"...รับรู้กันโดยทั่วไปว่า การโกหกเป็นผิดบาปอย่างหนึ่ง แต่ในบางกรณีอาจถือได้ว่าเป็นผิดบาปที่จำเป็น (Necessary Sin)…"
รับรู้กันโดยทั่วไปว่า การโกหกเป็นผิดบาปอย่างหนึ่ง แต่ในบางกรณีอาจถือได้ว่าเป็น ผิดบาปที่จำเป็น (Neccessary Sin)
เช่นหมอวินิจฉัยว่า คนไข้อาการหนักมาก ทำท่าจะรอดยาก หมอจะไม่บอกคนไข้ว่า 'อีกไม่เกิน 3 วัน คุณจะหมดลมหายใจ' แต่หมอจะให้กำลังใจ ทำนองว่า 'หมอจะดูแลคุณอย่างดีที่สุด' เพื่อคลายความกังวล เพราะหากพูดตรง คนไข้อาจไปเร็วขึ้นก็ได้ นี่เป็นการโกหกที่จำเป็น หรือเป็นผิดบาปที่สามารถยอมรับได้ (Acceptable Sin)
วันครบรอบ 91 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ทำให้ย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ เมื่อ 31 ปีล่วงมาแล้ว
ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22 ค่ำวันที่ 6 กย. 2535 ทีวีช่อง 11 ถ่ายทอดสดรายการ 'มองต่างมุม' ของมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ เป็นรายการยอดนิยมของยุคนั้น นอกจากการอภิปรายการเมืองแล้ว ผู้เขียนทำหน้าที่ดำเนินรายการประมูลภาพ และบทกวี หารายได้เข้ามูลนิธิสื่อสร้างสรรค์
มีจดหมายต้นฉบับลายมือ อ.ปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 3 กค. 2475 ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มอบมาให้ประมูล
ท่ามกลางแขกไม่ต่ำกว่า 300 คน ราคาเริ่มต้น 200,000 บาท แรกๆ มีผู้ร่วมประมูล 3-4 คน ต่อมาเหลือเพียง 2 คน ที่ชิงกันแบบหมัดต่อหมัดทีละ 20,000 – 50,000 บาท ระหว่างคุณอากร ฮุนตระกูล เจ้าของโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กับ คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ เจ้าของ บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่ ราคาไปจบที่ 800,000 บาท โดยคุณปรีดาได้ไป นับเป็นตัวเลขการประมูลที่สูงมาก ในเวลานั้น
คุณปรีดา ส่งคืนจดหมายลายมือจริงให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อ 'ให้ลูกหลานไทยได้อ่าน' แล้วขอทำสำเนาจดหมายนั้นไปใส่กรอบติดไว้อย่างสง่างามที่บริษัท
จดหมายฉบับนั้นเป็นการสารภาพต่อคำโกหกประวัติศาสตร์ของรัฐบุรุษอาวุโส
จดหมายถึง 'พูนศุข น้องรัก' ขึ้นต้นว่า
“ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่า จะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้นเวลา 10 นาฬิกา เท่าที่ได้ทราบมา การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสที่ทำได้ ก็จะทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เปนคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด........
........ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่า ถ้าฉันบวชสัก 4 เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ ยิ่งกว่าการบวช ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์ หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย.......
.......เธอเองคงจะเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตของคนอีกหลายร้อยล้านหามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเปนปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ.......”
ตัดฉากย้อนไปที่ บ้านเลขที่ 9 ถนน Rue du Sommarard ในเขต Quatier Latin กลางกรุงปารีส เมื่อปี 2470 เป็นที่ประชุมวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองของนายปรีดี พนมยงค์ กับเพื่อนรวม 7 คนคือ
1.ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี 2.ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (ป.พิบูลสงคราม) 3.ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี 4.นายตั้ว พลานุกรม 5.นายจรูญ สิงหเสนีย์ 6.นายแนบ พหลโยธิน 7.นายปรีดี พนมยงค์
บ้านหลังนี้อยู่ไม่ไกลจากร้านกาแฟ Cafe’ Select ใกล้พิพิธภัณฑ์ Cluny ซึ่งนายปรีดีกับเพื่อนๆ มาดื่มกาแฟประจำ
บ้านเลขที่ 9 ถูกเช่าไว้เป็นที่ประชุมอย่างเป็นทางการของคณะราษฎร เมื่อ 5 กพ. 2470 ที่ประชุมทั้ง 7 คน ซึ่งใช้เวลาหารือกันถึง 5 วัน มีมติว่า
'วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า 'ปฏิวัติ' หรือ 'อภิวัฒน์' เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ Revolution ดังนั้น เราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า 'เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย' และดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ “วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ Revolution ดังนั้น เราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ 1.รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทาง เศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง 2.รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก 3.บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4.ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 5.ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว 6.ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร.....' (แนวคิดประชาธิปไตย ของปรีดี พนมยงค์, วาณี สายประดิษฐ์ - พนมยงค์ บรรณาธิการ, กรุงเทพฯ : มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535), หน้า 3)
'ท้ายที่สุดที่ประชุมของคณะผู้ก่อการได้พิจารณาเผื่อไว้ว่า ถ้าการกระทำของคณะราษฎรต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ ก็ขอให้มีเพื่อนหัวหน้าคนหนึ่งที่เรากันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยไม่ต้องมาประชุมบ่อย และเมื่อกลับประเทศไทยแล้ว ให้บำเพ็ญตนดุจคนธรรมดาอย่างสงบเสงี่ยม ไม่เป็นที่สังเกตของฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้คนผู้นี้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรมอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่ นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา.....'
(เพลิง ภูผา (นามแฝง), ผู้ก่อการ....ประชาธิปไตย วีรบุรุษ กบฏ?, (กรุงเทพฯ : สยามความรู้, 2553),หน้า 30-31 )
เห็นได้ว่าปฏิบัติการ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการคิดการใหญ่ เป็นการลับเสียยิ่งกว่าลับ มีแต่แกนนำการเคลื่อนไหว ภาคปฏิบัติเท่านั้นที่รู้แผน แม้คนในครอบครัวก็ยังให้รู้ไม่ได้ เพราะหากความลับรั่ว ก็จะมีแต่วิบัติสถานเดียว
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ แห่งนิตยสารสารคดี เมื่อปี 2543 ว่า กว่าจะรู้ว่าสามีเป็นผู้ก่อการก็ราวห้าทุ่มของวันที่ 24 มิย. 75
“ตอนนั้นอายุ 20 ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้ นายปรีดี เคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดี บอกว่าวันที่ 23 จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยา เพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็กๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ”
พอรู้ว่านายปรีดีเกี่ยวข้อง เป็นผู้ร่วมก่อการด้วย
“ฉันตกใจเหมือนกัน ก็ไม่รู้เรื่องอะไร นายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้ อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดี ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟัง เดี๋ยวจะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อย กลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง” (เว็บไซด์ ปรีดี - พูนศุข พนมยงค์ 4 เมย. 2563)
ท่านผู้หญิงพูนศุขในวัยเยาว์มีความเชื่ออย่างสนิทใจ เพราะไว้วางใจอย่างที่สุด ต่อความบริสุทธิ์ใจของสามี แม้มารับรู้ภายหลังว่าความจริงเป็นอย่างไร เธอยังต้อนรับไว้โดยดุษฎี นี่คือความแข็งแกร่งและความหนักแน่นในหัวใจ และในเวลาต่อมายังต้องเผชิญชะตากรรมสาหัสสากรรจ์ ทั้งถูกคุกคามถึงในบ้านพัก ทั้งถูกคุมขังพร้อมกับบุตรชายในข้อหากบฏ ทั้งต้องระหกระเหินไปลำบากลำบนในต่างประเทศ แต่ก็ยังมีหัวใจแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับ อ.ปรีดี พนมยงค์ ที่ปรารถนาจะให้ประเทศชาติก้าวสู่ความมีอิสระ เสรีภาพเสมอภาค และเจริญรุ่งเรือง
เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ก่อเกิด การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญของประเทศไทย
นานาคำวิจารณ์ตามมามากมาย บ้างว่าจะนำประเทศไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ บ้างว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดชนชั้นนำเป็นกลุ่มอำนาจใหม่เข้ามาสลับฉากแย่งชิงอำนาจกัน ระหว่างพลเรือนกับทหาร บ้างก็ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนร่วมใดๆ ความเห็นจะเป็นเช่นไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนไม่ได้
และแน่นอนว่าเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น มีการโกหกที่จำเป็นที่ร่วมส่วนประวัติศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ
นาย ประสาร มฤคพิทักษ์ (ผู้เขียน) อดีตสว.