"...ปัญหาใหญ่ของการศึกษา คือ เป็นระบบการศึกษาที่แยกส่วนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง วิชาความรู้มีความสำคัญแต่ไม่ใช่ตัวตั้ง แต่เป็นตัวประกอบอย่างหนึ่งของการเรียนรู้..."
กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นระบบปัญญาของชาติ แต่นักการเมืองไม่ค่อยสนใจ อาจกลัวว่ายาก
เมื่อคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านพูดกับผมว่า “เรื่องการศึกษานี้ผมอยากทำมาก แต่ไม่รู้จะจับในแง่มุมไหน”
“แง่มุม” ที่คุณทักษิณพูดนั้น คือ “จุดคานงัด” ถ้ารู้จุดคานงัดแล้วงัดตรงนั้น จะยกประเทศไทยขึ้นได้ทั้งประเทศ แต่ไม่เคยมีรัฐมนตรีคนใดเข้าใจ “แง่มุม” ที่คุณทักษิณพูด หรือ “จุดคานงัด” ของการศึกษาไทย ก็น่าเห็นใจ
คำแนะนำต่อท่านรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง ก็คือ
1. อย่าไปบริหารงานประจำ ซึ่งจะเหนื่อยและไม่ได้ผล ระบบมีข้าราชการประจำทำอยู่แล้ว
2. รัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำนโยบาย และนโยบายต้องพุ่งไปที่จุดคานงัดของระบบการศึกษา ซึ่งถ้างัดตรงนี้อย่างเดียว ทั้งหมดจะดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด
จุดคานงัดประเทศไทยคืออะไร
ประเทศไทยมีทรัพยากรเพื่อการพัฒนามาก ควรเจริญรุ่งเรืองยิ่ง แต่กลับติดอยู่ในวิกฤตการณ์เรื้อรัง เพราะพัฒนาแบบแยกส่วนเป็นเรื่อง ๆ อะไรที่ชำแหละเป็นส่วน ๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ก็จะทำให้สิ้นชีวิต ชีวิตคือการเชื่อมโยง
การพัฒนาแบบแยกส่วนทำให้ประเทศเสียสมดุลหมดทุกมิติ อะไรที่ไม่สมดุลก็จะปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง วิกฤต ไม่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้น จุดคานงัดประเทศไทย คือ พัฒนาอย่างบูรณาการ ให้ทุกส่วนเชื่อมโยงกัน เมื่อเชื่อมโยงก็จะมีชีวิต ชีวิตเรียนรู้และเติบโตได้
การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาหน่วยงาน หรือประเด็น หรือวิชาการเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะแยกส่วนเป็นเรื่อง ๆ
ประเทศไทยที่มีบูรณภาพอย่างสมบูรณ์
1.พัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ 8 มิติ :
เศรษฐกิจ - จิตใจ - สังคม - สิ่งแวดล้อม - วัฒนธรรม - สุขภาพ - การศึกษา – ประชาธิปไตย
ทั้ง 8 มิติ เชื่อมโยงอยู่ในกันและกัน แบบที่เรียกว่า มรรคสมังคี
2.ระบบต่าง ๆ อีก 8 ระบบ บูรณาการกับพื้นที่ และระหว่างกัน ตามรูป
ประเทศไทยที่มีบูรณภาพและดุลยภาพ
ฉะนั้น ระบบอะไร ๆ ก็ต้องเป็นระบบที่บูรณาการ ไม่ใช่แยกส่วน
ระบบการศึกษาบูรณาการเป็นไฉน
ปัญหาใหญ่ของการศึกษา คือ เป็นระบบการศึกษาที่แยกส่วนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง วิชาความรู้มีความสำคัญแต่ไม่ใช่ตัวตั้ง แต่เป็นตัวประกอบอย่างหนึ่งของการเรียนรู้
การศึกษาต้องบูรณาการกับชีวิต ตามหลักทางพุทธศาสนา
ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต
ชีวิตจะเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ
ชีวิตต้องเรียนรู้ให้ ทำเป็น คิดเป็น ตัดสินใจเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น พัฒนาจิตใจเป็น
ถ้าการศึกษาทำให้ทุกคนมี “6 เป็น” ดังกล่าว ชีวิตก็จะเจริญ สังคมก็จะเจริญ
จุดคานงัดจึงอยู่ที่ เรียนรู้จากการทำ ที่ทำให้ทำเป็น คิดเป็น ตัดสินใจเป็น จัดการเป็น อยู่ร่วมกันเป็น พัฒนาจิตใจเป็น
ไม่ใช่การศึกษาแบบ “ท่องเป็น” แต่ทำอะไรไม่เป็น เป็นเหตุให้ชาติอ่อนแอและวิกฤต
นโยบายจุดคานงัดของกระทรวงศึกษาธิการ
ให้ทุกสถาบันการศึกษามี หลักสูตรเรียนรู้จากการทำงาน (Work-Base Learning) หรือ WBL ถ้ามีการเรียนรู้จากการทำงาน มีรายได้ไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย จะหายจนทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คือหายจนทั้งประเทศ และคนไทยมีสมรรถนะสูงเพราะ “ทำเป็น”
อุดมศึกษาควรเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต
ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน ประมาณ 140 แห่ง มีนิสิตนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคน มีครูบาอาจารย์นักวิชาการหลายแสนคน เป็นขุมศักยภาพทางปัญญามหาศาล แต่การที่ไม่สามารถเป็นหัวรถจากทางปัญญาภาชาติออกจากวิกฤติได้ เพราะ “คิดเชิงเทคนิคเท่านั้น” ขาดสมรรถนะการคิดเชิงระบบและการจัดการ รวมทั้งสมรรถนะเชิงพัฒนานโยบาย
จุดคานงัดของอุดมศึกษาไทย
มี 2 จุด คือ
1. นโยบายการทำงานเชิงพื้นที่ 1 มหาวิทยาลัย / 1 จังหวัด ถ้ามหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ จะทำให้คนไทยเข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย การศึกษาที่ทำให้คนไทยไม่เข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ทำให้ชาติวิกฤต เพราะเมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้
อุดมศึกษาบูรณาการกับการพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ จะทำให้ประเทศไทยมีบูรณภาพและดุลยภาพ เป็นแผ่นดินศานติสุข
2. นโยบายมหาวิทยาลัยกับการพัฒนานโยบาย นโยบายเป็นปัญญาสูงสุดของชาติ เพราะกระทบทุกองคาพยพของประเทศ ประเทศไทยเกือบไม่มีความสำเร็จทางนโยบาย เป็นเหตุให้ติดอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตการณ์ ทั้งนี้เพราะขาดความเข้าใจระบบนโยบาย นโยบายเป็นระบบไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น ถ้าทำไม่เป็นระบบครบวงจร ก็ไม่สำเร็จ
แต่ถ้าทำเป็นระบบครบวงจร 12 ขั้นตอน ก็จะสำเร็จทุกเรื่อง เรียกว่า “สัมฤทธิศาสตร์”
ถ้ามหาวิทยาลัยสร้างความเชี่ยวชาญในสัมฤทธิศาสตร์ ก็จะช่วยให้ประเทศไทยมีความสำเร็จทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชุมชนจนถึงนโยบาย นี่แหละที่เรียกว่า อุดมศึกษาคือหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต
การสร้างนักพัฒนานโยบายในมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องไม่ยาก และอธิบายไว้แล้วในเรื่อง “มหาวิทยาลัยกับเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาประเทศ การคิดเชิงระบบและการจัดการ”
ถ้าท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอว. ทำตรงนโยบายจุดคานงัด 3 จุดที่กล่าวถึง ทุกสิ่งทุกอย่างก็สัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ บูรณาการกันสู่องค์รวมประเทศไทย
ประเทศไทยที่เป็นองค์รวมจะมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์
ทำนองเดียวกับที่เครื่องบินเมื่อประกอบชิ้นส่วนครบเป็นองค์รวมก็มีคุณสมบัติใหม่ คือ บินได้ ในขณะที่ไม่มีชิ้นส่วนใดบินได้เลย
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน พัฒนาแบบแยกส่วนประเทศไทยบินไม่ได้ ต้องพัฒนาอย่างบูรณาการสู่องค์รวม
ศ.นพ.ประเวศ วะสี