"...ภัยทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ มิจฉาชีพพยายามตั้งแต่เชื่อมเข้าระบบ mobile banking ของเหยื่อ ด้วยการหลอกให้กดลิงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ มีการสวมเข้าใช้ social media ของเพื่อน หลอกโทรศัพท์มาคุยแบบ romance scam ไปจนถึงสร้างสถานการณ์น่ากลัวจนต้องรีบโอนไป เรียกว่าเหยื่อตกหลุมเชื่อและสายไปเสียแล้ว..."
“นี่….พูดนะ” เสียงผู้ชายที่ผมได้ยินชื่อไม่ชัดเจนนัก เพราะอยู่ระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมนอกสถานที่ ซึ่งโดยปกติแล้ว ผมจะไม่รับเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก “มีอะไรหรือครับ กำลังยุ่งอยู่” ผมถามกลับไป “อ้อ ไม่มีอะไรหรอกเพื่อน แค่โทรมาบอกว่าเปลี่ยนเบอร์ไว้ค่อยโทรมาใหม่แล้วกัน” จากนั้น จึงวางสายกันไป
เช้าวันรุ่งขึ้น ผมนึกคิดอะไรไม่ทราบ โทรฯ กลับไปอีก คราวนี้ ฝั่งโน้นรับสายทันที พร้อมทักทายสอบถามสารทุกข์สุกดิบกันเป็นอย่างดี ซึ่งระหว่างการพูดคุย ผมพยายามจะรำลึกถึงว่า เป็นใคร แต่ด้วยการพูดจาแบบเป็นกันเอง เหมือนรู้จักกันแน่นแฟ้น ทำให้ผมไม่กล้าถามว่าเป็นใคร กลัวจะหน้าแตกพร้อมถูกต่อว่า “แค่นี้จำเพื่อนไม่ได้” การสนทนาจบลงที่ “เราทำธุรกิจ on line ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 20,000 บาท นายช่วยโอนเงินให้เราก่อนได้ไหม เดี๋ยวบ่ายนี้จะคืนให้ ช่วยส่ง LINE มาให้ด้วย จักได้บอกเบอร์บัญชีที่โอนไป ขอบคุณมาก ๆ นะเพื่อน”
ผมขบคิดอยู่นานก่อนส่ง LINE ไปให้ ไม่นานนัก ได้ข้อมูลส่งกลับมาพร้อมชื่อและเลขที่บัญชีที่ต้องโอน ชั่งใจอยู่พอสมควร และพยายามคิดว่าเพื่อนคนนี้คือใคร แต่มาเอะใจคือชื่อผู้ที่โอนเป็นผู้หญิงและไม่คุ้นว่าเป็นใคร จึงเริ่มเฉลียวใจแล้วว่า คงถูกหลอกแล้ว LINE กลับไปถามว่า “ขอทราบชื่อนายด้วย” คราวนี้ฝั่งโน้นเงียบหาย ไร้คำตอบเหมือนอยู่ในป่าช้า ทำให้แน่ใจว่า ผมได้กลายเป็นเหยื่อภัยทางการเงินอีกหนึ่งคนแล้ว
ภัยทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ มิจฉาชีพพยายามตั้งแต่เชื่อมเข้าระบบ mobile banking ของเหยื่อ ด้วยการหลอกให้กดลิงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ มีการสวมเข้าใช้ social media ของเพื่อน หลอกโทรศัพท์มาคุยแบบ romance scam ไปจนถึงสร้างสถานการณ์น่ากลัวจนต้องรีบโอนไป เรียกว่าเหยื่อตกหลุมเชื่อและสายไปเสียแล้ว ในขณะที่ ภัยทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ได้แบ่งชั้น วรรณะ และจากสถิติพบว่า คนที่มีอาชีพมั่นคง มีพื้นเพการศึกษาที่ดี กลับเป็นคนที่ถูกหลอกลวงได้ง่ายกว่า
แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามหาทุกวิถีทางในการป้องกันภัยทางการเงิน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง ตรวจจับ สกัดกั้น ไปจนถึงการเยียวยา ค้นคิดทุกรูปแบบ ตั้งแต่การพิสูจน์ตัวตนด้วยหน้าตา ที่ต้องกระพริบตา ให้เห็นด้วยว่าไม่ใช่ภาพนิ่ง ไปจนถึงนำ AI มาจับรูปแบบของกลโกง แต่วิธีการของมิจฉาชีพเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หาช่องทางที่เรียกว่า weakest link เป็นจุดอ่อนทั้งทางเทคโนโลยีและธรรมชาติของมนุษย์ (ความรัก โลภ หลง) มาใช้ในการทำทุจริตตลอดเวลา
ดังนั้น โล่กำบังที่ถือเป็นเกาะกำแพงด่านแรกป้องกัน ไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อภัยทางการเงิน คือ การมีความรู้ ให้เกิดปัญญา และเกิดสติ ก่อนที่ 'ถูกเขาหลอกแล้ว' ซึ่งการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทำอย่างไรให้เข้าใจแบบไม่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะเจอเหตุการณ์เมื่อไหร่ สติหลุดทุกครั้งไป ในขณะที่เนื้อหาและช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายย่อมแตกต่างกัน รุ่นเด็กคงจะอดทนฟังและอ่านแผ่นพับแบบเนื้อหาเหมือนตำราไม่ไหว ในขณะที่รุ่นอาวุโสคงฟังศัพท์ขั้นเทพ และดู Tik Tok ด้วยความมึนงง
ด้วยเหตุผลข้างต้น แบงก์ชาติจึงได้จัดโครงการการแข่งขันออกแบบการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ (BOT Communication Hackathon 2023) ในหัวข้อ 'รู้เท่าทันภัยการเงิน' โดยเน้นผู้สมัครรุ่น GEN Z อายุไม่เกิน 30 ปี มาร่วมกันออกแบบวิธีการและช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ระมัดระวังและป้องกันการถูกหลอกลวงจากเหล่ามิจฉาชีพ ซี่งโครงการได้รับความสนใจเกินคาด มีทีมเข้าร่วมสมัครกว่า 205 ทีม มาจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ผู้มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว นักศึกษา ไปจนถึงน้องลัลลิล แรงฤทธิ์ เด็กประถมชั้น ป. 5 โรงเรียนไผทอุดมศึกษา ซึ่งกลั่นกรองจากการตอบคำถาม 3 ข้อ ตั้งแต่เหตุผลของการสมัคร การสื่อสารเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาได้อย่างไร และการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ที่จะทำให้กระจายไปวงกว้างด้วยงบประมาณจำกัด เพื่อคัดเลือกเหลือจำนวน 20 ทีม มาทำ workshop ร่วมกัน ก่อนให้ส่งผลงาน และคัดทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม เพื่อมาเสนอผลงานแบบตัวเป็น ๆ ที่ศูนย์การเรียนรู้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
การนำเสนอของทั้ง 10 ทีม ล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ พยายามจะตอบทุกกลุ่มเป้าหมาย สื่อสารในทุกช่องทางทั้ง online และ offline นำสิ่งของมาเป็นสิ่งเร้า ตั้งแต่แจกยาดมที่ฉลากมีข้อความเตือนใจภัยทางการเงิน จานข้าวที่ขอบเขียนว่า “เสียเงินให้ข้าว ดีกว่าเสียค่าข้าวให้โจร #เช็กก่อนโอน” เพื่อเอาใจผู้สูงอายุ รวมถึงการทำ Sticker Line เจาะไปกลุ่มน้อง ๆ พร้อมเนื้อหาและข้อความที่เด็ด ๆ เช่น “หลอกให้รักว่าเจ็บแล้ว แต่หลอกให้โอนไปหมดนี้ เจ็บกว่า….” ที่สำคัญ จุดเด่นของทั้ง 10 ทีม คือ การนำเสนอที่กระชับ ชัดเจน ภายในเวลาที่กำหนด สมกับการสื่อสารที่ต้องการให้เข้าถึง เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่ผู้สมัครเข้าร่วมในครั้งนี้ไม่มีผู้ใดอยู่ในวงการสื่อสารมาก่อนเลย
ผลปรากฏว่าทีม Nudge Shield จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่1/ เป็นผู้ชนะเลิศ ด้วยการนำเสนอแนวคิดสร้าง Application ชื่อ Badeon (บ่ดีโอน) คล้าย ๆ กับ Whatsapp แต่เพิ่มฟังก์ชั่นให้มีการการเตือนและกระตุ้นจากทั้งแสงและสี
อย่างไรก็ดี สำหรับทีมที่เข้ารอบสุดท้ายก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยกลุ่มที่ถือว่าอายุน้อยที่สุดมาจากนักเรียนชั้นมัธยมปลายปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผมได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อง ๆ ทราบว่าน้องกัลยภรณ์ จันทร์ผ่องแสง เป็นผู้ที่เห็นโครงการนี้ผ่านทาง Facebook จึงได้ชวนเพื่อนที่สนิทกันอีก 4 คน คือ น้องกวินวิชญ จำนงค์ น้องธราธร ชูกิจโกศล น้องมัตตัญญุยุตา สุนทรพลิน และน้องณภัทร เรืองชัยสิทธิ์ สมัครเข้าแข่งขัน ภายใต้ชื่อทีมว่า 'สเลอร์ปี้สีรุ้ง' น้องกัลยภรณ์เล่าว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าเรียนหลักสูตร 'รู้ทันการเงิน' ที่เพิ่งเรียนตลอดทั้งเทอมที่ผ่านมา ซึ่งอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้มาจากฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน แบงก์ชาติ มาอีกทอดหนึ่ง2/
น้องทั้ง 5 กล่าวว่า เป็นวิชาที่สนุกมาก ได้ทดสอบลองทำจริง ทำให้ทราบถึงความสำคัญในเรื่องความรู้ทางการเงิน ทำอย่างไรถึงจะออม กู้ยืม และลงทุน ที่คำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และที่สำคัญได้รับทราบถึงภัยทางการเงินที่อยู่ใกล้ตัวจริง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา เพื่อนและครอบครัวล้วนตกเป็นเหยื่อในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่านการเล่มเกมส์ online ถูก call center หลอกลวง ไปจนถึง romance scam
ทีมสเลอร์ปี้สีรุ้งนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบที่สร้างเสริมความรู้แก่เยาวชน เพื่อให้เยาวชนนำความรู้ไปต่อยอดกับชุมชนตัวเองต่อไป พร้อมกับให้มีการสร้างเครือข่ายเพื่อให้แต่ละชุมชนมีการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะภัยทางการเงินที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ เริ่มจากทำหลักสูตรให้กับโรงเรียนเข้าโครงการ สร้างกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ ตั้งแต่ Financial Day, Digital Day ไปจนถึงการเข้าไปเรียนรู้สัมผัสกับชุมชนลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล
แม้จะมีเวลาเตรียมตัวไม่ถึง 2 เดือน แต่น้องในทีมสเลอร์ปี้สีรุ้งยอมรับว่า การที่ได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องภัยทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งเติมเต็มในส่วนของทักษะด้าน soft skills ทั้งในการนำเสนอ การคิดวิเคราะห์ และการทำงานเป็นทีม แม้น้องส่วนใหญ่เรียนสายวิทยาศาสตร์ ใฝ่ฝันจะเป็นหมอ นักวิศวะ นักวิทยาศาสตร์ และนักจิตวิทยา แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการนี้ทำให้ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไปในอนาคต
น้องทั้ง 5 คน ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ ได้มีโอกาสทำอะไรใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเงินที่ห่างจากวิชาหลักที่เรียนทุกวัน คำเตือนที่ใช้ได้คือ “อย่าโลภ” เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากให้ความคิดนี้ถูกนำไปสานต่อ จนทำให้สโลแกนของทีมกลายเป็นจริงที่ว่า “เหล่ามิจจี้ (มิจฉาชีพ) ยังต้องเบลอ ถ้ามาเจอสเลอร์ปี้สีรุ้งงงง”3/
รณดล นุ่มนนท์
24 กรกฎาคม 2566
หมายเหตุ:
1/ ทีม Nudge Shield น้องจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยน้องพิมพ์พิชญา คงศรี น้องณัชนนท์ วงศ์มณีนิล น้องวรทัต ไชยวงศ์ น้องธนกร จางว้าง และน้องศุภกฤต ใจวิจิตร
2/ เป็นโครงการที่ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงินริเริ่มขึ้น โดยจัดทำเนื้อหาหลักสูตรและเริ่มต้นกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรก โดยมอบหมายให้ คุณจันทร์ธิดา พัวรัตนอรุณกร รองผู้อำนวยฝ่ายฯ ไปถ่ายทอดเนื้อหาและเทคนิคการสอนให้อาจารย์โรงเรียน เพื่อนำไปสอนกับนักเรียนต่อไป
3/ ขอขอบคุณ คุณชลิศา แดงจำรูญ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ที่สนับสนุนข้อมูลในการเขียน Weekly Mail ฉบับนี้