"...ยืนยันว่า ได้ตรวจสอบในข้อกฎหมายทุกอย่าง ล่วงเลยไปถึงของจริยธรรม ของความซื่อสัตย์ ยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีเรื่องใด ๆ ที่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผิดกฎหมาย เป็นเพียงข้อกล่าวหา และก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ถือว่า นานเศรษฐา เป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ และมีความซื่อสัตย์สุจริตโดยประจักษ์ ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ในระหว่างการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางเพื่อแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนแล้วเสร็จ
***************
นายชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวอภิปรายสรุป และตอบข้อซักถามว่า "ในนามของพรรคเพื่อไทย ที่ได้เป็นผู้เสนอชื่อ ผู้ที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ในวันนี้ท่านสมาชิกรัฐสภาหลานท่าน ทั้ง สส. และ สว. ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นในวาระในความเห็นชอบได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เพื่อไทย และพรรคร่วม กราบขอบคุณสมาชิกทุกท่าน ที่แสดงความเห็นและข้อห่วงใย ซักถามในข้อสงสัย แม้ในสิ่งที่เราพิจารณากันอยู่ เป็นเรื่องการเห็นชอบบุคคล ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ก็ดี มาตรา 272 ก็ดี ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลในเรื่องของคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม แต่ก็เป็นความสวยงามของสภาแห่งนี้"
นายชลน่าน กล่าวว่า ท่านสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ในฐานะที่เป็นแทน ประชาชนชาวไทย ย่อมมีสิทธิทำหน้าที่แทนประชาชนในการที่จะสอบถาม ในการที่แสวงหาข้อเท็จจริง ที่ทุกท่านจะตัดสินใจเลือกบุคคลที่จะเป็นผู้นำของประเทศมาเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน
สำหรับข้อสงสัย หรือคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่ถูกเสนอชื่อนายกฯ ที่ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ในเรื่องของประเด็นซื่อสัตย์ สุจริต ปฎิบัติหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม เพราะเห็นว่ามันน่าจะเกี่ยวโยงกับพฤติการณ์ของการประกอบอาชีพในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นภาคเอกชนในบริษัทมหาชนที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ได้ยกกรณีตัวอย่างขึ้นมาหลายกรณี และที่สำคัญประเด็นที่ถกเถียงและถูกเผยแพร่ในสังคม
พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 การตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ทางฝ่ายกฎหมายของเพื่อไทย ทุกภาคส่วน ได้เข้ามาร่วมมือกันได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 160 อย่างถี่ถ้วน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ละเลยในเรื่องนี้ เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มากของพรรคเพื่อไทย ต่อพี่น้องประชาชน และต่อบ้านเมือง
ข้อกล่าวหาและข้อสงสัยหลาย ๆ เรื่อง เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมาย การหลีกเลี่ยงภาษี การจัดซื้อขายที่ดินที่มีการกล่าวอ้างว่า แต่งตั้งบุคคลตัวแทนมารองรับมีการดำเนินการในสิ่งที่ไม่ชอบ ที่กล่าวในสภาต่างๆ ในมุมของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ละเลย ทั้งก่อนหน้า และหลังมีการพูดคุยในสังคม
ทั้งนี้ ต้องขอบคุณที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผย พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ นายเศรษฐาได้ประโยชน์ พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ และที่สำคัญเรื่องนี้เข้าสู่สภา ยืนยันว่า ได้ตรวจสอบในข้อกฎหมายทุกอย่าง ล่วงเลยไปถึงของจริยธรรม ของความซื่อสัตย์ ยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีเรื่องใด ๆ ที่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผิดกฎหมาย เป็นเพียงข้อกล่าวหา และก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ถือว่า นานเศรษฐา เป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ และมีความซื่อสัตย์สุจริตโดยประจักษ์
นายชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเหตุผลที่ไม่ใช่คุณสมบัติต้องห้าม เป็นเรื่องของจุดยืนทางการเมือง เรื่องของพฤติการณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย เคารพในเสียงของประชาชนทุกเสียง ประเทศไทย ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะระบบรัฐสภา สส. ทุกคนต่างมาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชน ที่ผ่านมาแน่นอนว่ามีการแบ่งแยกแตกต่างอย่างสิ้นเชิงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มที่อ้างเป็นเสรีประชาธิปไตยก็มีแนวคิดอีกแนวหนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็มีแนวคิดอีกแนวหนึ่งเช่นเดียวกัน
นายชลน่าน กล่าวต่อว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ต่างมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างเจ็บปวด คนที่เจ็บปวดที่สุดคือประชาชนคนไทย เราขัดแย้งกัน สู้กันแล้วได้อะไรขึ้นมา นี่คือจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย เราเห็นความย่อยยับสูญเสียและโอกาสของประชาชน ที่สูญหายไป เพราะเพียงแต่มีความคิดต่างกัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่แยกกันเดิน เพราะไม่เสียใจกัน เราจะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดต่อไปหรือ
นายชลน่าน กล่าวต่อว่า เรายินดีและส่งเสริมอำนาจประชาชน เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลแข่ง ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้ากลไกทางการเมืองเป็นปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อไทยกับก้าวไกลจะไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราคิดผิด เพราะยิ่งเราจับมือกัน ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุด คือจับเอาดุลอำนาจที่มีอยู่ในประเทศนี้ มาประนีประนอมอำนาจ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด น่าจะดีสุดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เราต้องปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ ทุกคนพูดเหมือนกัน แต่วิธีการทำไม่เหมือนกัน เพื่อไทยอาสาเข้ามาสลายความขัดแย้ง จัดตั้งรัฐบาลในนามของทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลที่มาจากพี่น้องประชาชน
นาย ชลน่าน ยังกล่าวถึงความห่วงใยเรื่องนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต่อไปหากทุกพรรคการเมืองจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาลและแถลงต่อรัฐสภา ยังสามารถปรับแปลงแก้ไขได้ ขณะที่วิกฤตรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าผู้เขียนรัฐธรรมนูญต้องการปกป้องคุ้มครองสิ่งที่เห็นว่าสำคัญ แต่เมื่อถึงเวลาสิ่งหนึ่งย่อมถูกสลายออกไป เป็นดุลอำนาจที่ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นและสำคัญ ในเงื่อนไขที่จะไม่เกิดความขัดแย้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังต้องผ่านการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงปล่อยให้เนิ่นช้าไม่ได้ และต้องไปคุยในรายละเอียดว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ พร้อมชี้ว่า ความเห็นต่างเป็นสีสันสวยงามในระบอบประชาธิปไตย แต่จะแปลงความเห็นต่างเป็นความเห็นร่วมอย่างไร ขึ้นอยู่กับพวกเรา 750 คนในวันนี้ การเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นจุดเริ่มต้นในเรื่องดังกล่าว
เศรษฐา ทวีสิน /ภาพจาก www.thairath.co.th
สุดท้าย นายชลน่าน กล่าวขอขอบคุณท่านประธาน ผ่านไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ที่จะขานชื่อให้ความเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย