"... คำเรียงร้อยในเนื้อเพลงอันสละสลวย ความหมายและท่วงทำนองที่กินใจผู้คน โดยเฉพาะในยามทุกข์ยาก ในยามลำบาก ในยามท้อแท้สิ้นหวัง จะปลุกเร้าหัวใจผู้คนให้เห็นแสงดาวแห่งศรัทธาเป็นการปลุกพลังหวังขึ้นมาในหัวใจอย่างไม่รู้จบสิ้น …"
ในขณะที่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ชี้ว่าเบื้องลึกสำคัญที่สุดของเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 คือ“การเกิด Big Bang แห่งจิตสำนึกอันหาได้ยาก เป็น จิตสำนึกใหญ่ หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์”
ศ. ธีรยุทธ บุญมี ชี้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เหมือนกับ “การเปิดช่องขนาดใหญ่ ที่ไม่มีอำนาจใดไปปิดกั้นได้จวบจนปัจจุบันนี้ ช่องว่างนี้เปิดพลังสร้างสรรค์ของคนไทยที่ถูกปิดกั้นมานานแสนนาน สามารถแสดงพลังอำนาจได้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การธนาคาร การผลิต อุตสาหกรรม การเกษตร การค้าส่ง-ปลีก การเมืองส่วนกลาง ท้องถิ่น พลังทางสังคม พลังทางวัฒนธรรม และพลังคุณธรรม”
และแน่นอน ปรากฏการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้เพลงเพื่อชีวิตประกาศศักดิ์ ประกายแสงเรืองรองมีพื้นที่พื้นทางสว่างไสวไปทั่วสังคมไทย
ในที่นี้ต้องให้คุณค่ากับผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ และบทบาทของหงา คาราวาน และจิ้น กรรมาชน ซึ่งรังสรรค์เพลงเพื่อชีวิต ฝากผลงานศิลปะวัฒนธรรม ให้จำหลักไว้อย่างมั่นคง
ในยุคเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการจับกุมกวาดล้างผู้คนฝ่ายก้าวหน้านั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับคุมขังด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ และทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในที่สุดศาลทหารพิพากษาว่าเขาบริสุทธิ์ ไม่มีความผิดใดๆ และยกฟ้องปล่อยตัวไปเมื่อปี 2507 หลังจากจิตร ถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 6 ปีกว่า
ในคุกลาดยาวนั้นเอง นอกจากชวนเพื่อนในคุกทำการเกษตรปลูกผักสวนครัว เขายังแปลหนังสือเรื่อง 'แม่' ของแมกซิม กอร์กี้ แปลงานเขียนเรื่อง 'แม่' ของอินเดีย และยังตั้งวงดนตรีไทย แถมแต่งเพลง 'บทเพลงแห่งลาดยาว' ไว้หลายเพลง วงดนตรีไทย จิตรเล่นเครื่องจะเข้ แล้วยังมี อุดม ศรีสุวรรณ ประเวทย์ บูรณกิจ ไขแสง สุกใส เชลง กัทลีรดพันธ์ อิศรา อมันตกุล และคนอื่นๆ ประกอบวง
เพลงที่จิตร แต่งมี มาร์ชลาดยาว ฟ้าใหม่ มาร์ชชาวนาไทย เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ รำวงวันเมย์เดย์ ที่โดดเด่นที่สุดคือเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา
บทเพลงจากลาดยาวของจิตร ภูมิศักดิ์ นี้เอง เป็นคลังสมบัติเพลงเพื่อชีวิตยุคแรกเริ่มช่วง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างสำคัญ ซึ่งเป็นทั้งประมวลเพลงและเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินเพลง เพื่อชีวิตทั้งมวล
สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ได้รับยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 โดยระบุว่า
“ในด้านดนตรีและเพลง การเป็นนายวงดนตรีคาราวาน ทำให้สุรชัยเป็นตำนานแห่งเพลงเพื่อชีวิต เป็น “อาจารย์ใหญ่” ต้นแบบของแนวเพลงนี้ การเขียนวรรณกรรม การเขียนเพลง การเล่นดนตรี เป็นน้ำเนื้อเดียวกันในชีวิตของสุรชัย จันทิมาธร ช่วงเวลาที่กระแสความคิดเพื่อชีวิตมีอิทธิพลในสังคมไทยอย่างแข็งแกร่ง ชื่อของสุรชัย จันทิมาธร จึงเป็นหมุดหมายที่ตรึงแน่นอยู่บนพื้นที่แห่งศิลปะวัฒนธรรมไทยที่กาลเวลาไม่อาจลบเลือน”
ผู้เขียนรู้จักกับหงา ตอนที่เขามาคบหาพบปะกับเพื่อนๆ อยู่ที่ สนง. ทนายความธรรมรังสี เมื่อปี 2515-16 เขามีกีตาร์ติดมือตลอด เล่นเพลงฝรั่งที่ไม่ค่อยคุ้นหู ในช่วงที่ผู้เขียนและเพื่อนๆ เช่น ธีรยุทธ บุญมี ธัญญา ชุนชฎาธาร อาศัย สนง. แห่งนี้เป็นฐานที่มั่น เคลื่อนไหวตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เยาวชนก้าวหน้าในยุคนั้น มีสถานที่สองแห่งพบปะเสวนากัน หนึ่ง คือ สำนักศึกษิตสยาม ที่ชั้นบนร้านหนังสือของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตรงสามย่าน และ สนง. ธรรมรังสี ย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ ซึ่งคุณไขแสง สุกใส ได้ระดมทุนจัดหาให้พวกเราใช้ทำกิจกรรมกัน
ควรบันทึกไว้ด้วยว่า สองสำนักนี้เองเป็นสายธารประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวยุค 14 ตุลาคม 2516
ไม่คาดคิดว่าหนุ่มผมหยิก ที่มาดีดกีตาร์อยู่บนสำนักงาน จะกลายมาเป็นพ่อใหญ่ ต้นตำนานเพลงเพื่อชีวิตในยุค 50 ปีก่อน โลดแล่นอยู่บนเวที อยู่หน้ากล้อง ต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้
ช่วงที่หงา คาราวาน เข้าร่วมการต่อสู้ในการชุมนุม ยังไม่มีเพลงเล่น จึงใช้วิธีเขียนกลอนส่งขึ้นไปให้อ่านบนเวที บางครั้งก็เล่นกีตาร์ตัวเดียวบนเวที โดยเอาเพลงของ Bob Dylan มาเล่น
เราอาจนับเนื่องได้ว่าเพลง 'นกสีเหลือง' ของวินัย อุกฤษณ์ เป็นเพลงเปิดตัวคาราวานในยุคแรก โดยมีเพลง สานแสงทอง เพลงจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงเปิบข้าว เพลงคนกับควาย เพลงกุลา เพลงเซิ้งอิสาน เพลงอเมริกันอันตราย เพลงการะเกด เพลงหนุ่มสาวเสรี ฯลฯ เป็นเพลงร่วมสมัย
นกสีเหลือง
“ กางปีก หลีกบิน จากเมือง เจ้านก สีเหลือง จากไป
เจ้าบิน ไปสู่ เสรี บัดนี้ เจ้าชี - วาวาย ฮื้อฮือ.......
เจ้าเหิน ไปสู่ ห้วงหาว เมฆขาว ถามเจ้า คือใคร
อาบปีก ด้วยแสง ตะวัน เจ้าฝัน ถึงโลก สีใด ...... ฮื้อ ฮือ
( เสียงพูด..... ‘ คุณจำได้ไหม เหตุการณ์เมื่อ วันที่ 14 – 15 ตุลาคม คุณจำได้ไหม รอยเลือด คราบน้ำตา และฝันร้ายของผู้คน วีรชนคนหนุ่มสาวของเรา ได้ตายไปท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตา ตายไปขณะชู สองมืออันว่างเปล่า เพื่อเรียกร้องหาเสรีภาพ ณ บัดนี้ ขอให้พวกเราจงพากันหยุดนิ่ง และส่งใจระลึกถึง ไปยังพวกเขาเหล่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ และจะได้เป็นกำลังใจ สำหรับผู้ที่จะอยู่ต่อสู้อีกต่อไป....’ )
จงบิน ไปเถิด คนกล้า ความฝัน สูงค่า กว่าใด
เจ้าบิน ไปจาก รวงรัง ข้างหลัง เขายัง อาลัย......ฮื้อ ฮือ
เจ้าบิน ไปสู่ เสรี บัดนี้ เจ้าชี- วาวาย ”
วินัย อุกฤษณ์ ปราชญ์แห่งลุ่มน้ำกระบี่ กวีแห่งอันดามัน จากรั้ว รร. สวนกุหลาบฯ และ ม.ธรรมศาสตร์ แต่งเพลงนี้ไว้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว เมื่อ หงา คาราวาน นำไปเรียบเรียงและร้องด้วยตนเอง ทำให้เพลงนกสีเหลือง กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของนักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เย็นย่ำของ 24 มีนาคม 2564 ณ ร้านอาหาร “เรือนไม้” อันร่มรื่นที่กลางเมือง จ.กระบี่ ขณะที่ ดร.สุกรี เจริญสุข กำลังเตรียมวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพื่อจะบรรเลงเพลงรองเง็ง ของชาวเล และเพลง นกสีเหลือง
ผู้เขียนถาม วินัย อุกฤษณ์ ว่า “ตอนที่แต่งเพลงนี้ กำลังอยู่ในอารมณ์แบบไหน”
'ผมนั่งเรือเล่นอยู่ที่แม่น้ำกระบี่หน้าเมืองตรงเขาขนาบน้ำกับเพื่อนอีกคนในยามค่ำคืน มีกีตาร์โปร่งตัวหนึ่ง ตอนนั้นหลัง 14 ตุลา ไม่นาน ผมนึกถึงเพื่อนที่บาดเจ็บล้มตายในเหตุการณ์ ผมคิดถึงพวกเขา ก็เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมา ได้ลีลาทั้งจากเพลง Yellow Bird และเพลงรองเง็งของชาวเล ตอนนั้น หงา คาราวาน เพื่อนผมเขาชอบใจก็เลยเอาไปเรียบเรียง เป็นเพลงเด่นของคาราวาน' วินัยตอบคำถาม
ในความเป็นจริง ในช่วงการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 8-14 ตุลาคม 2516 นั้น วินัย อุกฤษณ์ ทำหน้าที่ฝ่ายข่าว ร่วมกับ พิทักษ์ ธวัชชัยนันท์ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธุ์ สมคิด สิงสง โดยมี พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นหัวหน้า และมีสุรชัย จันทิมาธร อยู่ในที่นั้นด้วย
มันไม่ใช่เพราะอุดมการณ์แห่งลัทธิการเมือง มันไม่ใช่จิตวิญญาณขบถใดๆ แต่ประสบการณ์ตรงแห่งความรุนแรงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบนท้องถนนราชดำเนินตลอดสาย จิตวิญญาณแห่งการหวนหาเสรีภาพ ที่จบลงด้วยเลือดเนื้อชีวิตและน้ำตา จึงก่อเกิดเนื้อร้องและท่วงทำนองเพลง 'นกสีเหลือง' อันสวยงาม ที่ลื่นไหลดุจสายน้ำหน้าเมืองกระบี่นั้นเอง
ส่วนเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้น ทั้งวงคาราวาน และวงกรรมาชน น้อมนำมาเรียบเรียงเสียงประสาน นำขึ้นสู่เวทีเพลงเพื่อชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน
วิเคราะห์กันว่าเป็นแรงบันดาลใจอันเนื่องมาจากรั้วรอบขอบคุก ซึ่งจำกัดอิสรภาพของเขาในที่จำกัด แต่คุกไม่อาจกีดกั้นสายตาที่มองขึ้นไปยังฟากฟ้ากรุงเทพฯได้
ในค่ำคืนไร้เดือนอันมืดสนิท มีแต่แสงดาวระยิบระยับ เขามองออกไปจากกรงขังมองเห็นดวงดาวพราวพร่างบนท้องฟ้า งามกระจ่างจนไม่อาจจะอดใจได้ ที่จะเขียนบทเพลงขึ้นมา ในยามชีวิตมืดมิดที่ไร้อิสรภาพ ยังมีดาวสว่างเรืองปรากฏให้เป็นความหวัง ปลุกหัวใจผู้คน ทั้งยังเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ โดยถือแน่วแน่ว่าถึงอย่างไร ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรก็ตามคนยังคงยืนเด่นโดย ท้าทาย
โดยปราศจากความผิดใดๆ เมื่อออกจากคุกในปี 2507 จิตรตัดสินใจเข้าต่อสู้ด้วยอาวุธ ร่วมกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และอีก 2 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 เขาถูกอดีตกำนัน ต. คำบ่อ ยิงเสียชีวิต ที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ต. คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร แรงศรัทธาของคนที่รักจิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้เกิดอนุสาวรีย์ของเขา ณ สถานที่นั้น เป็นประจักษ์พยานชีวิตการต่อสู้เพื่อประชาชนสำหรับคนรุ่นต่อมา
ในยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่สังคมไทยเปิดประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางนั้น ชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งหนังสือ งานวิชาการ บทเพลง เป็นบทเรียน เป็นแบบอย่างการต่อสู้เพื่อประชาชนของเยาวชนคนหนุ่มสาว
หงา คาราวาน แต่งเพลง 'จิตร ภูมิศักดิ์' กลายเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งของวง เป็นเพลงที่ผู้คนฟังกันแพร่หลายแม้จนวันนี้
ไม่ว่าการชุมนุมทางการเมืองครั้งใด รวมถึงการสังสรรค์ของประชาคมการเมือง หากมีดนตรีประกอบ เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา จะถูกเลือกเป็นเพลงลำดับแรก เมื่อทำนองเพลงนี้ดังขึ้นจาก วงดนตรี พลังของเพลงจะดึงดูดให้คนในงานพากันเปล่งเสียงร้องเพลงนี้กระหึ่มขึ้นอย่างมีความรู้สึกร่วม เป็นอารมณ์ที่รวมหลอมอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน
เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา
คำร้อง / ทำนอง จิตร ภูมิศักดิ์
พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้า เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองรุ้งในหทัย เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
พายุฟ้า ครืนข่มคุกคาม เดือนลับ ยามแผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธา ยังส่องแสงเบื้องบน ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนาม ลำเค็ญ คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับมลาย ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง
คำเรียงร้อยในเนื้อเพลงอันสละสลวย ความหมายและท่วงทำนองที่กินใจผู้คน โดยเฉพาะในยามทุกข์ยาก ในยามลำบาก ในยามท้อแท้สิ้นหวัง จะปลุกเร้าหัวใจผู้คนให้เห็นแสงดาวแห่งศรัทธาเป็นการปลุกพลังหวังขึ้นมาในหัวใจอย่างไม่รู้จบสิ้น
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา