“...เรามีคนแปลกหน้าที่พร้อมจะให้เราตัดสินว่าเขาเป็นใคร โดยที่เราไม่สละเวลาที่จะศึกษาพื้นเพเขาเพียงพอ ดังนั้น การเปลี่ยนมุมมองในการมองคนแปลกหน้า ต้องใช้เวลาให้นานขึ้น ไม่ใช้เหตุผลเรา แต่รับฟังพวกเขามากขึ้นพร้อมยับยั้งชั่งใจ อย่าเชื่อทุกสิ่งที่ตนเองคิด…”
Weekly Mail สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนถึงหนังสือเรื่อง Talking to Strangers โดย มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ที่ตั้ง 2 คำถามไว้ว่า 1. ทำไมเราถึงรู้ไม่เท่าทันเมื่อคนแปลกหน้าโกหกต่อหน้าต่อตา และ 2. ทำไมเราถึงรู้จักคนแปลกหน้าได้ไม่ดีเท่ากับคนที่ไม่ได้เจอะเจอกับคน ๆ นั้น พร้อมยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงให้ผู้อ่านได้คิดตามและตอบคำถามทั้งสองข้างต้นไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่เรื่องของหญิงอเมริกันผิวดำที่ไม่เปิดไฟเลี้ยวตอนเปลี่ยนเลน ถูกตำรวจจราจรจับเข้าห้องขังเพราะปะทะคารมกัน จนเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง
เมื่อเธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย และเรื่องนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนวิล เชมเบอร์เลน (Naville Chamberlain) ได้ตัดสินใจเดินทางไปพบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เพื่อหาทางเลี่ยงสงคราม จนถูกฮิตเลอร์หลอกให้เชื่อสนิทว่าจะไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
นอกจาก 2 เรื่องข้างต้น มัลคอล์มได้หยิบยกผลการทดลองของ ทิม เลอวิน (Tim Lewin) นักจิตวิทยา เพื่อสนับสนุนว่า เราคิดว่าเห็นทะลุปรุโปร่งและอ่านคนอื่นออก แต่แท้จริงแล้วดูหน้าไม่เคยรู้ใจ โดยเลอวินได้ให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งทำข้อสอบความรู้ทั่วไปง่าย ๆ เช่น ภูเขาอะไรสูงที่สุดในเอเชีย โดยจัดฉากให้นักศึกษาที่เข้าทดสอบคู่กับผู้ที่เลอวินซักซ้อมไว้ โดยมีผู้คุมสอบอยู่ในห้อง และในช่วงระหว่างทำข้อสอบนั้น ผู้คุมสอบแกล้งเดินออกไปข้างนอก เป็นโอกาสให้ผู้ที่เลอวินซักซ้อมไว้โน้มน้าวนักศึกษาที่เข้าทดสอบดูเฉลยคำตอบที่วางอยู่ที่โต๊ะ ปรากฏว่านักศึกษาที่เข้าร่วมกว่าร้อยละ 30 เลือกที่จะทำตาม หลังจากนั้นจึงมีการสัมภาษณ์นักศึกษาแต่ละคนว่า ตนเองแอบดูคำตอบหรือไม่ ก่อนนำวิดีโอการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไปให้คนอาชีพจับทุจริตดู เช่น ตำรวจ และผู้พิพากษา ปรากฏว่าคนกลุ่มนี้สามารถทายถูกว่าใครทุจริตได้เพียงร้อยละ 50 เรียกว่ามีนักศึกษาอีกครึ่งหนึ่งที่สามารถหลอกคนอื่นได้อย่างสนิทใจ ทั้งจากสีหน้าท่าทาง และเสียงพูด นำไปสู่ฤษฎี Truth Default Theory ที่สรุปไว้ว่า 'เราพร้อมที่จะเชื่อใจคนอื่น โดยเฉพาะเวลาเจอคนแปลกหน้า เชื่อว่าเขาพูดความจริง จนกระทั่งได้ข้อมูลมากเพียงพอ จึงจะเปลี่ยนใจ'1/
มัลคอล์มเสริมว่า ในสังคมจะมีคนที่พูดแต่ความจริงก็ต่อเมื่อไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดั่งเช่น พวกที่เรียกว่า Holy Fool หรือคนโง่ผู้รู้แจ้งตามนิทานพื้นบ้านรัสเซีย เพราะคนกลุ่มนี้ สังคมไม่ยอมรับพวกเขา ดังนั้นจึงพูดไปตามความจริง นิทานเด็กลือชื่อของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) เรื่อง “ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา” (The Emperor's New Clothes) ที่พระราชาทรงดำเนินไปตามถนนในฉลองพระองค์ พร้อมได้รับเพ็ดทูลว่าเป็นอาภรณ์วิเศษ ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากสักคำ
ยกเว้นเด็กน้อยร้องลั่นขึ้นมาว่า 'ดูพระราชาสิ! ไม่ได้ใส่อะไรเลย!' เพราะความไร้เดียงสาและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นที่อยู่ในสังคมนั้น2/
มัลคอล์มได้เขียนถึงละครซีรีส์เรื่อง Friends เพื่อสนับสนุนว่า 'แค่ดูหน้าก็รู้ใจเป็นความเชื่อผิด ๆ' ละครซีรีส์นี้เป็นละครยอดฮิตในสหรัฐ คล้ายกับละครหลังข่าวบ้านเรา ที่ตัวแสดงจะแสดงออกชัดเจนไม่ว่าจะท่าทาง หรือสีหน้าว่าใครเป็นพระเอก นางเอก และใครเป็นตัวร้าย เรียกว่าไม่ต้องฟังคำพูด คนดูก็สามารถระบุได้ว่าใครเป็นใคร
อย่างไรก็ดี นั่นคือการแสดงอย่างเข้าถึงบทบาทของนักแสดงแต่ละคน ซึ่งในโลกความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น โดยนำผลการศึกษาของเซอร์จิโอ จาริโญ (Sergio Jarillo) นักสังคมวิทยา และคาร์ลอส คริเวลลิ (Carlos Crivelli) นักจิตวิทยาชาวสเปน ที่ถ่ายรูปใบหน้าคนไว้หกรูป แสดงความรู้สึกสุขใจ เศร้าใจ โกรธ กลัว และรังเกียจ แล้วนำไปทดลองกับเด็กชั้นประถมศึกษาในกรุงมาดริด ผลทดสอบไม่สร้างความประหลาดใจมากนัก เพราะเด็กส่วนใหญ่ตอบได้ถูกต้องว่ารูปใบหน้าเป็นอย่างไร แต่ผลทดสอบไม่จบเพียงแค่นั้น ทั้งสองได้นำรูปหน้าทั้งหกไปถามคนในหมู่เกาะโทรเบรียนด์ (Trobiand Island) หมู่เกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่กลางทะเลโซโลมอน ผลทดสอบกลับผิดคาดเพราะหน้าที่เราคิดว่าสุขใจหรือเศร้าใจ ชาวเกาะนี้เพียงร้อยละ 50 ที่คิดเช่นนั้น ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกับชาวตะวันตก เช่น การทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกโกรธในวัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้น 'เราเกิดมาดูละคร แต่ในชีวิตจริง คงใช้ไม่ได้'3/
ย้อนกลับไปถึงเรื่องของแซนดรา แบลนด์ ผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายจากการถูกจับกุมเพียงไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว ซึ่งจากการสอบสวนและดูวิดีโอเทป พบว่าเริ่มต้นของบทสนทนาของ เอ็นซีเนีย ตำรวจจราจรและแซนดรา เป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีท่าทีว่าเขาจะออกใบสั่ง แค่ต้องการตักเตือนเธอเท่านั้น แต่ด้วยคำพูดและท่าทีของเธอ พร้อมหยิบบุหรี่ออกมาจุดสูบ ทำให้ทั้งคู่เกิดอารมณ์ร้อน ซึ่งหากเอ็นซีเนียรับทราบชีวิตเบื้องหลังของเธอที่โดนใบสั่งจราจรถึง 5 ครั้ง รวมกว่า 8,000 ดอลลาร์ สรอ. และที่สำคัญเธอเป็นโรคเครียดและซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตายภายหลังจากเสียลูกน้อยวัยทารก เอ็นซีเนียคงปฏิบัติต่อแซนดราแตกต่างไป
สำหรับเอ็นซีเนีย เป็นตำรวจที่ทำตามตำราอย่างเคร่งครัด เขาเป็นคนขี้ระแวงและขี้สงสัย เคยสั่งหยุดรถถึง 27 ครั้งบนเส้นทางนี้ ทั้งนี้ เอ็นซีเนียสังเกตเห็นป้ายรถของแซนดราที่ต่างถิ่น ท่าทางเธอปั่นป่วนร้อนรน ฉุนเฉียว ต่อปากต่อคำ ขี้โมโห หยิบบุหรี่มาจุด เป็นชนวนสงสัยที่ทำให้เอ็นซีเนียเชื่อมั่นว่าแซนดราต้องทำอะไรมามากกว่าไม่เปิดไฟเลี้ยว เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมจากคนสองคนที่ไม่รู้จัก เชื่อและตัดสินทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันดีพอ4/
หนังสือ Talking to Strangers เป็นหนังสือที่อ่านสนุกและให้เรานึกถึงคำตอบ 2 ข้อข้างต้นตลอดเวลา แต่ในท้ายที่สุดไม่ได้มีคำตอบกับคำถามทั้งสองข้อโดยตรง แต่จากที่ผมพยายามต่อจิ๊กซอว์ สรุปได้ว่า 'เรามีคนแปลกหน้าที่พร้อมจะให้เราตัดสินว่าเขาเป็นใคร โดยที่เราไม่สละเวลาที่จะศึกษาพื้นเพเขาเพียงพอ ดังนั้น การเปลี่ยนมุมมองในการมองคนแปลกหน้า ต้องใช้เวลาให้นานขึ้น ไม่ใช้เหตุผลเรา แต่รับฟังพวกเขามากขึ้นพร้อมยับยั้งชั่งใจ อย่าเชื่อทุกสิ่งที่ตนเองคิด'5/
แหล่งที่มา:
1/ มัลคอล์ม แกลดเวลล์, Talking to Strangers (ศิลปะแห่งการอ่านคน) นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล พิมพ์ครั้งที่ 6 อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง พิมพ์ครั้งที่ 6 มกราคม 2566 หน้า 68-73
2/ ศิลปะแห่งการอ่านคน นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล หน้า 98-99
3/ ศิลปะแห่งการอ่านคน นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล หน้า 147-169
4/ ศิลปะแห่งการอ่านคน นุชนาฎ เนตรประเสริฐศรี แปล หน้า 315-346
5/ ดูคนให้ออก มองคนให้เป็น วิธีทำความรู้จักคนที่ไม่รู้จัก, Readery, THE STANDARD EP.99