“…การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายต่อระบบผลิตอาหารและห่วงโซ่อาหาร สิ่งมีชีวิตอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% ภายในปี 2593 กระทั่งประชากรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง…”
‘อาหาร’ เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การขาดแคลนอาหารนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอาจรุนแรงถึงชีวิต ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีประชากรโลกจำนวนมากที่ต้องเผชิญต่อความอดอยากซ้ำแล้วซ้ำเล่า และความขาดแคลนทางอาหารนั้นจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แล้วเมื่อไหร่กัน ที่ปัญหาความขาดแคลนด้านอาหารนี้จะถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป
ปัจจุบัน ‘ความมั่นคงด้านอาหาร’ กลายเป็นปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ และสร้างมาตรการในการรับมือกับความท้าทายนี้ เพื่อความอยู่รอดของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตอาหารลดลง และส่งผลกระทบต่อราคาอาหารให้สูงขึ้น จนกระทั่งประชากรที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้
‘ดัชนีความมั่นคงทางอาหาร’ global food security index ของ 113 ประเทศทั่วโลก พบว่า ปีพ.ศ.2565 ประเทศไทยได้คะแนนรวม 60.1คะแนน อันดับรวมอยู่ที่ 64 ของโลก ซึ่งปรับลดลงจากปี พ.ศ.2564 ที่เคยอยู่ลำดับที่ 51 และส่งผลให้อันดับความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนในเรื่อง ‘คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร’ ต่ำสุด ซึ่งได้รับเพียง 45.3 คะแนนเท่านั้น
‘ความมั่นคงทางอาหาร Food Security’ สำหรับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) หมายถึง สภาวะที่คนทุกคนและทุกขณะเวลามีความสามารถทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจที่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจด้านอาหารเพื่อให้เกิดชีวิตที่มีพลังและมีสุขภาพ โดยได้แบ่งความหมายด้านความมั่นคงอาหารออกเป็น 4 มิติ ดังนี้
-
การมีอาหารเพียงพอ Food Availability : อาหารมีคุณภาพที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ ต่อความต้องการ ซึ่งอาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศ หรือการนำเข้า
-
การเข้าถึงอาหาร Food Access : ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ
-
การใช้ประโยชน์จากอาหาร Food Utilization : การบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคน เน้นการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี อาหารในแง่นี้รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะอนามัยด้วย
-
การมีเสถียรภาพด้านอาหาร Food Stability : ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ คือทุกคนเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤติใด ๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ความไม่มั่นคงทางอาหาร สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบนิเวศน์ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก เนื่องจากการเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรรายสำคัญของโลก การเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาจทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรจากปริมาณความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และพื้นที่ใช้สอยสำหรับการเกษตรลดลง
สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนคือ การสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Climate Change หรือภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง และมีผลกระทบมาสู่อุตสาหกรรมอาหาร
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ความมั่นคงทางอาหารโลกจะเป็นอย่างไร?
ปีพ.ศ. 2565 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจนำไปสู่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วและรุนแรงมากขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และน้ำท่วม ซึ่งหากระบบนิเวศน์และมนุษย์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารตามมา
หากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเกิน 1.5°C หรือมากกว่านี้ จะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารที่รุนแรงยิ่งขึ้น ประชากรจะพบกับความลำบากในการผลิตอาหารและการเข้าถึงแหล่งอาหาร พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและสามารถปรับตัวได้น้อยสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น
“เมื่อภาวะโลกร้อนยังคงเพิ่มขึ้นระดับอุณหภูมิ 2°C หรือมากกว่านี้ ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะโภชนาการไม่เพียงพอและเกิดการขาดสารอาหารระดับจุลภาคตามมา ซึ่งอาจกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา เอเชียใต้ อเมริกากลางและใต้ รวมถึงหมู่เกาะน้อยใหญ่ ภาวะโลกร้อนจะทำให้สุขภาพของดินและระบบนิเวศอ่อนแอลงเรื่อยๆ เช่น การผสมเกสรโดยผึ้ง การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลซึ่งเป็นการทำลายผลผลิตอาหารในหลายภูมิภาคทั้งบนบกและในมหาสมุทร” คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุ
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายต่อระบบผลิตอาหารและห่วงโซ่อาหาร ทั้งด้านพืชผล ปศุสัตว์ และประมง สิ่งมีชีวิตอาจไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศได้ หรือระบบนิเวศน์ถูกทำลายหลังจากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น การลดลงของแมลงผสมเกสรที่เป็นห่วงโซ่ที่2 ของการผลิต นำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูกและความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร
เมื่อห่วงโซ่แรกและห่วงโซ่ที่สองของวัฏจักรอาหารลดน้อยลง แล้วห่วงโซ่ที่เหลือจะเป็นอย่างไรต่อไป ?
ความแปรปรวนด้านความสมดุลของระบบนิเวศน์จะส่งผลให้ราคาอาหารผันผวนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% (เฉลี่ย) ภายในปี 2593 กระทั่งประชากรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้โดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง
และแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความอุดมสมบูรณ์ด้านการผลิตอาหาร มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม แต่ยังพบกับความท้าทายในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และยังขาดความรู้ทางโภชนาการและมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณภาพ และการสร้างขยะอาหาร แต่ปัญหาเหล่านี้ยังเป็นความท้าทายของประเทศไทย
แนวทางการรับมือด้านความมั่นคงทางอาหาร
สำหรับแนวทางการรับมือด้านความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงของวิกฤติสภาพอากาศนั้นคงต้องเริ่มจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกินอัตราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าพวกเราอาจจะคุ้นชินและรู้สึกว่า ‘การรณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ’ นั้นเป็นการแก้ไขปัญหาเบสิคที่เคยได้ยินมาเนิ่นนาน แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขได้เสียที
การปรับตัวเพื่อรับมือกับการขาดแคลนอาหารในอนาคตเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยช่วยกันวางนโยบายให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งอาหารได้ และการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านต่างๆ เช่น ด้านคมนาคม อุตสาหกรรม พลังงาน เป็นต้น
- ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการวางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน และการขนส่ง รวมถึงการดูแลกลุ่มที่เปราะบางในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี
- ภาคเอกชนต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
- ภาคประชาสังคมคอยตรวจตราดูการทำงานของภาครัฐ รวมถึงการวางนโยบายเกี่ยวกับการลดโลกร้อนและความมั่นคงด้านอาหาร
- ประชาชนเองก็ควรตระหนักรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร เช่น การลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือน้อยที่สุด
“ความมั่นคงด้านอาหารหลังจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศอาจมีบริบทที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การรับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหารนี้ต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อวางกลยุทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนสามารถปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ทั้งนี้ควรมีการลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศ การแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดวิกฤติภัยธรรมชาติ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี เพื่อการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างความคล่องตัวในการรับมือกับภัยธรรมชาติอาจเป็นวิธีที่ดีในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหารหลังจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ”
อ้างอิงจาก: