"... การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาประเมินเรื่องนี้ ด้านกลับคือ ศาลกำลังสร้างสถานะเป็นผู้รู้และผู้กำกับทิศทางความเป็นไปของผู้คนที่กำลังทำหน้าที่บริหารหรือการนิติบัญญัติ …"
การสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็น Option ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะเลือกหรือไม่เลือกใช้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า มีเหตุที่ตัวบท รธน. มาตรา 82 วรรคสอง กำหนดไว้หรือไม่
เหตุในตัวบทมาตรา 82 คือ "หากปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง" ให้ศาลมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
เหตุมีเท่านี้ใน รธน. และศาลก็ต้องพิจารณาเฉพาะเหตุนั้น เหตุอื่นที่เป็นองค์ประกอบของเงื่อนไขที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตัวบทไม่มีเขียนไว้
อย่างไรก็ตาม พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พรรณาอ้างเหตุขึ้นมานอกจากตัวบท รธน. มาตรา 82 วรรคสอง กล่าวคือ ศาลบรรยายเพิ่มเข้ามาว่า "ประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้"
ที่บรรยายเพิ่มมานี้ อยู่ตรงไหนในตัวบท รธน. มาตรา 82 ที่ศาลจะอ้างเป็นเหตุเสริมเข้ามาเพื่อสำทับให้ต้องหยุด
คำตอบ คือ ไม่มีในตัว รธน. คำถาม คือ ไม่มี แล้วเอามาบรรยายไว้ทำไม ข้อนี้ ผมไม่ทราบ คงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตอบ
แต่การบรรยายเหตุเช่นว่านี้ คือ การพรรณาถึงภยันตรายที่จะเกิดจากตัวผู้ถูกร้อง (ในที่นี้ คือ พิธา) นอกเหนือการบรรยายเหตุแห่งการมีข้อสงสัยว่ามีมูลตามคำร้อง (เรื่องหุ้นสื่อ)
กลายเป็นว่า เหตุในการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญใช้ 2 เหตุ คือ เหตุแห่งการมีข้อสงสัยว่ามีมูลตามคำร้อง กับเหตุแห่งการประเมินว่ามีภยันตรายที่จะเกิดขึ้นจากตัวผู้ถูกร้อง จะกลายเป็นประเด็นให้ตีความว่า ต้องครบทั้ง ๒ เหตุจึงสั่งให้หยุดได้ ถ้ามีแค่เหตุเดียว เช่น มีมูล แต่เห็นว่าไม่มีภยันตราย ก็สั่งว่าไม่ต้องหยุดตรงนี้ ย่อมมีปัญหาว่า ศาลกำลังสร้างองค์ประกอบที่เป็นเงื่อนไขใหม่ ทำให้บางคนที่ศาลเชื่อว่ามีมูล ศาลอาจจะสั่งไม่ให้หยุด เพราะศาลบอกว่าไม่มีภยันตราย
ที่น่าสนใจ เหตุแห่งการประเมินว่ามีภยันตรายฯ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยใช้มาก่อน เช่น คดีดอน ปรมัตถ์วินัย ตอนที่เมียเขาถือหุ้นสื่อ แต่คดีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญบอก "ในชั้นนี้ไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด" ศาลจึงไม่สั้งให้ดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี
ทั้งสองสถานการณ์น่าสนใจในทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย การที่ รธน. มาตรา 82 วรรคสอง ไม่เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญประเมินภยันตราย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับทำเช่นนั้น จึงมีปัญหามาก การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาประเมินเรื่องนี้ ด้านกลับคือ ศาลกำลังสร้างสถานะเป็นผู้รู้และผู้กำกับทิศทางความเป็นไปของผู้คนที่กำลังทำหน้าที่บริหารหรือการนิติบัญญัติ
ผมเห็นว่า ศาลมีอำนาจประเมินแค่เหตุแห่งการมีข้อสงสัยว่ามีมูลตามคำร้องเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรก้าวล่วงมาประเมินสถานการณ์ เพราะในทางการเมือง คือ การตีตราประทับหรือให้ฉันทานุมัติต่อบุคคล ซึ่งไม่ปรากฏว่า รธน.ให้อำนาจเช่นว่านั้นไว้ ในทางการเมือง อาจถูกมองว่านี่เป็นการ Blame หรือติเตือนโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ใครสนใจเรื่องนี้ นอกจากศึกษาด้านกฎหมายแล้ว อาจลองวิเคราะห์เรื่องวาทกรรมการเมืองก็ดีครับ ว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้รัฐธรรมนูญเช่นไร
อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์