"...ในขณะที่ ความคาดหวังของสังคมได้เริ่มพัฒนาไปในทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ดังเห็นได้จากสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับความเก่ง ความงามที่หลากหลายตามแบบฉบับของแต่ละคน ดังนั้น ในกรณีของเคนที่คิดถึงความเป็นชายแท้ (masculinity) แต่ก็ยังต้องพึ่งพาบาร์บี้ ราวกับว่าตัวเองไม่มีค่าหากไม่มีบาร์บี้..."
Weekly Mail สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนถึงกระแส “Barbenheimer” จากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 2 เรื่องคือ บาร์บี้ (Barbie) และ ออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) ที่เข้าฉายพร้อมกัน และเลือกที่จะดูเรื่องออปเพนไฮเมอร์เพื่อนำมาขยายความต่อ อย่างไรก็ดี ผู้อ่านขาประจำได้เรียกร้องให้ผมไปดูเรื่องบาร์บี้ด้วย เพื่อนำเกร็ดมาเขียนใน Weekly mail เช่นเดียวกัน
ผมขบคิดอยู่นานพอสมควร เพราะนึกถึงภาพตุ๊กตาบาร์บี้ที่เด็กผู้หญิงนำมาเล่น และหนังน่าจะเป็นสไตล์หวานแหววน่ารัก ๆ พร้อมเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยรอยยิ้มแบบมุกมิก แต่เมื่อได้อ่านคำวิจารณ์ เซียนหนังต่างกล่าวว่าเป็นหนังสะท้อนถึงสภาพสังคมปัจจุบัน สมกับเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในเวลานี้ที่ทำรายได้เกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ภายหลังที่เพิ่งเข้าโรงภาพยนตร์ไม่ถึง 3 สัปดาห์ จนทำให้ผมใจอ่อน ตัดสินใจเข้าโรงภาพยนตร์อีกครั้งในรอบหนึ่งสัปดาห์
ตุ๊กตาบาร์บี้รุ่นแรกเป็นผู้หญิงในชุดว่ายน้ำลายทางขาวดำแบบม้าลาย ผมสีบลอนด์ดัดลอนและมีผมหน้าม้า เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของรูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ชาวอเมริกันในปี พ.ศ. 2502 เมื่อแฮนด์เลอร์มีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรปและไปสะดุดตากับตุ๊กตา "ไบล์ด ลิลลี่" ของเยอรมนี ซึ่งวางขายอยู่ในร้านขายของของสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ซื้อกลับบ้านมา 3 ตัว ตัวหนึ่งให้ลูกสาว ส่วนที่เหลือนำมาเป็นต้นแบบในการผลิตตุ๊กตาที่ตั้งชื่อว่า “บาร์บี้” ตามชื่อลูกสาวของเธอ และบริษัทแมทเทลได้รับลิขสิทธิ์ในเวลาต่อมา เมื่อวางตลาดในปีแรกมียอดขายสูงกว่า 350,000 ตัว และปัจจุบันประมาณการว่ามีบาร์บี้กว่า 1,000 ล้านตัวที่วางขายใน 150 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นตุ๊กตาที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของเราทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้
หนังเปิดฉากด้วยเด็กผู้หญิงที่กำลังเพลิดเพลินกับการเล่นตุ๊กตาธรรมดา ๆ แต่วันหนึ่งมีตุ๊กตาบาร์บี้เข้ามาทดแทน ลอกเลียนฉากแรกของหนังไซไฟดิสโทเปียในตำนานอย่าง “2001: A Space Odyssey” (1968) ซึ่งฉากนี้มีชื่อเรียกว่า “The Dawn of Man” จุดเริ่มต้นของมนุษยชาติ ที่เหล่าวานรในยุคโบราณก่อนการกำเนิดของมนุษย์ได้ค้นพบแท่งหินสีดำประหลาดตั้งอยู่กลางทะเลทราย ลิงเหล่านั้นจึงได้เริ่มต้นวิวัฒนาการตัวมันเองจนเป็นมนุษยชาตินับตั้งแต่นั้นมา โดยในหนังบาร์บี้ ลิงถูกแทนที่ด้วยเด็กผู้หญิงที่หันมาเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ก่อนจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่
บาร์บี้จึงเป็นภาพยนตร์ที่คอหนังเรียกว่า “Easter Egg” เชื่อมโยงไปยังหนังในอดีตเพื่อผูกเรื่องราวมาสะท้อนประเด็นทางสังคม โดยบาร์บี้ได้เชื่อมโยงกับหนังถึง 22 เรื่อง ซึ่งผมต้องสารภาพว่ามีอยู่เพียงไม่กี่ฉากที่ผมสามารถเชื่อมโยงได้ เช่นในช่วงตอนที่เคน ชายหนุ่มที่หลงรักบาร์บี้ สวมใส่ชุดเสื้อคลุมขนสัตว์สีขาวเพื่อแสดงถึงความบึกบึนของผู้ชายและความต้องการปกครองแบบปิตาธิปไตย ด้วยการสวมบทบาทนักมวย ร็อกกี้ บัลบัว ที่แสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ในหนัง“Rocky” ที่ใส่เสื้อคลุมขนสัตว์สีขาวในแบบเดียวกัน
ในขณะที่ ความคาดหวังของสังคมได้เริ่มพัฒนาไปในทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ดังเห็นได้จากสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับความเก่ง ความงามที่หลากหลายตามแบบฉบับของแต่ละคน ดังนั้น ในกรณีของเคนที่คิดถึงความเป็นชายแท้ (masculinity) แต่ก็ยังต้องพึ่งพาบาร์บี้ ราวกับว่าตัวเองไม่มีค่าหากไม่มีบาร์บี้ ดังนั้น การทำให้ตนเองมีความมั่นใจในตัวเองด้วยการ empower ตัวเอง จึงเป็นหัวใจสำคัญในการอยู่อย่างที่เป็นในสังคมที่มีความหลากหลาย
ในฉากสุดท้าย เมื่อบาร์บี้ที่ใส่สูท แต่งตัวเรียบร้อยเดินเข้าไปตึกสำนักงาน ผู้ชมต่างนึกว่าจะมาสมัครงาน แต่กลับตาลปัตรจากคำถามที่บาร์บี้เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ว่า “ฉันมีนัดหมอมาตรวจภายในค่ะ” เป็นคำพูดสุดท้าย ก่อนหนังจบ ทิ้งทวนให้เราได้คิดทบทวนว่าจะปรับตัวอยู่กับโลกใบนี้ต่อไปอย่างไร
รณดล นุ่มนนท์
7 สิงหาคม 2566
แหล่งที่มา :
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89
ประภาส อยู่เย็น, 22 Easter Egg ภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ตุ๊กตาบาร์บี้ (แบบจุก ๆ ) จากภาพยนตร์ “Barbie”, Beartai, 30 กรกฎาคม 2566 https://www.beartai.com/lifestyle/1285332
ปัจจุบันสัดส่วนพนักงานหญิง ชาย ที่แบงก์ชาติคือ 55:45 ในขณะที่ระดับผู้บริหารคิดเป็น 60:40
Zula, 10 Life Lessons From The Barbie Movie That Remind Us Although Life Isn’t Perfect, We Are “Kenough”, July 27, 2023 https://zula.sg/barbie-movie-life-lessons/
ประภาส อยู่เย็น, [รีวิว] Barbie: ปรัชญาบันเทิงสีชมพู อิน เดอะ บาร์บี้เวิลด์, Beartai, 21 กรกฎาคม 2566 https://www.beartai.com/lifestyle/1281688
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณน้องกมลพร โรจนรัตนางกูร ที่มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้