"… สุดท้าย น่าเชื่อว่า รัฐบาลมิได้มีความตั้งใจ แต่คงขาดความระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี ปัญหาใหญ่จนเป็นข่าวครึกโครมเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2564 ปล่อยให้คาราคาซังมานานกว่า 2 ปี ทำให้ประกาศฉบับที่ 'เพิ่มทุกข์ ทำลายสุข' ของกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันแม่แห่งชาติที่ประชาชนชาวไทยเคารพเทิดทูน ก่อผลกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงขอวิงวอนให้ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งสติ ทบทวน ยกเลิกเพิกถอนระเบียบฉบับนี้โดยเร็วพลัน …"
บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่แรกก่อตั้งสืบมาจนปัจจุบัน คือ การ 'บำบัดทุกข์ บำรุงสุข' ของราษฎร แต่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 อันเป็นวันแม่แห่งชาติ น่าจะมีผลเป็นการ 'เพิ่มทุกข์ ทำลายสุข' ของราษฎร โดยน่าจะขัดต่อหลักการ เหตุผล และกฏหมายหลายประการ
ประการแรก ที่ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 48 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า 'บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพ และบุคคลยากไร้ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ' (มาตรานี้อยู่ในหมวด 'สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย')
แท้จริงแล้ว บทบัญญัติมาตรา 48 วรรคสอง ดังกล่าว มีสถานะเป็น “หลักประกันพื้นฐาน” ที่ทุกรัฐบาลต้องกระทำ โดยท่านผู้ชี้แจงก็ได้ชี้แจงแล้วว่า รัฐบาลสามารถมีนโยบายที่สูงกว่าหลักประกันพื้นฐานดังกล่าวได้ ดังตัวอย่างรูปธรรมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 52 บัญญัติว่า '…ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย…' แต่รัฐบาลก็ได้ตรา พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างดี ทั้งประเทศใช้เงินราวร้อยละ 4 ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเท่านั้น ขณะที่บางประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น ใช้จ่ายเพื่อการนี้กว่าร้อยละ 10 ของจีดีพี และสหรัฐใช้ถึงร้อยละ 18 แต่ยังมีประชากรนับสิบล้านไม่มีหลักประกันสุขภาพ
ถ้ารัฐบาลรักษาการณ์ปัจจุบัน ยอมรับคำชี้แจงนี้ และไม่ยกเลิกระเบียบฉบับนี้ เท่ากับยอมรับว่า ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอแม้แต่จะให้หลักประกันพื้นฐาน คือ เบี้ยยังชีพแค่เดือนละ 600-1,000 บาท ให้แก่ประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นปีละนับล้านในอนาคต
ประการที่สอง นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แก้ไขมาตรา 11(11) จากเดิมกำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับ 'การสงเคราะห์เบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม' เป็นให้มีสิทธิได้รับ 'การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม' ซึ่งเป็นการ 'เริ่มต้น' ของหลักการสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุทุกคน ให้ได้รับ 'เบี้ยยังชีพ' แทนหลักการเดิมที่มุ่ง 'สงเคราะห์' เฉพาะผู้สูงอายุที่ลำบากยากไร้เท่านั้น ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยเริ่มจ่ายเพียงเดือนละ 200 บาท และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นเดือนละ 500 บาท ก่อนจะขยายสิทธิให้ 'ทั่วถึงและเป็นธรรม' ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังกล่าวแล้ว
ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือการพิสูจน์รายได้ของประชากรในวงกว้างทั่วประเทศ ดังปรากฏว่า ประชากรที่ยากจนจำนวนเปอร์เซ็นต์สูงมาก ไม่ได้สิทธิ 'สถานะยากจน' ขณะที่จำนวนมากที่ไม่ยากจน แต่ได้สิทธิ์ ฉะนั้นจึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความ 'ทั่วถึงและเป็นธรรม' ในการสำรวจ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยตัดผู้ที่ได้รับบำนาญจากทางราชการออก เพราะคนเหล่านั้นย่อมอนุมานได้ว่า ประชากรเหล่านั้นมีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพแล้ว ไม่สมควรได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท ซึ่งจะเพิ่มความไม่เป็นธรรมอันขัดต่อบัญญัติในกฎหมายผู้สูงอายุที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังปรากฏว่า มีวุฒิสมาชิกท่านหนึ่ง เสนอให้ข้าราชการบำนาญได้รับเบี้ยยังชีพด้วย เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ก็ไม่ผ่านการเห็นชอบทั้ง 2 ครั้ง
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อกรมบัญชีกลางใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตรวจสอบพบว่า มีผู้ได้รับบำนาญจำนวนหนึ่งได้รับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อน จึงขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ใช้บังคับอยู่และมีการเรียกคืนจนเป็นข่าวครึกโครม และรัฐบาลเวลานั้น ก็ใช้วิธีระงับการเรียกคืน ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย จนเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่นี้ ซึ่งน่าจะเข้าข่าย 'ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง' แบบ 'ลิงแก้แห'
ประการที่สาม นอกจากความยุ่งยากในการประเมินรายได้ของประชากรทั่วประเทศอย่าง 'ถูกต้อง' และ 'เป็นธรรม' แล้ว ทางแก้ที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการมาอย่างถูกต้อง คือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้ โดยมาตรการต่างๆ เช่น (1) ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ (2) ส่งเสริมการออมตาม พ.ร.บ. การออมแห่งชาติ โดยมีการปรับมาตรการจูงใจหลายเรื่องในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หากระเบียบใหม่ของกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้จริง จะเกิดผลกระทบทางลบต่อมาตรการเหล่านี้ เพราะหากมีงานทำ และมีการออมก็จะทำให้ขาดคุณสมบัติตามระเบียบข้อ 6 (4) เพราะจะกลายเป็นผู้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ
ประการที่สี่ ผู้สูงอายุจำนวนมาก มีรายได้ไม่แน่นอน ผู้ที่มีอาชีพเกษตรกรรม มีความเสี่ยงสูงต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่นับวันจะยิ่งแปรปรวนสูง ศัตรูพืชและราคาผลผลิตตกต่ำ เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมหรือแห้งแล้ง รัฐบาลก็มักให้เกษตรกรเสียสละแก่คนในเมืองและภาคอุตสาหกรรม ผู้ที่อยู่ในเมืองก็มีความเสี่ยงสูงต่อการตกงาน หรือความล้มเหลวทางธุรกิจ เบี้ยยังชีพพื้นฐานจึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาต่อไปแบบถ้วนหน้า มิใช่กดจำนวนผู้มีสิทธิให้เหลือเพียงเฉพาะผู้ที่ 'ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ' เท่านั้น ไม่ครอบคลุมแม้แต่ 'ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้อุปการะ' ที่เคยครอบคลุม
ประการที่ห้า การกำหนดให้ประชาชนต้องแสดงตนเพื่อพิสูจน์ว่า เป็น 'ผู้มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ' ล่อแหลมต่อการกระทบต่อ 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์'
ประการที่หก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562 ในหมวด 'นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง' ข้อ 2 ดังนี้
'2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และพิจารณาขยายความครอบคลุมไปยังกลุ่มมารดาตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด และเด็กวัยเรียน ที่ครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ…'
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ขัดต่อนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน ที่จะ 'ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพของประชาชน' เพราะมิใช่การ 'ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน' แต่เป็นการ 'ลดสวัสดิการ' ให้จำกัดเฉพาะ 'ผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ' เท่านั้น
สุดท้าย น่าเชื่อว่า รัฐบาลมิได้มีความตั้งใจ แต่คงขาดความระมัดระวังตามวิสัยที่พึงมี ปัญหาใหญ่จนเป็นข่าวครึกโครมเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2564 ปล่อยให้คาราคาซังมานานกว่า 2 ปี ทำให้ประกาศฉบับที่ 'เพิ่มทุกข์ ทำลายสุข' ของกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันแม่แห่งชาติที่ประชาชนชาวไทยเคารพเทิดทูน ก่อผลกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงขอวิงวอนให้ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งสติ ทบทวน ยกเลิกเพิกถอนระเบียบฉบับนี้โดยเร็วพลัน
แหล่งที่มา...นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน