"...มีแพทย์หญิงท่านหนึ่งวางแผนเดินทางไปพักผ่อนในต่างประเทศกับครอบครัว ในวันที่ 13 เมษายน 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เพราะมีหมายจับจากศาลแพ่ง ซึ่งต้องไปเป็นพยานศาล ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ (expert witness) ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในคดีแต่อย่างใด ดังนั้นการเป็นพยานศาลในลักษณะนี้ ควรที่จะได้รับความเคารพนับถือและคำขอบคุณจากผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม..."
หมายเหตุ: ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเขียนบทความเผยแพร่ในแฟนเพจเรื่อง ‘หมอทำงานโดยสุจริต มีสิทธิติดคดี โดนหมายจับได้’
ผู้เขียนได้อ่านข่าวที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ว่า มีแพทย์หญิงท่านหนึ่งวางแผนเดินทางไปพักผ่อนในต่างประเทศกับครอบครัว ในวันที่ 13 เมษายน 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เพราะมีหมายจับจากศาลแพ่ง ซึ่งต้องไปเป็นพยานศาล ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ (expert witness) ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในคดีแต่อย่างใด
ดังนั้นการเป็นพยานศาลในลักษณะนี้ ควรที่จะได้รับความเคารพนับถือและคำขอบคุณจากผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะทางศาลยุติธรรม เพราะแพทย์ไปในฐานะพลเมืองดี ทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพที่มีเกียรติและต้องมีจริยธรรม และจรรยาบรรณสูงกว่าพลเมืองของรัฐโดยทั่วไป
การที่ต้องถูกออกหมายจับ โดยข้ออ้างที่ว่าไม่ไปเป็นพยานศาลตามที่ศาลออกหมายเรียก 3 ครั้ง แต่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากแพทย์ที่ถูกออกหมายจับว่า มีการส่งหมายเรียกครั้งที่ 3 และส่งหมายจับไปยังถิ่นที่อยู่เก่า อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ซึ่งบัดนี้ได้ย้ายไปแล้ว ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าการออกหมายจับ ในกรณีของพยานผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ ควรต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในกระบวนการให้ละเอียดถี่ถ้วน รองรับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง
ขอฝากผู้บริหารศาลยุติธรรมช่วยกรุณาวางระบบศาลในการเรียกผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพยานอย่างมีเหตุมีผล มีความเป็นมิตร ในลักษณะของ Friendly Court เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีงามระหว่างผู้ร่วมวิชาชีพ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนสืบไป
จากใจของอดีตผู้พิพากษาที่เคยใช้บริการแพทย์ที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญตลอดมาด้วยความนับถือและขอบคุณยิ่งด้วยครับ
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3oVXa4z