"… ปัญหา brain drain กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของศรีลังกา ตั้งแต่เกิดวิกฤตมีแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศแล้วหลายแสนคน ส่วนใหญ่คงเป็นแรงงานทั่วไป แต่ก็มีหลายอาชีพที่เกิด brain drain จริงจัง เช่น หมอ พยาบาล วิศวกร computer science และ hospitality ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนคนทำงานที่มีความรู้มีทักษะ ที่จะเป็นกำลังสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว ตอนนี้ธุรกิจที่พอมีศักยภาพอยากลงทุนเพิ่ม ก็ขยายไม่ได้เต็มที่ เพราะขาดคนทำงานที่มีคุณภาพ …"
นับได้ 12 เดือนพอดีหลังจากที่มาศรีลังการอบก่อน (สิงหาคม 2565) ตอนนั้นเป็นช่วง peak ของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา ข่าวที่แพร่ไปทั่วโลกมีแต่รูปรถเข้าคิวยาวรอเติมน้ำมัน ประชาชนปักหลักประท้วงในสวนสาธารณะใหญ่ริมทะเล ประธานาธิบดี(ที่ไม่มีฐานเสียงทางการเมือง)เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศหมดเกลี้ยงจนรัฐบาลประกาศเบี้ยวหนี้ต่างประเทศ การเจรจากับ IMF เพิ่งเริ่มต้น เงินรูปีอ่อนค่าลงไปประมาณร้อยละ 80 ส่งผลให้ปีที่แล้วเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 50 และเศรษฐกิจหดตัวไปร้อยละ 9
ตอนมารอบที่แล้ว Advocata ซึ่งเป็น policy think tank ของศรีลังกาขอให้มาคุยเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจและการบริหารวิกฤตกับผู้นำหลากหลายวงการ ตั้งแต่รัฐบาล นักการเมืองหลายฝ่าย นักวิชาการ นักธุรกิจ คุยกับใครก็มีแต่หดหู่ มองไม่เห็นทางออก ประชาชนเดือดร้อนหนักมาก ช่วงนั้นแบงค์ชาติศรีลังกาต้องพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้เพราะรัฐบาลไม่สามารถกู้เงินจากแหล่งอื่นได้ จำได้ว่ามีเรือบรรทุกน้ำมันลอยลำอยู่ในทะเล รอว่ารัฐบาลมีเงินตราต่างประเทศจ่ายค่าน้ำมันได้เมื่อไหร่ ก็จะเข้ามาเทียบท่าเรือโคลอมโบ
ดีใจที่ได้กลับมาศรีลังกาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่ารอบนี้จะพเนจรอยู่ตามวัดและโรงเรียนมากกว่ามาคุยเรื่องเศรษฐกิจ เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจศรีลังกาเริ่มกลับมามีเสถียรภาพ ค่าเงินรูปีแข็งขึ้นจากปีที่แล้ว (แต่ก็ยังอ่อนกว่าก่อนเกิดวิกฤตครึ่งหนึ่ง) เงินเฟ้อเหลือเพียงเลขตัวเดียว (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานปีที่แล้วสูง) ไม่มีคิวรอเติมน้ำมันตามปั๊มอีกแล้ว เห็นการก่อสร้างตึกใหญ่ๆ ในโคลอมโบกลับมาใหม่ supply chain บางอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาเป็นปกติขึ้น แต่บางอุตสาหกรรมก็ยังขาดแคลนวัตถุดิบอยู่ เพราะธุรกิจจำนวนมากถ้าไม่เจ็บหนัก ก็ล้มหายตายจากไป
การฟื้นตัวที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือการท่องเที่ยว ทั้งสามโรงแรมที่อยู่รอบนี้เต็มทุกห้อง ปีที่แล้วจำได้ว่าลงมาทานอาหารเช้าในโรงแรมที่โคลอมโบ มีแขกอยู่เพียง 2-3 โต๊ะเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจศรีลังกาเพิ่งเริ่มมีเสถียรภาพ ประชาชนทั่วไปยังเดือดร้อนอยู่มาก เพราะมูลค่าที่แท้จริงของรายได้และเงินออมหดหายไปมาก คนมักพูดกันว่า “ปีที่แล้วพอมีเงินแต่ซื้อของไม่ได้ เพราะไม่มีของขายในตลาด ปีนี้พอมีของขายในตลาด แต่เงินด้อยค่าไปหมดแล้ว”
นักเศรษฐศาสตร์ที่นี่เล่าให้ฟังว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการเปิดเสรีให้มีผู้เล่นรายใหม่มาแข่งกับรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดมานานมากจนไร้ประสิทธิภาพ ภาคพลังงานเริ่มเปิดเสรีให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาทำให้ศรีลังกาไม่ขาดแคลนน้ำมัน ตอนแรกรัฐบาลดูจะห่วงแรงต้านจากสหภาพแรงงาน แต่พบว่าไม่ได้แรงอย่างที่กลัวกัน สหภาพทั้งหลายคงเห็นแล้วว่าถ้าดันทุรังค้านแบบเดิมต่อไปทั้งประเทศก็คงไปกันไม่รอด นอกจากนี้ รัฐบาลได้เริ่มเจรจา FTA กับหลายประเทศ(รวมทั้งไทยด้วย)เพราะต้องการให้การค้าและการลงทุนเป็นเครื่องยนต์ใหม่ เขามองไกลถึงกับอยากขอเข้าร่วม RCEP ด้วย
ความก้าวหน้าอีกด้านก็คงเป็นหลายมาตรการในภาคการเงิน เงินกู้จาก IMF ได้รับอนุมัติและเบิกจ่ายก้อนแรกได้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (หลังจากที่มีปัญหากับจีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อยู่หลายเดือน) ทำให้ตอนนี้พอมีทุนสำรองระหว่างประเทศไว้หายใจได้บ้าง การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลก็ดำเนินการแบบเป็นขั้นเป็นตอน ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลไปได้มาก ตอนมารอบที่แล้วกังวลว่าถ้าออกแบบการปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐไม่ดีจะเป็นกลายระเบิดลูกโซ่ ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขาดทุนจำนวนมาก จนอาจเกิด banking crisis ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งวิกฤตได้
การปฏิรูปสำคัญอีกอันที่เกิดขึ้นแล้ว คือการแก้ไขกฎหมายแบงค์ชาติศรีลังกาให้เป็นอิสระ กฎหมายนี้ร่างกันไว้นานแล้วแต่ไม่สามารถผ่านสภาได้ เพราะรัฐบาลและนักการเมืองในอดีตไม่ยอมให้แบงค์ชาติเลิกพิมพ์เงินให้รัฐบาลยืม ต้องรอจนเกิดวิกฤตใหญ่ก่อนจึงเห็นความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ
อีกเรื่องที่เป็นพัฒนาการใหญ่ คือ ดุลการคลัง primary balance (ไม่รวมภาระชำระหนี้และดอกเบี้ย) กลับมาสมดุลเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปี แสดงว่ารัฐบาลเริ่มควบคุมรายจ่ายได้โดยเฉพาะรายจ่ายเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ และเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีการปฏิรูประบบภาษีอย่างจริงจัง
ด้วยความที่ศรีลังกาเคยเป็นสังคมนิยม และมีนโยบายสนับสนุนชาวสิงหล ทำให้ภาครัฐมีขนาดใหญ่มาก เกือบร้อยละ 20 ของคนวัยทำงาน 8 ล้านคนเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างภาครัฐ โจทย์ยากมากคือจะลดขนาดของภาครัฐลงได้อย่างไร มีนโยบายหนึ่งที่เพิ่งออกมาอนุญาตให้ข้าราชการลาพักไปทำงานหาเงินต่างประเทศได้ระยะเวลาหนึ่ง แล้วมีทางเลือกว่าจะกลับมาทำงานกับภาครัฐได้ใหม่ในอีก 3 ปี 5 ปีข้างหน้า นโยบายนี้นอกจากจะช่วยลดภาระรายจ่ายภาครัฐแล้ว รัฐบาลยังหวังว่าจะมีเงินตราต่างประเทศส่งกลับมาอีกด้วย
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น คือคาดว่าปีนี้บุคลากรทางการแพทย์เกือบครึ่งหนึ่งจะลาพัก หรือลาออกไปทำงานต่างประเทศ เพราะรายได้ในต่างประเทศดีกว่ามาก และที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่มีการศึกษาดี เป็นห่วงอนาคตของลูกหลาน อยากย้ายประเทศเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้ครอบครัว
ปัญหา brain drain กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของศรีลังกา ตั้งแต่เกิดวิกฤตมีแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศแล้วหลายแสนคน ส่วนใหญ่คงเป็นแรงงานทั่วไป แต่ก็มีหลายอาชีพที่เกิด brain drain จริงจัง เช่น หมอ พยาบาล วิศวกร computer science และ hospitality ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนคนทำงานที่มีความรู้มีทักษะ ที่จะเป็นกำลังสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว ตอนนี้ธุรกิจที่พอมีศักยภาพอยากลงทุนเพิ่ม ก็ขยายไม่ได้เต็มที่ เพราะขาดคนทำงานที่มีคุณภาพ
ปัญหา brain drain น่าจะเกิดต่อเนื่องไปอีกนานพอสมควร ได้มีโอกาสคุยกับเด็กมัธยมปลายที่มีความสามารถสูงหลายคน พบว่าเป็นห่วงระบบธรรมาภิบาลของประเทศ ไม่เชื่อมั่นในนักการเมืองหน้าเดิมๆ ไม่คิดว่าปัญหาโครงสร้างของศรีลังกาจะได้รับการแก้ไขจริง ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้จริงในระยะยาว หลายคนตั้งเป้าที่จะเรียนอาชีพที่ไปหางานทำต่างประเทศได้ และพร้อมที่จะไปเมื่อมีโอกาส
ปัญหาประชาชนขาด trust ในรัฐบาลศรีลังกา จะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ยังต้องทำอีกมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนจะเดือดร้อนมากจากหลายมาตรการ (เช่น การปฏิรูปกฎหมายแรงงานให้คุ้มครองแรงงานน้อยลง เป็นมิตรกับนายจ้างมากขึ้น หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกการอุดหนุนด้านต่างๆ) ประชาชนไม่เชื่อว่านักการเมืองหน้าเดิมๆ (ที่บริหารประเทศจนพัง) จะสามารถคิดใหม่ ทำใหม่ ทำให้ศรีลังกาเปลี่ยนแปลงได้จริง ประชาชนคิดว่าการปฏิรูปเป็นการผลักภาระไปให้ประชาชนทั่วไป ในขณะที่คนรวย คนมีอำนาจ คนชั้นสูงไม่เดือดร้อน เอาตัวรอดได้
ความท้าทายสำคัญที่สุด คือปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ หลายคนคิดว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจจะสะดุดได้ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง บางพรรคการเมืองเริ่มพูดถึงนโยบายประชานิยมแบบที่เคยทำ อยากนำเงินอุดหนุนบางประเภทกลับมาใหม่ อยากแก้ปัญหาการว่างงานของคนหนุ่มสาวด้วยการขยายการจ้างงานภาครัฐ ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่จึงสำคัญมาก ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจจะเดินหน้าได้จริงจังหรือเปล่า
ถามคนศรีลังกาว่าประเทศมีวิกฤตใหญ่ขนาดนี้ และการเมืองก็ขาดเสถียรภาพ ฝ่ายทหารมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงอย่างไรบ้าง ได้รับคำตอบตรงกันว่าทหารศรีลังกาเป็นมืออาชีพ สู้รบผ่านสงครามกลางเมืองต่อเนื่องมานานจนรวมประเทศได้ ทหารศรีลังกาไม่มีวันที่จะลุกขึ้นมาปฏิวัติ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลยังไม่กล้าเสนอแผนปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง ยังไม่มีแผนลดกำลังพล (หัวโต) ที่เต็มไปด้วยสิทธิประโยชน์ มีคนเล่าว่างบประมาณด้านทหารและความมั่นคงใหญ่กว่างบประมาณด้านการศึกษาและสาธารณสุขรวมกันเสียอีก
ตอนนี้ได้แต่เอาใจช่วยให้การปฏิรูปเศรษฐกิจศรีลังกาเดินหน้าได้ต่อเนื่อง ยังมีเรื่องสำคัญอีกมากที่ต้องใช้ทั้ง political capital และ public trust สองปีข้างหน้านี้จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของศรีลังกา
ระหว่างนี้ใครอยากช่วยให้เศรษฐกิจศรีลังกาฟื้นตัวได้เร็ว แนะนำให้รีบไปเที่ยว ประเทศนี้น่ารักและน่าสนใจมาก มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายประเภท ที่สำคัญต้องรีบไปก่อนที่ค่าเงินรูเปียจะแข็งขึ้น และค่าโรงแรมจะแพงขี้นไปอีกตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้ได้แต่บอกว่า Amazing Sri Lanka ราคาย่อมเยาว์
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20