"...จะประเมินค่า 14 ตุลา 16 อย่างไร คงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไปไม่รู้จบ อันที่จริงก็ไม่ควรมีจุดจบในการประเมินคุณค่า เพราะเป็นเรื่องต่างมุมมอง ไม่มีใครจะห้ามความคิดคนอื่นได้ ทุกคนล้วนสวมแว่นสีด้วยกันทั้งนั้น จะกล่าวโทษกันไปกันมาก็ไร้ประโยชน์ และไม่ว่าใครก็ไม่ควรเป็น ผู้พิพากษาประวัติศาสตร์…"
Ars longa , Vita brevis ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น สัจจะพจน์นี้เป็นของ HIPPOCRATES ปราชญ์กรีกโบราณ
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิม คอร์ราโด เฟโรซี่ ชาวอิตาลี ข้ามฟ้ามาเป็นข้าราชการในราชสำนักสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นผู้วางรากฐานศิลปะสมัยใหม่ในไทย เป็นคนที่ชาวมหาวิทยาลัยศิลปากร รักเคารพเหมือนเป็นบิดาด้านศิลปะ อ. ศิลป์ นำเอาคติพจน์บทนี้มาสอนลูกศิษย์ให้หมั่นเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะชีวิตสั้น แต่ศิลปะนั้นมีอายุยืนยาว เรียนรู้เท่าไรก็ไม่จบสิ้น จึงกลายเป็นเหมือนวาทะประจำตัวของ อ. ศิลป์ พีระศรี
ภาพเขียนสีผนังถ้ำ 'ผาแต้ม' อ. ศรีเชียงใหม่ จ. อุบลราชธานี บอกเล่าวิถีเกษตรและประมงพื้นบ้านของคนโบราณ เมื่อ 4,000 ปีล่วงมาแล้ว ดุจเดียวกับภาพเขียนโบราณตามผนังถ้ำ ในทุกภาคของประเทศไทย
อักษรหรือตัวหนังสือนั้นเกิดขึ้นทีหลังภาพเขียน ชิ้นงานศิลปะหรือภาพเขียนทั้งปวง จึงเปรียบเสมือนจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกยุคสมัย
50 ปี จาก 14 ตุลาคม 2516 ถึงวันนี้ ปี 2566 เป็นแรงบันดาลใจให้เกิด 101 ชิ้นงานศิลปะและภาพเขียนที่กลั่นจากจินตนาการของ 50 ศิลปิน และอีก 3 ศิลปินรับเชิญ
จะประเมินค่า 14 ตุลา 16 อย่างไร คงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไปไม่รู้จบ อันที่จริงก็ไม่ควรมีจุดจบในการประเมินคุณค่า เพราะเป็นเรื่องต่างมุมมอง ไม่มีใครจะห้ามความคิดคนอื่นได้ ทุกคนล้วนสวมแว่นสีด้วยกันทั้งนั้น จะกล่าวโทษกันไปกันมาก็ไร้ประโยชน์ และไม่ว่าใครก็ไม่ควรเป็น ผู้พิพากษาประวัติศาสตร์
บางคนว่าเหตุการณ์นั้น เพียงทำให้ผู้มีอำนาจ 3 คน ต้องบินหนีออกนอกประเทศ บางคนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โครงสร้างทุกอย่างยังคงเดิม บางคนชี้ว่า เห็นไหมเอาเข้าจริง ก็ไม่สามารถเผด็จอำนาจทหารได้จริง เพราะทหารยังทำรัฐประหารตามมาอีกหลายครั้ง ในรอบ 50 ปีมานี้
คำถามคือ ใช่หรือไม่ว่า 14 ตุลา 16 ได้ทำให้การเมืองที่เคยผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำไม่เกิน2,000 คน กลายมาเป็นการเมืองของภาคประชาชน อย่างมีนัยสำคัญ
การเมืองเดิมแบบทุบโต๊ะจากบนลงล่าง โดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้ไม่ได้อีกต่อไป
แม้การเมืองภาคตัวแทน (Representative Democracy) ที่ถือเอาการเลือกตั้ง 4 ปีครั้งเป็นสรณะแต่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถเดินหน้าไปด้วยดีได้ เพราะประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ได้ช่วงชิงพื้นที่สาธารณะขึ้นมามหาศาลอย่างไม่อาจถอยหลังกลับไปได้อีกแล้ว
จริงอยู่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายหน แต่ใช่ว่าผู้มีอำนาจจากรัฐประหารนั้นจะสามารถ ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จได้ดังแต่ก่อน รัฐประหาร รสช. เมื่อ 23 กพ. 2534 จึงต้องอาศัยใบบุญของ นายอานันท์ ปันยารชุน ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และเป็นตัวของตัวเอง มาเป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐประหารของ รสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แม้จะได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องปรับตัวแปลงตน เคารพในสิทธิเสียงและพื้นที่สาธารณะของประชาชน ดังที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ นับตั้งแต่ฉบับ 2517 จนถึง ฉบับ 2560 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพไว้
ด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ นับแต่ฉบับ 2517 เป็นต้นมา ทำให้คนไทยทุกระดับมีศักดิ์ศรีขึ้นมาเสมอหน้า คนมียศถาบรรดาศักดิ์ และชนชั้นนำ
ใครเลยจะคาดคิดว่า คนอย่าง แม่สมปอง เวียงจันทร์ ผู้นำชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล สามารถนั่งบนโต๊ะเจรจาในระนาบเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล
ทำไมเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น ที่รัฐบาลหมายจะสร้าง จึงสร้างไม่ได้ ทำไมนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จึงถูกรัฐบาลสั่งชะลอโครงการไว้ก่อนจนกว่าจะทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) นี่คืออำนาจของประชาชนที่สามารถสร้างพื้นที่ต่อรองทาง การเมือง ขึ้นมาได้ในนโยบายสาธารณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองเรื่องสิทธิชุมชนไว้ แม้แต่บริการสาธารณสุขของไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับและยกย่องให้เป็นแบบอย่างในระดับสากล ที่ประชาชนทั่วประเทศไม่เลือกชั้นวรรณะ สามารถเข้าถึงและรับบริการได้ ก็มาจาก พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันเนื่องมาจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2517 เป็นต้นมา ที่บัญญัติให้การบริการรักษาสุขภาพต่อประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นหน้าที่ของรัฐ
14 ตุลา 16
จึงเปลี่ยนการเมืองของชนชั้นนำให้กลายเป็น การเมืองของภาคประชาชน
ทำให้ระบบเจ้าขุนมูลนาย คลายตัวลง ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มีพื้นที่และมีพื้นทาง
จึงทำให้ ชนชั้นผู้ยากไร้ ไม่ว่ากรรมกร ชาวนา สามารถเข้าถึงโอกาสแห่งการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ โดยผ่านกฎหมายต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญบัญญัติ และสามารถผนึกกำลังสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองได้
ในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ในปีนี้ ศิลปินยอดฝีมือ 53 คน ที่มีจิตวิญญาณโยงใยและ สืบสานเจตนารมณ์ 14 ตุลา จึงกลั่นจินตนาการเป็นชิ้นงานศิลปะที่เลอค่ายิ่ง
ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2557 เขียนภาพชื่อ 'เมตตาธรรม' ด้วยความรู้สึกว่า 'โลกทุกวันนี้ มีแต่เรื่องความคิดแตก ความเห็นต่าง รักถิ่นตน แต่รุกล้ำดินแดน คนอื่น สันติธรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะใจคนยังขาดความเมตตาธรรม คนยังไม่ถือธรรมาธิปไตย สังคมจึงยังไปไม่ถึงประชาธิปไตย ที่แท้จริงได้สักที'
กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2540 วาดเส้นและสีน้ำบนกระดาษในระหว่างเดินทางใต้ฟ้าตะวันตกที่อเมริกา กลายเป็นภาพ 'ย่างย้ำ ย่างยาว เถื่อนด้าว จรดล'
กิตติศักดิ์ มีสมสืบ (ศักดิ์สิริ) เสนอภาพ อนธการ (2) ด้วยบทกวีว่า
“ความมืดสีขาวจะพราวกระจ่าง
สลายร่างประกอบนามสิ้นกำศรวล
อณูวิจิตรอิสระจะรวมมวล
แสงสว่างจะปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลง
ฝ่าวิกฤตบิดเกลียวและเชี่ยวกราก
อนธการจะกระชากหน้ากากแสง
แสงสว่างสีดำจะสำแดง
ไล่ปีศาจที่แฝงในแสงลวง”
สมภพ บุตราช ศิลปินที่ใช้ดินสีน้ำตาลดำเป็นสีวาดภาพ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ปกสูจิบัตร) อันอร่ามเรือง อธิบายให้เห็นว่า
“ชีวิต ที่กำเนิดเกิดมาบนโลกใบนี้ แม้จะต่างเผ่าเหล่ากอ เชื้อชาติผิวสี แหล่งกำเนิดก็เกิดมาแต่ดินด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่จะต่างกันที่เห็นได้ก็คือกรรม การกระทำของแต่ละคน ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว รวยหรือจน ยาจกหรือมหาเศรษฐี เทพหรือมาร ก็เป็นเรื่องราวที่น่าบันทึกไว้ด้วยดิน”
สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ผู้เขียนภาพ 'เสรีภาพ' บันทึกประกอบภาพว่า
“อิสรภาพและเสรีภาพ เป็นสมบัติที่ติดตัวของทุกคน มาตั้งแต่เกิดตามธรรมชาติ โดยมีความรักความเอื้ออาทรต่อกันเป็นดั่งกรงขังที่ยั่งยืนและถาวรที่ทุกคนและทุกสรรพสิ่งสมัครใจที่จะอยู่และพัฒนา โปรดอย่าใช้ห่วงแห่งความชั่วร้าย มาเป็นตัวถ่วงอิสรภาพและเสรีภาพเลย บ้านเมืองเราจะได้เจริญงอกงามเป็นที่พึ่งของคนรุ่นหลังต่อไป.................. ก่อนตาย”
ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2556 เขียนภาพ 'ตุลาอาถรรพ์' โดยอธิบายภาพว่า
'อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยใหม่'
ภายใต้ ศาสนธรรม
สี่ปีก คือ พรหมวิหารสี่ มีเมตตา
กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ตรงกลาง มีดอกบัว
เราเรียนรู้ธรรมศาสตร์ แต่เราขาดศาสนธรรม
เรารู้แต่กฎหมาย แต่เราไม่รู้จักพอ
มีแต่การเอาเปรียบกัน
ตุลาอาถรรพ์ เพราะความโลภ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพและชิ้นงานศิลปะงานทั้งหมด 101 ภาพ ในงาน 'สีสันแห่งเดือนตุลา' 50 ปี 14 ตุลา 50 ศิลปิน ซึ่งจะเปิดการแสดงในระหว่าง 29 กค. – 30 สค.66 ณ หอนิทรรศการ g 23 (หอใหญ่) ชั้น 2 อาคารนวัตกรรม ศ. ดร.สาโรช บัวศรี ม. ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สุขุมวิท 23
สำหรับ วันเสาร์ที่ 29 กค.66 เวลา 16.00 – 20.00 น. จะมีพิธีเปิดการแสดง โดย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีบทกวี ดนตรี จาก 3 ศิลปินแห่งชาติ และมี Chamber Orchestra ประกอบการแสดงภาพในวันนั้นด้วย
ภาพที่จัดแสดง พร้อมจะให้ผู้สนใจจองซื้อ เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการจัดทำห้องเอนกประสงค์ (Multi - Purpose) เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (C0 – Creative Space) ปรับปรุงห้อง ศูนย์ข้อมูล (Resource Center) 14 ตุลา จัดทำห้องนิทรรศการและแกลเลอรี่ ณ อาคาร อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว และเพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการ 50 ปี 14 ตุลา ทั้งงานเสวนาและงานศิลปะวัฒนธรรม ทั้งในกรุงเทพฯ ในภาคอิสาน ภาคเหนือ และภาคใต้
งาน'สีสันแห่งเดือนตุลา' และกิจกรรมตามโครงการ 50 ปี 14 ตุลา ที่มีมูลนิธิ 14 ตุลา และ มูลนิธิเด็ก ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัด นอกจากเป็นการแสดงคารวะธรรมต่อผู้เสียสละในเหตุการณ์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังเป็นการย้ำเตือนให้เห็นคุณค่าของจิตวิญญาณแห่งเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคมเป็นภารกิจที่จะต้องสืบสานต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ผู้เขียน