“...ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก เสรีภาพการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูดเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิที่สามารถที่จะแสดงออก หรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิด ความเห็น รวมทั้งคำพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก โดยแต่ละบุคคลสามารถแสดงตัวตน ถึงแม้ว่าจะแตกต่างจากคนอื่นและบรรทัดฐานของสังคมนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะผ่านการแต่งตัว การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ หรือ การแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ… ”
สำหรับสถานการณ์การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเยาวชน ผ่านการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่เกิดการถกเถียงกันทางสังคม ทั้งนี้ มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยกับการใส่ชุดไปรเวทไปเรียน และอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน
จากกรณีการเรียกร้อง ‘การยกเลิกระเบียบข้อบังคับเครื่องแบบ-ทรงผมนักเรียน’ ให้สถานศึกษาเคารพสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายที่กําลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยให้นักเรียนแต่งกาย ด้วยชุดไปรเวท ย้อมสีผม หรือทำทรงผมใดก็ได้ตามต้องการ เข้าเรียนในสถานศึกษา ทำให้ให้เกิดกระแสทางสังคมเกี่ยวกับความเหมาะสม จนกระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวสุดโต่ง
ประเด็นนี้กลายเป็นข้อประเด็นร้อนให้สังคมได้ถกเถียงถึงความถูกต้องและความเหมาะสม การใส่ชุดไปรเวท ทำสีผมไปโรงเรียนเพื่อแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพทางด้านร่างกายส่วนบุคคลนั้นเป็นการแสดงออกที่เหมาะสมตามกาลเทศะหรือไม่ หากว่าต้องการแต่งกายด้วยชุดไปรเวท ทำทรงผมตามใจชอบ ทำไมถึงไม่เข้าเรียนในโรงเรียนที่เปิดกว้างด้านเครื่องแต่งกาย ?
ปัจจุบันการใส่ชุดไปรเวท หรือทำทรงผมตามความต้องการ ในการเข้าเรียนสถานศึกษา จึงเป็นเครื่องหมายในการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามปัจเจกบุคคลของกลุ่มเยาวชนในประเทศไทย ดังที่เห็นตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการติดแฮชแท็กในสังคมออนไลน์แพล็ตฟอร์มฮิต อย่างทวิตเตอร์ เช่น #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ #นักเรียนเลว #เสรีทรงผม #เสรีภาพการแต่งกาย
ย้อนรอย ชุดนักเรียนในอดีต
การแต่งเครื่องแบบชุดนักเรียน ริเริ่มมาจากการแต่งตัวให้เข้ากับกาลเทศะ ตามความเหมาะสมของสถาบันการศึกษา ชุดเครื่องแบบนักเรียน เป็นตัวบ่งชี้ถึงสังกัดของสถาบันการศึกษา มีหน้าที่ในการแสดงถึงความแตกต่างสำหรับผู้ที่เข้ารับการศึกษาในสถาบัน กับผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาในสถาบันนั้น
ในปี ค.ศ.1846 พบว่าได้ปรากฏภาพเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดของอังกฤษ (ราชโอรสราชินีวิคตอเรีย) ทรงแต่งชุดกะลาสีเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ชุดเครื่องแบบนักเรียนจึงริเริ่มมาจากชุดดังกล่าว จนกระทั่งกลายเป็นที่นิยมของเด็กๆ ทั่วโลก จากนั้นมีการนำชุดกะลาสีไปเป็นแบบฟอร์มชุดเครื่องแบบนักเรียนในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย
โรงเรียนในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาล 5 มีการก่อตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ทรงให้มีโรงเรียนสำหรับสามัญชนตามมา และได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน ปี พ.ศ.2482 ออกมาบังคับใช้ ภายหลังจากการใช้ พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน ปี พ.ศ.2482 พบว่ามีข้อบัญญัติบางประการไม่เหมาะสม จึงทำการยกเลิก แล้วเปลี่ยนมาใช้ พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551แทน โดยกำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ยุคแรกของระบบการศึกษาไทยเป็นการเรียนการสอนมีขึ้นที่วัดโดยพระเป็นผู้สอนหนังสือ ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนหลวง โรงเรียนราษฎร์เกิดขึ้น ก็มีการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียนตามมา เครื่องแบบนักเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ในยุคหนึ่ง เครื่องแบบนักเรียนไทยต้อง ‘สวมหมวก’ โดยเกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกที่นักเรียนมีหมวกเป็นเครื่องแบบ
บางโรงเรียนใช้เครื่องแบบเป็น ‘ชุดราชปะแตน’ บางโรงเรียนมีเครื่องแบบนักเรียนคล้ายชุดทหาร เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนนี้มีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นโรงเรียนเป็นการฝึกหัดบุคคลเข้ารับราชการทหาร เครื่องแต่งกายจึงใช้แบบทหาร
ต่อมาเมื่อโรงเรียนถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน เครื่องแต่งกายของนักเรียนจึงเปลี่ยนไป เริ่มแรกเครื่องแบบนักเรียนใช้เป็น เสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมถุงเท้ายาวสีขาวพับขอบบน รองเท้าหนังสีดำ แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เครื่องแบบโรงเรียนนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นกางเกงตัดเป็นจีบ รูดเลยหัวเข่าคล้ายโจงกระเบน ต่อมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นกางเกงขาสั้นแคบสีดำ เสื้อคงเดิม และสวมหมวกยาวปีกกลมคาดแถบผ้าสีเหลือง ตรงกลางหน้าหมวกมีเข็มกลัดโลหะอักษร สก. จากนั้นเครื่องแบบนักเรียนถูกเปลี่ยนอีกครั้ง กลายเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขาสั้นสีกากี และพัฒนามาเป็นกางเกงขาสั้นสีดำ
ทั้งนี้ จะเห็นว่า ชุดเครื่องแบบนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามยุคสมัย จนกระทั่งมาสู่ชุดเครื่องแบบนักเรียนในปัจจุบัน สำหรับโรงเรียนรัฐบาล ชุดเครื่องแบบนักเรียนที่พบเห็นส่วนใหญ่มักจะเป็นเสื้อแบบเชิ้ตแขนสั้น กางเกงสีกากี บางโรงเรียนใช้กางเกงสีดำสำหรับนักเรียนชาย ส่วนนักเรียนหญิงมักจะเป็นเสื้อคอปกสีขาว กระโปรงสีน้ำเงินหรือสีดำ อาจมีโบว์ผูกที่คอเสื้อ และจะมีการปักชื่อ หรือติดเข็มไว้บนอกเสื้อเพื่อบ่งบอกถึงสถาบันศึกษา
สำหรับโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ ก็มีเครื่องแบบที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของโรงเรียน โดยที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้แต่ละโรงเรียนพิจารณาและดำเนินตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ได้ สำหรับโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติบางแห่งอาจให้อิสระในการแต่งตัวตามความต้องการส่วนบุคคล โดยมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ภายใต้ความเหมาะสม
ภาพจาก: mahachon.net
กรณี เยาวชนวัย 15 ปี จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน สะท้อนภาพใดของระบบการศึกษาไทย
เมื่อที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา เยาวชน นักกิจกรรมคลื่อนไหวทางการเมือง วัย 15 ปี จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ถูกโรงเรียนไล่ออก และห้ามเธอเข้าโรงเรียนเพราะถือว่าเป็นบุคคลภายนอก โดยที่รองผู้อำนวยการโรงเรียนแจ้งว่าจะคืนค่าเทอมให้ทั้งหมด ส่วนสาเหตุเธอยังไม่แน่ใจว่าอาจเป็นเพราะเธอทำผิดกฎระเบียบของโรงเรียนคือย้อมสีผมและใส่ชุดไปรเวทมาเรียน หรือเธอมีคดี มาตรา112 ติดตัวกันแน่ วันถัดมา เธอยังคงไม่ละความพยายามในการเข้าเรียน เธอแต่งชุดไปรเวท ย้อมสีผม เดินทางไปเรียนตามปกติ แต่ทางโรงเรียนปิดประตูไม่ให้เข้า เธอจึงต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียนและทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 เธอก็ยังคงแต่งกายผิดระเบียบ และฝ่าฝืนคำสั่งปีนรั้วเข้าโรงเรียนเป็นครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้ทางโรงเรียนได้ออกหนังสือชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้พ้นสภาพนักเรียน โดยให้เหตุผลว่า เพราะไม่มีผู้ปกครองมารายงานตัวตามกำหนด และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน แต่เธอได้ยืนยันว่าตนเองได้เข้ารับการมอบตัวเสร็จสมบูรณ์ตามวันเวลาที่กำหนด โดยมอบหมายให้ บุ้ง หนึ่งในแกนนำ ทะลุวังพาไปมอบตัว เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับผู้ปกครองได้
ภายหลังจากนั้น เธอยังคงไม่หยุดความพยายามในการไปโรงเรียน เธอยังคงแต่งกายผิดระเบียบและพยายามเข้าโรงเรียนโดยการปีนรั้วเข้าโรงเรียนแต่ถูกทางโรงเรียนขู่จะแจ้งความข้อหาบุกรุก ทุกวันที่ไปเรียน เธอไม่ได้เข้าร่วมการเข้าแถวเคารพธงชาติ และเลือกเข้าเรียนเฉพาะวิชาที่ชอบ เธอยังคงแสดงออกซึ่งจุดยืนที่ชัดเจนของตนเองและมองว่าการแต่งกายไม่ใช่ตัวชี้วัดทางการศึกษา
ดังนั้นการที่โรงเรียนกีดกันเด็กจากการศึกษาโดยอ้างถึง การมอบตัวที่ไม่เสร็จสมบูรณ์โดยไม่มีผู้ปกครองที่แท้จริงมายืนยันการมอบตัว สามารถสะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบการศึกษาและการขาดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองได้หรือไม่ เนื่องจากโรงเรียนรู้ว่าเด็กมีปัญหาด้านครอบครัว ทำไมถึงไม่จัดตั้งผู้ดูแลแทนเพื่อให้เด็กได้เรียน แต่โรงเรียนกลับนำข้อนี้มาอ้างเพื่อกีดกันให้เด็กออกจากสถานศึกษาโดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิที่เด็กพึงได้รับ
- รร.เตรียมอุดมฯ พัฒนาการ แถลงปมเยาวชน นักเคลื่อนไหวไม่มีสถานะนักเรียน เหตุไม่มามอบตัวตามกำหนด
- รร.เตรียมอุดมฯ พัฒนาการ แถลง ฉบับที่ 2 ยันเยาวชน นักเคลื่อนไหวไม่มีสภาพเป็น นร.
- กสม.แถลงการณ์ปมเยาวชน นักเคลื่อนไหว ชี้เด็กทุกคนต้องไม่ถูกตัดออกจากระบบการศึกษา
การแต่งเครื่องแบบนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจริงหรือไม่ ?
การใส่ชุดนักเรียน และชุดไปรเวทไปเรียนนั้น เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองและความสะดวกของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่มที่สนับสนุนการสวมใส่เครื่องแบบ
เนื่องจากว่า การใส่ชุดเครื่องแบบ-ทรงผมนักเรียนนั้น เพื่อเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสามารถปลูกฝังระเบียบวินัย การสวมเครื่องแบบสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเท่าเทียมกัน และลดโอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติจากการเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ในแต่ละวัน
ปัจจุบัน เครื่องแต่งกายนั้นกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เสื้อผ้ามักจะเปลี่ยนไปตามความนิยมมากกว่าคุณภาพการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กวัยรุ่นผู้หญิง เนื่องจากการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการตามเทรนด์เครื่องแต่งกายแฟชั่น และอาจเกิดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยตามมาได้
2. กลุ่มที่สนับสนุนการสวมชุดไปรเวท
เนื่องจากมองว่า การสวมเครื่องแบบชุดนักเรียนทำให้เกิดบรรยากาศที่ถูกควบคุมในลักษณะเผด็จการ อีกทั้งชุดเครื่องเเบบยังทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีเครื่องแบบที่หลากหลายตามแต่ละวันของสัปดาห์ อีกทั้งการสวมชุดนักเรียนนั่นไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้เพราะมีอีกหลายอย่างที่เด็กพกไปโรงเรียนด้วย เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าใส่หนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียน หรือแม้แต่เครื่องแบบชุดนักเรียนเองก็เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้เช่นกัน
การแต่งกายด้วยชุดไปรเวทนั้นสามารถสนับสนุนความหลากหลายทางเพศได้ โดยที่เด็กนักเรียนสามารถเลือกแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง เพราะถ้าสภาพนิเวศน์ดี สภาพจิตใจก็จะดีตามไปด้วย และส่งผลให้เกิดแรงผลักดันในการตั้งใจเรียนตามมา เช่น สาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้เด็กเลือกแต่งกายตามที่ปรารถนา เพื่อให้เด็กได้มีความมั่นใจในตนเอง และสนุกกับการใช้ชีวิตโดยไม่มีกฎเกณฑ์มาตีเส้นกรอบความคิด
ทั้งนี้ การใส่ชุดนักเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโรงเรียน เพื่อไปเจอสังคมความเป็นจริงที่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่า อาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังไงเด็กเหล่านี้ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างทางชนชั้นฐานะ ดังนั้น สมควรอย่างยิ่งที่ควรจะหาแนวทางในการยอมรับความแตกต่างและทำอย่างไรให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกันโดยให้เกียรติซึ่งกันและกันได้
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ประกาศให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทเข้าเรียน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562
มุมมองของ ‘ชุดนักเรียนกับอำนาจนิยมทางสังคม’ ที่ถูกซ่อนเร้น
ชุดเครื่องแบบนักเรียนเป็นกลไกที่รัฐบังคับใช้เพื่อให้คนอยู่ภายใต้กรอบระเบียบวินัยเดียวกัน การควบคุมการแต่งกาย ทรงผมผ่านเครื่องแบบชุดนักเรียนโดยที่ทุกคนที่ไปโรงเรียนต้องน้อมรับกฎเกณฑ์นี้เหมือนกันหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น การปลูกฝังให้ทุกคนมีแนวคิดแบบเดียวกันเพื่อการง่ายต่อการควบคุมความคิด และเป็นการตีเส้นให้ทุกคนอยู่ในกรอบที่วางไว้ หากใครออกนอกกรอบที่วางไว้ก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกนอกคอก
ชุดเครื่องแบบและทรงผมนักเรียน สามารถกล่าวได้ว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกทางด้านร่างกายและความคิดที่ถูกปลูกฝังกันมาในสังคมไทยอย่างยาวนาน เด็กนักเรียนควรแต่งกายให้เรียบร้อย ไม่ไว้ผมยาว เด็กควรเคารพครูบาอาจารย์เนื่องจากเป็นผู้มีพระคุณที่ให้ความรู้แก่เรา เด็กไม่ควรโต้เถียงและควรเชื่อฟังผู้ใหญ่เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนเด็กที่ดีควรปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมไทย การปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้ทำให้เด็กไทยไม่กล้าที่จะออกนอกกรอบความคิดที่ถูกวางไว้เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นเด็กไม่ดี และกลายเป็นตัวแปลกประหลาดในสังคม
ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2563 การชุมนุมของนักเรียนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้เข้มข้นขึ้น การเรียกร้องเสรีภาพด้านการแต่งกายได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง การที่เด็กใส่ชุดนักเรียนไปประท้วงเนื่องจากต้องการแสดงให้เห็นถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงกรอบแนวคิดของสังคมไทยว่า ถึงแม้จะเป็นเด็กแต่ก็สามารถมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ กลุ่มนักเรียนที่มีมุมมองและความเชื่อว่านักเรียนควรมีบทบาทและอำนาจในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางสังคมและการเมือง เพราะการเมืองนั้นก็มีผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าเด็กและนักเรียนมีสิทธิและคุณสมบัติที่สามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมได้
ดังที่ unicef ได้ระบุไว้เป็นบทบัญญัติในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่า
“เด็กทุกคนในโรงเรียน รวมทั้งเด็กที่มีความพิการ เด็กชาติพันธุ์ เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และเด็กชนกลุ่มน้อย มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียน โดยต้องสนับสนุนการเคารพซึ่งกันและกัน และการไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ โรงเรียนนั้นเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และควรมีวัฒนธรรมการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน”
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่กลุ่มนักเรียนที่มีแนวคิดและจุดยืนของตนจะออกมาเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ เพื่อต้องการปฏิวัติให้เกิดสังคมแบบใหม่ เพียงแต่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้าง ไม่ยอมรับความเห็นต่าง และยังคงเป็นลักษณะอำนาจนิยม ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ตามหลักจารีตประเพณีไทย
นิด้าโพลเผย 80% ชี้ชุดนักเรียนส่งเสริมระเบียบวินัย
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยเปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “สิทธิ เสรีภาพ และกฎระเบียบในโรงเรียน” เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพและกฎระเบียบในโรงเรียน การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อ ‘เครื่องแบบนักเรียน’ พบว่า ร้อยละ 80.53 ระบุว่า เพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย ร้อยละ 35.65 ระบุว่า เป็นการบ่งบอกถึงสถานศึกษาของนักเรียน ร้อยละ 23.82 ระบุว่า เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ทำให้ผู้ปกครองประหยัด ร้อยละ 20.23 ระบุว่า เป็นการป้องกันการแอบอ้างเป็นนักเรียน ร้อยละ 18.17 ระบุว่า เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียน/ผู้ปกครอง ร้อยละ 11.53 ระบุว่า เพิ่มภาระด้านการเงินให้ผู้ปกครอง ร้อยละ 10.00 ระบุว่า ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทุก ๆ โอกาส ร้อยละ 6.18 ระบุว่า เป็นการแบ่งชนชั้นระหว่างโรงเรียน ร้อยละ 4.73 ระบุว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพของนักเรียน ร้อยละ 2.60 ระบุว่า ทำให้นักเรียนไม่ปลอดภัย ร้อยละ 2.29 ระบุว่า เป็นเครื่องหมายของการกดขี่/อำนาจนิยม และร้อยละ 0.15 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อ ‘แนวคิดยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน’ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.47 ระบุว่า การบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนควรมีต่อไป รองลงมา ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ในรอบสัปดาห์ควรอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวตไปโรงเรียนได้บ้าง ร้อยละ 5.88 ระบุว่า สมควรให้นักเรียนได้มีอิสระที่จะเลือกว่าจะใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนหรือไม่ ร้อยละ 5.04 ระบุว่า ควรให้เรื่องการใส่เครื่องแบบนักเรียนอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารแต่ละโรงเรียน ร้อยละ 4.50 ระบุว่า ควรให้เรื่องการใส่เครื่องแบบนักเรียนเป็นไปตามประชามติของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน ร้อยละ 4.27 ระบุว่า สมควรยกเลิกการใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน และร้อยละ 0.15 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
จากแบบสำรวจของ ‘นิด้าโพล’ พบว่า ผลโหวตของใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนเพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย ยังคงสูงกว่าการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน อาจมีสาเหตุมาจาก การใส่เครื่องแบบชุดนักเรียนถือเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยสร้างความเป็นไทย และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตัวตนและสังคมไทย การใส่ชุดไปรเวทนั้นไม่สามารถบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมและความเป็นไทยเท่าที่เครื่องแบบชุดนักเรียนสามารถทำได้
กรณีศึกษาค่านิยมของยูนิฟอร์มชุดนักเรียนในต่างประเทศ
ยูนิฟอร์มนักเรียนเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก แต่ละประเทศอาจมีค่านิยมและความสำคัญที่แตกต่างกันไป ดังนี้เป็นตัวอย่างค่านิยมของยูนิฟอร์มชุดนักเรียนในบางประเทศ :
ญี่ปุ่น
- เครื่องแบบนักเรียนหญิงที่เรียกว่า ‘เซฟุกุ’ มีต้นแบบมาจากเครื่องแบบทหารเรือสไตล์ยุโรป โดยเครื่องแบบนักเรียนเป็นข้อบังคับในโรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน ชุดนักเรียนญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของเยาวชนเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในวัฒนธรรมของประเทศ เนื่องจากให้ความรู้สึกว่าช่วยปลูกฝังระเบียบวินัยและความเป็นชุมชนในหมู่เยาวชน
ออสเตรเลีย
- เครื่องแบบนักเรียนเป็นเรื่องปกติในโรงเรียนของออสเตรเลีย โดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ ทั้งนี้นโยบายอาจขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ การที่โรงเรียนในออสเตรเลียหลายแห่งกำหนดให้นักเรียนสวมใส่เครื่องแบบเพราะเชื่อว่าส่งเสริมความรู้สึกสามัคคีในหมู่นักเรียน ตลอดจนลดการรังแกกันและสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เครื่องแบบนักเรีบนมักถูกมองว่าเป็นวิธีการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของนักเรียน
สหราชอณาจักร
- มีการบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียนอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนประถมและมัธยมของรัฐบาลและเอกชน มีเพียงโรงเรียนเอกชนไม่กี่แห่งในเซอร์เรย์ เคนท์ ลอนดอน และแฮมเชอร์ นำนโยบายการไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียนมาใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่านักเรียนมีอิสระในการเลือกที่จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้
จากกรณีศึกษาต่างประเทศ พบว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศที่สนับสนุนให้นักเรียนสวมชุดเครื่องแบบ นักเรียนเพื่อเสริมสร้างเอกลักษณ์และลดการแข่งขันด้านการแต่งกาย ชุดเครื่องแบบอาจแตกต่างไปตามศาสนา วัฒนธรรม และนโยบายของแต่ละประเทศและโรงเรียน สำหรับแต่ละประเทศอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใส่ยูนิฟอร์มที่ต้องปฏิบัติตามอีกด้วย
ชุดนักเรียนประเทศญี่ปุ่น
ภาพจาก: learnjapanese123.com
หลักสิทธิมนุษยชน ที่ว่าด้วยการแสดงออก
ปัจจุบันเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิที่สามารถที่จะแสดงออก หรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิด ความเห็น รวมทั้งคำพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก โดยแต่ละบุคคลสามารถแสดงตัวตน ถึงแม้ว่าจะแตกต่างจากคนอื่นและบรรทัดฐานของสังคมนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะผ่านการแต่งตัว การแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ หรือ การแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ
ดังที่ หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 19 กล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นปราศจากการสอดแทรกและที่แสวงหารับตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อ ใด ๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน”
ท้ายที่สุดแล้ว “การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการแต่งกายของกลุ่มเด็กนักเรียนไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไร มันเป็นสิ่งที่ดีที่เด็กกล้าที่จะคิดและแสดงออกมากขึ้น การแต่งชุดไปรเวท หรือทำทรงผมตามความต้องการของนักเรียนเพื่อต้องการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นตัวเองนั้น อาจจะไม่ได้กระทบกับเกรด หรือผลการเรียนของเด็กโดยตรง แต่มันเป็นการฝึกระเบียบวินัยของการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นจะเป็นการดีกว่ามั้ยที่เราจะหาจุดกึ่งกลางในการแก้ไขปัญหานี้เพื่อลดความแตกแยกในสังคม โดยกลุ่มเด็กนักเรียนสามารถเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการแต่งกายได้โดยการสนับสนุนและสร้างความตระหนักให้กับทุกคนเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทางการแต่งกาย ครูและผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจและเคารพสิทธิและเสรีภาพทางการแต่งกายของเด็กและนักเรียน”