"...ส่วนประเทศไทย เรายังขาดยุทธศาสตร์ในการกำหนดหา 'ที่ยืนของประเทศไทยในโลกแห่งอนาคต' ดังนั้น รัฐจำต้องเร่งปูพรมพัฒนาให้ประชากรไทยมี 'ความประสีประสา' ทาง AI ( AI Literacy) ตลอดจนส่งเสริมระบบนิเวศการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI อย่างเข้มข้นตั้งแต่เด็กชั้นประถม ทั้งหมดนี้ ต้องกำหนดไว้ใน 'พิมพ์เขียวพัฒนา AI แห่งชาติ' ของประเทศไทย..."
ในขณะที่ผู้คนในประเทศไทยกำลังขะมักเขม้นกับความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศจำนวนมากทั่วโลกกำลังวางยุทธศาสตร์เตรียมรับมือกับการปฏิวัติยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI Revolution)
ปัจจุบันนี้แชทบอตเอไอที่เปิดให้สาธารณชนทั่วโลกใช้ ได้แก่ ChatGPT รวมทั้งโปรแกรมต่อเชื่อม (plugins and API) ของมัน ดูเหมือนได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลายประเทศแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่ Dr. Andrew Ng ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้พูดไว้ในปี 2550 ว่า "AI คือไฟฟ้าตัวใหม่" ซึ่งจะมาเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของมนุษย์ ยิ่งกว่าการมีไฟฟ้าใช้ในศตวรรษที่ผ่านมา (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 AI คือ ไฟฟ้าตัวใหม่ ที่กำลังจะพลิกโฉมชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ชาติอย่างสิ้นเชิง
ขณะนี้ เชื่อว่ามนุษย์กำลังยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ AI หลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซี่งก่อนหน้านี้ ได้พัฒนาก้าวข้ามมาเป็นประเทศชั้นแนวหน้าทางเทคโนโลยี ต่างมีสมรรถภาพและความพร้อมในการเผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค AI ทั้งสิ้น
ส่วนประเทศไทย เรายังขาดยุทธศาสตร์ในการกำหนดหา 'ที่ยืนของประเทศไทยในโลกแห่งอนาคต' ดังนั้น รัฐจำต้องเร่งปูพรมพัฒนาให้ประชากรไทยมี 'ความประสีประสา' ทาง AI ( AI Literacy) ตลอดจนส่งเสริมระบบนิเวศการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI อย่างเข้มข้นตั้งแต่เด็กชั้นประถม ทั้งหมดนี้ ต้องกำหนดไว้ใน 'พิมพ์เขียวพัฒนา AI แห่งชาติ' ของประเทศไทย เช่นเดียวกับ 'พิมพ์เขียวพัฒนา AI แห่งชาติ' ของประเทศจีนที่ถูกกำหนดโดยสภาแห่งรัฐ (China’s State Council) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เพียงสองเดือนหลังจากที่ โปรแกรม AlphaGo สามารถปราบแชมป์โลก 'เกมโกะ' ของมนุษย์ได้อย่างราบคาบ (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 สองเดือนหลังจากดาวรุ่งแชมป์หมากโกะชาวจีนพ่ายต่อ AlphaGo อย่างราบคาบ ถือเป็น Sputnik Moment ของจีน ประเทศจีนโดยสภารัฐแห่งชาติจึงได้ออกประกาศ 'พิมพ์เขียวพัฒนา AI แห่งชาติ' โดยตั้งเป้าให้ประเทศจีนเป็นผู้นำในการแระยุกต์เอไอในปี 2020 และเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม AI ในปี 2030
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงเรื่องสำคัญอันรีบด่วนนี้ ราชบัณฑิตยสภา โดยความร่วมมือของสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ดำเนินการจัดเสวนาเรื่อง 'ยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?' (Arrival of AI Era: Is Thailand Ready?) โดยได้รวบรวมนักวิจัยไทยด้าน AI ชั้นแนวหน้าของโลก มาบรรยายถึงศักยภาพและความท้าทายของเอไอ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่ได้นำเอไอมาใช้ประยุกต์ในงานจริงแล้วได้มาบรรยายสาธิตในงานนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์ของไทย การประยุกต์ในภาคการเกษตร ภาคการแพทย์ และภาคอุตสาหกรรม ปิดท้ายด้วยการเสวนาถึงความพร้อมและ Call To Action สำหรับประเทศไทย โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากสถาบันการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของศูนย์ NECTEC สวทช. และสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทยมาร่วมเสวนาด้วย
การเสวนาทางวิชาการเรื่อง 'ยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?' (Arrival of AI Era: Is Thailand Ready?) จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา เวลา 13.00 - 16.30 ณ ห้องประชุม 801 (ชั้น 8) อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://goo.gl/maps/qa8QZUP9J2TpjoLs5
โดยสาธารณชนผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือ โทรติดต่อจองที่ได้ที่ 02-218-1240 (ภาพที่ 3 และ 4)
https://forms.gle/MeyXqCk4HpL4HkmJ8
ภาพที่ 3 อินโฟกราฟิคงานเสวนา 'ยุคเอไอมาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?' จัดโดย ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ผู้สนใจเข่าร่วมฟรี สามารถใช้ QR Code ลงทะเบียนได้
ภาพที่ 4 กำหนดการของงานเสวนา จัดที่ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) ตรงข้ามสถาบันศศินทร์
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15 กรกฎาคม 2566