวชนในปัจจุบันที่อุตสาหกรรมการผลิตกำลังเผชิญอยู่ ในด้านหนึ่ง ท่านเห็นว่าต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อสนับสนุนการลงทุน สร้างงาน และเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในทางกลับกัน ต้องปรับนโยบายต่อภาคธุรกิจเอกชนให้เหมาะสมและเพิ่มความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจเอกชนด้วย เชื่อมั่นว่า “หลังจากครึ่งปีหลังอัตราการจ้างงานของเยาวชนจีนจะดีขึ้น”
โดยสรุป ประเด็นสำคัญของการถกเถียงทางเศรษฐกิจว่าจีนจะตกอยู่ในภาวะถดถอยของงบดุลหรือคล้ายกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตของจีนสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้เพียงพอที่จะเอาชนะวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ประชากรสูงวัย และความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ได้หรือไม่
เรียบเรียงโดย
ยุวดี คาดการณ์ไกล
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ