"...กุญแจที่จะพาชาติออกจากวิกฤต คือ ผู้นำทางการเมืองที่มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ขับเคลื่อน P4 พรรคเล็กหลายพรรคมีผู้นำทางการเมืองที่เข้าข่ายหรือมีศักยภาพ มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ผู้นำเหล่านี้แม้คนเดียวหรือ 3 - 4 คน รวมตัวกันขับเคลื่อน P4 ก็จะพาชาติออกจากวิกฤตได้..."
1. พรรคเล็กพาชาติออกจากวิกฤตได้
การเมืองไทยไม่ลงตัวมากว่า 100 ปี ถ้านับตั้งแต่กบฏหมอเหล็งเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปมาก และสะสมปัญหาต่าง ๆ จนประเทศไทยติดอยู่ใน 'หลุมดำ' แห่งวิกฤตการณ์เรื้อรังออกมาไม่ได้ จนมีผู้พูดว่า “คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง” คือ รอถูกเชือดหมดทุกตัว แต่ยังจิกตีกันอยู่ร่ำไป ที่จะออกจาก 'เข่ง' ได้ ต้องรู้ว่า เข่ง คืออะไร และรวมตัวกันออกจากเข่ง หลังเลือกตั้งพรรคใหญ่ที่ได้สส.มาจำนวนมาก พวกหนึ่งก็รวมตัวกันเป็นรัฐบาล อีกพวกหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน แล้วก็เป็นไปคล้าย ๆ เดิม ไม่สามารถพาชาติออกจากวิกฤตได้
กุญแจที่จะพาชาติออกจากวิกฤต คือ ผู้นำทางการเมืองที่มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ขับเคลื่อน P4 พรรคเล็กหลายพรรคมีผู้นำทางการเมืองที่เข้าข่ายหรือมีศักยภาพ มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ผู้นำเหล่านี้แม้คนเดียวหรือ 3 - 4 คน รวมตัวกันขับเคลื่อน P4 ก็จะพาชาติออกจากวิกฤตได้
P4 = Participatory Public Policy Process หรือ 'กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม'
2. คำตอบประเทศไทยคือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
นโยบายสาธารณะเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลกระทบอย่างถึงขั้นหายนะหรือวัฒนะ ขึ้นอยู่กับว่าดีหรือไม่ดี ประเทศไทยเกือบไม่มีความสำเร็จในเรื่องนโยบายเลย ประเทศจึงวิกฤต ที่ไม่สำเร็จก็เพราะขาดความเข้าใจในระบบนโยบายครบวงจร ทำเป็นส่วน ๆ หรือบางส่วน นโยบายไม่ใช่สโลแกนหรือทำเรื่องจิปาถะแบบแจกเงิน ผู้นำทางการเมืองไม่ใช่ผู้บริหารจิปาถะอย่างที่ทำ ๆ กัน แม้ขยันประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ผู้นำที่แท้ต้องนำการขับเคลื่อน 'กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม' หรือ P4
คนสร. หรือ P4 เป็นกระบวนการที่คนทุกภาคส่วนในสังคม มีส่วนในกระบวนการนโยบายทุกขั้นตอนครบวงจร
จึงเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
เป็นกระบวนการสร้างปัญญาร่วม (collective wisdom)
เป็นกระบวนการจัดการที่ทรงพลัง
เมื่อทำครบวงจรก็จะสำเร็จทุกเรื่อง จึงเรียกว่า “สัมฤทธิศาสตร์”
เมื่อประเทศมีความสำเร็จในนโยบายทุกเรื่อง วิกฤติชาติก็ยุติ
เมื่อผู้นำพรรคเล็กนำการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะ ก็เท่ากับการสร้างประชาธิปไตยที่แท้ สร้างประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ มีผลสำเร็จใหญ่โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาล
เพราะการเมืองคือระบบนโยบาย ที่ใคร ๆ ควรมีส่วนร่วมโดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล แต่รัฐบาลจะร่วมทำด้วยก็ได้
3. ระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน ระบบนโยบายมี 3 องค์ประกอบ 12 ขั้นตอน คือ
1. การสังเคราะห์นโยบาย มี 4 ขั้นตอน
2. การตัดสินใจนโยบาย มี 1 ขั้นตอน
3. การบริหารจัดการนโยบายไปสู่ความสำเร็จ มี 7 ขั้นตอน
รวม 12 ขั้นตอน
ดู 'คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน สู่ความสำเร็จ' หัวหน้าพรรคการเมืองควรศึกษาวิธีขับเคลื่อนระบบนโยบายจนเข้าใจแจ่มแจ้ง พรรคการเมืองของท่านจะกลายเป็นสถาบันพัฒนานโยบาย และสมาชิกพรรคจะกลายเป็นนักขับเคลื่อนระบบนโยบาย เมื่อพรรคการเมืองกลายเป็นสถาบันพัฒนานโยบาย และนักการเมืองกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนระบบนโยบาย จะพลิกโฉมประเทศไทย
4. วิธีขับเคลื่อนนโยบายแบบมีส่วนร่วม
พรรคการเมืองที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายแบบมีส่วนร่วม รวมตัวกันเป็นพันธมิตรพัฒนานโยบายสาธารณะ ทำงานร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการเพื่อประชาธิปไตยของรัฐสภา ทำดังนี้
1. จัดตั้งศูนย์รับฟังความเห็นของประชาชน ให้ประชาชนทั้งประเทศสื่อสารข้อมูล ปัญหา ความเห็น ข้อเสนอแนะ
2. นำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดหมวดหมู่ เป็นประเด็นใหญ่ประเทศไทย (Thailand Big Issues) ประเด็นใหญ่นี้ คือ ประเด็นนโยบาย (ยังไม่ใช่นโยบาย) สมมุติว่าได้ 25 ประเด็น ซึ่งครอบคลุมเรื่องใหญ่ ๆ ครบหมดทุกเรื่อง
3. นำประเด็นนโยบาย 25 เรื่อง สื่อสารให้รู้กันทั่วประเทศเพื่อให้เข้าใจตรงกัน และเกิดกระแสสังคมหรือเจตนารมณ์ทางการเมือง
4. นำประเด็นนโยบาย 25 ประเด็น มาให้นักวิชาการสังเคราะห์เป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นงานที่ต้องการสมรรถนะทางวิชาการสูง นโยบายไม่ใช่สโลแกน หรือความปรารถนาเชิง wishful thinking แต่ผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีว่ามีประโยชน์จริงให้ผลคุ้มค่า ออกแบบระบบและโครงสร้างและการจัดการ รวมทั้งงบประมาณที่จะต้องใช้ รวมถึงการขจัดอุปสรรคขัดข้อง การสังเคราะห์นโยบายสาธารณะ คือ กระบวนการทางปัญญาสูงสุด
5. นำนโยบายสาธารณะที่สังเคราะห์มาด้วยดีแล้ว สื่อสารรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งประเทศ สร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมของคนทั้งประเทศ
ตรงนี้คือหน้าที่ที่สำคัญของผู้นำ
ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือ นักการสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ (Great leader is great communicator
ไม่ใช่ผู้บริหารจิปาถะ
เมื่อคนไทยทั้งประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ประเทศก็จะมีพลังมหาศาลที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า
6. นำนโยบายสู่การตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งจะค่อนข้างง่ายเมื่อผ่านกระบวนการข้างต้นมาแล้
7. นำนโยบายที่ผ่านการตัดสินใจทางการเมืองมาแล้ว มาบริหารจัดการอีก 7 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ (ดูรายละเอียดใน 'คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน สู่ความสำเร็จ')
เมื่อผ่านกระบวนการนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน ก็จะสำเร็จทุกเรื่อง ไม่มีอะไรไม่สำเร็จ จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า 'สัมฤทธิศาสตร์' เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสู่ความสำเร็จ ที่คนทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อมมาบรรจบกัน
นี้คือคำตอบประเทศไทย ที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่มีผู้นำที่มีความเป็นผู้นำสูงสามารถทำได้ โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาล แต่สร้างกระบวนการใหญ่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ รวมทั้งรัฐบาลด้วย
นี้คือประชาธิปไตยทางสายกลาง ที่ไม่แยกข้างแยกขั้วเป็นปฏิปักษ์ต่อกันซึ่งไม่ได้ผลแล้ว แต่เป็นทางสายปัญญา ไมตรีจิต เป็นความร่วมมือ ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์มหาศาล และพลังแห่งความสุขของคนไทยทุกคนร่วมกัน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี