"...มีข้อค้นพบว่า ประเด็นทางสังคมที่สะท้อนผ่านการแสดงตลกเดี่ยวของอุดม แต้พานิช มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน และมีน้ำหนักการเสนอเรื่องราวผ่านประเด็นต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนแตกต่างกัน ไล่เรียงเป็นมิติที่มีสัดส่วนจากมากสู่น้อยคือ (1) มิติทางสังคม (2) มิติทางวัฒนธรรม และ (3) มิติทางการเมือง..."
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเฉพาะบุคคลเรื่อง 'ภาพสะท้อนสังคมในสื่อการแสดงของอุดม แต้พาณิช: กรณีศึกษาเดี่ยว 13' ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึง Stand-up comedy หรือการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนที่เราคุ้นชินกันนั้น หลายท่านคงเห็นตรงกันว่าเป็นการแสดงตลกที่เน้นสร้างเสียงหัวเราะและความบันเทิงเป็นสำคัญ แต่เมื่อนึกถึงปรากฏการณ์เดี่ยว 13 ของอุดม แต้พานิช ที่เป็นกระแสในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา กลับทำให้ผู้เขียนเกิดความฉงนในใจขึ้นมาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่การแสดงตลกอย่างเดี่ยวไมโครโฟนนั้น สามารถสะท้อนแง่มุมเชิงสังคมบางประการได้ และความตลกที่มักถูกมองว่าไร้แก่นสารนี้ แท้จริงเป็นเช่นนั้นจริงหรือ” ผู้เขียนจึงอยากลองเชื้อเชิญทุกท่านขบคิดผ่านคำถามเหล่านี้ไปพร้อมกัน
ผู้เขียนเริ่มต้นหาคำตอบ โดยย้อนกลับไปหาข้อมูลเชิงวิชาการว่าการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนมีที่ไปที่มาอย่างไร และมีบทบาทอย่างไรต่อผู้คน การค้นคว้าเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าการแสดงประเภทนี้เป็นการแสดงที่อยู่ในหมวดหมู่สุขนาฏกรรม (comedy) ที่มีผู้แสดงหลักเพียงคนเดียว โดยมุ่งสร้างความบันเทิงแบบตลกขบขนผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ และการบอกเล่าเรื่องราวที่สนุกสนานจากประเด็นต่าง ๆ ไปยังผู้ชม ผ่านการสร้างส่วนร่วมเชิงอารมณ์โดยเฉพาะกับความรู้สึกชวนหัว (humor) จึงเป็นเหตุให้การแสดงในลักษณะตลกนี้มุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า เดี่ยวไมโครโฟน หรือการแสดงแบบสแตนด์อัพคอมเมดี้ (stand-up comedy) นี้ อาจไม่ได้สร้างเพียงแค่ความบันเทิงแบบขำขันเพียงอย่างเดียว มีข้อมูลเชิงวิชาการให้ข้อเสนอว่า สื่อบันเทิงและการแสดงตลกนั้นทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเสนอแนวคิดที่หลากหลายต่อสังคม รวมไปถึงเป็นเครื่องบันทึกและสะท้อนเหตุการณ์ที่ทางสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยอาศัยรูปแบบความขบขันมาผสานเข้ากับผ่านการนำเสนอประเด็นปัญหาทางสังคม อุดมการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม หรือแม้แต่กระทั้งเป็นการต่อรองเชิงอำนาจ ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาผ่านการลดทอนความรุนแรง ปรับลดความจริงจัง และความเข้มข้นของเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับภาวะเชิงอารมณ์สนุกสนานเฮฮาในระดับต่าง ๆ เช่น การเรียกเสียงหัวเราะจากโครงเรื่อง การสวมบทบาทเลียนแบบสภาวะต่าง ๆ หรือการเปรียบเทียบเสียดสีให้เกิดอารมณ์ขัน เป็นต้น กระบวนการเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการแปลงสารที่หนักให้เบาลง แต่ยังคงแก่นของสาระที่เป็นแกนหลักไว้ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ผู้ชมเปิดรับเนื้อหาที่เคยเข้าใจยากได้ง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อได้จุดที่เป็นสารตั้งต้นเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนจึงเลือกนำการแสดงเดี่ยว 13 มาใช้เป็นตัวอย่างหลักในการค้นหาคำตอบ ด้วยการใช้มุมมองแนวคิดเรื่องการสะท้อนภาพสังคมและการทำหน้าที่ของสื่อประกอบการอธิบายร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาที่นำเสนอผ่านการแสดง ซึ่งมีข้อค้นพบว่า ประเด็นทางสังคมที่สะท้อนผ่านการแสดงตลกเดี่ยวของอุดม แต้พานิช มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน และมีน้ำหนักการเสนอเรื่องราวผ่านประเด็นต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนแตกต่างกัน
ไล่เรียงเป็นมิติที่มีสัดส่วนจากมากสู่น้อยคือ (1) มิติทางสังคม (2) มิติทางวัฒนธรรม และ (3) มิติทางการเมือง
ทั้งนี้ มิติที่เกี่ยวข้องกับสังคม เป็นมิติที่ผู้แสดงให้น้ำหนักในการนำเสนอมากที่สุด แบ่งเป็น 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพสำหรับช่วงวัยสูงอายุ การบริหารเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต การจัดสรรความต้องการที่แท้จริงของตนเอง กระแสนิยมในสังคมปัจจุบันกับการรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ ค่านิยมการแสวงหาความรักแบบร่วมสมัย คุณภาพชีวิตของคนในสังคม และแนวทางในการใช้ชีวิตตามความเหมาะสม
รองลงมาคือมิติทางวัฒนธรรม แบ่งเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ รูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา ธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาล ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์จิตวิญญาณ และความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริบทของไทย
และลำดับสุดท้ายคือมิติทางการเมือง แบ่งเป็น 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การวิพากษ์วิจารณ์ศักยภาพของผู้นำประเทศ และระบบการเมืองของไทย โดยที่ประเด็นการนำเสนอทั้งหมดล้วนเป็นการสะท้อนตามสถานการณ์และบริบทที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริง (real word) และดำเนินการสื่อสารออกมาอย่างชัดเจน และไม่ปรากฏว่ามีประเด็นใดที่ไม่เชื่อมโยงกับบริบทสังคม ณ ปัจจุบัน จึงเป็นเหตุให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงประเด็นทั้งหมดโดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการคิดทบทวน ตลอดจนสามารถสืบย้อนไปถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือประสบการณ์ที่มีร่วมกันกับผู้แสดงได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในส่วนของการพิจารณาถึงระดับการสะท้อนภาพสังคม ยังพบว่ามีการสะท้อนครบถ้วนทั้ง 3 ระดับ คือ
(1) ระดับการสะท้อนภาพความเป็นจริง พบว่า มีการนำเรื่องราวและสถานการณ์ทางสังคมมาเชื่อมโยงกับการแสดงตามหลักความเป็นจริง (reality) มากกว่าความเหนือจริง (surreal) โดยเน้นการนำเสนอผ่านประเด็นที่มีอยู่จริง การจำลองสถานการณ์ และการใช้องค์ประกอบอื่น ๆ ในการนำเสนอที่แสดงความเสมือนจริง หรือใช้ในการอธิบายให้เห็นภาพตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
(2) การสะท้อนภาพโครงสร้างเชิงสังคม ผ่านลักษณะจุดร่วมในแง่การรับรู้ ความคิด ลักษณะพฤติกรรมของผู้คนในสังคมแบบภาพรวม หรือประสบการณ์ที่คนในสังคมมีร่วมกัน
และ (3) การสะท้อนหลักคิดเชิงสังคม ผ่านการเปรียบเทียบและการตั้งคำถาม เพื่อชวนผู้ชมคิดและวิพากษ์วิจารณ์ตามประเด็นที่ผู้แสดงกำลังนำเสนอ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าสื่อชนิดนี้สามารถทำหน้าที่ชี้ประเด็นและเป็นเครื่องสะท้อนภาพทางสังคม อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอหลักการทางความคิด และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ โดยอาศัยการสร้างความสนุกสนานและความขบขันเพื่อสร้างเสียงหัวเราะแก่ผู้รับชมการแสดงเป็นหลัก ร่วมกับเสนอนัยยะทางความคิดแฝงไปในเนื้อหาการแสดง
ท้ายที่สุดแล้วเรื่องตลกชวนหัวจากการแสดงตลกอย่างเดี่ยวไมโครโฟนนั้น อาจเป็นมากกว่าความขบขันที่ไม่จำเป็นต้องไร้สาระหรือตั้งอยู่บนเนื้อหาที่เพ้อฝันเสมอไป หากแต่ยังสามารถเป็นสื่อที่สะท้อนสังคมผ่านการทำหน้าที่แบบผสมผสานได้ในหลากหลายลักษณะ โดยอาศัยการสร้างความบันเทิงแบบชวนหัว ซึ่งเป็นการทำหน้าที่หลักของการแสดงประเภทนี้ ร่วมกับการนำเสนอและให้ข้อมูลแบบมีแก่นสารผ่านเรื่องราวจากเหตุการณ์ที่อ้างอิงจากสภาพความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยมีส่วนช่วยให้ผู้คนทราบสถานการณ์ที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม หรือช่วยเสนอแนะประเด็นที่อาจเป็นปัญหา และกระตุ้นให้ผู้คนในสังคมร่วมกันถกเถียงเพื่อหาทางออกในเรื่องเหล่านั้น ตลอดจนสามารถใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสอดส่องตรวจตราความเป็นไปของสังคมได้ด้วยเช่นกัน