“…สำหรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายทั้งระดับสากลและระดับประเทศ การต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการลดผลกระทบตามมาเป็นเรื่องที่เร่งด่วนในยุคปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องมีการร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อหาทางปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อส่งเสริมสุขภาพของโลกและมนุษย์ในอนาคตเพื่อความยั่งยืน ตามเป้าหมายของ SDGs 2030…”
ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม สภาพภูมิอากาศของโลกก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ เข้าสู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ ซึ่งถือเป็นวิกฤติภัยขั้นสุด และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในภายภาคหน้านั้นจะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ?
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Climate Change ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เผาไหม้ของเชื้อเพลิง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินอัตรา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิโลกทั้งบนพื้นผิวและในชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์และมนุษย์
สำหรับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้นได้ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา หากมองในมุมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลกระทบจากความปรวนแปรของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกาหลี ญี่ปุ่น สเปน บราซิล สหรัฐอเมริกา เด็กถูกพัดหายไปเนื่องจากมรสุมฝน ไฟไหม้ที่แคนาดา ครอบครัววิ่งหนีจากเปลวเพลิงจากไฟไหม้ คนงานทรุดตัวลงท่ามกลางความร้อนที่แผดเผา การเสียชีวิตของสัตว์จำนวนมากเช่น การเกยตื้นของเพนกวินที่อุรุกวัย ความเสียหายเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น
นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติสุนทรพจน์ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์กถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ฉับพลันว่า ภาวะโลกร้อนนั้นได้สิ้นสุดแล้ว และกำลังตามมาด้วยยุคของภาวะโลกเดือด ผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นรุนแรงถึงขนาดที่แม้แต่การหายใจเข้าปอดยังรู้สึกไม่ปลอดภัย อุณหภูมิความร้อนของอากาศนั้นสูงจนไม่สามารถทนได้ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นยากเกินกว่าที่จะเพิกเฉยได้
นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ มนุษย์ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนสุดขีด เดือนกรกฎาคมนี้เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดที่เคยถูกบันทึกไว้ และอุณหภูมิทะเลสูงสุดกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องการเร่งมือให้ผู้นำมีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด
ความแตกต่างระหว่าง ‘ภาวะโลกเดือด’ และ ‘ภาวะโลกร้อน’
คำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ นั้นเราคงได้ยินกันมานานหลายทศวรรษ โดยขณะนี้ ‘ภาวะโลกร้อน’ กำลังจะหมดไป และตามมาด้วย ‘ภาวะโลกเดือด’ ซึ่งทั้ง 2 คำนี้เกี่ยวกับการอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย
ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หมายถึง สภาวะที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลของกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในโลก ‘ทีละเล็กทีละน้อย’
ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) หมายถึง สภาวะที่สภาพภูมิอากาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ‘อย่างสุดขั้ว รวดเร็ว’ และมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน่าหวาดกลัว ซึ่งอาจจะเป็นสัญลักษณ์ในการเสริมความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันโดยกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น
ตัวอย่างของเหตุการณ์ภาวะโลกเดือดในปัจจุบันมีมากมาย บางปรากฎการณ์เป็นสิ่งที่เหนือการคาดเดา ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่บัดนี้นั้น ปรากฎการร์สุดขั้วเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมากมาย จากการปรวนแปรของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น
ผลกระทบของ ‘ภาวะโลกเดือด’
‘ภาวะโลกเดือด’ อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น โดยปัจจุบันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลันนั้นมีมากมาย เช่น
-
อุณหภูมิโลกสูงขึ้น : สภาวะโลกเดือดอาจนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดความร้อนรุนแรง และอากาศร้อนที่หนักขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกยังทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลก ซึ่งส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอีกด้วย
-
วิกฤติภัยธรรมชาติ : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น เช่น พายุ แผ่นดินไหว ไฟป่า และน้ำท่วมที่รุนแรง ปัจจุบันนี้ เราล้วนแต่เห็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เว้นแต่ละวัน
-
ปัญหาด้านสุขภาพ : ความร้อนนั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ อากาศที่ร้อนทำให้เกิดโรคเพลียแดดและโรคลมแดดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถทนความร้อนได้ นอกจากนี้ความร้อนยังทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดภาวะหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute cerebrovascular accidents) และอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย ดังนั้นจึง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง กลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กซึ่งจะเผชิญความเสี่ยงมากกว่า
-
การสูญเสียระบบนิเวศน์ : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ชนิดต่างๆ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งทำให้สัตว์ไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และกลายเป็นความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ตามมา
แนวทางการรับมือกับ ‘วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกเดือด’
แนวทางการรับมือการเปลี่ยนแปลงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางแผนการข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว สำหรับการลดความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ดังนี้ :
-
การเพิ่มป่าไม้และพื้นที่สีเขียวเพื่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้
-
การส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
-
การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
-
ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และสำหรับการรับมือกับ ‘ภาวะโลกเดือด’ ทั่วโลกนั้น ผู้นำต้องเป็นผู้ริเริ่มในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ไม่ต้องรีรอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ G20 ที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบการปล่อยมลพิษ 80 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก เพราะเหลือเวลาไม่มากแล้วที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส ได้กล่าวย้ำเตือนถึง การสนับสนุน การให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในขณะที่ภาครัฐได้หยุดการขยายตัวของน้ำมันและก๊าซ การจัดหาเงินทุนและการออกใบอนุญาตสำหรับถ่านหินใหม่ น้ำมัน และก๊าซแล้ว ดังนั้นสถาบันการเงินก็ต้องยุติการให้กู้ยืมเงินสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล การรับประกันภัย การลงทุน และต้องสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน รวมถึงบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องทำแผนภูมิการก้าวไปสู่พลังงานสะอาด
และในด้านของการปรับตัวจากสภาพอากาศที่รุนแรง ทุกประเทศต้องเตรียมแผนตอบสนองและปกป้องประชาชนของตนจากความร้อนที่แผดเผา น้ำท่วมฉับพลัน พายุ มรสุมภัยแล้ง และไฟป่าที่ลุกลาม โดยภายในปี พ.ศ. 2568 ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องนำเสนอแผนงานที่ชัดเจนในด้านการเงิน เพื่อบริจาคเงินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้แก่เงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะมอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีแก่ประเทศกำลังพัฒนาสำหรับการสนับสนุนด้านสภาพอากาศ และเติมเต็มกองทุน Green Climate Fund ให้เต็มจำนวน
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกประกาศบทบัญญัติเพื่อปกป้องคนงานและชุมชนจากอากาศที่ร้อนจัด ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ขอให้กระทรวงแรงงานออกประกาศเตือนอันตราย เพื่อให้คนงานได้รับความคุ้มครองจากความร้อนภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลาง เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 436 ราย ที่มีสาเหตุจากการสัมผัสความร้อนนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งอ้างอิงตามรายงานของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ และประชาชนจำนวนหลายพันคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกปีเนื่องจากความร้อนของวิกฤติภูมิอากาศ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายระดับสากลและระดับประเทศ การต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการลดผลกระทบที่ตามมาเป็นเรื่องที่เร่งด่วนของปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องมีการร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อหาทางปรับตัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้ความปรวนแปรของสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อส่งเสริมสุขภาพของโลกและมนุษย์ในอนาคตเพื่อความยั่งยืน ตามเป้าหมายของ SDGs 2030
ถึงแม้ว่า เราจะอยู่กับคำว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ มานาน แต่เราไม่ควรที่จะให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไป !!
อ้างอิงจาก:
- (29) Taking on Record Temperatures: UN Chief's Call to Action | United Nations | Hottest July on Record - YouTube
- 'The era of global boiling has arrived,' says UN boss Antonio Guterres (cnbc.com)
- เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว - Greenpeace Thailand
- » คลื่นความร้อน ภัยเงียบจากวิกฤติภูมิอากาศ (salforest.com)