"... นอกเหนือจากตัวหนังสือ ภาพเขียน โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรมทั้งปวงแล้ว เพลงเป็นศิลปวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง ซึ่งสามารถจารึกและบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ ที่สำคัญก็คือเพลงเป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนด้วย …"
นอกเหนือจากตัวหนังสือ ภาพเขียน โบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรมทั้งปวงแล้ว เพลงเป็นศิลปวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง ซึ่งสามารถจารึกและบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ ที่สำคัญก็คือเพลงเป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนด้วย
ก่อนจะถึงยุคเฟื่องฟูของเพลงเพื่อชีวิตในยุคก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 นั้น มีสิ่งที่เรียกว่า 'เพลงชีวิต' เกิดขึ้น
1.ยุคเพลงชีวิต เรานึกขึ้นได้ถึงเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ซึ่งครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งไว้ตั้งแต่ปี 2496 โดยมีชาญ เย็นแข เป็นคนร้อง
“อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี เอาผืนนาเป็นที่พำนักพักพิงร่างกาย ชีวิตเอย ไม่เคยสบาย ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย ไล่ควายไถนาป่าดอน..........”
วิถีชีวิตของชาวนาแนบแน่นกับชีวิตคนไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ถูกถ่ายทอดออกมาแบบรวบยอดในเนื้อหา ท่วงทำนอง อย่างหมดจด ของคนที่ “เอาหลังสู้ฟ้า เอาหน้าสู้ดิน” ตลอดมา จนทำให้ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเพลง “กลิ่นรวงทอง” ด้วยทำนองเดียวกันกับเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย
“ท่ามกลางแดด แผดเปลวร้อนผ่าวดังไฟ กลางผืนดินนาไร่ ใต้ฟ้ากว้างไกลสุดตา ใครหนอทนทำงานกลางนา ไล่ควายดุ่มกุมไถฟันฝ่า คราดนาล้าเมื่อยระบม ......”
ครูไพบูลย์ ให้เหตุผลเบื้องหลังการแต่งเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ไว้ว่า “สมัยนั้นพอแผ่นเสียงวางตลาดแล้ว ผู้ฟังก็ชอบ บอกว่าเป็นเพลงที่เข้าถึงประชาชนได้ดี โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาชอบอกชอบใจ คือไม่มีใครพูดถึงเขาเลย ผมก็มีความรู้สึกอันนี้ เราไปพูดชมผู้หญิงว่าสวย เขียนเป็นเพลงขึ้นมา ไปชมดอกไม้งามอะไรต่ออะไร เราลืมคนประเภทหนึ่งซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เรามองข้ามเขาไป นี่คือความรู้สึกอยากเขียนเพลงนี้ ผมใส่ความรู้สึกว่า ผมเป็นชาวนาคนหนึ่ง เมื่อสังคมทั่วไปยอมรับว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ควรจะเหลียวแลกันบ้าง ความรู้สึกนี้ก็ทำให้อยากจะเป็นตัวแทนของชาวนา และเราก็เห็นจริงว่า ชาวนามีความสำคัญจริงๆ อันนี้ผมก็เก็บมาจากคำพูดของผู้นำของชาติขณะนั้น คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านได้กล่าวออกมาว่า ชาวนามีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก ในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ควรจะทำนุบำรุง”
ชาญ เย็นแข ผู้ร้องเพลงนี้ในปี 2496 บอกว่า เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย “ทำสถิติเป็น ประวัติศาสตร์ในการจำหน่าย เพียงเวลา 7 วัน แผ่นเสียง ดี.ซี.เจ. ตราค้างคาว ซึ่งอัดเพลงนี้ขาย ขายเงินสดแผ่นละ 15 บาท ขายได้ถึง 5,000 แผ่น บริษัทเรียกผมไปรับรางวัล 3,000 บาท ส่วนครูไพบูลย์ ได้ 5,000 บาท เฉพาะเพลงนี้เพลงเดียว”
สำนวนที่ว่า 'เพิงพักกายมีควายเคียงนอน' หรือ 'มือถือเคียวชันเข่า' เป็นคำร้อยเรียงอันสวยงามที่บรรยายภาพชาวนาได้ลึกซึ้ง
ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอีกหลายเพลงที่สะท้อนชีวิตชาวนา เช่นเพลง 'ตาสีกำสรวล' ท่วงทำนองลำตัด 2 ตอนจบของครูไพบูลย์ บุตรขัน โดยมี คำรณ สัมบุญณานนท์ ขับร้อง
ตอนท้ายเพลงมีถ้อยคำเสียดสีรัฐบาลว่า
“ภาษีกะปิ ภาษีน้ำปลา ภาษีน้ำตาล อีกหน่อยไม่ช้าไม่นาน ภาษีเล่นงานกระทั่งหายใจ ต้องปิดแสตมป์เอาไว้ที่รูจมูกเรา หายใจออกเข้า ภาษีเล่นเราไม่รู้เท่าไหร่ .......”
นับเป็นวรรคทองของเพลงที่สะเทือนซางรัฐบาลได้อย่างสะใจ
เพลง 'คนปาดตาล' ของ แสงนภา บุญราศี เพลง 'มนต์การเมือง' ของ สุเทพ โชคสกุล เพลง 'น้องนางบ้านนา' ของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งทั้งสามเพลง มีคำรณ สัมบุญณานนท์ เป็นผู้ร้อง ถือว่าเป็นเพลงสะท้อนชีวิต ที่อาจนับเนื่องได้ว่า เป็นต้นธารของเพลงเพื่อชีวิต ในเวลาต่อมา
2.ยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ บริบูรณ์ คนกรุงเทพฯ ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ครูไพบูลย์ บุตรขัน และพบกับสาวอุบลราชธานี ซึ่งศักดิ์ศรี ศรีอักษร เกิดชอบพอและแต่งงานกัน ปี 2501 ทั้งสองคนไปเที่ยวงานบุญที่อุบลฯ ชมการแสดงหมอลำ มีตัวละครชื่อ “ผู้ใหญ่ลี” ซึ่งพูดจาผิดๆ ถูกๆ จึงเอาเกร็ดตรงนั้นมาแต่งเพลงให้ศักดิ์ศรี ร้อง
เพลงผู้ใหญ่ลี ทำให้ศักดิ์ศรี ศรีอักษร สาวอิสานคนแรกที่ยืนเด่นระดับแนวหน้าของวงการลูกทุ่งไทย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวทางที่จะปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยมุ่งนำความเจริญสู่ท้องถิ่นชนบท มีคำขวัญที่เป็นแผ่นป้ายติดทั่วไป และติดปากชาวบ้านว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ”
จอมพลสฤษดิ์พูดว่า “ท่านคงจะได้เห็นหรืออาจรู้สึกรำคาญที่ข้าพเจ้าสนใจเรื่องพัฒนาการ อยู่ทุกวันทุกเวลา ข้าพเจ้าทำในสิ่งที่เคยมีบางท่านทักท้วงว่าไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เช่น ความสะอาดถนนหนทาง ร้านตลาด แม่น้ำลำคลอง ความเป็นไปในหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องส้วม”
ปี 2507 ศักดิ์ศรีรับบทเป็นนางเอกหนังไทยเรื่อง 'ลูกสาวผู้ใหญ่ลี' โดยมีดอกดิน กัญญา-มาลย์ รับบทผู้ใหญ่ลี ยิ่งทำให้ผู้ใหญ่ลีดังระเบิดเถิดเทิง
เพลง 'ผู้ใหญ่ลี'
คำร้อง อิง ชาวอิสาน ทำนอง พื้นเมือง ขับร้อง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร
พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม
ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี
ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา
ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร
ฝ่ายตาสีหัวคลอ นถามว่าสุกรนั้นคืออะไร
ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา
สายัณห์ตะวันร้อนฉี่ ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน
แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ
ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง ฟ้าแจ้งฟ้าแจ้งจางปาง
คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์
รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา
เขียงน้อยเขียงน้อยซอยซา เขียงน้อยเขียงน้อยซอยซา
ความยิ่งใหญ่ของเพลงนี้ คือการนำเสนอภาพสะท้อนการสื่อสารแบบ 'คนละเรื่องเดียวกัน' ของข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ที่เข้าใจกันไปคนละทางได้อย่างแยบยลด้วยภาษาพื้นบ้านที่ง่ายและท่วงทำนองสนุกสนานยิ่งนัก
ไม่เพียงแต่เป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องกันได้เท่านั้น แต่เด็กชั้นประถมก็สามารถร้องได้อย่างครึกครื้นในช่วงนั้น กลายเป็นเพลงสาธารณะที่คนไทยทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เป็นอัจฉริยะของ พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร ที่ร่วมกันสร้าง 'ผู้ใหญ่ลี' ประหนึ่งมีตัวตนจริงๆ โลดแล่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในยุคนั้น
เพลง 'ผู้ใหญ่ลี' จึงเป็นลิขิตประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปกับแผนพัฒนาชนบทในยุค 61 ปีมาแล้ว / (ยังมีต่อ 2. ยุค 14 ตุลา 16)
ผู้เขียน นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา