"... นักศึกษากว่า 3,000 คน ถูกจับกุม มี 18 คน ถูกขังคุกยาวนานกว่า 2 ปี และมีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จำต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเมืองเข้าไปอยู่ในเขตป่าเขา กลายเป็นสหายนักปฏิวัติที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทย …"
เพลงเพื่อชีวิตเหล่านี้ เกิดขึ้นบนเนื้อดินแห่งประชาธิปไตยช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 ผืนฟ้าแห่งเสรีภาพที่เปิดกว้าง ทำให้พลังของนักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา ที่ถูก กดทับมายาวนานระเบิดขึ้นแบบรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่
ผู้ใช้แรงงานที่ไม่เคยได้สัมผัสค่าจ้างขั้นต่ำ ก็เรียกร้องต่อสู้ ให้รัฐและนายจ้าง ประกันรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันเป็นเงินเพียง 12.50 บาท
ชาวนาชาวไร่ ที่ต้องเช่านาทำด้วยค่าเช่านาหฤโหด คือปลูกข้าวได้ผลผลิตเท่าไร ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวที่ผลิต 50 เปอร์เซ็นต์ จึงเรียกร้องต่อสู้และตามมาด้วยการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย
การกดขี่ข่มเหงของภาคราชการที่กระทำต่อชาวบ้าน เช่นกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าไปบุกเผาหมู่บ้านนาทราย ที่ อ. บึงกาฬ จ. หนองคาย ถูกนำมาเปิดโปงกลางท้องสนามหลวง เช่นเดียวกับที่พัทลุงและจังหวัดภาคใต้ มีกรณี 'ถีบลงเขาเผาลงถังแดง' ก็ถูกนักศึกษาเปิดโปง
ฐานทัพอเมริกา 8 แห่งที่โคราช อุดร ตาคลี นครพนม ฯลฯ ที่ตั้งขึ้นเป็นฐานให้สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเข่นฆ่าผู้คนในเวียดนาม และอินโดจีน อย่างไร้มนุษยธรรม ถูกนักศึกษาประชาชนเปิดโปงและเดินขบวนขับไล่ให้ออกไปจากประเทศไทย
ขณะเดียวกัน แนวคิดด้านสังคมนิยม ของ มาร์กซ เลนิน เหมาเจ๋อตง รวมตลอดถึงแบบอย่างการต่อสู้กู้ชาติของ โฮจิมินห์ เช กูวารา รวมถึงวรรณกรรมก้าวหน้าทั้งหลาย ก็แพร่หลายในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ ม. ธรรมศาสตร์ นั้น ถึงกับมีการจัด 'นิทรรศการจีนแดง' ติดต่อกันหลายวัน
ในที่นี้นักรบศิลปวัฒนธรรมทางดนตรี จึงเกิดขึ้นและสร้างผลงานเพลงไว้มากมายที่แพร่กระจายราวไฟลามทุ่ง
เมื่อ สุรชัย จันทิมาธร พบกับ นิสิต จิรโสภณ นักศึกษาหัวก้าวหน้าจาก ม. เชียงใหม่ นิสิตเล่าสู่กันฟังถึงวีรกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้สุรชัยนึกถึงเพลงเล่าเรื่อง Ballad ของ John Barley Corn และ Traffic มาเป็นพื้นแล้วเขียนเพลง 'จิตร ภูมิศักดิ์' ฝากไว้อย่างสวยงาม
ก็สุรชัยอีกนั่นแหละ ที่นำเอากาพย์ยานี 11 ชื่อ 'เปิบข้าว' ของจิตร ภูมิศักดิ์ มาใส่ทำนองลีลาพื้นบ้านแบบอิสาน จนเป็นเพลงติดปากผู้คน
ในขณะที่วง 'กรรมาชน' เป็นนักศึกษาในรั้ว ม. มหิดล มี จิ้น กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ กิติพงษ์ บุญประสิทธิ์ นิตยา บุญประสิทธิ์ พลศิลป์ ศิวีระมงคล ปรีดา จินดานนท์ สมบัติ ศรีสุขอัยกา นพพร ยศฐา พิชัย สุธาประดิษฐ์ อมร แสงมณี ล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่ได้รับ แรงบันดาลใจจาก 14 ตุลา 16 มาด้วยกันร่วมกันประกอบวง
กวีบทหนึ่งที่หนุ่มสาวยุคนั้น จำใส่ใจคือ บทกวีแปลจากต้นฉบับของ อาเวตีก อีสากยัน กวีประชาชนแห่งอาร์มาเนีย ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ แปลเป็นไทยว่า
เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน
กวีบทนี้เหมือนดาวแห่งศรัทธาให้หนุ่มสาวก้าวเดินไปบนหนทางเพื่อมวลชนอย่างองอาจ ใครที่อยู่ร่วมยุคสมัยย่อมระลึกได้ว่า นิสิตนักศึกษามีความมุ่งมั่นและจริงใจในทิศทางที่จะก้าวเดินไปกับชาวนา กรรมกร ผู้เสียเปรียบในสังคม แม้ว่าจะต้องเสียสละหรือเผชิญอุปสรรคหนักหน่วงเพียงใด ก็จะ
กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ เล่าว่า
“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของตัวผมเอง ตอนนั้นผมเรียนอยู่ปี 2 ม. มหิดล คณะเภสัชฯ พวกเราไปร่วมกันออกโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ตอนปิดเทอมปี 2517 ได้เห็นชีวิตชาวไร่ชาวนา บวกกับแรงบันดาลใจจากวง 'คาราวาน' ซึ่งเล่นเพลงในแนวเพื่อชีวิตอยู่ก่อนแล้วเป็นแนวโฟล์คซอง เป็นอาคูสติก พอเปิดเทอมเราก็ตั้งวงดนตรีของเราเองใช้เครื่องดนตรีที่มีอยู่แล้วของคณะวิทยาศาสตร์ ตอนแรกก็เล่นเพลง 'คนกับควาย' ของสมคิด สิงสง กับ หงา คาราวาน ต่อมาก็แต่งเพลงของเราเอง คือเพลง 'แสง รุ่งนิรันดรกุล' และเพลง 'กรรมาชน' เป็นเพลงที่สอง”
นับแต่นั้นมา กรรมาชน เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ติดลมบน งานไหนงานนั้นได้รับเชิญไปแสดงไม่หยุดหย่อนโดยเฉพาะในโรงงานทอผ้า โรงงานอุตสาหกรรม ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และในต่างจังหวัดนับครั้งไม่ถ้วน
เพลง สิบสี่ตุลา มาร์ชประชาชนเดิน กรรมาชน ปู่ยังไม่ตาย เพื่อมวลชน ฆาตกร ชาวนา-รำพึง ความตาย ฯลฯ มีการผลิตเทปออกมาเผยแพร่ถึง 2 ชุด ในเวลานั้น คือชุดกรรมาชน และ ชุดยืนหยัดสู้ต่อไป
อารมณ์ร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับคลื่นมหานักศึกษาประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้จิ้น-กุลศักดิ์ เรียบเรียงทั้ง เนื้อและทำนองเพลง 'สิบสี่ตุลา' ไว้ประดับโลกแห่งศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีเพื่อชีวิตอย่างสวยใส
เกิดปรากฏการณ์โต้กลับของชนชั้นปกครอง ซึ่งมีทั้ง กอ.รมน. มีกลุ่มจัดตั้งนวพล มีกลุ่มติดอาวุธกระทิงแดง ที่ออกมาราวีกับนักศึกษาประชาชน ที่เรียกว่า 'ขวาพิฆาตซ้าย' ก็สำแดงพลัง ประสานกับนักวิชาการและนักการเมืองปีกขวา
และแล้วไม่ทันถึงครบรอบสามปีหลัง 14 ตุลา 16 ก็เกิดเหตุการณ์สังหารโหด ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท้องสนามหลวง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นตราบาปของสังคมไทยอย่างไม่อาจลืมเลือน
นักศึกษากว่า 3,000 คน ถูกจับกุม มี 18 คน ถูกขังคุกยาวนานกว่า 2 ปี และมีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จำต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเมืองเข้าไปอยู่ในเขตป่าเขา กลายเป็นสหายนักปฏิวัติที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทย
ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา