"...วิธีการคือ ใช้รถยนต์ให้น้อย ใช้เรือท้องถิ่น ในกรณีนี้มีเรือหางยาวไฟฟ้า ที่ใช้แบตเตอรี่ที่ชาร์จจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือ แล่นเงียบ ไม่มีควัน คลื่นกระทบตลิ่งและเสาเรือนชาวบ้านเบาหวิว เป็นพาหนะ..."
สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณสาธิตา โสรัสสะ บล็อกเกอร์ ผู้ก่อตั้ง Media & Blogger Club ของไทย เชิญผมไปร่วมทริปเดินทางพาสื่อมวลชนไทยและ KOL หรือ Key Opinion Leaders ในจีน ให้ไปสัมผัสประสบการณ์การล่องเรือเที่ยวที่ย่านดำเนินสะดวก ครับ
KOL บางท่านที่ไปในทริปนี้ มีแฟนคลับติดตามในจีนหลายๆล้านคน KOL บางคนเป็นคนไทย แต่ด้วยความที่เป็นผู้สื่อข่าวภาคภาษาจีนของซินเสียนยื่อเป้า ในไทย ก็มีแฟนข่าวแฟนออนไลน์ชาวจีนทั้งที่อยู่ในไทยและที่อยู่ในจีน ตลอดจนชาวจีนทั่วโลกที่ติดตามรับรู้ข่าวสารสารพัดที่เกิดขึ้นในไทยผ่านเธอผู้นี้ เธอชื่อ ‘’คุณแตม’’ ครับ วันนี้มากับผู้ช่วยเป็นสาวน้อย ชาวจีน ที่มาสำเร็จจากสถาบันการศึกษาในไทย
KOL ท่านที่สองเป็นหนุ่มน้อยชาวจีน ที่มาอยู่ในไทย 4 ปีกว่าแล้ว และได้กลายเป็นบล็อกเกอร์นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของไทยเข้าไปสู่ช่องทางออนไลน์ในจีนอย่างประสบผลสำเร็จดีเยี่ยม ท่านนี้ ชื่อ ‘’คุณ จิมมี่’’ ใช้กล้องเล็กๆแต่คุณภาพชัดแจ๋วถ่ายคลิปสื่อสารอย่างออกรสออกชาติไปได้ตลอดทริป ผมมีโอกาสสอนวิธีก้มกราบเบญจางคประดิษฐ์ให้แกได้ลองทำ เพื่อนๆชาวจีนที่ follow แกจะได้ทำเป็นตามไปด้วย
คุณจิมมี่โด่งดังในหมู่นักเดินทางชาวจีนแน่ มีคณะนักท่องเที่ยวจีนจำนวนไม่น้อยที่นั่งในเรือหางยาวที่แล่นช้าๆผ่านตลาดน้ำดำเนินสะดวก สวนกับเรือหางยาวไฟฟ้าของเราแล้วเกิดจำหน้าคุณจิมมี่ได้ จึงส่งเสียงร้องทักทาย โบกมือดีใจกันทั้งลำก็มี
KOL ท่านที่3 เป็นคุณแม่ยังสาวและสวย ชื่อ ‘’คุณเจนน่า’’ มาพร้อมลูกชายคนเดียว ลูกชายอายุราวชั้น ป.6 ในโรงเรียนอินเตอร์ ใช้ภาษาอังกฤษคุยกับผมได้คล่องแคล่ว คุณเจนน่ามีสามีเป็นวิศวกรสร้างอาคารสูงในเมืองจีน แต่ด้วยเธอเล่าเรื่องราวการสัมผัสประสบการณ์ในเมืองไทยผ่านคลิปสม่ำเสมอ เธอจึงมีผู้ติดตามอยู่อย่างกว้างขวาง
รวม3 ท่านที่เอ่ยมา ก็มีแฟนคลับในภาษาจีนถึงราว 10 ล้านคน!
มี บล็อกเกอร์ชาวจีนอีกหลายคนที่ผมยังไม่มีโอกาสใกล้ชิดสนทนาด้วย มีหนุ่มสาวจีน2-3คนมาไกลจากมณฑลซินเจียง มีผู้ดำเนินรายการทีวีของ ช่อง News 1 ของไทยพร้อมทีมช่างภาพ และอีกหลายๆท่าน
กิจกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ บพข. ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร วิจัยและนวัตกรรม(กองทุน ววน.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย TEATA ทำโครงการ ‘’ เที่ยวเทรนด์ใหม่ Carbon Neutral Route “ แปลว่า สร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่ไม่ใช่แค่คาร์บอนต่ำนะครับ แต่จะมุ่งไปสู่การไปให้ถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์เลยทีเดียว
วิธีการพัฒนาตามโครงการสร้างเส้นทางใหม่อย่างนี้คือ การลดการใช้พลังงานเท่าที่เป็นไปได้ คงความปลอดภัย ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด ก่อขยะให้น้อยที่สุด ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกให้น้อยเท่าที่ทำได้ ไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง นำคาร์บอนสุทธิที่คำนวณได้ว่ายังต้องปลดปล่อยอีกเท่าไหร่ ผู้จัดเส้นทางจะไปจัดซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยให้กิจกรรมทริปนั้น จนให้เหลือค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิที่เป็น’’ศูนย์’’!!
เอาขนาดนั้นเลย
วิธีการคือ ใช้รถยนต์ให้น้อย ใช้เรือท้องถิ่น ในกรณีนี้มีเรือหางยาวไฟฟ้า ที่ใช้แบตเตอรี่ที่ชาร์จจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือ แล่นเงียบ ไม่มีควัน คลื่นกระทบตลิ่งและเสาเรือนชาวบ้านเบาหวิว เป็นพาหนะ
ผู้จัดจึงเลือกคลองดำเนินสะดวก อยู่ใกล้ การเดินทางสะดวก และมุ่งเป้าให้ชุมชนเจ้าของท้องถิ่นเป็นผู้รับประโยชน์
คลองดำเนินสะดวกนั้น เป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ 4 เชื่อมแม่น้ำท่าจีนให้เข้าไปร่วมสายน้ำกับแม่น้ำแม่กลองก่อนออกสู่อ่าวไทย
ความยาวคลอง32กิโลเมตร เป็นเส้นตรงแหน่ว!!
มีหลักศิลาที่ปักไว้เป็นเหมือนหลักหมุดอยู่ริมคลองขุดทุก 4 กิโลเมตร ตั้งแต่หลักกิโลศูนย์ เป็นประเดิม แล้วปักไล่มาจนถึงหลัก 8
ชาวจีน ที่มารับจ้างขุดคลองในสมัยนั้นร่วมกับชาวมอญบ้าง ชาวสยามบ้างในแถบนั้นจึงลงหลักปักฐานอาศัยที่ริมคลองมาตั้งแต่นั้น บ้านริมคลองสองข้างจึงมีทั้งพระภูมิเจ้าที่ มีตี่จูเอี๊ย แท่นบูชาฟ้าดินตามคติจีน ซึ่งมีทั้งแต้จิ๋วและไหหลำ มีวัดมอญ มีศาลเจ้าจีน มีวัดไทย เรียงรายไปเรื่อย รวมทั้งมีคลองซอย คือคิดๆแล้วก็คล้ายถนนใหญ่ในบางกอกที่มีซอยแยกเข้าไปถึงเรือกสวนด้านใน คลองซอยด้านในเชื่อมกันไปมา จึงมีทั้งสามแยก สี่แยก ซอยตัน และซอยวนรอบที่ดิน
เพียงแต่เปลี่ยนจากถนนที่คนกรุงคุ้นเคย เป็นลำน้ำเล็กๆ
เมื่อมีสามแยกสี่แยกมาก ก็เกิดระบบจราจรชาวเรือ มีแยกขนาดใหญ่กลายเป็นตลาดนัดชาวเรือชาวสวน
จึงมีตลาดน้ำ ในสายตาคนบางกอก แต่นั่นคือตลาดนัดตามวันของคนทำเรือกสวน คือนัดกันพายเอาของข้าวผลไม้มาแลกเปลี่ยนทำกิจกรรมประเพณีกัน
ที่นี่จึงมีความเป็นนานาชาติมาแต่โบราณ มีวัฒนธรรมอาหารการกินที่รุ่มรวย มีประเพณีแปลกตา ทั้งด้านคติความเชื่อและศาสนา
แต่ทุกอย่างเชื่อมกันไว้ด้วยสายน้ำ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และที่สำคัญ คือน้ำใจ และน้ำพักน้ำแรงของเหล่าผู้สร้างผู้บุกเบิกนั่นเอง
รออ่านต่อภาค2
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา