"... 14 ตุลาคม 2516 เป็นปรากฏการณ์ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของสังคมไทยในทุกมิติ งานศิลปวัฒนธรรมด้านบทเพลงก็เช่นกัน ไม่มียุคไหนที่จะเปิดบรรยากาศ ได้อย่างกว้างขวางมากมายเช่นนั้นมาก่อน …"
14 ตุลาคม 2516 เป็นปรากฏการณ์ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของสังคมไทยในทุกมิติ งานศิลปวัฒนธรรมด้านบทเพลงก็เช่นกัน ไม่มียุคไหนที่จะเปิดบรรยากาศ ได้อย่างกว้างขวางมากมายเช่นนั้นมาก่อน
นักดนตรีและวงดนตรีเพลงเพื่อชีวิตเหมือนดังดอกไม้บานสะพรั่ง เต็มท้องทุ่งแผ่นดินไทย ในขณะที่วงคาราวาน มาจากการรวมตัวของศิลปินสมัครเล่น 4 คน มีสุรชัย จันทิมาธร, วีระศักดิ์ สุนทรศรี, มงคล อุทก และทองกราน ทานา ซึ่งล้วนแต่เป็นคนหนุ่มจากแดนอิสาน
แต่วงดนตรีกรรมาชน เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสมาชิกวงเป็นนักศึกษามหิดล ความจริงแล้ว วงดนตรีเจ้าพระยา เป็นวงดนตรีไทยที่เล่นเพลงแนวนี้ เกิดขึ้นก่อน โดยมีฐานอยู่ที่ชมรมดนตรีไทย ม. ธรรมศาสตร์ มีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุจิตต์ วงษ์เทศ, รังสิต จงฌาณสิทโธ, อานันท์ หาญพานิชย์พันธ์, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, ร่วมประกอบวง
เราอาจพูดได้ว่า เพลงเพื่อชีวิตของไทยมีที่มาจากธาราหลายสาย
1.สายแรก สืบสานมาจากเพลงชีวิต ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น แสงนภา บุญราศี แต่งเพลงคนลากขยะ เพลงคนปาดตาล,ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย เพลงค่าน้ำนม เพลงน้องนางบ้านนา เพลงตาสีกำสรวล,สุเทพ โชคสกุล แต่งเพลงมนต์การเมือง เพลงแม่พิมพ์ของชาติ
นักร้องเด่นยุคนั้น คือคำรณ สัมบุณณานนท์ ร้องเพลงมนต์การเมือง เพลงตาสีกำสรวล, สมยศ ทัศนพันธ์ ร้องเพลงน้องนางบ้านนา, ชาญ เย็นแข ร้องเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย
2.สายที่สอง นำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน จะเรียกว่านำเอาเพลงไทยเดิมมาเป็นฐานในการแต่งเพลงก็ได้ เพลงหนุ่มสาวเสรี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งวงเจ้าพระยา ใช้ทำนองเพลงลาวเฉียง และ ใช้เพลง ตับพระลอ มาเกริ่นนำในตอนต้นเพลง
เพลงการะเกด – ไล่ฐานทัพอเมริกา ที่อานันท์ หาญพานิชย์พันธ์ แต่งไว้ก็มาจากทำนองเพลงการะเกด ยุคกรุงศรีอยุธยา ที่ฝรั่งแขกหลายชาติเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาในตอนนั้น
แม้บทกวี 'ดอกไม้จะบาน' ซึ่งต่อมาเป็นเพลงนิยมร้องกันนั้น จิระนันท์ พิตรปรีชา ก็นำเอาท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านทางใต้ คือเพลงไก่เถื่อนมาเป็นลีลาพื้นฐาน
เพลงเดือนเพ็ญ (คิดถึงบ้าน) ของ อัศนี พลจันทร์ ได้ทำนองมาจากเพลงพม่าเห่สองชั้น
3.สายที่สาม จากคุกลาดยาว เป็นประวัติศาสตร์ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ระหว่างที่ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับขังฟรี ข้อหาคอมมิวนิสต์ ในคุกลาดยาวนานกว่า 6 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้เวลาที่ถูกจองจำด้วย การปลูกพืชผักในคุก เขียนบทกวี แปลงานเขียนต่างประเทศ ตั้งวงดนตรีไทย และแต่งเพลงมาร์ชลาดยาว เพลงมาร์ชชาวนาไทย เพลงฟ้าใหม่ เพลงความหวังยังไม่สิ้น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงศักดิ์ศรีของแรงงาน เพลงเสียงเพรียกจากมาตุภูมิ เพลงรำวงวันเมย์เดย์ ฯลฯ
จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้จะเข้เครื่องดนตรีไทยที่ถนัดเป็นเครื่องมือในการสร้างทำนองเพลง ไม่ได้แต่งแต่เนื้อและทำนองเท่านั้น ยังเขียนโน้ตประกอบทุกเพลงด้วยลายมือตนเอง ทำให้ง่ายต่อวง กรรมาชนและคาราวาน นำไปเรียบเรียงเสียงประสาน เผยแพร่ได้โดยง่าย
4.สายที่สี่ นำต่างประเทศมารับใช้ในประเทศ เพลงนกสีเหลือง นั้น วินัย อุกฤษณ์ ใช้ทำนองเพลง Yellow Bird เป็นพื้นเพลงคนกับควาย นั้น สมคิด สิงสง ผู้แต่งได้แรงบันดาลใจจากท่วงทำนองเพลง Master of War ของ Bob Dylan ซึ่งบรรยายถึงความเลวร้ายของสงคราม
ส่วนเพลงสันติภาพ นั้น หงา คาราวาน ได้แรงบันดาลใจจากเพลงต่อต้านสงคราม ชื่อ Where have on the Flowers Gone ? ของ Pete Seager ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก
เพลง 'โคมฉาย' ของวงโคมฉาย เป็นเพลงที่คมกฤช เสริฐนวลแสง แต่งขึ้นโดยใช้ทำนองเพลงเวียดนาม ที่ชื่อว่า ดว่าน ย้าย ฟ็อง กวน เป็นเพลงปลุกใจสู้รบของทหารฝ่ายปฏิวัติ
เพลง 'เพื่อมวลชน' มาจากลีลากวีและเพลงของเวียดนาม ชื่อ 'ตึเหวี่ยน'
แม้แต่เพลง 'ดอกไม้ให้คุณ' ของ หงา คาราวาน ก็ได้ทำนองมาจากเพลง HANA ของนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น
เห็นได้ว่ากว่าคีตกวีจะรังสรรค์เพลงแต่ละเพลงขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่จะเนรมิตขึ้นมาได้โดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งอื่นใด หากแต่เป็นการประกอบส่วนของอดีต ของต่างประเทศ และของบริบทที่เกี่ยวข้องทำให้เพลงนั้นๆ มีความอุดมสมบูรณ์ไปตามสภาพของมัน
วงดนตรีกรรมาชน นั้นเกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นกำเนิดวงที่ตีคู่กันมากับวงคาราวานอย่างมีพลังทางประวัติศาสตร์
เพลงเพื่อมวลชน กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น) / นพพร ยศถา แต่งเนื้อ กุลศักดิ์ แต่งทำนอง
กรรมาชน เปิดตัวต่อสาธารณะนอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อได้ขึ้นเวทีหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ในวันครบรอบหนึ่งปี 14 ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2517
ตี้ – กิตติพงษ์ บุญประสิทธิ์ หนึ่งในนักดนตรีกรรมาชน เล่าว่า
“วันนั้นขณะที่เล่นอยู่ เครื่องแอมพ์ตัวหนึ่งเกิดระเบิดขึ้น การแสดงต้องหยุดชะงักลงทันที อารมณ์ของผู้ชมที่อยากให้วงเล่นต่อไป ทำให้ผู้ชมคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า ‘ช่วยกันบริจาคเงินซื้อเครื่องแอมพ์ใหม่ให้กรรมาชน’ แล้วมีคนเปิดหมวกเดินรับเงินกันเดี๋ยวนั้น ชั่วเวลาไม่ถึง 10 นาที เรามีเงินพอ ปู่ - ปรีดา และ หนู - พิทักษ์ นั่งแท็กซี่บึ่งไปบ้านหม้อ ขนแอมพ์ตัวใหม่มาติดตั้งแล้วแสดงต่อ เป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ”
ตั้งแต่วันนั้นมา กรรมาชน เป็นวงดนตรีที่ติดลมบน งานไหนงานนั้น เป็นวงที่การชุมนุมทุกครั้งเรียกร้องให้ไปเล่น
อ๊อด - พิชัย สุธาประดิษฐ์ โฆษกและนักดนตรีของวง เล่าว่า
“เพลงนี้ จิ้นแต่งทำนองก่อน เป็นสไตล์ของจิ้นเลย จะแต่งทำนองก่อนแต่งเนื้อ แล้วค่อยมาแต่งเนื้อทีหลังโดยมี นพ (นพพร ยศถา) ผู้มีฝีมือในทางวรรณศิลป์ ช่วยกันรังสรรค์เนื้อร้อง หลังจากกรรมาชนเป็นที่รู้จัก ในปี 17 – 18 ก็ถูกเชิญไปเล่นบ่อยมาก ไปเล่นร่วมต่อสู้กับกรรมกรที่โรงงานอ้อมน้อย บางคืนก็นอนในที่ชุมนุม รุ่งเช้าก็ไปเรียนหนังสือ ตอนเย็นไปเล่นต่อ ไปเล่นในการต่อสู้ของชาวนาภาคเหนือ ภาคใต้ไปมาหมด วันหนึ่งไปเล่นที่นครพนม ก่อนขึ้นเวทีเล่น ได้พบกับพี่น้องเชื้อสายเวียดนาม มีการเอ่ยถึงบทกวีของเวียดนาม มีเนื้อหาทำนองว่า ‘หากเกิดเป็นนก จะขอเป็นพิราบขาว เพื่อบินสู่เสรีภาพ หากเกิดเป็นเมฆ ก็จะให้ฝนเพื่อให้น้ำต่อทุ่งนา’ อะไรทำนองนี้”
กรรมาชน เล่นเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงของคาราวานและเพลงที่แต่งเอง เช่น เปิบข้าว เพื่อมวลชน คนกับควาย กูจะปฏิวัติ แสงดาวแห่งศรัทธา ชาวนารำพึง สู้ไม่ถอย เจ้าพระยาฮาเฮ มาร์ชประชาชนเดิน
ในขณะที่ยุคนั้น วงคาราวาน เล่นเครื่อง Acoustic แบบธรรมชาติ มีกีตาร์ ไวโอลิน พิณ หวูด ปรากฏว่าวงกรรมาชนใช้เครื่องไฟฟ้าทั้งหมด มีกีตาร์ เบส คีย์บอร์ด และเล่นในลีลาเร่าร้อนแนวฮาร์ทร็อค ทำให้มีบรรยากาศฮึกเหิมด้วยพลังสู้รบที่เชิดชู กรรมกร ชาวนา ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรม เป็นพลังสำคัญในแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม
คนกับควาย
คำร้อง สมคิด สิงสง
นักร้อง สุรชัย จันทิมาธร
ทำนอง Master of War
หงา คาราวาน เล่าว่า “สมัยเป็นหนุ่ม ผมเจอสมคิดครั้งแรก ในวงสนทนาสุราอาหาร แวดวงนักคิด นักเขียน คนทำหนังสือ ตอนนั้นสมคิดเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เป็นคนธรรมศาสตร์ที่บ้านนอกมากๆ แล้วยังมีบ้านนอกยิ่งกว่าอีกคน คือ ประเสริฐ จันดำ มาจากบุรีรัมย์ ก็ถูกคอกัน ตะลอนไปด้วยกัน ไปนอนสำนักงานทนายความ (ธรรมรังสี บางขุนพรหม) ไปที่นั่นโน่นนี่ ผมเล่นกีตาร์เพลง Master of War ของ Bob Dylan สมคิดสีไวโอลิน และชอบเพลงนี้มาก ตอนนั้นอายุใกล้เบญจเพส ยังไม่มีคาราวานตอนนั้น
สมคิดชอบเพลงนี้ก็ถามว่า "ขอทำเป็นเพลงไทยได้ไหม" ผมก็ปิ๊ง บอกว่า "เอาซิ เขียนโลด" ก็เลยกลายเป็นเพลงคนกับควาย แล้วออกเล่นครั้งแรกในงานแต่งงานของ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ผู้กำกับหนังและละครชื่อดังในยุคต่อมา แต่ตอนนั้นยังเป็นคนทำหนังสือ เขาแต่งงานกับคุณแดง จากธรรมศาสตร์ ที่โรงแรมมณเฑียร เราก็ไปงานกัน มีวิสา คัญทัพ เจ้าของบทกวี ‘สีทองผ่องอำไพ’ ที่ทุกคนรู้จัก มีประเสริฐ จันดำ, สมคิด สิงสง ก็มายืนข้างผม ผมก็ร้องเพลงนี้ เล่นกีตาร์ตัวเดียวของผมนี่แหละ เพลงคนกับควาย เป็นงานแต่งงานที่ประหลาดมาก เพราะมีเพลงเพื่อชีวิตเกิดขึ้นตรงนั้น วีระประวัติกับแม่แดงที่แต่งงานกันวันนั้นเองที่มีลูก ชื่อ เคน ธีรเดช พระเอกรุ่นใหญ่ในปัจจุบันนี้ นี่เป็นเรื่องกำเนิดคนกับควายที่ไม่ค่อยมีคนรับรู้”
ในขณะที่คาราวาน มีเพลง 'คนกับควาย' กรรมาชน มีเพลง 'เพื่อมวลชน' ที่ต่างก็เป็นเพลงดาราของแต่ละวง เป็นเพลงที่จะขาดเสียมิได้ในการเปิดเวทีทุกครั้งไป
คนกับควาย สะท้อนชีวิตลำบากยากเข็ญของชาวนา แต่เพื่อมวลชน เรียกร้องคนหนุ่มสาวให้อุทิศตัวตน เพื่อเอื้ออาทรต่อมวลชนที่ทุกข์ทน
ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา