"… ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมหลายเรื่องของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น การชุมนุมของนิสิตจุฬาฯ ต่อต้านการทุจริตในปี 2513 การรณรงค์ใช้ผ้าดิบ การชุมนุมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การชุมนุมต่อต้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับ 299 ที่เรียกกันว่ากฎหมายโบดำ …"
เพลงชีวิตในยุคแรก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สะท้อนความทุกข์ยากของคนระดับล่าง มีเพลงเสียดสีการเมือง ของไพบูลย์ บุตรขัน คำรณ สัมบุญณานนท์ แสงนภา บุญราศี ความจริงถือว่าเป็นเพลงลูกทุ่ง เช่น เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย เพลงคนเหมือนกัน เพลงมนต์การเมือง เนื้อหาที่สะท้อนชีวิตคนยากจน ทำให้เพลงลูกทุ่งแนวนี้พัฒนามาเป็นเพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา
ยุคที่สอง เพลงผู้ใหญ่ลี ของ พิพัฒน์ บริบูรณ์ เป็นเพลงบอกกล่าวถึงยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับแรก สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี การมุ่งพัฒนาชนบทในยุคนั้น ทำให้ 'ผู้ใหญ่ลี ตีกลองประชุม' เพื่อให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็ดและสุกร
ยุคที่สาม ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่ภาคการเมือง มีหลายกรณีอื้อฉาว เช่น การรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 14 พย. 2517 การต่ออายุราชการสองจอมพล ในตำแหน่ง ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. การใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่
การลบชื่อ 9 นักศึกษารามคำแหงออกจากมหาวิทยาลัยเนื่องจากการผลิตวารสารที่ขัดใจอธิการบดี
ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมหลายเรื่องของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น การชุมนุมของนิสิตจุฬาฯ ต่อต้านการทุจริตในปี 2513 การรณรงค์ใช้ผ้าดิบ การชุมนุมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การชุมนุมต่อต้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับ 299 ที่เรียกกันว่ากฎหมายโบดำ การก่อตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในต้นปี 2513 ที่ประชุมกัน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในชนบท ดังเช่น วิทยากร เชียงกูล เขียนภาพสะท้อนเป็นบทกวีว่า
“จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า
มาเป็นอาหารให้คนไร้สิ้น
ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น
เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเผื่อคนจน”
มีการผลิตวารสารแนวก้าวหน้ากันทั่วไป เช่น วารสารภัยเหลือง ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น วารสารภัยขาว ต่อต้านฐานทัพอเมริกา และยังมีกลุ่มกิจกรรมอิสระในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น สภาหน้าโดม ของ มธ. กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ ในจุฬาฯ
บทบาทเหล่านี้ทำให้ จิรนันท์ พิตรปรีชา อดีตสาวสวยระดับดาวจุฬาฯ เรียงร้อยบทกวีชื่อ 'ดอกไม้จะบาน'
“ ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน
บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ
สีขาว หนุ่มสาวจะใฝ่
แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา
เรียนรู้ ต่อสู้มายา
ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน
ชีวิต อุทิศยอมตน
ฝ่าความสับสน เพื่อผลประชา
ดอกไม้ บานให้คุณค่า
จงบานช้าช้า แต่ว่ายั่งยืน
ที่นี่ และที่อื่นๆ
ดอกไม้สดชื่น ยื่นให้มวลชน ”
ตีพิมพ์ใน ผลิ หนังสือปฐมนิเทศนิสิตใหม่จุฬาฯ. (2516)
ต่อมา วีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล หนุ่มวิศวะแห่งวงดนตรีรุ่งอรุณของจุฬาฯ นำกวีบทนี้ไปแต่งทำนองใส่ แล้ว สุชาติ ชวางกูร นำไปร้อง เข้าบรรยากาศที่สอดรับกับยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 กลายเป็นเหมือนเพลงรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นเพลงร้องประจำกันในบรรดาชาวค่ายอาสาสมัครด้วย
ดอกไม้ สื่อความหมายถึงหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาที่มีความสะอาดใสบริสุทธิ์
ดอกไม้จะบาน สื่อว่าหนุ่มสาวกำลังเติบโตงอกงาม
จงบานช้าช้า แต่ว่ายั่งยืน แปลว่า เติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ
ดอกไม้สดชื่น ยื่นให้มวลชน สื่อถึงความตั้งใจที่จะอุทิศตัวเพื่อชุมชนและประชาชน
ความยอดเยี่ยมของบทกวี ความหมายที่ลึกซึ้ง ทำนองที่ร้องได้โดยง่าย และการเป็นบทเพลงตัวแทนแห่งยุคสมัย เป็นเพลงที่ทำให้ดอกไม้บานในใจคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการและเพรียกหาประชาธิปไตย ในยุคก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 นั้นเอง
การชุมนุมประท้วงการลบชื่อ 9 นักศึกษา ของ ม. รามคำแหง ถือเป็นการชุมนุมใหญ่มีนิสิตนักศึกษาหลายสถาบันเข้าร่วม ปักหลักชุมนุมและค้างคืน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตอนนั้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แห่ง ม.ธ. เห็นว่าจำเป็นต้องมีเพลงปลุกพลังการต่อสู้บนเวทีชุมนุม จึงแต่งเพลง สู้ไม่ถอย ท่อนแรกแล้วนำมาใช้กันที่เวทีนั้นเอง
“สู้เข้าไป อย่าได้ถอย
มวลชนคอย เอาใจช่วยอยู่
รวมพลัง ทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้ เพื่อความยุติธรรม”
ช่วงนั้นมีเพียงท่อนเดียว แต่ก็ใช้ร้องปลุกเร้ากันอย่างได้ผลบนเวที ขณะเดียวกันบทกวี 'ดอกไม้จะบาน' ซึ่งยังไม่ได้เรียบเรียงเป็นเพลง ก็นำขึ้นมาอ่านบนเวทีหลายครั้ง
ครั้นต่อมาหลัง 14 ตุลาคม 2516 เสกสรรค์จึงแต่งท่อนต่อไปเพื่อให้จบเพลง
“เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่
สู้เข้าไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน
พวกเราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี
เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลัง ผองเราเหล่าชาวไทย
สู้ขาดใจ พวกเราเสรีชน”
เพลง 'สู้ไม่ถอย' กลายเป็นเพลงปลุกเร้าพลังสู้รบในการชุมนุมแทบทุกครั้งในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเวทีของฝ่ายใด หรือของสีเสื้อใด จะเรียกว่าเป็นเพลงสาธารณะก็ได้
ยุคที่สี่ ช่วง 14 ตุลาคม 2516
การชุมนุมของนักศึกษาประชาชนที่ปักหลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ 8 ตุลาคม2516 เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อย 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่รัฐบาลกลับไม่ไยดี ซ้ำออกข่าวให้ร้ายผู้ชุมนุมอีก ทำให้มีการเคลื่อนขบวนคนนับแสนคนจากสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยสู่ถนนราชดำเนิน ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 เวลา12.15 น. โดยตัวแทนผู้ชุมนุมแบ่งเป็น 3 คณะ
ชุดหนึ่ง ไปเจรจากับรัฐบาล
ชุดที่สอง ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ชุดที่สาม นำขบวนใหญ่นักศึกษาประชาชนเคลื่อนสู่ถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดันรัฐบาลให้ปล่อยตัว 13 กบฏ อย่างไม่มีเงื่อนไข
จำนวนคนนับแสน จากธรรมศาสตร์ และประชาชนที่เข้ามาสมทบระหว่างทางอีก รวมแล้วประมาณว่าไม่ต่ำกว่าห้าแสนคน
การจัดรูปขบวนจึงเป็นความจำเป็น นักเรียนช่างกล ช่างก่อสร้าง และพานิชยการ ขอเป็นกองหน้า โดยพวกเขาประกาศล่วงหน้าไว้ว่า 'พี่คือสมอง น้องคือกำลัง'
ภาพการเคลื่อนขบวนที่แถวหน้าสุดเป็นนักเรียนอาชีวะที่พร้อมเผชิญกับระเบิด ห่ากระสุน และแก๊สน้ำตา ตามด้วยขบวนแถวของนักศึกษาหญิงที่ถือธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ ตามด้วยมวลนักศึกษาประชาชนที่เบียดเสียดกันเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนินตลอดสายนั้น ช่างอาจหาญงามสง่า จนกลายเป็นคำประพันธ์เพลง หนุ่มสาวเสรี โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมชื่อ 'ลาวเฉียง' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 'ตับลาวเจริญศรี'
เพลงหนุ่มสาวเสรี
(เกริ่น – แอ่วเคล้าซอ)
ครานั้นนิสิตนักศึกษา
บรรดานักเรียนทั้งเหนือใต้
สามัคคีประชาชนทั่วไป
ลุกฮือขับไล่ทรชน
(ลาวเฉียง)
คึกคักหนักแน่นดังแผ่นผา
กลมเกลียวแกล้วกล้าสดใส
ฟันเฟือง ฟาดฟันบรรลัย
กนกห้าสิบให้ชีวิตพลี
(สร้อย) เจ้าหนุ่มสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง
ตายเพื่อสร้าง ตายเพื่อสร้างเสรี
มือเปล่าตีนเปล่าก้าวหน้า
ยอมให้เข่นฆ่าไปเป็นผี
ถือหลักศักดิ์สิทธิ์เสรี
พูดกันดีดีแล้วตั้งนาน (สร้อย)
กดขี่ข่มเหงคะเนงร้าย
เผด็จการก้าวก่ายเสียทุกด้าน
ชาวนาเป็นศพกบดาน
ชาวบ้านเป็นซากยากจน (สร้อย)
มือเปล่าตีนเปล่าห้าวหาญ
แกว่งกระบองคลุกคลานกลางถนน
นี่คือพลังของประชาชน
ทุกคนสืบเลือดบางระจัน (สร้อย)
มาเถิดมาสร้างเมืองใหม่
สร้างประเทศเราให้เป็นสวรรค์
ใครมาข่มเหงรังแกกัน
ประชาชนเท่านั้นลุกฮือเอย (สร้อย)
นี่คือคำประกาศผ่านบทเพลงที่มีลักษณะเป็นตัวแทนความปรารถนาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อไปให้พ้นจากพันธนาการของเผด็จการที่กดทับประชาชนมายาวนาน ด้วยหวังว่าวิถีชีวิตประชาธิปไตย จะเป็นพื้นที่เป็นเวทีแห่งการแก้ปัญหาเพื่อชีวิตอนาคตที่ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ผลงานเพลง 'หนุ่มสาวเสรี' ของวงต้นกล้า คำร้องของสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยมีรังสิต จงญาน-สิทโธ เป็นนักร้อง ประกอบวงด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ฯลฯ ทำให้เพลงนี้บรรยายภาพคลื่นมหาประชาชน ที่เคลื่อนขบวนอย่างห้าวหาญ สง่างาม เสียงระนาด ขลุ่ย และซอที่ผสานด้วยทำนองเพลงอันรุกเร้าใจ จึงกลายเป็นบทเพลงแห่งประวัติศาสตร์ อีกเพลงหนึ่ง ที่จารึกวีรภาพนักศึกษาประชาชนอย่างเฉพาะเจาะจงบนท้องถนน ในวันนั้น ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเสมือนหนึ่งได้ร่วมบรรยากาศในเหตุการณ์ด้วย
ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา