"...ดนตรีเป็นคีตทิพย์ เป็นเสียงแห่งไมตรีจิต เป็นสื่อสากล ที่เชื่อมโยงคนทั่วโลกได้โดยไร้ข้อจำกัดทางภาษา ไม่ว่าภาษาพูดหรือภาษาเขียน แม้เครื่องดนตรีและคำร้องอาจแตกต่างกัน แต่อารมณ์ ความรู้สึก และความเข้าใจสามารถเข้าถึงซึ่งกันและกันได้..."
“เกาะกระดาน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นชายหาดที่สวยงาม หาดทรายขาวละเอียด ทอดยาวตลอดชายหาด เปรียบเหมือนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว”
เป็นคำประกาศของ World Beach Guide เมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 นี้เองให้ เกาะกระดาน หาดเจ้าไหม ลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง สวยงามเป็นอันดับ 1 ใน 100 อันดับของชายหาดที่งดงามที่สุดในโลก
ในการเปิดรายการวงดนตรีไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 2 มิย. 66 ณ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง ศิลปินแห่งชาตินาม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านบทกวีซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2534 ใน “เขียนแผ่นดิน” บท “หาดเจ้าไหม” ว่า
“เจ้าไหมหนอเจ้าเข้าใจไหม
เจ้าสวยกว่าใครที่เคยเห็น
ทรายงามเมื่อยามตะวันเย็น
ฟ้าเป็นสีส้มชมพูคราม..........”
ในขณะที่กวีซีไรท์ ลูกสาวเมืองตรัง นามจิระนันท์ พิตรปรีชา ร่ายกวี “บ้านเกิด-เมืองเก่า” ว่า
“ร้อยกว่าปี นามประเทือง เมืองทับเที่ยง
โนราเคียง เสียงหนังลุง โต้รุ่งใหม่
กล่อมบ้านเกิด เมืองเก่า เราสุขใจ
คือเมืองใต้ เมืองตรัง ยังตรึงตรา................”
และกวีศรีตรัง ชื่อ สมเจตนา มุนีโมไนย (พันดา ธรรมดา) อ่านบทกวี
“เดชะ แม่พระธรณี แม่คงคาในครรลอง
ขอที่ชั่วคราวจอง ตั้งเวทีดุริยางค์
ดีดสีเล่นตีเป่า บำรุงราษฎร์สะอาดสะอาง
ลื่นไหลไปสายกลาง คระครึกครื้นคระครึมเครง........ ”
คีตทิพย์ “เสียงใหม่ที่เมืองตรัง” เริ่มด้วยสามกวีเช่นนี้ น้อมนำให้บรรยากาศและอารมณ์เพลงย้อนสู่อดีต โดยเชื่อมโยงปัจจุบันได้อย่างน่าติดตาม
ดนตรีเป็นคีตทิพย์ เป็นเสียงแห่งไมตรีจิต เป็นสื่อสากล ที่เชื่อมโยงคนทั่วโลกได้โดยไร้ข้อจำกัดทางภาษา ไม่ว่าภาษาพูดหรือภาษาเขียน แม้เครื่องดนตรีและคำร้องอาจแตกต่างกัน แต่อารมณ์ ความรู้สึก และความเข้าใจสามารถเข้าถึงซึ่งกันและกันได้
เมื่อได้ยินเพลง “Ode to Joy” ของบีโธเฟน ใน ซิมโฟนี หมายเลข 9 ซึ่งรู้จักกันไปทั่วทั้งโลก เรารู้สึกได้ถึงความสดชื่น รื่นรมย์ เบิกบาน
พอได้ยินเพลง “Gypsy Moon” ซึ่งเป็นทำนองต้นธารของเพลง “คิดถึง (จันทร์กระจ่างฟ้า)” เรารู้สึกได้ถึงความอ้างว้าง เปลี่ยวเหงา
ขณะที่ได้ยินเพลง “We are the World” ซึ่ง ไมเคิล แจ็คสัน ร้องนำ เรารู้สึกถึงคุณค่าแห่งการแบ่งปันอันเป็นน้ำใจแห่งสากล
ในขณะที่เพลงและระบำรองเง็ง ของภาคใต้ สื่อสารความรักระหว่างหนุ่มสาว สะล้อซอซึง ของล้านนาได้อารมณ์ เนิบนาบนุ่มนวลระรื่นหู และลำเพลินของถิ่นอิสาน ได้ความรู้สึกสนุกสนาน
รื่นเริง
นี่คืออานุภาพ ของเพลงและดนตรี โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือสัญชาติ เพียงได้ยินเสียง ได้เห็นการร่ายรำ ก็รู้สึกได้ ไม่ต้องมีคำอธิบาย
อลังการงานสร้างการแสดง “เสียงใหม่ที่เมืองตรัง” ค่ำวันนั้น ท่ามกลางผู้คนเข้าชมโดยไม่ต้องเสียค่าบัตร มีคุณชวน หลีกภัย มี ผวจ. นายก อบจ. นายกเทศมนตรี สมาชิกวุฒิสภา พ่อค้า ประชาชน กว่า 2,500 คน เป็นประวัติศาสตร์การแสดงของ จ. ตรัง ซึ่งไม่ใช่อยู่ๆ ก็เอาวงดนตรีมาจัดวาง แล้วเล่นเพลงที่เตรียมมา แต่เป็นผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างประณีตที่ได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมี ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรี
เป็นการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน นำเอาดนตรีตะวันตกคือ ซิมโฟนีออร์เคสตรา มารับใช้ตะวันออก
ตรังเป็นเมืองท่าโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นหัวเมืองท่า ที่รุ่งเรืองในการค้าขาย ทางน้ำ มีพื้นที่กำบังคลื่นทะเลซัด ดึงให้เรือสินค้าจาก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฝรั่ง พาเรือหลบคลื่น ลม ตามมาด้วยอารยธรรม เครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชาม เสื้อผ้า เป็นพื้นที่ฝั่งอันดามัน เชื่อมต่อกับกระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้) ต้นตระกูล ณ ระนอง มีบิดาเป็นชาวฮกเกี้ยน ที่อพยพเข้ามาอยู่ที่ปีนัง แล้วมาค้าขายที่พังงาและระนอง เป็นคนนำยางพาราต้นแรกจากมาเลเซียมาปลูกที่เมืองตรัง เมื่อปี 2442 ทำให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้และขยายไปทั่วประเทศในปัจจุบัน คอซิมบี้ พัฒนาเมืองตรังจนได้เป็นเจ้าเมืองตรัง ในเวลาต่อมา มีบทบาทสำคัญ ในการย้ายตัวเมืองจากควนธานีมาอยู่ที่กันตัง เพื่อสะดวกในการขนส่งสินค้าทางเรือ ในปี 2456 เป็น ผู้ย้ายตัวเมืองไปอยู่ที่ทับเที่ยงอันเป็นที่ตั้งเมืองตรังปัจจุบัน
ภาพ “เรือพระ” มีล้อลากอยู่บนบก มีพระพุทธรูปบูชา และพระสงฆ์กลางลำเรือ มีนางรำ อยู่หน้า ท้ายเรือมีคนเป่าแตรประโคม ขบวนเรือชักพระมีคนตีฆ้องให้จังหวะ ชายโพกหัวเหมือนแขกอินเดียแบกร่ม สุดปลายเชือกเป็นแขกมลายู ด้านท้ายเรือหญิงมลายู 4 คน ในชุดกระโปรงยาวถือร่ม ท้ายขบวนคนจีนใส่หมวกกุ้ยเล้ยกำลังหาบคอนสิ่งของ
เป็นภาพเรือชักพระในประเพณีลากพระ พ.ศ. 2367 ตามหลักฐานของ ร้อยโท เจมส์ โลว์ บันทึกไว้เป็นหลักฐาน สะท้อนถึงพหุวัฒนธรรมทางเชื้อชาติและศาสนา ของชาวตรังโบราณ ที่เปิดรับต่างชาติเข้ามาสู่เมืองตรัง เชื่อมต่อไปยังนครศรีธรรมราช เลยไปถึงกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ที่ อ.ห้วยยอด ส่งผ่านภูเก็ตไปขายที่ปีนังแล้ว คนจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาอยู่ตรัง ยังนำหมูขี้พร้า ตัวเล็ก ผิวดำ ปราดเปรียว เนื้อแน่น มันน้อย เป็นหมูกินผักที่แข็งแรง นำมาเลี้ยงและทำเมนูหมูย่างเมืองตรัง ที่อร่อยลือชื่อ
การแสดงคืนวันนั้นจึงอบอวลด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมโบราณของตรัง
ต่อจากบทกวีเป็น เพลงรองเง็ง ที่มีแมนโดลิน ไวโอลิน รำมะนา ฉิ่ง ฉับ กรับ กลายเป็นเสียงใหม่แบบชาวเล ที่แปลงเพลงให้เข้ากับวงซิมโฟนีออร์เคสตราอย่างกลมกลืน
เพลงทำนองใหม่ใส่สำเนียง ลิเกป่า ลิเกฮูลู เพลงเต้นรำรองเง็ง ผนวกซิมโฟนีโดยรักษาท่วงทำนองเดิมไว้อย่างสามารถสัมผัสได้
เพลงเต้นรำ ทำนองละคูดัว ปาหรี จำเปียนติหมังบุหรง นำมาต่อกันเป็นเพลงเมดเลย์ มีชายหญิงระบำชาวบ้าน 6 คู่ เป็นศิลปินพื้นบ้านจาก อ.ปะเหลียน ที่ยังรักษารองเง็งเอาไว้คู่บ้านคู่เมืองได้ดี เมื่อเล่นรำกับซิมโฟนีออร์เคสตรา จึงมีลีลาพลิ้วไหวที่งดงามหมดจด
เมื่อซิมโฟนีออร์เคสตรา เล่นเพลง Bengawan Solo เป็นเพลงอินโดนีเซีย พรรณนาถึงสายน้ำโซโลที่หล่อเลี้ยงแผ่นดินชวาทั่วทั้งเกาะ ซึ่งเป็นเพลงยอดนิยมในหลายประเทศในเอเชีย นั้น นักร้องรับเชิญคือ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย ชื่อสาหรี สุฮาร์โย (Sari Suharyo) ร้องเพลงประหนึ่งนักร้องมืออาชีพที่มีอารมณ์ไหลเคลื่อนไปกับสายน้ำ ในขณะที่อุปทูตหญิงชื่อ ระฮ์มัต บูดีมัน ร่วมกับ สุฮาร์โย ร่วมกันร้องเพลง Rasa Sayange ที่รู้จักกันดีในภาคใต้อย่างมีชีวิตชีวา
ยูโสบ หมัดหลงจิ หรือรู้จักกันในชื่อ Ruberto Uno ยอดนักกีตาร์เล่นและร้องเพลง Quando Quando Quando ประกอบวงได้สนุกสนานมาก
ศิลปินพื้นบ้าน บรรจบ พลอินทร์ ร้องเพลง สังกะอู้ บินหลาบอง (เกาะลิบง) และวงปล่อยแก่ (ยะลา) ร่วมกันร้องเพลง ปักษ์ใต้บ้านเรา
ในขณะที่ ซิมโฟนีออร์เคสตรา และศิลปินพื้นบ้านผสมผสานการแสดงอยู่นั้น ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ยอดศิลปินสีน้ำของไทยที่ชื่อเสียงทั้งในและนอกประเทศ สะบัดแปรงวาดภาพสีน้ำพร้อมกันไปกับท่วงทำนองเสียงใหม่ อย่างยอดเยี่ยม เป็นภาพท้องฟ้า สีชมพู ส้ม ท้องทะเลและเรือหาปลา ลำน้อย วาดสดๆ ต่อสายตาผู้ชม อย่างตื่นตาตื่นใจ
อ.สุชาติ วงษ์ทอง บอกว่า “การวาดภาพสีน้ำประกอบซิมโฟนีออร์เคสตรา ทำให้ศิลปะมี องค์ครบ คือได้ยินทั้งเสียงได้เห็นด้วยตา เป็นเสียงอดีตที่รับใช้ปัจจุบัน (The sound I see)”
สองชั่วโมงเศษแห่งการแสดง สะกดผู้ชมให้ติดตามใกล้ชิดแบบไม่คลาดสายตา ใบหน้าทุกคนมีรอยยิ้มพึงใจ ปรบมือให้ ภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมแห่งเมืองตรัง และเปี่ยมปิติในทุกชุดการแสดงดุจคีตทิพย์เสนาะโสต ละลานตา และรมย์รื่นใจ
ก่อนจะเป็นเสียงใต้ คือเสียงใหม่ที่ เสียงตะวันออก ผสานเสียงตะวันตก เป็นการวิจัยแบบ ปฏิบัติการ (Action Research) ด้วยทีมวิจัยระดับ ดร. ผดุง พรมมูล ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ดร.สุกรี เจริญสุข ฯลฯ ที่ลงสู่พื้นที่ ไปชมการแสดงคณะลิเกป่า จาก อ. ย่านตาขาว ไปดูคณะรองเง็งที่ บ้านหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน ไปศึกษาชีวิตโนราเติม เมืองตรัง ซึ่งเป็นทั้งโนราและนายหนังตะลุง เลื่องชื่อ การได้ดู ได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสของจริง ทำให้สามารถตกผลึก วิถีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของเพลงดนตรีพื้นถิ่น แล้วประกายเสียงและแสงสีสู่เวทีใหญ่ อย่างเคารพภูมิปัญญาโบราณ
ไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเวทีมาแล้วหลายจังหวัดทั่ว ทุกภาค ได้ทำให้ซิมโฟนีออร์เคสตรา ที่ดูสูงส่งจนสามัญชนยากที่จะเข้าถึงได้ กลายเป็นการแสดงที่ผู้คนทุกรูปนามสามารถเสพสุนทรีย์ได้โดยเสมอภาค นำเอาวิถีวัฒนธรรมและศิลปะการละเล่นและดนตรีพื้นบ้าน ยกระดับให้ทรงคุณค่าไม่แพ้ดนตรีฝรั่ง ทำให้วิถีวัฒนธรรมดนตรีของไทยแพร่หลายไปทุกภูมิภาค และแน่นอนจะต้องก้าวขึ้นสู่พื้นที่เวทีระดับสากลต่อไป
ขอคารวะและขอบคุณ ดร.สุกรี เจริญสุข และคณะทุกคนที่เปิดพื้นที่และให้เวทีแก่ศิลปะพื้นบ้านอย่างเอื้ออาทรและรังสรรค์ศิลป์อันเลอค่าให้กับสังคมไทยและให้กับโลกใบนี้