"...เห็นได้ว่า คอร์รัปชันและกลไกรัฐที่บิดเบี้ยวขาดประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่บีบให้เกษตรกรโคนมตัวจริงเสียโอกาส ขาดประโยชน์ ตลาดเต็มไปด้วยคนกลางนายหน้า ขณะที่ขาใหญ่ไม่กี่รายกลายเป็น 'มาเฟียนม' ที่มีอิทธิพลครอบงำตลาดนมทั้งระบบได้เข้มข้นขึ้นตลอดเวลา..."
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อนมโรงเรียนประกอบด้วย 1. กระทรวงมหาดไทย ผ่าน อปท. 2. หน่วยปกครองพิเศษ กทม. พัทยา เชียงใหม่ 3. กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีข้อสังเกตว่า ‘หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีอำนาจใดๆ ในการคัดเลือกผู้ผลิต ยี่ห้อนม หรือกำหนดราคาได้เลย’
‘โครงการนมโรงเรียน’ เริ่มมีตั้งแต่ปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการในเด็กวัยเรียน และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมนมโดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย ดังนั้น หน่วยงานที่มีบทบาทดำเนินการในเรื่องนี้โดยตรงในวันนี้ คือ ‘กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร’
กรณี อปท. แม้ไม่มีอำนาจจัดซื้อแต่ยังเป็นผู้จ่ายเงินค่านม ผู้ขายจึงมักจ่ายใต้โต๊ะเล็กน้อยเป็นค่า 'เร่งเวลา' ให้จ่ายเงินเร็วขึ้น ไม่จุกจิกเอกสาร โดยมากจ่ายในช่วงเทศกาล งานเลี้ยง วันเด็ก วันปีใหม่
‘ระบบโควตา’ จุดเริ่มคอร์รัปชันและการผูกขาด
การจัดสรรโควตาเริ่มใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นอำนาจของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (คณะกรรมการนมโรงเรียน) แบ่งเขตการขายและลำเลียงส่งมอบนมให้ถึงโรงเรียน ออกเป็น 5 กลุ่ม แยกออกเป็น 9 พื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เพื่อแก้ปัญหาโลจิสติกส์ ลดต้นทุนขนส่ง ลดการขายตัดราคา และควบคุมคุณภาพนม
ผู้ได้โควตาเท่ากับได้รับการยืนยันว่า ในตนมียอดขายในแต่ละวัน ขายให้โรงเรียนใดบ้าง ตามจำนวน ราคาและเงื่อนไขการเงินที่รัฐกำหนดไว้
ในปี 2566 มีผู้ประกอบการ 110 รายได้รับโควตาจากผู้เสนอขอทั้งสิ้น 121 ราย ปัจจุบันมีการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และอีกหลายหน่วยงาน ว่าเกิดความไม่เป็นธรรมและคอร์รัปชันในการจัดสรรโควตา เช่น
1.คกก. นมโรงเรียน กำหนดกติกาจัดสรรโควตาที่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีการใช้ดุลพินิจไม่เป็นธรรม
2.ผู้ได้โควตาบางรายไม่มีแหล่งผลิตนมสด หรือเครือข่ายเกษตรกรจริง หรือมีน้อยกว่าที่แจ้ง เมื่อหน่วยราชการออกสำรวจก็จะว่าหลอกว่ามีของมากโดยซื้อนมจากที่อื่น ที่เรียกว่า 'กองนมปลอม'หรือ 'นมผี' และอาจติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งเพื่อความมั่นใจ
3.ผู้ผลิตรายใหญ่ใช้วิธี ‘แตกลูก’ เป็นบริษัทหรือสหกรณ์รายย่อยหรือนมมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มโอกาสครองโควตา ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่น
4.ปี 2566 องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลาง ถูกตัดโควตานม 49 ตันต่อวันจากที่เคยได้ปีที่แล้ว เพราะตรวจเจอเชื้อแบซิลลัสในน้ำนมดิบ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า อ.ส.ค. รัฐวิสาหกิจเก่าแก่ถูกจัดฉากวางยาเพื่อยึดเอาโควตาไป ร้ายกว่านั้นคือ โควตาที่ยึดไปแล้วแทนที่จะนำไปจัดสรรให้สหกรณ์หรือเอกชนที่ได้โควตาน้อยเพื่อกระจายโอกาส กลับถูกแบ่งตาม 'สัดส่วนที่ได้รับไปแล้ว' ทำให้รายใหญ่ได้เปรียบมากขึ้นอีก
คอร์รัปชันและกลไกรัฐที่บิดเบี้ยวขาดประสิทธิภาพ
“สหกรณ์และเอกชนที่ไม่มีเส้นสายมักยอมจ่ายเงินผ่านล็อบบี้ยิสต์ หรือ คนกลาง เพื่อให้ได้โควตา จำนวนนมสำเร็จรูปและพื้นที่ที่ต้องการ เคลียร์ทุกปัญหารวมทั้งคุณภาพนม” ผู้บริหารสหกรณ์แห่งหนึ่งให้ข้อมูล
ขณะที่สหกรณ์และเอกชนรายเล็กที่อาศัยคนกลางวิ่งโควตาและจัดส่งนมอาจยอมให้เขาบวกค่าขนส่งจากเฉลี่ย 40 - 50 สตางค์ขึ้นไปเป็น 1 บาทต่อหน่วย ค่าบรรจุภัณฑ์บวกเพิ่ม 20 สตางค์ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นกำไรน้อยลง
มีข้อควรพิจารณาว่า ระบบโควตาทำให้ตลาดมีการแข่งขันน้อย ผู้เลี้ยงโคนมมีช่องทางจำหน่ายน้ำนมดิบจำกัด อาจเจอกับผู้รับซื้อที่เป็นศูนย์รับซื้อนมและเอกชนที่ไม่ซื่อสัตย์ รวมถึงสหกรณ์ที่ไม่ได้เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรอย่างแท้จริง จึงฉวยโอกาสกดราคารับซื้อน้ำนมดิบต่ำกว่า 'ราคากลาง' ที่รัฐบาลกำหนดเพื่อเพิ่มกำไรให้ตัวเอง
เห็นได้ว่า คอร์รัปชันและกลไกรัฐที่บิดเบี้ยวขาดประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่บีบให้เกษตรกรโคนมตัวจริงเสียโอกาส ขาดประโยชน์ ตลาดเต็มไปด้วยคนกลางนายหน้า ขณะที่ขาใหญ่ไม่กี่รายกลายเป็น งมาเฟียนมง ที่มีอิทธิพลครอบงำตลาดนมทั้งระบบได้เข้มข้นขึ้นตลอดเวลา
ข้อเสนอเพื่อการแก้ไข
1.อปท. และโรงเรียนต้องเข้มงวดเรื่องการส่งมอบ รับมอบและจัดเก็บนมเสมอ
2.กติกาพิจารณาโควตาต้องทำประชาพิจารณ์ให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้และยอมรับ การตัดสินต้องเปิดเผยเป็นธรรม ยึดกฎเกณฑ์และข้อตกลงอย่างเคร่งครัด
3.นมทุกกล่องมีคิวอาร์โค้ดให้ตรวจสอบไปยังแหล่งผลิตได้ พร้อมกับพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ตรวจสอบผู้ผลิต กำลังการผลิต การนำเข้าวัตถุดิบเช่น ถุง/กล่องบรรจุ การจ้างงาน ฯลฯ
4.ควรพิจารณาว่า การเปิดตลาดเสรีเพื่อแก้ปัญหาโควตาไม่เป็นธรรมและการผูกขาดจะทำได้เพียงใด
เพราะเชื่อว่าจะทำให้โรงเรียนได้รับบริการที่ดีขึ้น ราคานมถูกลง แต่จะเกิดความเสี่ยงตามมาเช่น การตัดราคา ฮั้วประมูล ลดคุณภาพนม การติดสินบน การเพิ่มภาระ อปท. และโรงเรียน ฯลฯ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
อ่านย้อนหลัง EP.1 โกงนมโรงเรียน: กลไกตลาด: ทำไมต้องแย่งชิง? https://www.isranews.org/article/isranews-article/119990-manaaa-36.html