"...'คอร์รัปชันนมโรงเรียน' สะท้อนให้เห็น 'กลโกง' ที่ปรับตัวตามกลไกและนโยบายของรัฐ และ กลไกตลาดนมโรงเรียนที่จูงใจผู้ประกอบการต้องเข้ามาแย่งชิงตลาดนี้ แน่นอนว่า รัฐและประชาชนยังคงเป็นผู้เสียหายอยู่เช่นเดิม..."
'นมโรงเรียนคุณภาพดีเหมือนนมที่ขายทั่วไปหรือไม่?' ผู้บริหารโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังโกงนมเด็กอยู่ไหม? ทำอย่างไร นมบูด นมปลอมปน จะหมดไป? แล้วยังมี 'นมกระดาษ' โผล่มาอีก
สารพันปัญหานมโรงเรียน แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขวันนี้คือ 'นายทุน' บางรายกลายเป็น 'มาเฟีย' ครอบงำอุตสาหกรรมนมของชาติ !
'คอร์รัปชันนมโรงเรียน' สะท้อนให้เห็น 'กลโกง' ที่ปรับตัวตามกลไกและนโยบายของรัฐ และ กลไกตลาดนมโรงเรียนที่จูงใจผู้ประกอบการต้องเข้ามาแย่งชิงตลาดนี้ แน่นอนว่า รัฐและประชาชนยังคงเป็นผู้เสียหายอยู่เช่นเดิม
ทำไมต้องแย่งกันขายนมโรงเรียน ? ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบ 3,300 ตันต่อวัน กระจายสู่ตลาด 3 กลุ่มคือ
1.นมโรงเรียน ปริมาณ 1,100 ตัน/วัน
2.นมพาณิชย์หรือนมที่วางขายทั่วไป
3.นมเพื่อการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ (ประเทศไทยผลิตนมผงไม่ได้ เพื่อปกป้องผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ รัฐจึงกำหนดให้ผู้นำเข้านมผงจากต่างประเทศ ต้องผลิตหรือซื้อน้ำนมดิบเพื่อเป็นฐานคิดสัดส่วน น้ำนมดิบ: นมผงนำเข้า = 20:1 คิดเป็นน้ำหนัก)
'นมโรงเรียน' เป็นตลาดเดียวที่มี 'ระบบโควตา' ตามนโยบายรัฐ ผู้ถือโควตาจึงมีตลาดแน่นอนในราคาที่รัฐรับซื้อ รู้ชัดเจนและวางแผนได้ง่ายว่าต้องส่งของที่โรงเรียนไหน จำนวนเท่าไหร่ในแต่ละวัน ไม่มีต้นทุนโฆษณาหรือความเสี่ยงจากการแข่งขันในตลาดใดๆ เลย นับเป็นข้อได้เปรียบที่ทุกฝ่ายต้องการเพื่อความมั่นคงและโอกาสขยายไปครอบงำตลาดนมพาณิชย์และนมเพื่อนำเข้านมผงต่อไป
'นมโรงเรียน' ใช้งบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับเด็กทั้งระบบกว่า 6.7 ล้านคน รัฐบาลให้เงินอุดหนุนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดซื้อ แล้วส่งมอบให้โรงเรียนในพื้นที่ของตนด้วยราคา 6.89 – 8.13 บาทต่อถุง/กล่อง จำนวน 260 - 280 ถุง/กล่อง ต่อคนต่อปี โรงเรียนจะแจกนมพาสเจอร์ไรส์หรือนมถุงให้เด็กดื่มที่โรงเรียน และแจกนมยูเอชทีหรือนมกล่องในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม
'นมโรงเรียน' เป็นนมที่ถูกกำหนดมาตรฐานสารอาหารและปราศจากการปนเปื้อนไว้สูงกว่า 'นมพาณิชย์' ทั่วไป แต่ที่ผ่านมาปัญหา 'นมบูด' มักเกิดจากการขนส่งและจัดเก็บไม่เหมาะสมของผู้ผลิตหรือโรงเรียนก่อนแจกจ่ายให้เด็ก ขณะที่ 'นมเจือจาง' หรือ 'นมผสมนมผง' เกิดจากความไม่ซื่อสัตย์ของผู้ผลิตบางรายและเจ้าหน้าที่ไม่ดูแล
ทุกวันนี้มีนมโรงเรียนวางขายตามตลาดนัดและทางออนไลน์ ราคาลังละ 232 – 260 บาท มี 36 กล่อง ขนาด 200 มล. ขณะที่นมพานิชย์ทั่วไปราคาอยู่ที่ 339 – 350 บาทต่อลัง ราคาซื้อขายจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับจำนวนนมที่ผู้ขายมีอยู่ สั่งซื้อมากหรือน้อย ระยะเวลาที่เหลือก่อนนมหมดอายุ
ในปี 2559 ปรากฏข่าวคนไทยนำนมโรงเรียนไปขายในประเทศกัมพูชา มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ต่อมาผู้ค้านมอธิบายว่าเป็นสินค้าที่พวกเขาผลิตเผื่อไว้เกินจำนวน!! นมเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบที่เปิดเผยมีอย่างน้อย 3 แหล่งที่มา
1.โรงงานผู้ผลิต เป็นนมที่เหลืออายุบริโภคไม่ถึง 4 เดือน โดยเฉพาะในช่วงโควิด ไม่มีการแจกนมพาสเจอร์ไรส์ ผู้ผลิตต้องแปรรูปเป็นนมยูเอชที ทำให้มีของจำนวนมาก
2.คนในโรงเรียน เป็นนมเหลือเพราะนักเรียนไม่ดื่ม ส่วนเกินจากการแจกจ่าย หรือมี 'บัญชีผี'
3.ผู้ปกครองนักเรียน นำนมยูเอชทีที่โรงเรียนแจกยกลังสำหรับช่วงปิดเทอมออกมาขาย
แล้ว 'นมกระดาษ' ล่ะ ?
'นมกระดาษ' หมายถึง นมที่เกิดการซื้อขายใบเสร็จโดยไม่ได้มอบส่งนมจริง ตัวอย่างเช่น บางโรงเรียนมีโควตานมวันละ 1,000 กล่อง เด็กดื่มจริงเป็นประจำแค่ 400 กล่อง โรงเรียนจึงให้ผู้ขายจัดส่งแค่ 400 กล่อง แต่ออกใบเสร็จเต็มจำนวน 1,000 กล่อง
เงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นโรงเรียนได้ 70% เอาไปซื้อนมยี่ห้อดังรสอร่อยมาแจกเด็กของตนหรือเก็บไว้ ส่วนคนขายได้ 30% แล้วเก็บนมของตนไว้ขายต่อ
กลไกรัฐเอื้อให้เกิดคอร์รัปชันตรงไหน อย่างไร? โปรดติดตาม EP. 2
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผู้เขียน