"...เราเดินทางเข้าคลองซอยไปบ้านเจ๊กฮวด บ้านโบราณหลังนี้มีมาตั้งแต่ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จมาที่ท่าน้ำบ้านนี้เสียอีก ด้วยว่าคนไทยสมัยนั้นอาจไม่ค่อยทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่บางกอกมีพระพักตร์เป็นเช่นไร ด้วยว่าภาพถ่ายก็ไม่ใช่สิ่งที่มีให้แพร่หลายในยุคนั้น..."
แขกต่างชาติ คนไทยต่างถิ่นมาถึงที่คลองดำเนินสะดวกมักจะรู้สึกทึ่งกับความน่ารักของบรรยากาศ อาหารแปลกลิ้นจากตลาดเก่า ‘’เหล่าตั้กลั้ก’’ เป็นคำแต้จิ๋วแปลว่าตลาดเก่า
และด้วยความที่น้ำทะเลเชื่อมกับสายน้ำย่านนี้จึงมีอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงวันละ2หน คนทำเรือกสวนจึงคุ้นเคยกับการจัดการแบบ 3 น้ำ นั่นคือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย
เมื่อปริมาณน้ำมี แร่ธาตุผ่านตะกอนในน้ำหนาแน่น ปลาปู กุ้งหอยจึงชุม เรือกสวนและไร่นาจึงอุดมสมบูรณ์
ผลผลิตการเกษตรของที่นี่จึงดีงามและมีอัตลักษณ์
สินค้าเกษตรที่นี่จึงมี’’ จีไอ’’ นั่นคือขึ้นทะเบียนเป็นผลผลิตที่จดการคุ้มครองได้ ในฐานะมีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ความเป็นเมืองวัฒนธรรมโบราณที่หลากหลาย ที่นี่จึงสามารถแปรรูปผลผลิตที่ส่งเข้ามาได้มีชื่อเสียง
จากถั่วเหลืองปลูกที่อื่นแต่ส่งมาทำซอสซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำที่นี่
จากแปลงดินยกร่องปลูกหอมปลูกกะเทียมดั้งเดิม ก็กลายเป็นแปลงมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพดีเยี่ยมที่ปลูกกันหนาแน่นที่สุดของไทย
ผลหมากผลไม้ ผักแปลกหู ดอกไม้แปลกตาก็หากันง่ายได้ที่ย่านนี้
ในหลวงรัชกาลที่4 ทรงเอ่ยชม เมื่อที่นี่ใช้เวลาแค่ 2 ปีก็ขุดคลองด้วยมือคน
จนแล้วเสร็จ แถมทำได้เป็นแนวตรงดีเหลือเกิน จึงทรงพระราชทานนามว่า ‘’ดำเนินสะดวก’’
เทคนิคการขุดคลองสมัยนั้นไม่มีเครื่องจักร ใช้แรงคนกับเครื่องมือง่ายๆนี่เเหละ มีเกร็ดให้หาอ่านเพิ่มอย่างน่าทึ่งได้ตามเว็บไซต์อีกนะครับ
รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสทางน้ำด้วยเรือพระที่นั่งมาย่านนี้ และทรงเคยเสด็จขึ้นที่วัด โชติทายการาม แล้วให้มหาดเล็กตั้งเครื่องต้น ประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวยที่ศาลาท่าน้ำ ปัจจุบันเป็นศาลาการเปรียญ
รัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระพันปีหลวง ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินต้น ที่วัดแห่งนี้
คณะเดินทางของพวกเราจึงมาเริ่มทริปด้วยกันที่นี่ เพื่อเป็นการตามรอยพระบาท
ออกเรือหางยาวไฟฟ้ามาสักแป๊บก็ไปขึ้นท่าที่ศาลเจ้าตีลิ่วยี่ มีกรรมการศาลเจ้าที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเล่าเรื่องเก่าให้คณะเรารับฟัง จากนั้นไปชิมไปชม ไปช้อปที่ตลาดน้ำเหล่าตั้กลั้ก ไปให้กำลังใจวงดนตรีรุ่นเดอะ อายุน่าจะเลข7นำแล้วทั้งวง แต่รวมตัวกันมาเล่นดนตรีเปิดหมวกและขับร้องกันอย่างมีรสชาติยิ่ง ได้ไปอุดหนุนร้านอาหารถิ่นริมคลองและพากันยืนขึ้นปรบมือต้อนรับคุณลุงที่เป็นคนยืนแจวเรือรับจ้างคนสุดท้าย แห่งคลองขุดสายนี้
เพราะจะว่าไป เรือแจวเรือจ้างนี่ก็เป็นการเดินทางแบบ No Carbon ไม่ต่างจากเรือไฟฟ้าสักเท่าใด เพียงแต่ท่านอายุเลข 7 แล้ว แม้ยังแข็งแรง แต่ก็ย่อมมีสังขารที่ต้องช่วยถนอมแล้วล่ะ
เราเดินทางเข้าคลองซอยไปบ้านเจ๊กฮวด บ้านโบราณหลังนี้มีมาตั้งแต่ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จมาที่ท่าน้ำบ้านนี้เสียอีก ด้วยว่าคนไทยสมัยนั้นอาจไม่ค่อยทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่บางกอกมีพระพักตร์เป็นเช่นไร ด้วยว่าภาพถ่ายก็ไม่ใช่สิ่งที่มีให้แพร่หลายในยุคนั้น
แต่เจ๊กฮวดจำได้จากภาพที่เคยเห็น จึงจัดอาหารเต็มสำรับจัดถวาย ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงพอพระทัย รับสั่งให้เจ๊กฮวดไปเฝ้าที่วังหลวงในกรุงเทพ
ชาวบ้านเลยยกย่องเจ๊กฮวดว่าเป็นมหาดเล็กนอกวัง
สำรับอาหารมื้อนั้นจึงเป็นอีกส่วนของบันทึกประวัติศาสตร์ของวงศ์ตระกูลที่ภาคภูมิใจยิ่ง มีการสืบทอดตำรับและสูตรการปรุงมาจนรุ่นหลานเหลนในปัจจุบัน วันนี้ลุงเปี้ยก คุณศิริชัย น้อยประเสริฐ ทายาทเจ้าของบ้านเป็นผู้มาให้ความรู้กับพวกเราพร้อมลูกสาว
แน่นอนว่า คณะของเราเลยได้รับโอกาสทานมื้ออาหาร ตามสำรับชนิดตามรอยพระบาทครบถ้วน อิ่มอร่อยไปตามกัน เตาไม้ฟืนที่ปรุงอาหารแบบไร้ควันของที่นี่ก็ได้ความรู้จากงานวิจัย บพข.มาใช้ทำกับข้าว
อาหารสำรับเด็ดที่ว่า ได้แก่ปลาตะเพียนต้มเค็ม น้ำพริกมะขาม เกี้ยมฉ่ายผัดไข่ และของหายากสุดท้าย หอยกะพงดอง ที่เคยจัดถวายนั่นเอง
อีกอย่างที่ KOL พากันสนใจพิเศษ คือน้ำดื่มใส่น้ำยาอุทัยสีชมพูอ่อนๆ ในขันโลหะหอมเย็นชื่นนนนใจ
อ้าว เจอ ซอฟต์เพาเวอร์อันใหม่เข้าให้เสียละมัง เหมือนที่นักท่องเที่ยวชอบกางเกงช้าง อาบน้ำช้าง ยาดมส้มโอมือ ยาหม่องไทย ทุเรียน และชาไทยใส่นม ฯลฯ
คณะเราจบทริปนี้ด้วยการไปลงเรือถ่อในขนัด สวนเกษตรแม่ทองหยิบ ที่ขุดยกร่องเก็บน้ำจืดไว้ใช้อย่างร่มรื่น ชุ่มชื้น เพื่อชมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิสาหกิจชุมชน ที่นี่ปลูกทั้งมะพร้าวน้ำหอมจำนวนมาก บางยกร่องก็ปลูกฝรั่ง ปลูกมะนาว ส้มโอ มะละกอ มะขาม กล้วย พี่ไพศาล ศรีเอี่ยมกูล หัวหน้าทีมของวิสาหกิจนี้ สอนเราสอยมะพร้าวลงมา สอนเราสังเกตว่าเกษตรกรชาวสวนใช้ใบทางมะพร้าวคลุมผิวดินเพื่อไม่ให้หญ้าและวัชพืชงอกมากวนได้ง่าย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าสักหยด ใช้เลนในร่องสวนโกยขึ้นมาเพิ่มอินทรียวัตถุในดินที่ยกร่อง ร่องสวนใช้เลี้ยงปลา ส่วนหอยที่มีในท้องร่องก็ได้ใช้ประโยชน์ในการวักขึ้นมาเพิ่มอินทรีย์ให้หน้าดิน
ร่องสวนสามารถเก็บน้ำได้เยอะ จนนกปากห่างที่เคยชุกชุมในจังหวัดอื่น พากันย้ายมาเกาะต้นไม้ใหญ่ที่นี่ เพราะมีปลามีหอยให้จับกินสบาย
พี่ดำ สุภเวช ชัยทัศน์ จิตอาสาคนสำคัญจากโรงพยาบาลดำเนินสะดวก กับคุณเผือก อภิรักษ์ เริงหทัย แกนนำผู้ประสานงานของชาวชุมชนดำเนินสะดวกที่ช่วยดูแลคณะเราตั้งแต่เช้า ควงปังตอปอกมะพร้าวแจกคณะได้ดื่มกันจนครบทุกคนอย่างคล่องมือ ทุกคนทึ่งมาก เพราะพี่ดำมีความสามารถหลายอย่างทั้งบอกเล่าประวัติศาสตร์ ทำขนม ชงเครื่องดื่มเลี้ยง แถมยังมีความสามารถชนิดที่บอกได้ว่ามีวิญญาณชาวสวนเต็มเปี่ยม
อีกอย่างที่ต้องขอชมเชย คือสวนเกษตรแห่งนี้มีทางลาด มีห้องน้ำวีลแชร์ให้ใช้ด้วย นับว่าทันสมัยได้ประเด็นสำหรับสังคมสูงวัยดีมาก
ในระหว่างพักรอฝึกทำขนมกับวิสาหกิจชุมชน ผมได้รับเชิญให้ขึ้นบรรยายสรุปเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในชุมชน โดยผมชี้ว่าเมื่อเราตั้งเป้าทั้งลดการใช้พลังงาน ลดการใช้พลาสติก เน้นการเรียนรู้วิธีเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ อันเป็นการดูดซับคาร์บอนมาแปลงเป็นพืชอาหารคน ทำให้ผู้มาเยี่ยมชมต่างมีสัมพันธภาพที่อบอุ่นกับชาวบ้านและเกษตรกร มีความเข้าใจในระบบนิเวศน์ที่เกื้อกูลกันได้ในแบบเรียบง่าย การเที่ยวคลองดำเนินสะดวกจึงมีอะไรให้เราค้นพบอีกหลายมิติมาก ทั้งได้เรียนรู้ว่าการขนมะพร้าวออกจากสวนโดยใส่ในเรือถ่อในร่องนั้น ช่วยถนอมผลมะพร้าวน้ำหอมของเราให้มีผิวที่งามกว่าการขนออกทางบก แถมเบาแรง
ตลาดปลายทางของมะพร้าวน้ำหอมไทยเป็นที่ต้องการในเมืองจีน แม้ประเทศอินโดและฟิลิปปินส์จะมีมะพร้าวส่งออกมาก แต่ถ้าพูดถึงมะพร้าวน้ำหอมแล้ว เราภูมิใจได้ว่าของไทย โดยเฉพาะจากที่ดำเนินสะดวกนี่แหละที่มีชื่อมีคุณภาพดีที่สุด นำเงินตราเข้าประเทศสม่ำเสมอ แถมมะพร้าวเป็นพืชถึกทน ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งรากใบต้นผลและดอกมะพร้าว ให้ร่มเงา และดูดซับคาร์บอนได้ดี
จบทริปลงยามเย็น เราต่างแยกย้ายกัน เหล่า KOL และสื่อมวลชนที่มาร่วมทริปต่างมุ่งมั่นกลับไปตัดคลิป จัดเสียง ใส่คำบรรยาย ใส่ effect ตามแบบที่ต่างคนต่างถนัด เพื่อเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆกระจายไปยังแฟนคลับนับล้านๆ ของแต่ละคนต่อไป
ในไม่ช้า เราคงได้ชมผลงานจากยอดฝีมือ KOL เหล่านี้ครับ
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา