"...จากการค้นคว้าประวัติความเป็นมาของรัฐสวัสดิการ พบว่าแนวคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1601 เมื่ออังกฤษได้ออกกฎหมายสำหรับคนมีรายได้น้อย (The Elizabethan Poor Law) แต่กฎหมายดังกล่าวไม่สามารถรับมือกับปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนได้ โดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่บรรดานายทุนเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำให้ระบบสังคมสงเคราะห์และกฎหมายสำหรับคนมีรายได้น้อยแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาความยากจนได้อีกต่อไป จึงได้เริ่มมีการคิดค้นระบบประกันสังคม(Social Insurance) ขึ้น..."
สืบเนื่องจาก weekly mail สัปดาห์ที่แล้ว ที่เขียนถึงรัฐสวัสดิการของประเทศนอร์เวย์ที่เข้ามาดูแลสิทธิและสวัสดิภาพเด็ก ทำให้กลับมาคิดถึงตัวเองถึงสวัสดิการที่จะได้รับในฐานะผู้สูงอายุ เพราะมีคนทักให้รีบไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พร้อมจะได้รับสวัสดิการทางอ้อม เช่น การขึ้นรถเมล์/รถไฟฟ้าครึ่งราคา การเข้าชมสถานที่ของรัฐฟรีไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ยังไม่นับรวมส่วนลดเข้าชมภาพยนตร์ (ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะกล้าเข้าไปชมหรือไม่ เพราะกลัว ลูก ๆ หลาน ๆ จะหันมามองด้วยสายตาแปลก ๆ)
จากการค้นคว้าประวัติความเป็นมาของรัฐสวัสดิการ พบว่าแนวคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1601 เมื่ออังกฤษได้ออกกฎหมายสำหรับคนมีรายได้น้อย (The Elizabethan Poor Law) แต่กฎหมายดังกล่าวไม่สามารถรับมือกับปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนได้ โดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่บรรดานายทุนเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำให้ระบบสังคมสงเคราะห์และกฎหมายสำหรับคนมีรายได้น้อยแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาความยากจนได้อีกต่อไป จึงได้เริ่มมีการคิดค้นระบบประกันสังคม(Social Insurance) ขึ้น1/
ระบบประกันสังคมเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี (ปรัสเซียในขณะนั้น) ในปี 1883 โดยนายกรัฐมนตรี ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ได้ออกกฎหมายเพื่อลดกระแสการเรียกร้องของแรงงานและหยุดยั้งแนวคิดสังคมนิยมที่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกัน มีการริเริ่มประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และเงินบำนาญ พร้อมมีการตรากฎหมายสวัสดิการสังคม ซึ่งหลายประเทศได้นำระบบประกันสังคมไปปรับใช้ในเวลาต่อมา เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น1/
อย่างไรก็ดี การสร้างรัฐสวัสดิการ เกิดขึ้นจากแนวคิดของ เซอร์วิลเลียม เบเวอร์ริดจ์ (Sir William Beveridge) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่เสนอให้รัฐบาลสร้างระบบสวัสดิการและระบบประกันสังคม (social insurance) เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ไม่เพียงเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยและแรงงาน โดยเสนอแนะให้รัฐดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อขจัดความอัตคัดขัดสน โรคภัย ความไม่รู้หนังสือ ความเสื่อมโทรม ไปจนถึงการไม่มีงานทำ ข้อเสนอของเซอร์เบเวอร์ริดจ์ ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางทั้งในเกาะอังกฤษและนานาประเทศทั่วโลก จนในปี 1943 ยุคสมัยของนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ระบบประกันสังคมภาคบังคับของชาติสำหรับประชาชนทุกชนชั้นเพื่อประโยชน์ทุกด้านตั้งแต่เกิดจนตาย จึงก่อกำเนิดขึ้น กลายเป็นประเทศที่ถือเป็น 'รัฐสวัสดิการ (Welfare State)' อย่างเป็นทางการ2/
หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียได้เริ่มเห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ และยึดต้นแบบของอังกฤษด้วยหลักความเสมอภาคทางสังคม อาทิ สวีเดน ประเทศแบบอย่างของความสำเร็จในการจัดเก็บภาษีและจัดสรรปันส่วนออกมาในรูปแบบของบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น บริการสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การประกันการว่างงาน และระบบขนส่งสาธารณะ คนสวีเดนได้ประดิษฐ์คำศัพท์เฉพาะ “สแกตเทอแทรต” (Skattetrat) หมายถึง ความเหน็ดเหนื่อยในการจ่ายภาษี เพื่อแสดงออกว่าการจ่ายภาษีไม่ใช่เรื่องสนุกเลย แต่ก็ยังยินดีจะจ่ายเพราะภาษีที่จ่ายให้รัฐพอ ๆ กับการจ่ายค่าเทอมลูกและค่ารักษาพยาบาล หากพวกเขาต้องจ่ายเอง ในขณะที่บางประเทศไม่ได้อาศัยเงินจากการจัดเก็บภาษี แต่จากรายได้ของประเทศ เช่น ประเทศเวเนซุเอลาที่อาศัยรายได้จากการขายน้ำมัน แต่เมื่อราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้ประสบปัญหาเป็นประเทศล้มละลายไม่สามารถธำรงเป็นรัฐสวัสดิการได้อีกต่อไป3/
สำหรับประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ ได้ยกร่างแผนเศรษฐกิจเพื่อปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน หรือ 'สมุดปกเหลือง' โดยหวังจะให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎร ในช่วงที่ไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ แนวคิดสวัสดิการของสังคมไทย แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธเพราะถูกมองว่าเป็นแนวคิดแบบสังคมนิยม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2516 แนวคิดสวัสดิการโดยรัฐได้ถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงอีกครั้งผ่านงานเขียนในโอกาสจัดการแสดงปาฐกถาพิเศษ ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในชื่อ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จนมีการริเริ่มระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และมีวิวัฒนาการมาจนถึงทุกวันนี้4/
จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมของไทย จึงทำให้ภาครัฐเริ่มจัดหาสวัสดิการให้แก่ประชาชนเพิ่มเติม ทั้งเงินสงเคราะห์ครอบครัว เงินอุดหนุนค่าแรงงานสตรี เงินอุดหนุนสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน เงินช่วยเหลือชาวเขา เงินสงเคราะห์บุตร ไปจนถึงสวัสดิการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยถูกประกาศว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2565)
พวกเราคิดว่าประเทศไทยยังขาดหรือควรเพิ่มรัฐสวัสดิการในรูปแบบใดอีกบ้าง เพราะเหตุใด แต่ที่แน่ ๆ ผมไม่ขอรับสวัสดิการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง จนต้องจัดหาที่พักอาศัยนะครับ
รณดล นุ่มนนท์
26 มิถุนายน 2566
แหล่งที่มา :
1/ โกษม โกยทอง รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้อย่างไร?: จากสงเคราะห์คนยากไร้ สู่สิทธิสวัสดิการที่ขาดไม่ได้ 18 Oct 2022 https://www.the101.world/the-origin-of-welfare-state/
2/ Chalathip, “ญี่ปุ่น” เคยมีสวัสดิการนิยมดีที่สุดในโลก ทำไมตอนนี้ไม่ใช่ บทเรียนสำคัญที่ไทยได้เรียนรู้ 18 มิ.ย. 2566 https://workpointtoday.com/japan-the-best-social-welfare-in-the-past-case-for-thailand/
3/ รัฐสวัสดิการสวีเดน ความอุ่นใจในชีวิต ที่ช่วยให้คนผลักดันประเทศไปข้างหน้า workpointtoday.com/sweden-welfare-tax/
4/ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลสัมฤทธิ์และความท้าทายในอนาคต gjklmoswyz35.pdf (tu.ac.th)
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ คุณประภาศรี รงคสุวรรณ ที่มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail สัปดาห์นี้