"… ชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ได้ถ่ายทอดบทเรียนของชีวิต ความรับผิดชอบที่เขาแบกไว้ มาพร้อมกับคำถามเรื่องจริยธรรม ที่ฝังอยู่ภายในใจของเขาตลอดไป แม้ว่าเหตุผลของเมื่อวาน อาจไม่ใช่เหตุผลของวันนี้ก็ตาม …"
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คอหนังคงรับรู้ถึงกระแส 'Barbenheimer' ที่กำลังร้อนแรง เป็นคำผสมเกิดจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 2 เรื่องคือ บาร์บี้ (Barbie) และ ออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) ที่เข้าฉายพร้อมกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าเป็นหนังที่มากันคนละมุม บาร์บี้เป็นหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาบาร์บี้ที่อยู่ในความทรงจำของเด็กผู้หญิงมากว่า 60 ปี เกิดจากจินตนาการที่นางเอกเดินทางจากดินแดนบารบี้แลนด์มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ในขณะที่ออปเพนไฮเมอร์ เป็นหนังชีวประวัติของเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ผู้ค้นคิดระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ดีภาพยนตร์ทั้งสองมีความบังเอิญที่มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องอัตถิภาวนิยมในการค้นหาตัวตน (existentialism) และพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลก (Anthropocene) โดยผู้กำกับทั้งสองเรื่องต่างเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาก่อน ทั้งเกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) ในเรื่องบาร์บี้ และคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ในเรื่องออปเพนไฮเมอร์ โดยภาพยนตร์ทั้งสองทำรายได้อย่างถล่มทลายในสหรัฐฯ โดยบาร์บี้และออปเพนไฮเมอร์ ทำรายได้ถึง 237 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 117 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ ภายหลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพียง 6 วัน1/
กระแสดังกล่าว ทำให้คนดูหนังทำใจลำบากว่าจะเข้าโรงภาพยนต์ดูเรื่องไหนก่อน ทำให้มีคนคิดแคมเปญกระตุ้น แทนที่จะเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำไมไม่ดูสองเรื่องควบไปเลย จนเป็นที่มาของข่าวดาราดังอย่างทอม ครูซ (Tom Cruise) ที่โชว์ตั๋วหนังทั้งสองเรื่องลงในโซเชียล มีเดีย เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับผม ตัดสินใจไม่ยากที่จะเลือกดูภาพยนตร์เรื่องออปเพนไฮเมอร์ก่อน เพราะเรื่องราวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเรื่องที่ตนเองสนใจตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่ได้เขียนหนังสือเรื่อง เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก
เหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 2488 ได้คร่าชีวิตประชากรกว่า 200,000 คน จนนำไปสู่การประกาศยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่น แต่การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ต้องการยุติสงครามโลกให้เร็วขึ้น (วันที่ 14 สิงหาคม 2488) เพื่อลดความสูญเสียทหารอเมริกัน ได้ทิ้งบาดแผลไว้ให้คนญี่ปุ่นอย่างแสนสาหัส ผู้รอดชีวิตที่ถูกเรียกว่า ฮิบะคุชะ (hibakusha) ต่างต้องเผชิญกับสภาพอันเลวร้าย ทั้งจากการเจ็บป่วยจากสารกัมมันตรังสี และบาดแผลทางจิตใจ นอกจากนั้น ยังนำมาสู่การครอบครองระเบิดปรมาณูของชาติมหาอำนาจ และเข้าสู่ภาวะสงครามเย็นมาจนถึงทุกวันนี้2/
การทิ้งระเบิดปรมาณูในครั้งนั้น เราอาจจดจำเพียงชื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และลิตเติลบอย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นเพียงผู้ค้นคิดสมการ E = mc2 จุดฉนวนให้เกิดความคิดเปลี่ยนมวลเป็นพลังงาน ในขณะที่ลิตเติลบอยเป็นรหัสระเบิดที่นำไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา แต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังอย่างแท้จริงในการสร้างระเบิดปรมาณูคือ เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ครอบครัวชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ
ออปเพนไฮเมอร์ถือเป็นนักอัจฉริยะด้านฟิสิกส์ควอนตัม จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ภาควิชาเคมี ก่อนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จนจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน ประเทศเยอรมัน แหล่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก ด้วยอายุเพียง 24 ปี สมัยเรียนที่ฮาร์วาร์ด เขาลงเรียนเทอมละ 6 วิชา (นักศึกษาทั่วไปเรียนเพียง 4 วิชาต่อเทอม) และสนใจไม่เพียงด้านวิทยาศาสตร์ แต่ในด้านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญา หล่อหลอมให้เขาเป็นนักคิดและมีบุคลิกที่ซับซ้อน สามารถพูดได้ถึง 6 ภาษา รวมสันสกฤต ทำให้ออปเพนไฮเมอร์เข้าถึงและเรียนรู้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อย่างลึกซึ้ง
หลังจากจบการศึกษา ออปเพนไฮเมอร์ได้กลับมาสหรัฐฯ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ก่อนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอให้เขาคุมโครงการแมนฮัตตัน มีเป้าหมายค้นคิดและพัฒนาระเบิดปรมาณูก่อนที่เยอรมันจะทำสำเร็จ โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการลับสุดยอด นำนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิและครอบครัวไปอยู่รวมกันที่ ลอส อลามอส (Los Alamos) ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก พื้นที่ท่ามกลางทะเลทราย ห่างจากเมืองที่ใกล้ที่สุดกว่า 60 กิโลเมตร พวกเขาใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่ง (ปี 2486-2488) ในการสร้างระเบิดปรมาณูจนสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นกลับนำมาสู่การเปลี่ยนชีวิต
ออปเพนไฮเมอร์และโลกใบนี้ไปตลอดกาล จนทำให้เขาได้มีความสำนึกผิดไปตลอดชีวิต รณรงค์ต่อต้านการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ไม่ให้ไปไกลกว่านี้ที่จะทำลายโลก ออปเพนไฮเมอร์ได้พูดไว้ในช่วงบั้นปลายชีวิตว่า “บัดนี้ ข้าได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายโลกใบนี้” (Now I am become death, the destroyer of worlds)3/
ผมคงไม่อยากจะเป็นคนสปอยภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีความยาวถึง 3 ชั่วโมง เป็นหนังประเภท 'คุย คุย คุย' ที่คริสโตเฟอร์ โนแลน กำกับหนังชีวประวัติเป็นเรื่องแรก โนแลนเลือกไม่เล่าชีวประวัติของออปเพนไฮเมอร์แบบเวลาเส้นตรง แต่จะโยงเวลากลับไปกลับมา ตรึงคนดูไว้กับเก้าอี้ ด้วยบทสนทนาที่คมคาย เข้มข้น ใจจด ใจจ่อกับเรื่องราวที่เดินต่อไป จนทำให้ได้รู้จักตัวตนของออปเพนไฮเมอร์อย่างแท้จริง ในขณะที่ โนแลนเลือกถ่ายด้วยฟิล์ม IMAX 65 มม. และไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการถ่ายทำ (CGI: Computer-Generated Imagery) แม้แต่ฉากเดียว รวมไปถึงฉาก Trinity Test หรือฉากทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่ผู้ชมรอคอย
สำหรับบทเรียนที่ผมได้รับจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการที่ ออปเพนไฮเมอร์สามารถนำนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นอัจฉริยะ มารวมตัวกันในสถานที่เดียวกันได้ พร้อมระดมความคิดเห็นร่วมกัน เรียกว่าไม่ใช่งานง่ายเพราะต่างคนต่างเก่ง เชื่อมั่นในตัวเอง ออปเพนไฮเมอร์ได้แสดงถึงความเป็นผู้นำ มีความยืดหยุ่น รับฟัง แต่แฝงไปด้วยการทำงานอย่างมีเป้าหมาย เพื่อดูดพลังและนำศักยภาพของทุกคนมาตอบโจทย์ เขาไม่ได้เตรียมใจเพียงสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ได้วางแผนไปถึงสิ่งที่ไม่คาดคิดด้วย นอกจากนั้น ออปเพนไฮเมอร์สามารถปรับตัวเองจากเด็กเรียนที่เหนียมอาย และนักวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี มาเป็นนักวิทยาศาสตร์เชิงประดิษฐ์ กลายเป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณู เขาได้บอกกับคนใกล้ชิดว่า เขาชอบให้คนตั้งคำถามและให้ข้อสังเกตต่อความคิดของเขา เพื่อให้เขาเป็นคนที่เพียบพร้อมมากขึ้น4/
ชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ได้ถ่ายทอดบทเรียนของชีวิต ความรับผิดชอบที่เขาแบกไว้ มาพร้อมกับคำถามเรื่องจริยธรรม ที่ฝังอยู่ภายในใจของเขาตลอดไป แม้ว่าเหตุผลของเมื่อวาน อาจไม่ใช่เหตุผลของวันนี้ก็ตาม
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.
แหล่งที่มา
1/ https://en.wikipedia.org/wiki/Barbenheimer
2/ สงครามโลกครั้งที่ 2 : ภาพถ่ายสะท้อนชีวิตสตรีผู้รอดชีวิตจากเหตุทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
BBC News Thai, 5 สิงหาคม 2020 https://www.bbc.com/thai/international-53640561
3/ โจนี่ วิวัฒนานนท์, Oppenheimer เปิดชีวิต J. Robert Oppenheimer บุรุษอัจฉริยะ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู สู่ภาพยนตร์ยาวที่สุดของคริสโตเฟอร์ โนแลน, The Cloud 26 กรกฎาคม 2566
https://readthecloud.co/oppenheimer/
4/ Learning Leadership Lessons From Robert Oppenheimer
https://www.ava-v.com/blog/learning-leadership-lessons-from-robert-oppenheimer/