"...สภาผู้บริโภคคัดค้านการควบรวมดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลให้ความหลากหลายของบริการลดลง เมื่อมีผู้ให้บริการน้อยราย หากขาดมาตรการรักษาระดับการแข่งขันที่ดี..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): จากกรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) หรือ ทรีบรอดแบนด์ (3BB) รวมถึงซื้อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิส (JASIF) จากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทรีบรอดแบนด์
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2566 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ทำส่งความเห็นต่อ กรณีการรวมธุรกิจระหว่างเอไอเอส และ ทรีบรอดแบนด์ ถึง กสทช. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 โดยมีประเด็นความเห็นใน 2 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่
-
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ทั้งในด้านราคาและคุณภาพของบริการ ความหลากหลายของบริการ ทางเลือก และอำนาจต่อรองของผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องการให้บริการในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท
-
ผลกระทบด้านข้อกำหนดเงื่อนไข / แนวทางในการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง เช่น สัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ การคงไว้ซึ่งสิทธิการได้รับบริการเดิม ทั้งในเชิงคุณภาพ ปริมาณ การเยียวยาโดยเฉพาะกรณีมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
สำหรับรายละเอียดความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคที่มีต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างเอไอเอส และทรีบรอดแบนด์ มีดังนี้
ผลกระทบด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง
1. ราคา และคุณภาพของบริการ
สภาผู้บริโภคขอยืนยันเจตนารมณ์ไม่สนับสนุนให้เกิดการรวมธุรกิจที่ลดการแข่งขันและจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตน้อยรายลง ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกทำให้ขาดอิสระในซื้อหรือใช้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งขัดแย้งกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่รับรอง สิทธิผู้บริโภคที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือใช้บริการ
นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบทางด้านราคาและคุณภาพของบริการ จากการศึกษาของ 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง พบว่า อาจทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นร้อยละ 9.5 - 22.9 ซึ่งเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน คุณภาพของสัญญาณ ความเร็ว
2 ความหลากหลายของบริการ ทางเลือก และอำนาจต่อรองของผู้บริโภค
สภาผู้บริโภคคัดค้านการควบรวมดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลให้ความหลากหลายของบริการลดลง เมื่อมีผู้ให้บริการน้อยราย หากขาดมาตรการรักษาระดับการแข่งขันที่ดี อาจทำให้ผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจที่จะสร้างช่องทางหรือผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกสรรบริการที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการหรือการใช้งานของผู้บริโภคได้
บริการอินเทอร์เน็ตบ้านมีลักษณะสำคัญ คือ การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน โดยผู้ใช้งานแต่ละครัวเรือน มักจะเลือกติดตั้งอินเทอร์เน็ตตามความเร็วของการดาวน์โหลดและอัปโหลดที่ต้องการ การใช้งานอินเทอร์เน็ตปริมาณมากและตลอดเวลาของผู้บริโภค ยังทำให้เกิดแนวโน้มการหลอมรวมของผู้ให้บริการแบบประจำที่และเคลื่อนที่ (Fixed-Mobile Convergence) ซึ่งเอไอเอส ยังสามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือ เพื่อขายบริการพ่วงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านได้ ซึ่งโดยปกติแล้วมีราคาต่ำกว่าการซื้อบริการแยกกัน
หากเกิดการควบรวมบริษัทขึ้นก็จะยิ่งทำให้เอไอเอสขยายความครอบคลุมของบริการอินเทอร์เน็ตบ้านตามโครงข่ายของทรีบรอดแบนด์ หมายความว่ามีโอกาสขยายแพ็กเกจพ่วงนี้ไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านอยู่เดิม ในขณะที่ผู้ใช้บริการทรีบรอดแบนด์อยู่เดิมก็จะได้รับข้อเสนอบริการขายพ่วงด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคจำนวนมากใช้บริการพ่วงในค่ายเอไอเอสหรือค่ายทรูไปแล้ว ก็จะทำให้ต้นทุนการย้ายค่าย (Switching cost) เพิ่มขึ้น ในอนาคตผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ 2 ค่ายใหญ่นี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องให้ส่วนลดในบริการพ่วงมากอย่างในปัจจุบัน ดังนั้น ทางเลือกและอำนาจต่อรองของผู้บริโภคจะลดลง
เช่น กรณีการควบรวบทรู - ดีแทค ที่มีมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะ เช่น มาตรการที่ต้องลดอัตราการใช้บริการลง ร้อยละ 12 ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 90 วัน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้จริงในปัจจุบัน อีกทั้งบริการส่งเสริมการขายบางรายการยังมีค่าบริการที่สูงขึ้นจากการบริการเท่าเดิมที่ผู้บริโภคได้รับ
3. การให้บริการ ในพื้นที่การให้บริการที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจหรือถูกละเลย
สภาผู้บริโภค มองว่าการรวมธุรกิจในครั้งนี้อาจขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการ เรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ประเทศไทยรับรองตามพันธกรณี ขัดหลักการมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการจำเป็นของบริการโทรคมนาคม ที่ กสทช. มีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง
การให้บริการพื้นที่ชนบทที่มีความหนาแน่นต่ำ มีรายได้ต่อครัวเรือนน้อยกว่าพื้นที่เมือง หรือเมื่อลงทุนแล้วอาจได้ลูกค้ากลับมาไม่มาก ด้วยศักยภาพทางตลาดที่ต่ำกว่าจึงทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดเล็กโดยปริยาย ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการได้
ผลกระทบของการควบรวมทำให้ผู้บริโภคในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านก็อาจต้องจ่ายราคาที่แพงขึ้น จากการศึกษาข้อมูลพบว่าการกระจุกตัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับค่าบริการ โดยการกระจุกตัวที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 31 จากการควบรวมครั้งนี้อาจทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 – 22.9 ซึ่งค่าบริการที่แพงขึ้นนี้อาจไม่จำเป็นต้องส่งผลให้ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายเป็นตัวเงินต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ปรับลดลง เสถียรภาพที่แย่ลง คุณภาพของการให้บริการหลังการขายที่ต่่ำลง หรืออาจเป็นการให้ผลประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่น้อยลงในอนาคต แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากจนทำให้ต้นทุนส่วนเพิ่มในการให้บริการลดลง
ผลกระทบด้านข้อกำหนดเงื่อนไข / แนวทางในการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง
1. การแจ้งการเปลี่ยนแปลงบริการ เช่น ช่องทาง ระยะเวลา รายละเอียดที่ครบถ้วน ฯลฯ
หากมีการรวมธุรกิจเกิดขึ้น ผู้บริโภคจะมีอำนาจต่อรองที่ลดลง ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงบริการต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 แต่ย่อมเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนไปใช้ช่องทางที่เหลืออยู่จำกัดจากการรวบธุรกิจในครั้งนี้ไปโดยปริยาย
2. สัญญาระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ การทำสัญญาใหม่ การต่อสัญญา ฯลฯ
ถึงแม้ผู้บริโภคจะมีสิทธิในการแจ้งเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ให้บริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงของเงื่อนไขสัญญาระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ แต่เมื่อมีข้อจำกัดของจำนวนผู้ให้บริการก็เปรียบเสมือนไม่มีสิทธิโดยปริยาย
กสทช. ต้องวางหลักเกณฑ์มาตรฐานสัญญา เงื่อนไข และดูแลคุณภาพ หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการ เพื่อกำกับดูแลไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันระหว่างการใช้บริการ โดยเฉพาะโอกาสที่ผู้ควบรวมจะใช้อำนาจตลาดในการกำหนดสัญญาที่เอื้อบริษัทตัวเองจนเกินไป หรือกีดกันคู่แข่งรายย่อยในบางพื้นที่เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
3. การคงไว้ซึ่งสิทธิการได้รับบริการเดิม ทั้งในเชิงคุณภาพ ปริมาณ ค่าบริการ รายการส่งเสริมการขาย ระยะเวลา สิทธิพิเศษ การให้บริการร่วมกับบริการอื่น (Bundle) ฯลฯ
แนวโน้มการหลอมรวมของผู้ให้บริการประจำที่และเคลื่อนที่ ซึ่งในแต่ละตลาดจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่น้อยลง ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายหลักที่เหลือเพียง 2 ราย จะสามารถให้บริการพ่วงอินเทอร์เน็ตบ้าน (รวมถึงบริการอื่น ๆ เช่น สตรีมมิ่ง) จึงอาจมีแรงจูงใจในการขายพ่วงบริการในปัจจุบัน เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศการให้บริการของตน แต่ผู้บริโภคอาจต้องการใช้บริการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจต้องการใช้บริการโทรคมนาคมที่มาจากคนละค่ายกันก็ได้ และเมื่อตลาดอิ่มตัวมากขึ้นในอนาคต ผู้ให้บริการก็ไม่จำเป็นต้องลดราคาให้แก่ผู้บริโภคอย่างในปัจจุบัน แม้ว่าเทคโนโลยีจะยิ่งก้าวหน้าจนทำให้ต้นทุนการให้บริการต่ำลงกว่าเดิมมาก
กสทช. จึงควรต้องกำหนดมาตรการเฉพาะให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการแยกได้จริง กล่าวคือ มีบริการโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ตที่ขายแยกเฉพาะตัว โดยมีปริมาณ ความเร็ว และคุณภาพที่สมเหตุสมผล ภายใต้ค่าบริการที่เข้าถึงได้ ไม่สูงกว่าราคาที่ขายพ่วงมากจนเกินไป ข้อกำหนดเช่นนี้นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องจำใจซื้อบริการแล้ว ยังช่วยให้ตลาดทั้งสองทำงานแยกกัน ส่งผลดีต่อการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านที่ยังไม่อิ่มตัวและมีศักยภาพที่รายย่อยหรือรายใหม่จะเข้ามาแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนสร้างธุรกิจโทรศัพท์มือถือพ่วง ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนที่สูงมาก ซึ่ง กสทช. ต้องมีการกำกับดูแลราคาค่าบริการที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ให้สอดคล้องกับอัตราการใช้บริการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่มีการแข่งขันของผู้ให้บริการที่น้อยลง
4. การเยียวยา โดยเฉพาะกรณีมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และกรณีการสิ้นสุด รายการส่งเสริมการขาย ของบริการเดิมและต่อสัญญาการให้บริการใหม่ ฯลฯ
ต้องเป็นไปตามสัญญาเดิมจนกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงจากผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
5. การสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการของทั้ง 2 กิจการ
ควรเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม
6. ช่องทางการรับเรื่องและกลไกการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ
เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถึงแม้ กสทช. จะมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและขั้นตอนที่ชัดเจน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีข้อจำกัดในการดำเนินการแก้ไขปัญหา จะเห็นได้ว่าเรื่องร้องเรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงไป กสทช. อาจมีข้อจำกัดในการดำเนินการในปัญหาที่เกิดขึ้น
การแก้ไขปัญหาผู้ใช้บริการต้องมีระบบและกลไกจัดการปัญหาเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหา และบังคับใช้กฎหมายประกาศ ระเบียบอย่างเข้มงวดจริงจัง ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง กระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559
ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
-
สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่าการอนุญาตให้ควบรวมกิจการเป็นอำนาจของ กสทช. ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ขอให้ กสทช. ใช้อำนาจของคณะกรรมการตามกฎหมาย ไม่ควรดำเนินการเพียงระดับการรับทราบการดำเนินการของสำนักงาน เช่น กรณีการควบรวมกิจการของทรู - ดีแทค ซึ่งอาจขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
-
สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ประชุมร่วมกับ ประธาน กสทช. และผู้บริหารระดับสูง และได้มีข้อเสนอในที่ประชุมว่าหากมีการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. ควรดำเนินการจัดเวทีรับฟังกับสภาผู้บริโภคและองค์กรสมาชิก แยกเป็นเฉพาะ เพื่อที่จะทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค การทำหน้าที่ผู้แทนของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
-
ขอให้ กสทช. เปิดเผยรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นมาตรการป้องการปัญหาจากการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ควบคู่ในการดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย