"...เมื่อปี 2518 – 2519 ประเทศไทยมีบรรยากาศเช่นนี้มาแล้ว การเผชิญหน้าระหว่างความเชื่อต่างขั้ว นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ถึงขั้นจับนักศึกษาแขวนคอกับต้นมะขาม แล้วใช้เก้าอี้เหล็กทุบตีเสียชีวิตคาคบไม้ ถึงขั้นลากศพไปเผากับนั่งยางบนพื้นหญ้าสนามหลวง ถึงขั้นกราดยิงกระหน่ำเข้าไปในธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธร้ายแรง หอประชุมใหญ่ มธ. เป็นรูพรุนด้วยกระสุนปืน มีการคุกคามทำร้ายนักศึกษาอย่างทารุณในธรรมศาสตร์ และแล้วนักศึกษากว่า 3,000 คน ต้องทิ้งเมืองเข้าป่าไปสมทบกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย..."
“พ่อครับ สงครามเกิดจากอะไร” เด็กชายน้อยประถม 5 เอ่ยปากถามพ่อขณะนั่งกินข้าวมื้อเย็นพร้อมกันทั้งครอบครัว มีแม่และลูกอีกคนนั่งอยู่ด้วย
“ลูกเข้าใจว่า เกิดจากอะไรล่ะ” พ่อถาม
“ผมก็อยากรู้ วันนี้ครูสอนประวัติศาสตร์ เล่าถึงการรบระหว่างพม่ากับไทย แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเกิดเป็นสงครามด้วย”
“อึม สมมุติว่า ประเทศไทย ต้องทำสงครามสู้รบกับประเทศซูดาน.......” ขณะพ่อพูดแล้ว ทิ้งช่วง แม่ก็สอดขึ้นว่า
“คุณ คุณ ไทยกับซูดานจะไปรบกันได้ยังไง ไทยอยู่เอเซีย ซูดานอยู่อัฟริกา มันห่างกันคนละซีกโลก”
“ก็ฉันสมมุติ ไม่เข้าใจหรือ” พ่อสวนกลับฉับพลัน
“สมมุติให้มันเข้าท่าหน่อยได้ไหม เช่นรบกับ พม่า ลาว มาเลเซีย แค่ข้ามแดนก็รบกันได้แล้ว” แม่เสียงเข้มขึ้นมาทันที
“นี่คุณ สะกดคำว่าสมมุติ ไม่เป็นใช่ไหม บอกว่าสมมุติ ก็แปลว่าสมมุติ ไม่เข้าใจหรือ” พ่อฉุนขึ้นมาแล้ว
“คุณต่างหากไม่เข้าใจ ใครเขาจะไปสมมุติโง่ๆ แบบนั้น” แม่สาดอารมณ์เข้าใส่
“ใครโง่กันแน่” พ่อตะคอกใส่
คนเป็นลูกเจ้าของคำถามพูดขึ้นทันทีว่า
“พ่อครับ แม่ครับ ไม่ต้องอธิบายแล้ว ผมรู้แล้วว่าสงครามเกิดจากอะไร” วาทะของลูกหย่าศึกได้ชะงักงัน
ความเงียบเข้ามาแทนที่ ทุกคนเก็บรับประสบการณ์ตรงของสงครามบนโต๊ะอาหารนั้นเอง ไม่ต้องอ้างทฤษฎีวิชาการ ไม่ต้องถามกูเกิ้ล แต่ทุกคนรู้แล้วว่าสงครามเกิดจากอะไร
วิวาทะบนโต๊ะอาหารนี้อาจนำมาเทียบเคียงกับ ภาวะพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง รวมถึงข้อโต้แย้งเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นำสู่บรรยากาศการเผชิญหน้าทางความคิดสองฝ่าย ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าอาจจบลงด้วยความแรงร้ายมากกว่าวิกฤตการเมืองในอดีตทุกครั้ง ดูท่าทั้งสองฟากฝั่ง ต่างเดินหน้าในทิศทางบนฐานความเชื่อของฝั่งตนจนไม่ฟังกันแล้ว
เมื่อปี 2518 – 2519 ประเทศไทยมีบรรยากาศเช่นนี้มาแล้ว การเผชิญหน้าระหว่างความเชื่อต่างขั้ว นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ถึงขั้นจับนักศึกษาแขวนคอกับต้นมะขาม แล้วใช้เก้าอี้เหล็กทุบตีเสียชีวิตคาคบไม้ ถึงขั้นลากศพไปเผากับนั่งยางบนพื้นหญ้าสนามหลวง ถึงขั้นกราดยิงกระหน่ำเข้าไปในธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธร้ายแรง หอประชุมใหญ่ มธ. เป็นรูพรุนด้วยกระสุนปืน มีการคุกคามทำร้ายนักศึกษาอย่างทารุณในธรรมศาสตร์ และแล้วนักศึกษากว่า 3,000 คน ต้องทิ้งเมืองเข้าป่าไปสมทบกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
จากสงครามโฆษณาชวนเชื่อ อันเลวร้ายที่ว่า
“ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
“ขวาพิฆาตซ้าย”
“ธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ใต้ดินสั่งสมอาวุธ”
“ดร.ป๋วยเป็นคอมมิวนิสต์”
กลายเป็นการเข้าร่วมสงครามประชาชนในกาลต่อมาระหว่างปี 2519 – 2525 ในครั้งนั้น นักศึกษาประชาชนส่วนหนึ่งคืนสู่เมืองคงชีวิตอยู่ ที่บาดเจ็บก็มาก ที่เสียชีวิตไป ก็ไม่ใช่น้อย เป็นรอยจำฝังใจคนยุคนั้น แต่สังคมไทยจะถอดบทเรียนกันในเวลานี้ได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหา
กลับมาดูสภาพการปะทะกันทางความคิดแบบฝุ่นตลบในปัจจุบัน การแยกขั้วความคิดความเชื่อ ต่างฝ่ายต่างยืนยันความถูกต้องข้างตน และประณามความเลวร้ายของอีกฝ่าย แบบไม่เหลือพื้นที่แห่งเมตตาธรรม
ใช่หรือไม่ว่าชุดความเชื่อ กลายเป็นความฝังใจที่ปิดประตูตายต่อ ข้อมูล ทัศนะ และความเชื่อของอีกฝ่าย เป็นความเชื่อแบบตอกตรึง เสมือนอีกฝ่ายไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่เลย
ใช่หรือไม่ว่า ในวันนี้ อนารยะทัศนะ กำลังกินพื้นที่ครอบคลุมทั้งความคิดของผู้คน ท่วมท้นหน้าจอไฟฟ้า และสื่อโทรทัศน์ กระจายเต็มแผ่นดิน
ใช่หรือไม่ว่า การโต้แย้งทางความคิด ไม่ได้เริ่มต้นข้อเท็จจริงและคมเหตุคมผล แต่เริ่มจากความเป็นฝักเป็นฝ่าย ถ้าเป็นฝ่ายเดียวกันแปลว่า “ถูก” ถ้าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามแปลว่า “ผิด”
ใช่หรือไม่ว่า ในวันนี้ คู่ขัดแย้งพิพากษาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างฉับพลันโดยขาดวิจารณญาณ
อย่าว่าแต่เขาเลย อิเหนาอย่างผู้เขียนก็เป็นเอง และอยู่ในวังวนนี้ด้วย
ไม่นานมานี้ ในงานครบรอบ 72 ปี ของอรุณ วัชระสวัสดิ์ ผู้ใช้ชื่อว่า “หนุ่มเมืองจันท์” ได้เขียนบันทึกการสนทนากับพระไพศาล วิสาโล โดยมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และ เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เป็นผู้ร่วมวงสนทนาด้วย เป็นบันทึกที่มีค่ายิ่งในยามนี้
มีสาระสำคัญคือ "ธรรมะเย็นจริงๆ"
พระไพศาลเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้วสมัยเป็นนักศึกษา เหตุการณ์นั้นถือเป็น "ตราบาป" ของสังคมไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธ แต่กลับเกิดเหตุการณ์รุมฆ่านักศึกษากลางเมือง
"ภิญโญ" ขอให้ท่านมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อสรุปบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น
พระไพศาล บอกว่าสิ่งที่เรียนรู้ คือ การยึดมั่นถือมั่นสามารถทำให้เราฆ่ากันได้ คนที่รุมทำร้ายนักศึกษา แขวนคอ ตีจนตาย เขาคิดว่าเขากำลังปกป้อง "ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์"
และนักศึกษาคือคอมมิวนิสต์มุ่งทำลายสิ่งที่เขาเคารพ
เขายึดติด เขาจึงฆ่าฟัน
เขาลืมไปว่าเขากำลังทำตรงข้ามกับสิ่งที่เขายึดถือ
เพราะถ้ารักชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ก็ควรทำดีต่อกัน ไม่ใช่ฆ่ากัน
"คนเราฆ่ากันในนามของความดี เพราะยึดมั่นถือมั่น"
ท่านยกคำสอนของหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ที่ระยอง
"ความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดติดไว้ มันก็ผิด"
ชอบมาก
"หลายครั้งที่เราทำความไม่ถูกต้อง ในนามของความถูกต้อง" นี่คือ สิ่งที่ท่านเรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ19 เมื่อถามถึงโลกโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นให้เราแสดงความเห็นอย่างรวดเร็ว และใช้ Hate Speech มากขึ้น
พระไพศาลแนะนำหลักกาลามสูตร 3 ข้อให้คิดก่อนโพสต์
1.อย่าเชื่อตามคนหมู่มาก เพราะพูดต่อๆกันมา
2.อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นครู หรือเชื่อเพราะเขามีอำนาจเหนือกว่า
3.อย่าเชื่อเพราะตรงกับความเห็นหรือสอดคล้องกับตรรกะของเรา
เพียงแค่นึกถึงหลัก 3 ข้อนี้ก่อนจะโพสต์ข้อความใดๆ เราจะใจเย็นขึ้นทันที เพราะบางทีข้อมูลที่เราคิดว่า "จริง" อาจจะ "ไม่จริง"
พระไพศาลสอนให้เรามองโลกในมุมที่กว้างขึ้น ด้วยสายตาเช่นนี้เราจะมองคนที่เห็นต่างจากเราเป็นมนุษย์ร่วมโลก ไม่ใช่ "สัตว์ประหลาด"
มองเขาด้วยความเมตตามากขึ้น
พระไพศาลยกคำพูดของปราชญ์ชาวอินเดียคนหนึ่ง เขากล่าวว่า...เมื่อฉันมองข้างใน ฉันคือ "ความว่างเปล่า" นี้เรียกว่า "ปัญญา"
เมื่อฉันมองข้างนอก ฉันคือ "ทุกสิ่ง" นี้เรียกว่า "กรุณา"
ครับ ถ้าเรารู้ว่าไม่มี "ตัวกู-ของกู" เราจะไม่ยึดมั่น-ถือมั่น "ปัญญา" ก็จะเกิด และเมื่อมองไปข้างนอก รู้ว่าเราเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆในโลกใบนี้
ยิ่งเรารู้สึกว่าตัวเล็กเท่าไร เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน และปรารถนาดีต่อผู้อื่นมากขึ้น โลกนี้ก็จะงดงาม
หนุ่มเมืองจันท์
ต้นฉบับ : https://www.facebook.com/118209918234524/posts/4185135724875236/
น่าคิดหรือไม่ว่า สังคมไทยในวันนี้ควรน้อมนำสัมมาสติว่า
ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ถอดบทเรียน ไม่ใช่มีไว้เพื่อชำระแค้น
เมตตาธรรม ควรเป็นบรรยากาศที่พึงปรารถนามากกว่าการท้าทายและเอาชนะคะคานแบบเอาเป็นเอาตาย
การไตร่ตรองควรเข้ามาแทนที่การด่วนสรุป
ความหนักแน่นควรเข้ามาแทนที่ความวู่วาม
สงครามนั้นแพ้ทั้งคู่ แต่สันติภาพชนะทั้งสองฝ่าย สันติภาพจึงเลอค่ากว่าสงคราม