“...ประเทศไทยต้องมีทางออก หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งได้แล้ว สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลจะตกไปอยู่ที่พรรคอันดับ 3 ซึ่งก็คือพรรคภูมิใจไทยทันที กลายเป็นการย้ายข้ามขั้วอีก จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็บริหารประเทศไม่ได้อีกประเทศไทย ติดล็อคติดหล่ม พอเป็นอย่างนี้ปลายทางอาจไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนที่เลือกตั้งมาอีก และถ้ายิ่งพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่เอาพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะถูกมวลชนชุมนุมขับไล่อีกรัฐบาลก็ไปไม่ได้ประเทศก็ไปไม่ได้อีก สุดท้ายก็อาจจะจบแบบเดิมอีกก็เป็นได้...”
การเมือง เปลี่ยนทุกวินาที
ไล่เรียงความเคลื่อนไหว ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ท่ามกลางผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 52 ล้านคน พรรคก้าวไกล พรรคคนรุ่นใหม่คว้าคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 โกย สส.มาได้ 151 ที่นั่ง และเป็นพรรคที่มีผู้เลือก สส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดถึง 14,438,851 คน หักปากกาทั้งเซียนการเมืองและหมอดูชนิดพลิกความคาดหมาย
หนุนนำ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีการฟอร์มพรรคจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 ร่าง MOU จับมือเดินไปสู่การพลิกขั้วรัฐบาลครั้งแรกในรอบ 9 ปี
แต่เกมกลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็วางกลไกการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ที่ระบุไว้ว่า
“ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”
อันหมายถึงผนวกเอาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 250 คน ร่วมโหวตด้วย ทำให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธายากยิ่ง เพราะต้องรวบรวมเสียง 2 สภาให้ได้ 375 เสียง ซึ่งในท้ายที่สุด นายพิธาและพรรคก้าวไกลก็ไม่ถึงฝั่งฝัน
ซ้ำร้าย การเสนอชื่อนายพิธารอบ 2 ถูกรัฐสภาโหวตคว่ำ เพราะถูกตีความว่าเป็น ‘ญัตติซ้ำ’ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 จนในที่สุดต้องประกาศถอย เปิดทางพรรคเพื่อไทย พรรคอันดับ 2 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในที่สุด
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ผกผัน เปลี่ยนแปลงทุกวินาที พ่วงวลีการเมือง "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสนทนากับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึงการรวบรวมเสียงเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี และปลายทางสู่การฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ คำถาม อิศรา และคำตอบ ของ นพ.ชลน่าน
@เคาะ ‘ชื่อนายกรัฐมนตรี’ 25-26 ก.ค.นี้
เริ่มต้น สำนักข่าวอิศรา เปิดประเด็นว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค.นี้ เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยมี 3 คน คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ
นพ.ชลน่าน ตอบว่า เบื้องต้น จากการประชุมร่วมของทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอเพียงชื่อเดียว ส่วนจะเสนอชื่อใคร ยกให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจ ซึ่งทางพรรคจะนัดประชุม สส.และคณะกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 25 หรือไม่ก็วันที่ 26 ก.ค.นี้
" ชื่อของนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลจะเป็นผู้เสนอในที่ประชุมรัฐสภา 27 ก.ค.นี้ ส่วนจะเป็นใคร จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่งต่อไป"
@รับติดต่อ ‘ภูมิใจไทย’ ก่อน หลังได้มติ - ไม่ทิ้งดีล สว.
ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทย เข้ามาหารือที่พรรคช่วงบ่ายวันที่ (22 ก.ค.66) นั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตามที่ทั้ง 8 พรรครัฐบาลให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ติดต่อเจรจาในการรวบรวมเสียงเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นทางเราที่เริ่มดำเนินการประสานไป แต่ยังไม่ชัดเจนว่า พรรคภูมิใจไทยจะมาโหวตนายกรัฐมนตรีให้เฉยๆ หรือจะมาร่วมรัฐบาล ก็คงต้องคุยกันก่อน ทุกอย่างเป็นไปตามแนวทางที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลวางไว้
"หากเพิ่มพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ก็ต้องคุยกันก่อนถึงเงื่อนไขต่างๆ แต่ เบื้องต้น พรรคเพื่อไทยจะแจ้งกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน แล้วฟังกระแสตอบรับว่า แต่ละพรรคเห็นอย่างไร? พรรคก้าวไกลว่าอย่างไร? พรรคประชาชาติเห็นอย่างไร? ถ้าทุกฝ่ายตกลงเพราะมืองว่า ไม่มีทางออกอื่นแล้วก็จบ"
“เดิมตั้งใจจะส่งเทียบเชิญไปที่พรรคเขา (ภูมิใจไทย) เลย ให้เหมือนธรรมเนียมปฏิบัติที่การจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้เกียรติเขา แต่ทางภูมิใจไทย เขาจะมาเจอเราที่นี่ที่พรรคเพื่อไทยเลย ก็เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องขอบคุณพรรคภูมิใจไทย”
เมื่อถามว่า ได้เสียงพรรคภูมิใจไทยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคุยกับ สว.แล้วหรือไม่?
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตอบว่า อาจจะต้องไปพูดคุยทำความเข้าใจ และอาจจะต้องไปขอเสียงอีกพอสมควร เพื่อให้เกิดความสง่างาม ซึ่งเมื่อทางสว. มีหน้าที่และมีอำนาจที่เกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรีก็จำเป็นต้องเข้าไปคุย โดยมอบหมายให้ผู้แทนของพรรคไปติดต่อประสานงานกับทาง สว. แล้ว
"โดยการไปพูดคุยกับทาง สว. ก็ลองไปคุยมาก่อนว่ามีเงื่อนไขอะไรอีกหรือไม่ ถ้ามีจะได้เอามาพิจารณา ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็กังวลในเรื่องนี้"
"จริงๆแล้วได้ติดต่อไปทางพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย แต่ว่าตัวนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคติดภารกิจ จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน"
@ไม่ทิ้ง ‘ก้าวไกล’แต่ไปยาก
เมื่อถามต่อว่า ทิศทางในการจับมือกับพรรคก้าวไกลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เพราะพรรคภูมิใจไทยประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกลเด็ดขาด?
นพ.ชลน่าน ตอบว่า "เฉพาะเพื่อไทยกับก้าวไกลก็มีประชาชนเลือกเข้ามารวมกัน 25 ล้านเสียงแล้ว พรรคเพื่อไทยยังคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นหลัก เพราะต้องการให้ประชาธิปไตยมาจากอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น ทางเลือกของพรรคเพื่อไทยก็คือ จะต้องมีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วยจึงเป็นอันดีที่สุด แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานว่า จะเป็นไปได้หรือไม่เพราะโจทย์ที่กำลังจะต้องแก้ในขณะนี้คือการถูกต้านจากการมีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย"
"แต่ตอนนี้คิดว่าทางออกที่ดีสุดก็คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะต้องอยู่ด้วยกัน"
“ประเทศไทยต้องมีทางออก หากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งได้แล้ว สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลจะตกไปอยู่ที่พรรคอันดับ 3 ซึ่งก็คือพรรคภูมิใจไทยทันที กลายเป็นการย้ายข้ามขั้วอีก จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็บริหารประเทศไม่ได้อีกประเทศไทย ติดล็อคติดหล่ม พอเป็นอย่างนี้ปลายทางอาจไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนที่เลือกตั้งมาอีก และถ้ายิ่งพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่เอาพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะถูกมวลชนชุมนุมขับไล่อีกรัฐบาลก็ไปไม่ได้ประเทศก็ไปไม่ได้อีก สุดท้ายก็อาจจะจบแบบเดิมอีกก็เป็นได้”
ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวกลางเวทีแถลงข่าว 8 พรรคร่วม เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 66 ให้พรรคก้าวไกลถอยออกไป?
นพ.ชลน่านมองว่า เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์
"จริงๆแล้วทางทั้ง 8 พรรคร่วมก็หาช่องทางอย่างระมัดระวัง จริงๆแล้วในการประชุม 8 พรรคร่วม ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่า ไม่ควรพูดประเด็นนี้เลย ให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้พิจารณาเอง"
ส่วนการที่ถูกจับผิดว่ามีการพยักหน้าในเชิงเห็นด้วยกับคำพูดของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์นั้น
นพ.ชลน่าน ตอบว่า ก็เป็นเพียงปฏิกิริยา ไม่ใช่การแสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
"จริงๆแล้วหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยก็มีความหวังดีกับทางพรรคก้าวไกล ใจความสำคัญที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์อยากจะสื่อสารก็คือในเมื่อในช่วงโหวตนายกรัฐมนตรีถูกต่อต้านจากทั้ง สว. และพรรครัฐบาลเดิม เพราะมีพรรคก้าวไกล ก็ขอให้พรรคก้าวไกลนั้นถอยออกไปก่อน เพื่อให้การโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ง่ายขึ้น เมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรีจากฝั่ง 8 พรรคร่วมแล้ว ถึงค่อยเอาพรรคก้าวไกลกลับมาร่วมจัดสรรในโควต้าคณะรัฐมนตรีต่อไปจะดีกว่าหรือไม่เท่านั้น"
“ท่านเสรีมีสมมติฐานว่า ตอนนี้ถ้ามีพรรคก้าวไกลจะตั้งรัฐบาลไม่ได้เลย ท่านจึงเสนอแนวคิดให้ถอยไปก่อนในช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พอได้ตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงค่อยดึงพรรคก้าวไกลกลับมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ และท่านก็ให้สัมภาษณ์แบบนี้หลายครั้ง และขอฝากว่า อย่าใช้คำว่าเป็นแนวคิดถีบก้าวไกล เพราะก้าวไกลยังอยู่ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพียงแต่ว่า ฝ่ายที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลติดล็อก เขาปฏิเสธพรรคก้าวไกล ท่า่นเสรีพิศุทธิ์จึงแค่ช่วยคิดทางออกเท่านั้น ท่านบอกว่าให้ไปอยู่ข้างๆเท่านั้น ไม่ได้ผลักไสออกไป” นพ.ชลน่านทิ้งท้าย
อย่างที่ได้ขึ้นต้นไว้ว่า "การเมืองเปลี่ยนทุกวินาที' สถานการณ์จากนี้อาจเปลี่ยนเปลงไปได้อีก
ท่ามกลางวลีการเมือง "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร"
ท้ายที่สุดแล้ว โฉมหน้ารัฐบาลไทยชุดใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร? ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30?
ติดตามดูกันต่อไป
ที่มาภาพทั้งหมด : Facebook หมอชลน่านFcไม่มีดราม่า