"...เมื่อ สว.ส่วนใหญ่ ก็ไม่รู้จัก และมีคำถามในใจทุกคน เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นมีความสำคัญ ประเทศจะเจริญต่อไปอย่างไรอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพราะหลังจากนี้ต้องไปสร้างทีมบริหารรัฐบาล แล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำเอกสารให้รับทราบว่าเขาเป็นใคร ตนพยายามติดตามข่าวจากสื่อก็เจอแต่ด้านลบตลอด เช่น การใช้วิธีเลี่ยงภาษีทำธุรกิจไม่ถูกต้อง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผิดจริยธรรม ถึงแม้มีเอกสารออกมา ก็ไม่รู้ว่าเอกสารที่ยื่นมาถูกต้องหรือไม่ ส่วนบริษัทแสนสิริ ยื่นเอกสารมาโต้ตอบ แต่ก็ไม่เคยออกมาชี้แจงให้ สว. หรือส่งให้ สว.ทราบเลย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ในระหว่างการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังสมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางเพื่อแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนแล้วเสร็จ
***************
นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวอภิปรายคนแรกถึงคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ว่า สว. ต้องเลือกนายเศรษฐา ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อมา ซึ่งตนพยายามติดตามข้อมูลของนายเศรษฐาและสอบถามเพื่อน สว.เกี่ยวกับนายเศรษฐา ซึ่งเพื่อนสว.ส่วนใหญ่ไม่ทราบ และก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปคลุกคลี จึงเกิดคำถามแรกว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เรายังไม่รู้จักว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี ทำธุรกิจดีหรือไม่ดี สามารถนำพาประเทศไปได้หรือไม่ เราไม่รู้จักแล้วจะเลือกอย่างไร
เมื่อ สว.ส่วนใหญ่ ก็ไม่รู้จัก และมีคำถามในใจทุกคน เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นมีความสำคัญ ประเทศจะเจริญต่อไปอย่างไรอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพราะหลังจากนี้ต้องไปสร้างทีมบริหารรัฐบาล แล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำเอกสารให้รับทราบว่าเขาเป็นใคร ตนพยายามติดตามข่าวจากสื่อก็เจอแต่ด้านลบตลอด เช่น การใช้วิธีเลี่ยงภาษีทำธุรกิจไม่ถูกต้อง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผิดจริยธรรม ถึงแม้มีเอกสารออกมา ก็ไม่รู้ว่าเอกสารที่ยื่นมาถูกต้องหรือไม่ ส่วนบริษัทแสนสิริ ยื่นเอกสารมาโต้ตอบ แต่ก็ไม่เคยออกมาชี้แจงให้ สว. หรือส่งให้ สว.ทราบเลย
นายวิวรรธน์ กล่าวอีกว่า เวลา สว. จะเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะถูกเลือก ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ต้องมีจริยธรรมเป็นเลิศ แต่ขณะนี้นายเศรษฐาถูกโจมตีตลอด ทำการค้าไม่ถูกต้อง เลี่ยงภาษี พยายามหาข้อมูลว่าเป็นจริงหรือไม่ หรือแค่ถูกกล่าวหา หรือเป็นคนดี แต่ตนและเพื่อนสว.ไม่ทราบจริงๆ แล้วจะไปเลือกได้อย่างไร จะเอาประเทศมาเสี่ยง เลือกคนที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรมาปกครองประเทศ เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน เอาเศรษฐกิจ เอาประเทศชาติ เอาความเจริญมาเป็นประกัน แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประกันหรือ ฟังแล้วมีความรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง
“การเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศชาติจะเจริญได้ต้องเลือกคนซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม ผมเชื่อว่า สว.ทุกคนในที่นี้ มีสิทธิ์เลือก มีจริยธรรมทุกคน ถ้ารู้ข้อเท็จจริงแบบนี้เขาพิจารณาได้ว่าจะเลือกหรือไม่ แล้วอย่าลืมว่าเวลาที่ให้คำปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” นายวิวรรธน์ กล่าว
ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว. อภิปรายถึงคุณสมบัตินายเศรษฐาว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนเองได้ลงมติไม่เห็นชอบให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากนโยบายกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หลังจากนั้นจึงมีความตั้งใจมาโดยตลอดว่า จำเป็นจะต้องโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย เพราะผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงรวมกันถึง 290 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แม้ตนจะไม่มีความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทยเลย ว่าจะมีอิสระในการบริหารประเทศ ดำเนินนโยบายของตนเองหรือไม่ แต่ไม่มีทางเลือกอื่น
ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย ก็เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว แต่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ เป็นวาระเร่งด่วน จึงทำให้เกิดความสงสัยในเจตนา หากประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการลงประชามติรัฐธรรมนูญจริง เหตุใดจึงเลือกตั้งให้พรรคเพื่อไทยชนะถึง 2 ครั้ง จึงเป็นวาทกรรมอ้างเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีกลไกที่นักการเมืองคดโกง ทุจริตไม่ต้องการ คือกลไกให้ สว. มีส่วนร่วมในการโหวตนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจดังกล่าวก็กำลังจะหมดไปอีกไม่นาน รวมถึงกลไกลองค์กรอิสระที่เข้มงวด ที่ลงโทษนักการเมืองอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังเป็นคดีที่ไม่มีอายุความสำหรับนักการเมืองคดโกง ที่หลบหนีคดีอาญาไปเสวยสุขที่ต่างประเทศ กลไกเหล่านี้หรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งให้สังคมมากขึ้น และอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ สร้างผลกระทบมากยิ่งกว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุใดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงราดน้ำมันลงกองไฟ เพิ่มความขัดแย้งให้ลุกโชนมากขึ้น แล้วรัฐบาลเพื่อไทยจะมีปัญญาความคิดแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชนได้อย่างไร
นอกจากนี้พล.อ.สมเจตน์ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยได้เสียสัตย์เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง ตนเข้าใจ และหากพรรคเพื่อไทยจะเสียสัตย์เพื่อความสงบสุขของประเทศอีกครั้ง โดยการประกาศในรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที แต่จะไปแก้ในเวลาที่เหมาะสม เมื่อสังคมเกิดความสงบสุข ไม่มีความแตกแยกกัน การเสียสัตย์ในครั้งจะได้รับการสรรเสริญว่าเสียสัตย์เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การเสียสัตย์เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองของท่าน